“โลกยังมีพรุ่งนี้” – อาจินต์ ปัญจพรรค์

ขึ้นต้นคำแรกเขียนเลย ผมชม ส.ศิวรักษ์ ผมเคารพเขามาก”

ประโยคนี้ดังขึ้นกลางโถงในบ้านชั้นเดียวหลังกะทัดรัดในซอยชูจิตารมย์ ย่านสุทธิสาร หากมองลอดพุ่มไม้เขียวทึบเข้าไป จะเห็นบริเวณบ้านโล่งสะอาดตา เครื่องเรือนน้อยชิ้น เผยให้เห็นความสมถะ ไม่ถือตัวของเจ้าบ้าน อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 87 ปีนั่งอยู่บนเก้าอี้สีขาว ยังดูแข็งแรง มาดเอาจริงเอาจังของนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยยังคงแฝงอยู่ในทุกอิริยาบถ

เมื่อเริ่มพูดคุยกัน รายชื่ออีกมากมายก็หลั่งไหลออกมาจากลิ้นชักความทรงจำของคุณอาจินต์ หลายชื่อคุ้นหูเป็นที่รู้จักดี บางชื่อเป็นเพียงคนเล็กๆ ที่ผ่านเข้ามาในฉากชีวิต แต่ทุกคนมีเรื่องราวให้กล่าวถึงและมีคุณค่าแตกต่างกันไป

“ครั้งหนึ่งรถขยะมาเสียในตรอกนี้ เขาหาโทรศัพท์ ไม่มีใครให้โทร ผมบอกมานี่ เอาไปโทร คนเก็บขยะไปบ้านไหนคนรังเกียจ รังเกียจทำไม เขามาทำให้ตรอกนี้หายเหม็น เราดูถูกเขาไม่ได้”

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับพ่อครัวตัวอักษรเช่นอาจินต์ เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรมาก็จะจดบันทึกเก็บไว้เสมอ และยังคงจำคำกลอนบทพูดในอดีตเมื่อตอนเด็กได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านเล่าเรื่องขำขันที่เฉียบคมแฝงปรัชญา และร้องเพลงให้เราฟังหลายเพลงระหว่างสนทนา

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณอาจินต์หลงใหลความสวยงามของถ้อยคำและเรื่องเล่า ทำให้อยากเรียนอักษรศาสตร์อย่างพี่สาว แต่ก็ยอมเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามใจคุณพ่อ ระหว่างเรียนก็ยังคงมุ่งมั่นในการอ่านการเขียนอยู่เสมอ

“ตั้งแต่ได้อ่านหนังสือของเสนีย์ เสาวพงศ์ กับอิศรา อมันตกุล ผมบอกตัวเองว่าไม่เป็นแล้วช่าง ผมจะเป็นนักเขียน ผมเคยไปประชุมที่รัสเซีย คนรัสเซียถามผมว่าทำยังไงจะเขียนหนังสือได้ ผมบอกผมอ่านมาก อ่านมากแล้วอยากเขียนสู้ สู้ได้บ้าง ไม่ได้บ้างคุณอาจินต์เล่าให้เราฟังว่าขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง มหาวิทยาลัยปิด โลกนอกห้องเรียนเปิดสอนวิชาที่สนุก น่าตื่นใจจนทำให้ไม่อยากกลับไปเรียนอีก เป็นเหตุให้สอบตกหลายวิชา และสุดท้ายก็ถูกรีไทร์ ต้องออกจากมหาวิทยาลัย คุณพ่อจึงส่งไปอยู่ในเหมืองเพื่อทำงานหนักเป็นการดัดนิสัยที่ไม่ยอมเรียนหนังสือ

“ความลำบากมันทำให้ผมอดทนใช้หนี้ชีวิต หนี้ชีวิตคือรีไทร์

เรื่องราวของเหมืองแร่แทรกเข้ามาเป็นระยะระหว่างการพูดคุย คุณอาจินต์ชี้ให้เรามองแขนทั้งสองข้างที่เคยเต็มไปด้วยฝุ่นผงถ่านหินในเหมือง แม้ผงสีดำเหล่านั้นจางหายไปแล้วตามกาลเวลา แต่เรายังคงมองเห็นแสงไฟจากเตาเผาในเรือขุดแร่ แผดเปลวสะท้อนในดวงตาของคุณอาจินต์ เรื่องเล่าจากเหมืองแร่ยังคงสดใหม่เสมอ แม้ว่าจะถูกเล่ามาแล้วนับร้อยนับพันครั้ง

“ตอนเที่ยงต้องไปหิ้วกาแฟใส่กระป๋องนมมาให้หัวหน้าเราซึ่งเป็นเจ๊ก ชื่อก้อง ตัวใหญ่เบ้อเร่อเลย นักเรียนจุฬาฯ ไปเป็นคนรับใช้คนตีเหล็ก เพราะเขาสอนเรา

ประสบการณ์ชีวิตวัยหนุ่มอันเข้มข้นของคุณอาจินต์บ่มเพาะขึ้นในเหมืองแร่ เมื่อถึงเวลาออกมาจากเหมือง เรื่องราวเหล่านั้นก็ได้ผลิออกดอกผลบนหน้ากระดาษ เป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวมากมายออกไปขุดร่อนค้นหาความฝันของตนเองต่อไป อาจินต์เขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสารต่างๆ ระหว่างทำงานโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ต่อมาจึงเปิดสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้ว พิมพ์รวมเรื่องสั้นของตัวเองขายเอง ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ซึ่งเปรียบได้กับพื้นที่แจ้งเกิดของนักเขียนไทยนับไม่ถ้วน การมุ่งมั่นทำงานด้านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2534

“ลูกผู้ชายต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำไม่ว่ายุคไหน ผู้หญิงเก่งเท่าผู้ชายก็มี การกระทำบอกว่าใครเป็นใคร หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ทางยิ่งไกลม้ายิ่งเก่ง คนยิ่งทำงานมากยิ่งเก่ง นี่คือคำพูดของเด็กหนุ่มที่ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยผู้ผ่านการพิสูจน์ตัวเองอย่างเข้มข้นจนกลายเป็นนักเขียนคนสำคัญของเมืองไทยจวบจนทุกวันนี้

ทุกๆ วันคุณอาจินต์ยังคงเขียน จากอุปกรณ์แค่ปากกากับกระดาษ ท่านยังเขียนในแท็บเลตด้วย หากใครที่ติดตามเฟซบุ๊ก อาจินต์ ปัญจพรรค์ คงจะได้เห็นสเตตัสสั้นบ้างยาวบ้าง เล่าความทรงจำในอดีต ถามไถ่ถึงเพื่อนพ้อง รวมถึงชื่นชมนักเขียนคนอื่นๆ อยู่เสมอ

“อย่าอยู่เฉยๆ ตื่นเช้ามาเขียนเลย คิดถึงอะไรก็เขียน ใช้ยาสีฟัน สบู่ ยี่ห้ออะไรก็จดเป็นบันทึกประจำวัน ไม่ดีก็ทิ้ง รอบตัวเรามีเรื่องน่าเขียนทั้งนั้น เรื่องที่ดีคือไม่ได้ลอกใคร ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหนก็ยังจำได้ อ่านแล้วเป็นทางออก เป็นมุมใหม่ของชีวิต ให้รู้ว่าชีวิตมีหวัง นี่ตอลสตอยพูดไว้”

หากเปรียบชีวิตเป็นงานเขียนเรื่องหนึ่ง เรื่องของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ย่อมเป็นเรื่องราวที่ไม่ซ้ำใคร ไม่มีใครเหมือน เป็นที่จดจำผ่านกาลเวลายาวนาน และให้ความหวังในชีวิตแก่ทุกคน ก่อนการสนทนาจะจบลง คุณอาจินต์เล่าให้เราฟังถึงโครงการมากมายที่ได้ตระเตรียมไว้ ทั้งงานเขียนเล่มใหม่ และอีกหลายสิ่งที่อยากทำในอนาคต

“โลกยังมีพรุ่งนี้ คนจึงซื้อตู้เย็นเพื่อใส่กับข้าวไว้กิน” คุณอาจินต์ฝากข้อคิดสั้นๆ ชวนให้เราอมยิ้มและอยากกลับไปเขียนเรื่องราวของตัวเองให้ดีกว่าเดิม

อาจินต์ ปัญจพรรค์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!