AdPeople Awards & Symposium 2024 คืองานของคนรักความคิดสร้างสรรค์แห่งปี โดยครั้งนี้กลับมาในธีม ‘Creativity for Peoplekind’ เปิดจักรวาลงานครีเอตให้เป็นเรื่องของทุกคน
จาก AdMan สู่ AdPeople คือหมุดหมายที่ ‘รติ พันธ์ุทวี’ นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย อยากเปลี่ยนชื่อเพื่อทลายกรอบจำกัดเดิมที่เคยตีเส้นให้เป็นงานสำหรับคนโฆษณา สู่การเปิดกว้างให้ ‘People’ คนธรรมดาได้อวดความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายวงการ และความตั้งใจที่อยากให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ
ความพิเศษในปีนี้ไม่เพียงแค่มีกรรมการตัดสินที่หลากหลายเจเนอเรชัน แต่เป็นการผนึกความร่วมมือกับ UN ยกระดับงานคนไทยก้าวไกลบนเวทีโลก ไปจนถึงการชูแนวคิดการสร้างความยั่งยืน (Sustainability Policy) กับงานสร้างสรรค์ เปิดทางให้เหล่าคนช่างคิด นักเรียน รวมถึงคนโฆษณา และชาวเอเจนซี ได้มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด แบ่งปันประสบการณ์อย่างใกล้ชิดแบบจัดเต็ม ซึ่งจะจัดวันที่ 20 – 21 พ.ย. 2567 ที่สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์
การเดินทางตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ของเวทีประกวดโฆษณาภายใต้ชื่อ ‘Adman Awards & Symposium’ สู่ ‘AdPeople Awards & Symposium’ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เป้าหมายสูงสุดคืออะไร รวมไปถึงทิศทางจะเป็นยังไงต่อไป
ทำไมถึงเปลี่ยนชื่อจาก AdMan มาเป็น AdPeople
ประเด็นแรกคือเมื่อก่อนบางคนอาจจะมองว่า Adman แปลว่า เรื่องของคนโฆษณา เป็นธุระของคนโฆษณา แต่เวทีนี้เรายืนยันได้ว่าไม่ใช่ เพราะเนื้อหาเรื่องราวมันกว้างขึ้นมาก ประเด็นที่สองคือปีนี้เป็นปีแรกที่สมาคมโฆษณาประกาศนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Policy) ซึ่งก็มีเรื่องของการสนับสนุนการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรารู้สึกว่าสิ่งนี้คือหนึ่งในหัวใจของงาน Adman เราค้นพบว่าถ้าจะไปสู่ในเรื่องของความยั่งยืน มันต้องไม่ใช่แค่ Man แล้ว มันต้องเป็น People เพราะเราอยากให้รู้สึกว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่เราขยายขอบเขตของการทำงาน เรามองว่าเนื้อหาและคุณค่าของมันควรค่าแก่คนในวงกว้าง
ฟีดแบ็กจากปีที่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
ปีที่แล้วก็เป็นปีที่ดีมาก ผู้คนให้ความสนใจเยอะ เราทำได้ดีขึ้นในทุกองค์ประกอบและทุกมิติ สิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจมากที่สุดคือจำนวนคนที่มางาน เราจัดทั้งหมด 2 วัน คนมาวันละ 1,500 กว่าคน ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่สิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือเราได้เห็นความหลากหลายของผู้คนที่เข้ามาชม มีทั้งนักการตลาด คนโฆษณา ผู้ประกอบการ SME รวมไปถึงสิ่งที่เราตั้งใจคืออยากให้ความรู้กับนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวหางาน หรือ First Jobber โดยเฉพาะ Session Workshop ที่เราจัดขึ้นมามันมีประโยชน์มากกับกลุ่มคนเหล่านี้ เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราจับทางถูกแล้ว
ในแง่ของงานปีนี้เรากล้าพูดได้เลยว่า 33 Sessions และ Workshop 12 Sections จาก 80 Speakers เป็นคนที่น่าฟังและหลากหลายเจเนอเรชัน มีทั้งศาสตร์ของแบรนด์ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการทำธุรกิจค้าขาย การทำโฆษณา หรือ ESG (Environmental, Social, และ Governance) เราคิดว่าสเปกตรัมนี้ทำให้เกิดความหลากหลายของหัวข้อและเป็นประโยชน์กับคนฟังในภาพที่กว้างขึ้น
การนำแนวคิดความยั่งยืนมาร่วมกับงานสร้างสรรค์ มีความสำคัญอย่างไร
ทุกวันนี้คนก็พูดถึงเรื่องของ SDGs (Sustainable Development Goals) ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนของธุรกิจโฆษณาหรือธุรกิจสื่อสารการตลาด ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำตัวเป็น Corporate Citizenship ที่ดีของสังคมและโลกใบนี้ เราได้คุยกับทาง UN Global Compact ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ดูแลในเรื่องของ SDGs โดยตรง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทย โดยเราเลือก 4 หมุดหมายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารการตลาดอย่างแท้จริง
อย่างแรกคือการศึกษาที่มีคุณภาพ เราทำ Knowledge Sharing ให้กับสังคมอยู่ตลอดเวลา การจัดงานสัมมนาไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่อยู่ในสายงานอาชีพนี้เท่านั้น แต่เรามีเทรนเนอร์เพื่อหวังที่จะส่งต่อความรู้ผ่านทางกลุ่มของครูบาอาจารย์เพื่อจะไปให้ถึงนักศึกษารุ่นใหม่ในอนาคตให้มีความพร้อมทั้งศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ นี่คือการให้องค์ความรู้ที่เราคิดว่าทุกคนควรจะต้องมาฟังและเป็นประโยชน์
อย่างที่สองคือความเท่าเทียม ผมมองว่าในธุรกิจโฆษณาก็เป็นธุรกิจชนิดหนึ่งที่เราเห็นอยู่แล้วว่ามีความหลากหลายในเรื่องต่างๆ เราจึงแทรกประเด็นเรื่องของการมีความเคารพในอิสระของความคิดสร้างสรรค์ หากเรามีความเคารพในเพศสภาพแล้ว เราก็ต้องมีความเคารพในความแตกต่างในความคิดสร้างสรรค์ด้วย ถ้าเราปิดกั้นตรงนี้ ไอเดียดีๆ ก็คงไม่ออกมา
อย่างที่สามคือการผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ สมาคมเรารณรงค์ในเรื่องของจรรยาบรรณโฆษณามาโดยตลอด ล่าสุดเราก็มีคู่มือจรรยาบรรณที่แปลมาจากทางหอการค้าโลก เรามีคณะทำงานจรรยาบรรณ เราทำงานร่วมมือกับภาครัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งชิ้นงานโฆษณาที่มันควรจะเป็น เราก็พูดกันมาตลอดว่าการที่จะมีไอเดียความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ ใหม่ๆ ได้ต้องมีอิสระทางความคิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรทัดฐานของความเป็นจรรยาบรรณต้องมีเช่นกัน ผมคิดว่าจรรยาบรรณของผู้ทำโฆษณาหรือคนทำสินค้าบริการต่างๆ ถ้าทำด้วยการมีจรรยาบรรณที่ดีแล้ว มันนำไปสู่การบริโภคอย่างเป็นธรรม
อย่างสุดท้ายคือการร่วมมือไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายความว่าเราก็เป็น Partnership ที่ดีกับลูกค้าและพร้อมสนับสนุนการทำงานเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จ นี่ก็คือ 4 SDGs ที่เราประกาศไปในปีนี้ นี่คือการนำร่องที่จะทำให้โฆษณาที่อยู่ในระบบสมาชิกของเรา ในอนาคตก็สามารถนำไปใช้ต่อได้ ธุรกิจโฆษณาก็ต้องมีมาตรฐานในการทำงานเหมือนกัน
คอนเซปต์ปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ อย่างไรบ้าง
ธีมของเราในปีนี้คือ Creativity for Peoplekind หมายถึงการที่เราเปิดกว้างกับชิ้นงาน ซึ่งปีนี้มีการปรับเปลี่ยนหมวดของการประกวดรางวัลเพิ่มเติม เราเปิดให้เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือเจ้าของแบรนด์ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของเอเจนซีโฆษณาส่งงานเข้ามาได้ เพราะมีหลายองค์กร หลายบริษัทที่มีงานดีๆ เยอะมาก แต่เขาอาจจะรู้สึกว่าเข้ามาไม่ถึง และอีกสิ่งใหม่คือปีนี้เรามี Entertainment Music นั่นหมายความว่าเราเริ่มที่จะพิจารณารางวัลที่เกี่ยวข้องกับเพลงและมิวสิกวิดีโอด้วย ดังนั้นงานรางวัลโฆษณาก็จะไม่ได้เห็นแค่เฉพาะเอเจนซี อาจจะมีนักดนตรี นักร้องจากค่ายเพลง หรือค่ายทำหนังขึ้นไปรับรางวัลใน Adman นี่คือ Creativity for Peoplekind ที่เราเปิดกว้างมากขึ้น
เราให้ความสำคัญกับหัวข้อสัมมนา พยายามวางให้มันวาไรตี้เยอะมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการ คนทำงานเอเจนซี คนทำการสื่อสารการตลาด ฝ่ายวิชาการ อาจารย์ หรือแม้กระทั่งนักเรียน ทุกคนสามารถหยิบจับอะไรที่เป็นประโยชน์กับสถานะของคุณได้จริงๆ เราเชื่อมั่นเลยว่าคนธรรมดาทุกคนที่เห็นในความคิดสร้างสรรค์ต้องได้อะไรกลับไป
แล้วกรรมการตัดสินมีความหลากหลายมากขึ้นด้วยไหม
ความพิเศษคือปีนี้เรามี Category 3 กลุ่มของผู้ตัดสิน กลุ่มแรกคือ Young Judge ด้วยความที่สมัยก่อนตอนที่เราไปงานประกาศรางวัล เราก็จะเห็น Creative Director หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นผู้อาวุโสมาตัดสินชิ้นงานต่างๆ แต่เราก็อยากรู้ว่าถ้าผู้ตัดสินที่อายุต่ำกว่า 30 จะเป็นยังไง ซึ่งอาจจะเป็น Copy Writer, Art Director, Graphic Designer หรือแม้กระทั่งฝั่งลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ให้เขามาดูว่าอยากจะเลือกให้รางวัลงานอะไร
กลุ่มที่สองคือภาคประชาชน เราอยากเอาคนธรรมดามาตัดสิน เราอยากรู้ว่างานโฆษณาต่างๆ ที่คิดว่าควรต้องได้รางวัล ประชาชนเขาคิดแบบที่เราคิดหรือเปล่า ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ พี่ไรเดอร์ พี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณหมอ อาจารย์ คุณครู ตำรวจ มีความคล้ายกับรางวัล Popular Vote เป็นรางวัลที่มอบจากคนธรรมดา
และกลุ่มที่สามคือ The Legend Judge คือคนโฆษณาที่เลิกทำงานโฆษณาไปแล้ว เกษียณไปแล้ว แต่นั่นคือ Big Name ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ผมทำงานโฆษณา ชื่อเหล่านั้นคือตำนานมากๆ ก็มาดูกันในปีนี้ว่า The Legend Judge เขาจะเห็นงานแบบไหน ทั้งหมดนี้ก็เป็น Creativity for Peoplekind ด้วยเจตนาที่เราอยากให้มันกว้างและมีส่วนร่วมจากคนหลายกลุ่มมากขึ้น
สำหรับคุณ คิดว่าการมีกรรมการที่ต่างเจเนอเรชันกันมีความน่าสนใจอย่างไร
ผมคิดว่าพี่ๆ ที่อยู่ในวงการมาก่อนก็ล้วนเป็นตำนานของอุตสาหกรรมโฆษณาทั้งสิ้น เราอยากเห็นสิ่งนี้เพราะเราอยากบันทึก เราอยากฟังว่าพวกเขามองเห็นอะไร เผื่อว่าการบันทึกของเราจะมีประเด็นหรือแก่นสารที่สำคัญและน่าสนใจที่จะไปถ่ายทอดต่อ เพื่อเป็นประโชยน์ให้กับคนที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน
ผมคิดว่าสิ่งที่พี่ๆ เขาทำกันไว้ในอดีตมันเป็นอะไรที่มีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการโฆษณาไทยมาถึงทุกวันนี้อย่างมีศักดิ์ศรี พี่ๆ เหล่านั้นคือคนที่ไปบุกเบิกรางวัลเยอะแยะมากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่เรามีมาถึงวันนี้ก็มาจากการทำงานของพี่ๆ เหล่านั้น ในวันนี้ที่เราจะต้องปรับทิศทางของอุตสาหกรรมนี้ต่อไป ผมคิดว่าก็น่าสนใจดีถ้าเราเอาชิ้นงานมาเป็นตัวตั้ง แล้วลองดูว่าพวกเขามีวิธีการมองหรือมีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง อาจจะมีคอนเมนต์บางอย่างที่เป็นประโยชน์เพื่อไปถ่ายทอดให้กับคนในรุ่นต่อๆ ไป
แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบริบทยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ช่องทางหรือรูปแบบของการสื่อสารมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สมัยก่อนพวกพี่ๆ เขาอาจจะคุ้นชินกับสื่อพวก ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ แต่ยุคสมัยนี้มันมีวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น นี่คือสเปกตรัมที่ต่างกันระหว่างเจเนอเรชัน เราก็อยากดูว่าคนต่างรุ่นจะเลือกอะไรยังไง
ด้วยความที่เราทำงานกับคนทั้งสองรุ่น เราเป็น Transition ระหว่างเจเนอเรชัน ซึ่งเรามองว่าการมีความคิดเห็น วิธีการมอง หรือวิธีการพิจารณาของแต่ละเจเนอเรชันที่ต่างกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดามากในทุกวงการ แต่ท่ามกลางการมองหรือคิดไม่เหมือนกัน มันมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจแล้วควรจะเอามาแชร์กันไหม นั่นคือสิ่งที่เราสนใจมากกว่า
ลองถูกลองผิดมาหลายปี คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเดินมาถูกทางแล้ว
ผมเป็นคนแรกเลยที่จัดงาน 2 วัน มันเป็นความบ้าบิ่นของผมเอง ตั้งแต่ได้มารับตำแหน่งเป็นนายกสมาคม ผมรู้สึกว่างานตรงนี้มันไม่ถึงใคร เราอยากทำงานให้มันเป็นวงกว้าง แต่ถ้าเราจะจัดกันเอง ฟังกันเอง ดูกันเอง แล้ววิทยาการเหล่านี้จะไปอยู่ที่ใครล่ะ ทำไมเราไม่ขยายออกไปในวงอื่นบ้าง เพื่อให้คนอื่นเขาได้เข้าใจ คุณอยากจะมีโตเกียวบานาน่า แต่คุณไปทุกจังหวัดเจอแต่มันฉาบ กล้วยฉาบ เหมือนกันหมดเลย มันไม่มีแบรนด์ดิ้ง มันไม่มี Value Added มันไม่มีดีไซน์ทั้งสิ้น แล้วแบบนี้มันจะสร้างสรรค์ได้ยังไง ถ้าเราคิดว่า Creativity จะช่วยให้การทำธุรกิจและเศรษฐกิจดีขึ้น เราในฐานะทำวิชาชีพนี้ก็ต้องถ่ายทอดสิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปได้ นี่คือสิ่งแรกที่คิดเลย หรือจะเรียกว่าเป็นความอุตริก็ได้ ก็เอาล่ะวะ ลองกัดฟันทำดู
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามาถูกทางแล้วมี 2 องค์ประกอบ หนึ่งคือส่วนผสมของเรื่องราวที่นำเสนอ เราจะทำแค่เรื่องที่อยู่เฉพาะในแวดวงของคนโฆษณาอย่างเดียวไม่ได้ สองคือการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนในงานรางวัล แต่ความท้าทายที่สุดคือทำยังไงให้คนทั่วไปรู้ว่าเขาควรจะมางานนี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องทำกันต่อไป
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเรารู้สึกได้ว่าเวลานี้คนทั่วไปเริ่มเข้าใจถึงนัยสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปช่วยให้การทำธุรกิจ การค้าขายคล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่บอกว่าฉันอยากจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ พวกเขาก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ผมมองว่าคนในเจเนอเรชันปัจจุบันเห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งเราก็พยายามที่จะตอบสนองสิ่งที่เขาอยากจะเรียนรู้ อยากจะฟัง
ความฝันสูงสุดของการทำงานตรงนี้คืออะไร
อาจจะฟังแล้วดูเป็นอะไรที่ Abstact นิดหนึ่ง แต่ผมแค่อยากได้ยินฟีดแบ็กที่บอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันเป็นประโยชน์ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นองค์กรที่ไม่ได้หวังผลกำไร แต่ว่าการจัดงานแบบนี้ต้นทุนมันไม่ถูกหรอก เราแค่อยากให้คนมาเพื่อให้งานมันไปต่อได้ ถ้าผมทำปีนี้ไม่ได้ปีหน้าก็ไม่มี พูดตรงๆ ว่าสมาคมก็ไม่ได้มีเงินที่จะรองรับความขาดทุน แน่นอนว่าเราไม่ได้หวังกำไร เพียงแต่ว่าขอให้มาในระดับที่เรียกว่าพอไปได้ แล้วปีหน้าทำกันต่อได้ผมก็โอเคแล้ว หรือถ้ามาเยอะอีกหน่อยบัตรมันก็อาจจะถูกลง เพราะว่าความตั้งใจคืออยากขยายวงให้มันกว้างขึ้น แต่ในเชิงของคุณค่าเราก็อยากให้คนที่มาแล้วต้องได้อะไรกลับไป ผมว่านั่นคือเป้าหมายที่ดีที่สุดที่เราอยากจะได้ยิน
ต้องยอมรับว่างานเราจัดเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแทบจะเป็นงานสุดท้ายของปี คนอาจจะคิดว่างานมันก็ซ้ำๆ เหมือนกัน แต่ผมยืนยันได้เลยว่ามันไม่ซ้ำ ผมพยายามที่สุดที่จะทำให้มันมีคุณค่าในมุมที่แตกต่าง เรากลับมาสู่พื้นฐานที่สำคัญของการทำธุรกิจ การตลาด การค้าขายว่านี่คือความคิดสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ ความรู้ในเชิงของการวางกลยุทธ์ต่างๆ ที่คนธรรมดาในวงกว้างสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้ตัวเองได้
บรรยากาศงานที่ผ่านมามันดีขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นผู้คนหลากหลายเจเนอเรชัน วันหนึ่งเราอยากจะให้วันนี้เป็นวันแห่งความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนสามารถจะมาเสพ มาจับเอาความรู้ดีๆ มาสร้างแรงบันดาลใจเพื่อต่อยอดความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ ผมว่านี่แหละที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไปได้
AdPeople Awards & Symposium 2024 งานใหญ่ที่สุดของคน Creativity ที่จะเปิดโลกความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องของทุกคนที่อัดแน่น 2 วันเต็ม กับ 33 Sessions และ Workshop 12 Sections จาก 80 Speakers ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://admanawards.com
ซื้อบัตรได้ที่ https://www.eventpop.me/s/adpeoplesymposium2024
บัตรราคา 3,500 บาท เข้าได้ 2 วัน