alt.Eatery ร้านอาหาร plant-based ที่ชวนทุกคนมาใช้ชีวิตในอนาคตง่ายๆ ในแบบของตัวเอง

ทุกวันนี้อาหาร plant-based ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ หาร้านแนวนี้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก

alt.Eatery คือหนึ่งในร้านอาหาร plant-based เปิดใหม่ใจกลางเมือง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 51 ไม่ไกลจาก BTS สถานีทองหล่อ ภายในร้านเสิร์ฟอาหาร plant-based หรือโปรตีนทางเลือก มีเมนูที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน นอกจากอาหารแล้ว ยังเป็นร้านขนม คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ และพื้นที่ทำกิจกรรม เป็นอีกหนึ่ง community space สำหรับคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

แม้จะเป็นร้าน plant-based ซึ่งถูกมองว่าเป็นอาหารทางเลือกสำหรับวีแกน แต่ร้านเลือกใช้สีสันสดใสแทนสีเขียวของผักตั้งแต่ด้านนอกอาคาร ตัดกับแผ่นกระจกที่ทำให้มองเห็นภายในก็สามารถดึงดูดคนทั่วไปให้เข้าไปลิ้มลองอาหารได้ไม่ยาก

โปรเจกต์ร้าน alt.Eatery เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทใหญ่ด้านอาหารและด้านอสังหาริมทรัพย์ อย่าง NRPT ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จํากัด และบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จํากัด ผู้ผลิตและนำนวัตกรรมอาหารโปรตีนจากพืช ร่วมมือและก่อตั้งร้านขึ้นบนพื้นที่ของแสนสิริ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้สำหรับคนรักสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านอาหารโปรตีนทางเลือกที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์กระแสหลักถึง 30%

 ทุกจานเสิร์ฟด้วยวัตถุดิบที่ปราศจากเนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นนม ไข่ หรือน้ำผึ้ง แต่หากไม่สังเกตให้ดีก็คงไม่รู้ว่าอาหารเหล่านี้ไม่มีส่วนผสมดังกล่าว เพราะบางเมนูเรายังคงเห็นเนื้อสัตว์ (ที่ทำจากพืช) ประกอบอยู่บนจาน หรือหากหลับตาเราก็ยังคงสัมผัสรสชาติที่คล้ายกับเนื้อสัตว์อยู่ดี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งร้าน plant-based ที่มีทั้งอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตวีแกน และพื้นที่กิจกรรมสนุกๆ ที่อยากให้คุณได้มาลอง

alt. มาจาก Alternative Protein

alt. ย่อมาจาก Alternative นอกจากจะหมายถึง Alternative Protein หรือโปรตีนทางเลือกอย่างที่ร้านใช้เป็นวัตถุดิบหลักแล้ว อีกนัยหนึ่งคือทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตด้วย 

นอกจากนี้ alt. ที่เราคุ้นเคยกันบ่อยๆ คือปุ่มที่อยู่บนคีย์บอร์ด ภายในร้านเราจึงเห็นการตกแต่งด้วยปุ่มต่างๆ สีสันสดใส เช่น ปุ่ม Shift ปุ่ม Contrl หรือปุ่มอื่นๆ ที่ชวนให้ทุกคนเข้ามาสนุกกับการเลือกทานอาหารสุขภาพ

โปรตีนทางเลือก หรืออาหาร plant-based หากอธิบายอย่างง่ายๆ คืออาหารที่เลือกใช้โปรตีนทางเลือก ซึ่งได้มาจากพืช เช่น ถั่วหรือธัญพืชชนิดต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการทางเทคโนโลยีให้ได้รสชาติ กลิ่น สี สัมผัส และเสียง ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด อาหารชนิดนี้แม้จะถูกเข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับคนกินมังสวิรัติหรือวีแกน (Vegan) แต่ด้วยนวัตกรรมทางอาหารจึงทำให้อาหาร plant-based ถูกทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะยังคงเป็นเมนูอาหารที่มีรสชาติเนื้อสัตว์อย่างที่เราคุ้นเคย 

พลอย-พรรณนภิศ ฤทธิไพโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจและการตลาดของ NRPT เล่าจุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านทดลองสูตรอาหาร ก่อนจะเห็นว่าอาหาร plant-based ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร แต่ลึกลงไปในเนื้อจากพืชก้อนเล็กๆ นี้ ยังหลอมรวมไลฟ์สไตล์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแบบ Food For Future

“ตอนแรกที่เราทำร้าน alt.Eatery เราไม่ได้จะทำแบบยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เราแค่จะทำเป็นร้านอาหารจุด touchpoint ที่ให้นักพัฒนา (R&D) ได้ทดลองอาหารสูตรใหม่ๆ  เพราะเรารู้สึกว่าลูกค้าไม่ค่อยรู้จักว่าสินค้า plant-based คืออะไร” พลอยเล่าถึงจุดเริ่มต้น 

“พอทำไปทำมาแล้วเรารู้สึกว่า plant-based ไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นไลฟ์สไตล์ในการเลือกทานอาหาร แล้วเราก็ได้ไปเจอกับแสนสิริซึ่งมีแนวคิดเดียวกัน เป็นคนที่ให้พื้นที่นี้กับเรา สุดท้ายคอนเซปต์มันก็เลยเริ่มขยายวงจากแค่อาหาร plant-based เป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ หรือที่เราตั้งชื่อว่า sustainability hub”

นอกจากอาหารจากโปรตีนทางเลือกจะเป็นอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ส่วนผสมของ plant-based ซึ่งทำมาจากพืชยังดีต่อสุขภาพด้วย ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ plant-based ยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรในไทยผู้ปลูกธัญพืชหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาสกัดเป็นโปรตีนก่อนไปผลิตเนื้อจากพืช ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มถึง 25 เท่า ข้อดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเกษตรกรในไทยจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ plant-based ถูกเลือกให้กลายเป็นอาหารแห่งอนาคตที่เหมาะกับคนในปัจจุบัน

ร้านอาหาร-ซูเปอร์มาร์เก็ต-ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้แห่งอนาคต

ภายในร้านเราจึงเห็นการจัดวางและออกแบบพื้นที่ให้เชื่อมต่อกับทุกกิจกรรมที่สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่การตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV) ด้านหลังร้าน จุดแยกขยะ ดาดฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการก่อสร้างร้านที่เลือกใช้อาคารน็อกดาวน์ซึ่งถูกคำนวณวัสดุมาตั้งแต่โรงงานก่อนมาประกอบ จึงทำให้เป็นการก่อสร้างที่ไม่เกิดส่วนเหลือทิ้ง (waste) จากการก่อสร้าง

เมื่อเปิดประตูเข้ามาเราจะพบกับโซนอาหาร ที่มีพนักงานคอยต้อนรับอยู่ไม่ไกล แม้เราจะเชื่อว่าร้านนี้คือร้านอาหารสำหรับวีแกน แต่เมื่อกวาดสายตาดูเมนูอาหารจะพบว่าเมนูเหล่านี้ไม่แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป 

เริ่มต้นตั้งแต่ Appetizer ยอดนิยม เช่น ไก่ป๊อป นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า อาหารจานหลักหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงเมนูเครื่องดื่มและขนมหวาน เมนูเหล่านี้ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อนำเสนอรสชาติอาหารที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี

“pain-point ของอาหาร plant-based คือ รสชาติยังไม่ถูกปาก และราคาแพงมาก เราเลยอยากโชว์ให้ลูกค้าเห็นว่า เราสามารถทานอาหาร plant-based ที่อร่อยและราคาเท่าทุนได้ ซึ่งก็เป็นที่มาของเมนูต่างๆ ในร้าน จะเห็นว่าอาหารเราไม่ได้แพงอย่างที่คิด เหมือนอาหารทั่วไปที่เราทานได้ทุกวัน แล้วรสชาติหรือแม้กระทั่งเมนูที่เราเลือก เราพยายามเลือกสิ่งที่เป็น comfort food สำหรับคนไทย” พลอยอธิบายถึงที่มาของแต่ละเมนู

เมนูที่น่าจะถูกปากคนไทยอย่าง ตำกระท้อน ถูกหยิบมานำเสนอในฤดูฝนนี้ ด้วยน้ำยำโฮมเมด ปรุงรสด้วยน้ำปลาวีแกน น้ำส้มมะขาม น้ำมะนาวคั้นสด และน้ำตาลช่อดอกมะพร้าว คลุกเคล้ากับกระท้อนจากสวนของร้าน โรยแคบหมูวีแกน เพิ่มความกรอบ เสิร์ฟคู่กับชิคป๊อป  (แน่นอนว่าไม่ได้ทำจากไก่และหมูจริงๆ) แม้จะเป็นเมนูตำแบบวีแกน แต่ยังคงให้รสชาติเปรี้ยว หวาน เผ็ด ได้ถึงเครื่องจริงๆ

อีกหนึ่งเมนูที่แม้ไม่ใช่อาหารไทย แต่หลายคนก็คุ้นเคยดีอย่างเบอร์เกอร์ หรือ alt. Beef UFO ซึ่งร้านออกแบบเป็นรูปทรงจานบิน ตัวขนมปังบริออช (Brioche) รสฟักทอง แม้ร้านจะเลือกใช้บริออชแทนขนมปังทั่วไป ซึ่งมีเนื้อนุ่มและหอมเนยมากกว่า แต่สูตรของร้านกลับไม่มีส่วนผสมของเนย-นม-ไข่ (dairy-free) สอดไส้ด้วยเนื้อเบอร์เกอร์ plant-based หอมคาราเมล ส่วนซอสเบอร์เกอร์ทำจากพริกหวานเผา มาเป็นเซ็ตทานคู่กับเฟรนช์ฟรายส์

นอกจากนี้ยังมีส่วนขนมหวานอย่าง โดนัทและคัฟเค้กรูปอุนจิ (Unji cake) สีสันสดใส หลากหลายรสชาติ ที่แน่นอนว่าไม่มีส่วนผสมของเนย นม ไข่ แต่ยังคงทำให้เนื้อเค้กมีความนุ่ม กลิ่นหอม รสชาติหวานอย่างที่ขนมหวานควรจะเป็นได้อย่างดี

ภายในร้านไม่ได้มีเพียงแค่โซนอาหารเท่านั้น ถัดไปอีกนิดคือโซนซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งวางขายผลิตภัณฑ์วีแกน จาก SME ทั่วประเทศไทย ที่ขอแค่เพียงเป็นผลิตภัณฑ์ plant-based และมีแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับร้าน ก็สามารถติดต่อนำมาวางขายได้โดยไม่มีค่าแรกเข้า เพื่อให้อุตสาหกรรม plant-based ในไทยเติบโตไปได้พร้อมๆ กัน ตามความตั้งใจแรกของร้าน

“หลายๆ คนจะเห็นว่ามีแบรนด์เล็กๆ น้อยๆ เข้ามาเต็มไปหมด มีลูกค้าเข้ามาเดินโซนนี้ค่อนข้างเยอะ ทำให้มีหลายเจ้าเริ่มติดต่อเข้ามา เราก็ยินดีที่จะให้คนมาวาง ใจจริงเราอยากทำให้ธุรกิจ plant-based โตขึ้นในไทย แต่ถ้าเราทำคนเดียวมันคงไม่โต เราเลยคิดว่ามันควรจะโตไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาของ SME หรือ start-up ส่วนใหญ่เขาจะขายในออนไลน์เพราะไม่สามารถเข้าห้างใหญ่ได้ มันมีค่ายิบย่อยที่ห้างเขาเก็บ เราก็เลยคิดว่าไหนๆ ก็ได้พื้นที่นี้มาฟรี เราเลยให้พื้นที่ตรงนี้เป็นโชว์เคสสำหรับ SME ที่สามารถนำสินค้าเขามาวาง” พลอยอธิบาย

ถัดไปด้านนอกคือส่วน outdoor ที่ร้านเรียกว่าโซนไลฟ์สไตล์ เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้เลือกนั่งรับลมธรรมชาติเมื่อมาที่ร้านแล้ว ในทุกๆ เดือนยังมีการจัดกิจกรรมสอดแทรกความรู้นวัตกรรมอาหารและการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

“โซน outdoor เราเรียกมันว่าเป็นโซนไลฟ์สไตล์ เราอยากให้มันเป็นคอมมูนิตี้ใจกลางเมือง ที่เราได้จัดกิจกรรมมากมาย เช่น เมื่อเดือนที่แล้วเราจัดปาร์ตี้บาร์บีคิว plant-based โดยให้ supplier ร้านเราไปเปิดบูทด้วย เพราะเราอยากช่วยโปรโมต supplier ในร้าน และอยากให้เป็นสถานที่ที่คนในย่านนี้สามารถ hang out ได้ในเสาร์-อาทิตย์” พลอยเสริม

plant-based ไม่ใช่อาหารวีแกน แต่คืออาหารของทุกคน

แม้ plant-based จะถูกมองว่าเป็นอาหารของวีแกนหรือมังสวิรัติ แต่เราจะเห็นความตั้งใจของร้านที่พยายามทำให้ร้านนี้เป็นร้านอาหารของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนรักโลก คนรักสุขภาพ หรือแม้แต่คนที่รักในการกิน ตาม #altforAll ของร้าน

“บางคนอาจจะคิดว่าถ้าฉันไม่ใช่วีแกนจะสามารถกินได้ไหม หรือว่ามันจะอร่อยไหม เราทำสิ่งนี้ขึ้นมาเพราะเราอยากทลายกำแพงตรงนี้” พลอยยืนยันความตั้งใจ สิ่งที่เราอยากบอกคือ plant-base มันเป็น food technology ชนิดหนึ่ง ที่นำโปรตีนจากพืชมาผ่านนวัตกรรม เพื่อให้ได้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เหมือนเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ถั่วหรือเห็ด เต้าหู้เป็น plant-base หรือเปล่า ถ้าเกิดว่าเรากัดแล้วยังรู้รสชาติ หรือมองด้วยตาแล้วยังบอกได้ว่านี่คือเต้าหู้หรือถั่ว แสดงว่ามันไม่ใช่ plant-based”

หลังจากการเปิดตัวร้านเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ร้าน alt.Eatery ถือว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า สำหรับก้าวต่อไปร้านกำลังวางแผนขยายสาขา รวมถึงกิจกรรมสนุกๆ ที่รอให้ทุกคนเข้ามาร่วมเรียนรู้ พูดคุย เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ 

พลอยเล่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เปิดร้านไม่เพียงแต่ทำให้คนเปิดใจกับอาหาร plant-based มากขึ้นและไม่จำกัดว่าเป็นอาหารของวีแกนหรือมังสวิรัติเท่านั้น ขณะเดียวกัน SME เจ้าของสินค้าในโซนซูเปอร์มาร์เก็ตหลายร้านก็มีโอกาสในการขยายธุรกิจบนห้างชั้นนำด้วย

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเนื้อ plant-based ทำให้ alt.Eatery ไม่ใช่เพียงแค่ร้านอาหารเฉพาะทางเท่านั้น แต่ด้วยการผสานไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแห่งอนาคต ทั้งวิถีการกินและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นคอมมูนิตี้สำหรับทุกคนที่อยากเลือกสิ่งที่ดีให้กับอนาคตไปด้วยกัน

alt.Eatery
Facebook : https://www.facebook.com/alt.Eatery/
Instagram : https://www.instagram.com/alt.eatery/
เวลาทำการ : ทุกวัน 8.00-21.00 น.
Location : https://goo.gl/maps/GZ8Z8jjoFfQgg9i49
941 ซ. สุขุมวิท 51 แขวง คลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่