ผ่านมาแล้วกว่าหลายทศวรรษที่ คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) ผู้หญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของกรรมกรสตรีให้เทียมเท่ากับผู้ชาย จนกลายเป็นธงชัยแห่งความสามัคคีของมวลสตรีทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบันนี้โลกได้เดินทางมาไกลเกินกว่าช่วงเวลาเหล่านั้นมากแล้ว พวกเราในฐานะคนที่เกิดทีหลัง อยู่ในโลกที่พอจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไรมากขึ้น กฎกติกาในสังคมมีการเปลี่ยนแปลง Norm ของสังคมที่กดทับผู้หญิงและเพศหลากหลายเอาไว้เริ่มคลายตัวออก แต่ถึงอย่างนั้นการลิดรอนสิทธิ์ที่เคยถูกขึงตรึงเหล่านั้น มันเคยตึงมากจึงยืดหย่อนไปเองตามสภาพ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่อีกแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะเพียงเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นเอง
สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ล้วนเป็นผลผลิตของการเคยเป็นทั้งสิ้น เราอาจอยู่ในสังคมปิตาธิปไตยมานานจนความเชื่อ ความคิด วิถีชีวิตยังคงเติบโตแตกหน่อมาจากพื้นเพเหล่านั้น จึงจะได้เห็นภาพของการพยายามแล้วที่จะเท่าเทียม แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเพศยังคงซุกซ่อนตัวอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมมาเสมอ แม้ไม่มากเท่าเก่าแต่ก็ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่ต้องดิ้นรน และยืนหยัดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เหมือนที่ คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) กรุยทางไว้ให้แล้ว
aday จึงอยากชวนคุณมาสำรวจความไม่สมเหตุสมผลเหล่านั้นผ่านตัวละครผู้หญิงในภาพยนตร์ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญโครตไม่แฟร์ และเสียงของผู้หญิงในหนังเองก็ตะโกนก้องดังออกมานอกจอ เพื่อฉายภาพให้เห็นว่ามีปัญหาเล็กใหญ่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางความเป็นไปของโลก
ทิฟฟานี ด็อกเก็ตต์ แม่ที่ไม่มีโอกาสได้เป็นแม่
Orange Is the New Black

ในซีรีส์คุกหญิงที่ถูกสร้างมาหลายภาคจนจำตัวละครเเทบไม่หมดอย่าง Orange Is the New Black เล่าเรื่องของตัวละครหญิงที่ระหกระเหิน ผิดพลาด มีภูมิหลังอันจี๊ดจ๊าดและหม่นเศร้า พวกเธอทั้งบ้า ก๋ากั่นจนคนดูต้องอ้าปากค้าง ท่ามกลางเหล่าตัวละครที่น่าตบตีไปพร้อมๆ กับน่าโอ๋ มีตัวละครหนึ่งที่เราเบะปากทุกครั้งเมื่อชีออกมา นักโทษหญิงคลั่ง เคร่งศาสนา เกลียดเพศที่ 3 มีเสียงพูดที่แหบแห้งกวนบาทาจนคนฟังปวดประสาท เธอคอยเเต่จะถากถางคนอื่นๆ ไปทั่ว
‘ทิฟฟานี ด็อกเก็ตต์’ (Tiffany Doggett) ตัวละครที่คนดูไม่รักเลย แต่ถึงอย่างนั้นซีรีส์ก็เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสตัวละครนี้มากขึ้นในซีซันที่ 3 เผยเรื่องราวว่าเธอเติบโตมาโดยถูกละเลยจากคนรอบตัว โดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดสำคัญเท่ากับในฉากหนึ่งที่เธอมานั่งสารภาพบาปกับหลุมศพเบี้ยวๆ ซึ่งทำขึ้นมาเองว่าเธอผ่านการทำแท้งมาทั้งหมด 6 ครั้ง หลุมศพพวกนั้นเธอสร้างขึ้นเพราะความรู้สึกผิดบาปที่คร่าชีวิตน้อยๆ คิดว่าตัวเองพลาดการได้มีโอกาสเป็นแม่คน แต่ ‘บู’ (Boo) นักโทษหญิงเพศที่ 3 ที่เธอก็ไม่ได้ชอบขี้หน้านัก บอกว่าด็อกเก็ตต์ทำถูกต้องแล้ว การทำแท้งของเธอลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม แน่นอนว่าด็อกเก็ตต์ไม่พร้อมที่จะมีลูกเพราะตัวเองทั้งเคยติดยา และควบคุมอารมณ์ไม่ได้จนต้องมาติดแหง็กอยู่ในคุก ลูกๆ ของเธออาจเติบโตขึ้นมายากจน ถูกทอดทิ้งและกลายเป็นอาชญากรในที่สุด เพราะฉะนั้นเธอได้ช่วยโลกไว้นะ
ฉากนี้เป็นฉากที่ทำให้เราได้เห็นความลุ่มลึกของตัวละครนี้ผ่านเรื่องราวในอดีตที่เธอใช้ร่างกายแลกกับความสนใจและสิ่งที่อยากจะได้จนมีปัญหาตามมามากมาย พร้อมทั้งเล่าถึงประเด็นของการทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้หญิงควรจะเลือกได้ แน่นอนว่าการทำแท้งถึง 6 ครั้งคงไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่ความผิดทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่เธอจำเป็นต้องแบกรับไว้คนเดียว น้ำหนักของคำว่าแม่ ทำให้หญิงสาวจมจ่ออยู่กับทางเลือกที่ตัวเองก็เลือกไม่ได้ขนาดนั้น สำหรับเรา ด็อกเก็ตต์จึงเป็นตัวละครที่ถูกลดทอนคุณค่าในตัวเองลงจนตัวตนของเธอสั่นคลอนไปทั้งยวง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมทรามๆ ที่เธอทำกับคนอื่นมลายหายไป แต่ก็ทำให้เราได้เห็นเฉดสีของการกระทำเหล่านั้นมากขึ้น
มิลเดรด ฮาเยส มนุษย์แม่ทวงแค้น
Three Billboards

Three Billboards หนังทวงเเค้นที่จิกกัดประเด็นทางสังคมแบบแสบๆ คันๆ เรื่องราวของ ‘มิลเดรด ฮาเยส’ (Mildred Hayes) แม่ผู้สูญเสียลูกสาวจากการถูกข่มขืนและฆ่าในชนบทเล็กๆ ที่ตำรวจทำงานล่าช้าจนเวลาผ่านไป 7 เดือน คดีก็ยังคงไปไม่ถึงไหน จนเธอระทมทุกข์และออกมาทวงความยุติธรรมด้วยตัวเอง ผ่านป้ายบิลบอร์ดใหญ่ยักษ์ 3 ป้ายเพื่อกระตุ้นเหล่าตำรวจที่ทำงานได้ห่วยแตก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แน่นอนว่านี่ไม่ใช่หนังที่บอกเล่าเรื่องราวของคนดีที่มาทวงเเค้นเหล่าคนชั่ว เพราะตัวละครแม่ในเรื่องเต็มไปด้วยบันดาลโทสะ เป็นเรื่องของการสาดอารมณ์ใส่กันโดยกระโดดโหยงเหยงอยู่ระหว่างเส้นของศีลธรรม
ความตั้งใจที่เราหยิบยกตัวละครนี้ขึ้นมาเล่า เพราะสนใจในความเป็นมนุษย์แม่แหกคอกของเธอ แอบคิดเองเล็กๆ มาเสมอว่า จริงๆ แล้วผู้หญิงมีความทนไม่ได้กับสิ่งต่างๆ มากกว่าผู้ชาย (ไม่ใช่ทุกคน) ซึ่งเรื่องนี้อาจสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านความบ้าระห่ำสุดลิ่มทิ่มประตูทำในสิ่งที่เป็นภัยแก่ตัวด้วยการกลายเป็นคนที่ไม่น่ารัก เป็นมนุษย์ป้าในชุมชนด้วยซ้ำ แต่เธอก็ไม่อาจนั่งรออยู่ที่บ้านเงียบๆ ทนกับความเอ้อระเหยลอยชายของเหล่าตำรวจชายที่ไม่ทำอะไรสักที จนต้องบวก (แม่ง) เปิดศึกกับเจ้าหน้าที่รัฐ
สิ่งที่เธอได้ทำลงไปอาจก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความผิดหรือถูก และก็ไม่อาจทำให้การไขคดีเป็นไปด้วยดีนัก แต่มันคือการเปล่งเสียงของคนตัวเล็กๆ เพราะความเดือดดาลพรรค์นี้อาจเป็นสิ่งเดียวที่เธอพอจะทำได้ในฐานะมนุษย์ที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรเพียงพอจะไปจัดระเบียบกฎกติกาอะไรได้เลย
มานาน่า ผู้อยากหนีออกไปจากความเป็นแม่และเมีย
My Happy Family

ในโลกยุคใหม่ที่เราสามารถลาออกจากอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าไม่ใช่ได้อย่างเบาสบายมากขึ้น เจอเจ้านายเฮงซวยก็ลาออก ความสัมพันธ์ท็อกซิกก็ลาออก หรือกระทั่งประเทศไม่พัฒนาก็ลาออก (แม่ง) เลย หากมีเงินนะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ลาออกได้ยากลำบากมากเหลือเกินคือ ออกจากการเป็นครอบครัว ยิ่งหากอยู่ในบทบาทแม่แล้วด้วยยิ่งยากไปกันใหญ่ อย่าว่าแต่ลาออกเลย ขนาดหยุดพักยังทำไม่ได้ ทำให้นึกได้ว่าภาระของการเป็นแม่นี่หนักอึ้งมากเหมือนกันนะ
หนังเรื่อง My Happy Family หยิบยกประเด็นเหล่านี้ซึ่งถือว่าเซ็นซิทีฟมากออกมาพูด เล่าเรื่องของ ‘มานาน่า’ (Manana) ผู้หญิงวัย 52 ปี อยู่ในบทบาทความเป็นแม่เเละเมียของครอบครัวใหญ่ที่ประเทศจอร์เจีย เธอต้องการออกไปจากบ้านเพื่อหามุมเงียบๆ อยู่กับตัวเองเพียงลำพัง โดยที่บทบาทในครอบครัวยังคงอยู่อย่างเดิม
แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสังคมเด่นหรา ใครๆ ก็รู้ว่าผู้หญิงเมื่อมีลูกแล้ว ชีวิตที่เป็นของตัวเธอเองจริงๆ จะหดหายไปในพริบตา เช่นเดียวกับ ‘มานาน่า’ เธออยู่ในบ้านที่เพียงแค่ตู้เย็นสกปรกทุกคนก็จะหันมาบอกเธอให้จัดการ เวลาส่วนตัวก็ถูกหยิบฉวยไปโดยเรื่องราวยุบยับในชีวิตประจำวัน ไม่นับรวมกับกิจกรรมของครอบครัวที่เธอจำเป็นจะต้องอิน ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เลย และหากทำตัวเพิกเฉยต่อการอยู่ร่วมกันก็ถือเป็นความผิดอันใหญ่หลวง บทบาทที่ได้รับทำให้เธอจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรอบด้าน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้หลอมรวมกันจนเกิดเป็นภาพใหญ่ จนนำไปสู่การโหยหาพื้นที่เล็กๆ ที่เงียบสงบเป็นของตัวเอง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว
แม้การเลือกจะเป็นแม่เป็นทางเลือก แต่บทบาทอื่นเองก็เป็นทางเลือกเช่นเดียวกัน เหตุใดน้ำหนักภาระของคำว่าแม่จึงหนักหนาสาหัสมากกว่าบทบาทอื่นขนาดนี้ เพราะเป็นแม่ เมีย ผู้หญิง หรือเป็นมนุษย์ผู้ซึ่งถูกจำกัดความว่าเป็น ‘ผู้ให้’ หรือเปล่า?
ตุ้ม เหยื่อผู้รบชนะแต่แพ้
เรื่องตลก 69

ในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้ประกอบการล่มสลายทางเศรษฐกิจกันระเนระนาด ‘ตุ้ม’ ซึ่งเป็นพนักงานกินเงินเดือนต้องถูกเลย์ออฟ โดยเสี่ยงดวงว่าจะได้เงินค่าชดเชยหรือไม่ และในปีที่โควิดระบาดหนัก ‘ตุ้ม’ ของปี 2566 นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมอีกครั้ง
เรื่องตลก 69 ทั้งสองเวอร์ชันคงกำลังจะบอกกับพวกเราว่า แม้จะผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษแล้ว โลกยังคงมีตุ้มที่ต้องเผชิญกับโลกอันบิดเบี้ยวอยู่อีกมากมาย หญิงสาวที่สิ้นไร้ไม้ตอก ตกงานและต้องมาเจอกับความท้าทายทางต่อมศีลธรรมอย่างสุดขั้ว ด้วยการมีเงินล้านที่หีบห่อด้วยกล่องไวไวมาวางไว้หน้าห้องให้เลือกว่าควรจะเก็บเอาไว้หรือปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น
ความอัปยศอดสูของเธอยังไม่จบเพียงเท่านั้นเพราะสถานการณ์ต่างๆ เริ่มก่อตัวเป็นพายุ ตั้งแต่มีจิ๊กโก๋ค่ายมวยมาเอาเงินกลับคืนไป ตำรวจก็ใช้ห้องเธอเป็นทางผ่านเพื่อจับแก๊งค้ายาจนเมียเข้าใจผิดว่าตุ้มเป็นชู้กับสามีเธอ ความชิ-หายที่เกิดขึ้นภายในวันเดียวกันนั้นเรียงรายกันมาให้เธอรบราฆ่าฟัน เหตุการณ์เหล่านี้กระชากผู้หญิงคนหนึ่งออกจากความสามัญของชีวิตประจำวัน ให้ไปยืนอยู่บนหุบเหวแห่งศีลธรรมที่ผลักเธอตกลงไปข้างใต้นั้น เราเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเป็นตุ้มในเวอร์ชันไหน เหตุการณ์เหล่านี้คงจะเปลี่ยนแปลงตัวตนของเธอไปตลอดกาลโดยที่เธอเองก็ไม่ได้อยากให้มันเปลี่ยนด้วยซ้ำ
และเเม้อาจจะดูเหมือนว่าเธอไม่ได้เป็นเหยื่อ แต่จริงๆ เธอก็คือเหยื่อนั่นแหละ เป็นเหยื่อที่รบชนะแต่แพ้ แพ้ในความวิปลาสของสังคม
อลิซาเบธ สปาร์กเคิล ซูเปอร์สตาร์ดาวร่วงโรย
The Substance

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของผู้หญิงคงไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากการเสื่อมถอยของสังขารที่เคยเปล่งประกาย The substance เล่าเรื่องของ ‘อลิซาเบธ สปาร์กเคิล’ (Elisabeth Sparkle) ซูเปอร์สตาร์หญิงที่ชื่อของเธอถูกจารึกไว้บนถนนสายดวงดาว แต่ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ก็ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยเหลือไว้เพียงการเคยเป็นซูเปอร์สตาร์สาว สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบให้กับเธอเป็นอย่างมาก เมื่อเธอมีคุณค่าที่ยึดมั่นคือการเป็นที่รัก ซึ่งได้รับมาเพราะความสวยสะพรั่งในช่วงวัยหนึ่ง และสิ่งที่เหล่าผู้ชายรายล้อมรอบตัวปฏิบัติต่อเธอนั่นแหละเป็นตัวการของความเชื่อนี้
เรื่องราวอันวินาศสันตะโรในเรื่องคงไม่เกิด หากผู้หญิงสักคนสามารถที่จะแก่ชราลงโดยไม่ต้องถูกตั้งคำถามถึงสังขารที่เปลี่ยนไป และเธอไม่จำเป็นต้องสวยเสมอเพื่อที่จะมีที่ทางให้ยืนในสังคม
การใช้สารเพื่อสร้างความเยาว์จนกลายมาเป็น ‘ซู’ จึงเป็นเหมือนภาพมายาที่ไม่มีวันเป็นจริง เพราะไม่มีอะไรอยู่คงทนถาวร เป็นเพียงหวังลมๆ แล้งๆ ของความอัดอั้นตันใจที่ต้องเผชิญหน้ากับความคาดหวังต่อรูปพรรณผู้หญิงของสังคมที่ Beyond ไปจนกู่ไม่กลับ เรื่องราวของอลิซาเบธจึงอยู่ใกล้แค่ปลายจมูกจนผู้หญิงทุกคนรู้สึกร่วมกันได้แน่นอน เพราะเรื่องของ Beauty Standard ทำให้ทุกคนพร้อมจะใช้สารแล้วมุ่งสู่การเป็นซูไปเหมือนกัน
สิ่งที่เป็นตลกร้ายอีกอย่างในโลกของความเป็นจริง คือ เดมี่ มัวร์ (Demi Moore) เอง ชวดรางวัลนักแสดงนำหญิงบนเวทีออสการ์ให้กับดาราสาวดาวรุ่งวัยเปล่งปลั่งอย่าง ไมกี้ เมดิสัน (Mikey Madison) แน่นอนว่าเธอไม่ได้พ่ายแพ้เพียงเพราะช่วงวัยของเธอหรอก แต่สิ่งนั้นก็ทำให้อดคิดแบบขำๆ ไม่ได้ว่า เดมี่ มัวส์ กับ อลิซาเบธ สปาร์กเคิล ต่างเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น
ลิลี่ เอลบี ผู้หญิงที่บอกกับโลกว่าเธองดงามเพียงใด
The Danish Girl

แท้จริงแล้วมนุษย์เรามีเสรีภาพมากเพียงพอที่จะเป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น มีเพียงแต่เปลือกของมายาคติเท่านั้นที่ห่อหุ้มเสรีภาพในการเลือกของผู้คน The Danish Girl หนังที่หยิบเอาเรื่องราวของ ‘ลิลี่ เอลบี’ (Lili Elbe) จิตรกรหญิงข้ามเพศ ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในยุคแรกๆ มาร้อยเรียงและถ่ายทอดให้เราได้เห็นเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเอง ‘ไอนาร์ เวเกเนอร์’ (Einar Wegener) ผู้ชายที่ค้นพบว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นผู้หญิงในยุคสมัยที่ผู้คนไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ และตีตราว่าเขาวิปริต แต่เขาก็โนสนโนแคร์และเชื่อว่าตัวเองสามารถเป็นในสิ่งที่อยากจะเป็นได้ เขาเลือกจะเป็น ‘ลิลี่’ ที่อยู่ภายในจิตวิญญาณของตัวเองมาแสนนาน
ความงดงามของตัวละครนี้คือการที่เธอสามารถปลอกเปลือกความไม่แท้จริงที่สังคมมอบให้ ลอกส่วนที่ไม่ใช่ออกไปแล้วลุกขึ้นมาเป็นตัวเองอย่างสง่างาม ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยให้เธอมีเสรีภาพเหล่านี้เลย จริงๆ ตัวละครอีกตัวที่งดงามไม่แพ้กันคือ ‘เกอร์ด้า เวเกเนอร์’ (Gerda Wegener) ภรรยาสาวที่รักและเชื่อในสิ่งที่ ‘ลิลี่’ เป็น แม้สิ่งเหล่านั้นจะสะเทือนความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักของพวกเขา ตัวเธอเองก็คงรวดร้าวจากสิ่งเหล่านี้ไม่น้อย แต่เกอร์ด้าก็รักมากพอที่จะเป็นผู้สนับสนุนให้ลิลี่ได้โบยบิน
กาลเวลาเดินทางไปข้างหน้าพร้อมๆ กับการสูญสลายหายไปของความเชื่อเก่าๆ ในทุกวันนี้สังคมเปิดรับเรื่องเพศและความหลากหลายในตัวตนของมนุษย์มากขึ้น แต่เรายังคงมีเรื่องให้ต้องก้าวหน้าต่อไปอีกหลายขยัก เดินทางไปสู่พื้นที่ที่เราเองก็ไม่เคยจินตนาการว่าจะไปถึง ดังนั้นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้คือ ในโลกที่รอวันจะก้าวไปถึงนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะมาถึงเพื่อทำลาย Norm เก่าๆ ดังนั้นโปรดปอกเปลือกมายาคติที่ห่อหุ้มพวกเราไว้อยู่ออกไป แล้วเชื่อในความต้องการของตัวเอง ไม่มีสิ่งไหนจริงเเท้ พวกคุณอาจจะเป็นในสิ่งที่ไม่เคยคิดเคยเชื่อว่าจะได้เป็นมาก่อนเลยก็ได้