All Lives: จับมือไว้แล้วไป (ตาย?) ด้วยกัน

หนึ่งในประเภทยอดฮิตของซีรีส์คือ เรื่องราวทางการแพทย์ (Medical Drama) แกนหลักมักว่าด้วยเหล่าคุณหมอที่ต้องเผชิญกับเคสคนไข้รายวัน หนักบ้าง เบาบ้างสลับกันไป ซีรีส์ดังของฝั่งตะวันตกมีหลายเรื่อง อาทิ ER (1994-2009), The Good Doctor (2017-2024) ส่วนเรื่องฮิตถล่มทลายของเกาหลีคือ Dr. Romantic (2016-2023) และ Hospital Playlist (2020-2021)

ด้านประเทศญี่ปุ่นก็มีซีรีส์แนว Medical Drama ออกฉายอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่คนไทยรู้จัก เช่น Iryu: Team Medical Dragon หรือ ‘อิริว ทีมดราก้อนคุณหมอหัวใจแกร่ง’ (2006-2014) ว่าด้วยหมอผ่าตัดอัจฉริยะ ที่มีบุคลิกไม่ค่อยเหมือนหมอสักเท่าไร อีกเรื่องที่ผู้เขียนชอบคือ Unsung Cinderella: Midori, The Hospital Pharmacist (2020) ที่ฉีกแนวไปเจาะลึกเหล่าเภสัชกร ซึ่ง Medical Drama ของญี่ปุ่นมักขึ้นชื่อเรื่องความดราม่าหนักหน่วงตามท้องเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่หลายครั้งมันก็บีบคั้นทางอารมณ์จนเกินเหตุ

เมื่อผู้เขียนเห็นว่าภาพยนตร์เรื่อง All Lives (2024) มีเนื่อหาเกี่ยวกับคนป่วยใกล้ตาย ก็หวั่นใจล่วงหน้าว่ามันจะเป็นหนังฟูมฟาย บิลด์ๆ ใหญ่ๆ แบบที่ญี่ปุ่นชอบทำ แต่ต้องเซอร์ไพรส์ว่ามันไม่ใช่หนังดราม่าเค้นน้ำตา เรื่องราวว่าด้วย นารุเสะ (เคน วาตานาเบะ) ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ตัดสินใจออกเดินทางทั่วญี่ปุ่นไปกับคุณหมอซากุระ (ซาโตชิ สึมาบูกิ) ด้วยเหตุผลว่ามองเพดานโรงพยาบาลมานาน อยากออกไปเห็นท้องฟ้าเห็นทะเล สัมผัสสายลมบ้าง ดังนั้น All Lives จึงมีส่วนผสมของหนัง Buddy (คู่หู) + Road Movie (การเดินทาง) มากกว่า Medical Drama ตามแบบแผน

ต้องเล่าแบ็กกราวนด์ก่อนว่า All Lives เป็นภาพยนตร์ฉายทางโทรทัศน์ (TV Movie) ที่ฉายในวาระครบรอบ 60 ปี ของสถานี TV Tokyo ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จากนั้นก็ลงในสตรีมมิง Netflix เมื่อเป็นหนังเฉลิมฉลองทั้งที ทีมสร้างเลยเล่นใหญ่จับดาราบิ๊กเนมอย่าง วาตานาเบะและสึมาบูกิมาร่วมจอกัน ส่วนผู้กำกับของเรื่องคือ ริวอิจิ ฮิโรกิ ที่ทำหนังมาตั้งแต่ยุค 80 ผลงานที่ชาวไทยเคยผ่านตากันบ้างก็ Ride or Die (2021) และ Phases of the Moon (2022) ส่วนทีมงานสำคัญอีกคนของ All Lives คือ เอริโกะ คิตากาวะ มือเขียนบทหญิงชื่อดัง ผลงานเด่นของเธอ เช่น Long Vacation (1996) และ Orange Day (2004)

ถือว่าไม่เสียแรงที่ All Lives มีนักแสดงและทีมงานชั้นนำ หนังพาตัวเองไปไกลจากหนังโลกสวยให้กำลังใจคนใกล้ตาย ด้วยจุดยืนของตัวละครที่ไม่แน่นอน อย่างนารุเสะเองวันหนึ่งบอกว่าอยากมีชีวิตอยู่ แต่วันรุ่งขึ้นความเจ็บปวดจากมะเร็งทำให้เขาโอดครวญว่าอยากตาย ซึ่งหมอซารุกะก็พกสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ยาวิเศษ’ ติดตัวมา มันคือสารที่จะทำให้ผู้ป่วยจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ทว่าซากุระเองก็กำลังจิตตกกับอาชีพการงานที่พังพินาศและการหย่าร้าง จนมีแนวโน้มว่าเขาอาจจะใช้ยาวิเศษด้วย แต่ซากุระก็เกิดความสับสนว่าควรใช้มันหรือไม่ ทั้งกับนารุเสะและตัวเขาเอง

ปกติแล้วเราอาจคุ้นชินกับวาตานาเบะในบทผู้ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม เช่น The Last Samurai (2003) แต่ใน All Lives เขาแสดงเป็นคุณลุงป่วยทรุดโทรมได้อย่างน่าเชื่อถือ (และน่าเอ็นดูในหลายฉากด้วยความเปิ่นของตัวละคร) ส่วนสึมาบูกิเป็นนักแสดงชั้นดีแบบหายห่วง ทั้งสองมีเคมีที่เข้ากันอย่างดี พวกฉากเร้าอารมณ์ทั้งหลายผู้กำกับก็คอยยั้งมือไม่ให้ล้นเกินไป แต่ผู้เขียนคิดว่าคนที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ ฮิคาริ มิตสึชิมา เธอรับบทลูกสาวผู้ห่างเหินของนารุเสะ ออกมาเพียงสองฉากเท่านั้น ซึ่งการเผชิญหน้ากันระหว่างพ่อลูกที่ผสมด้วยความเย็นชาและความห่วงใย ถือเป็นฉากที่ซับซ้อนอย่างน่าประทับใจ

จากประเด็นเรื่องยาวิเศษที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ All Lives โดดเด่นด้วยการชวนคิดถึงประเด็นการุณยฆาต (Euthanasia) ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในภาพยนตร์ญี่ปุ่นนัก เพราะประเทศนี้มักมีภาพจำของการฆ่าตัวตายแบบสุดโต่ง ด้านหนึ่งคือความทรงเกียรติอย่างการฮาราคีรี ส่วนอีกด้านคือความดาร์กที่เป็นข่าวทุกเมื่อเชื่อวันอย่างการกระโดดให้รถไฟชนตาย นอกจากนั้นหนังยังทิ้งท้ายถึงอีกทางเลือกของผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั่นคือ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยของยุคนี้เช่นกัน

แม้ผู้เขียนจะบอกว่า All Lives ไม่ใช่หนังโลกสวย แต่ห้วงปัจจุบันที่สังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความมืดมิด เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมผู้สูงวัย ขาดแคลนแรงงาน บ้านร้างล้นประเทศ ไปจนถึงการตายอย่างโดดเดี่ยว (Kodokushi) การคลี่คลายของ All Lives ที่มอบแสงสว่างเล็กๆ ให้กับผู้ชม จึงถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของยุคสมัยนี้

AUTHOR