ทันทีที่ GDH ประกาศว่า Marry My Dead Body ภาพยนตร์แห่งปีจากไต้หวันที่กวาดรายได้ไปกว่า 150 ล้านทั่วโลก จะถูกนำมารีเมกใหม่ในชื่อ ‘ซองแดงแต่งผี’ (The Red Envelope) นี่คือวินาทีที่สาววายทั่วราชอาณาจักรพร้อมใจกันร้อง “เยสสส!” โดยที่ไม่ได้นัดหมาย อะไรมันจะดีไปกว่าการได้เห็นภาพยนตร์โปรดที่ชอบ แสดงโดยนักแสดงที่ใช่~
ก็แค่ภาพยนตร์รีเมก ทำไมถึงเป็นวาระแห่งชาติขนาดนี้? คำตอบก็ง่ายมาก เพราะมันคือภาพยนตร์คู่เรื่องแรกของ ‘บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล’ และ ‘พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร’ พาร์ทเนอร์แห่งปีที่เพิ่งผ่านคอนเสิร์ต Double Trouble กันไปแบบหมาดๆ งานนี้แม้วิญญาณยังไม่ออกจากศูนย์ประชุมฯ เหล่าเพนกวินก็ต้องขุดร่างมากรี๊ดกันต่อกับ Project Red ที่หลายคนรอคอย
แต่นอกจากพลังความจิ้นของบิวกิ้น-พีพี อีกหนึ่งข้อที่ลืมไม่ได้ก็คือ ความฮอตฮิตของภาพยนตร์ต้นฉบับอย่าง Marry My Dead Body (2023) ที่เคยสั่นสะเทือน Box Office ของไต้หวัน จนกวาดรายได้มหาศาลกลับไปนอนกอด ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์เฉดสีรุ้งระหว่างตำรวจหนุ่มชายแท้ ‘อู่หมิงฮัน’ (เกร็ก ซู) และผีเกย์ดราม่าควีน ‘เหมาเหมา’ (ออสติน หลิน) ที่ต้องจับพลัดจับพลูมาแต่งงานแบบคลุมถุงชนด้วยความบังเอิญ (หรือที่สาววายเรียกว่าพรหมลิขิต) ก่อนความเข้มข้นจะทวีคูณขึ้น เมื่อพวกเขาต้องร่วมหัวจมท้ายช่วยกันสืบคดีชนแล้วหนี เพื่อหาคนร้ายที่แท้จริงผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเหมาเหมา
แค่เรื่องย่อก็รู้สึกถึงความสนุกจนนั่งไม่ติดเก้าอี้กันแล้วใช่มั้ยล่ะ? และในโอกาสดีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี (สักที!) เราเลยอยากชวนทุกคนท่องโลกความสัมพันธ์เฉดสีรุ้งผ่านบริบทของประเทศไต้หวัน ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปอ่านกันได้เลย~
*ข้อความด้านล่างมีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน
คู่รักชาย-ชาย’ ภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียม
แม้แกนหลักของเรื่องจะชูโรงว่า ‘คอมเมดี’ เน้นย่อยง่าย ดูสบายไม่ปวดหัว แต่ระหว่างทางกลับเข้มข้นด้วยปมความขัดแย้งของเหล่าเพศทางเลือก เปรียบเหมือนรสชาติขมที่ช่วยตัดเลี่ยนให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูมีมิติขึ้นกว่าเดิม ปมปัญหาเริ่มผูกขึ้นเมื่อคนกับผีที่ต้องเข้าพิธีแต่งงานไม่ใช่คู่ชาย-หญิงเหมือนเช่นธรรมเนียมปกติ แต่เป็นชาย-ชาย แถมคนที่ขีดชะตานี้ให้ไม่ใช่สาววายที่ไหน แต่กลับเป็นคุณย่าหัวสมัยใหม่ที่อยากให้หลานชายเป็นฝั่งเป็นฝา
นี่คือความตั้งใจของผู้กำกับในการสะท้อนเรื่อง ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ กฎหมายที่ชาวไทยต่อสู้กันหลายต่อหลายปี แต่หารู้มั้ยว่าไต้หวันได้กฎหมายสมรสนี้มานอนกอดตั้งแต่ 17 พ.ค. 2562 ภายใต้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “การห้ามคู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไต้หวันได้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทุกอย่างดูเพอร์เฟกต์สวยงามเหมือนฉากจบของภาพยนตร์ Coming of age แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการคลายปมความขัดแย้งเท่านั้น…
เมื่อความเท่าเทียมที่เห็นเป็นเพียงแค่เปลือก
ย้อนกลับไปกว่าจะได้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไต้หวันใช้เวลาหลายสิบปีในการฝ่าฟันเสียงต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม เมินเฉยทุกคำครหาจากการลงประชามติไม่เห็นด้วย และยืนหยัดที่จะโบกธงสีรุ้งในงาน Taiwan LGBT Pride ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2003 จนในที่สุดรัฐสภาก็เห็นชอบกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 66 ต่อ 27 เสียง
จึงไม่แปลกที่ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกนี้จะไม่มีทางถอนโคนออกได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ชาวไต้หวันบางส่วนโดยเฉพาะผู้มีอายุ ยังคงมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ผิดแผก เหมือนเช่นคุณพ่อของเหมาเหมา ตัวแทนหัวหน้าครอบครัวหัวโบราณที่ยังคงยึดในคติชาวจีนที่ว่า ‘ลูกชายต้องสืบทอดตระกูล’ จนกลายเป็นชนวนเหตุของการทะเลาะกันครั้งสำคัญ
ภายในเรื่องเราจะเห็นช่องว่างขนาดใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ซึ่งคนที่เข้ามาเติมเต็มความรักที่ขาดหายของครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวนี้คือ ‘คุณย่า’ หญิงชราที่มีความคิดหัวสมัยใหม่ เป็นสัญญะที่ผู้กำกับตั้งใจใส่เข้ามาเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า “ทัศนคติไม่จำเป็นต้องแก่ตามอายุ”
นอกจากปัญหาเรื่องครอบครัว ภาพยนตร์ยังตีแผ่มุมมองของคนในสังคมต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ผ่านคาแรกเตอร์ของ ‘อู่หมิงฮั่น’ ตัวแทนตำรวจชายแท้ปากแจ๋ว พระเอกที่หลายคนรุมสาปจากประโยคเด็ดที่เขาปรามาสเกย์ในห้องฟิตเนสว่า “คนประเภทนี้ ไม่มั่วยา ก็มั่วเซ็กซ์” แม้จะดูแรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คืออคติที่คนบางส่วนแปะป้ายให้กับเหล่าเพศทางเลือก
แต่นี่เป็นแค่เรื่องราวครึ่งแรกเท่านั้น เพราะหลังจากที่หมิงฮั่นได้รู้จักเหมาเหมา อคติที่บังตาก็ค่อยๆ จางหาย อีโก้ที่สูงเฉียดฟ้าถูกทลายลงด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผีกับคนที่น่ารักน่าหยิก ทำให้คนดูอย่างเราเขินมือหงิกได้โดยไม่จำเป็นต้องโดนตัวใดๆ
ส่งไม้ต่อสู่ ‘ซองแดงแต่งผี’ สะท้อนความรักเฉดรุ้งในมุมคนไทย
ทั้งหมดที่เล่ามาคือเรื่องราวโรแมนติกคอมเมดีที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบของวัฒนธรรมไต้หวัน แต่ถ้าจินตนาการเล่นๆ ว่าเรื่องบังเอิญชวนเหลือเชื่อเหล่าเกิดขึ้นภายใต้บริบทสังคมไทยจะเป็นอย่างไร? ซองแดงที่ถูกทิ้งกว้างคงจะโดนคนไร้บ้านแถวนั้นหยิบไปก่อนจะถึงมือพระเอก หรือชายแท้อย่างอู่หมิงฮั่น อาจจะโดนชาว X รุมสาบจนไม่มีที่ยืน
แม้ชีวิตของตัวเอกอาจจะดูลำบากกว่าเวอร์ชันต้นฉบับ แต่ถ้าพูดถึงในมุม ‘ความเท่าเทียม’ เชื่อว่าความกดดันของเหมาเหมาเวอร์ชันไทย น่าจะเบาบางลงไปอย่างแน่นอน เพราะแม้ชาวไทยเพิ่งจะได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไปแบบหมาดๆ แต่บริบทของสังคมเรากลับมีความยืดหยุ่นและคุ้นชินกับคนกลุ่มนี้มาเป็นเวลานาน
ไม่ว่าจะซีรีส์วายที่กำลังกลายเป็นสื่อบันเทิงกระแสหลัก คนดังและเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่กล้าจะโชว์ความเป็นตัวเอง โดยเฉพาะนักแสดงนำของเรื่องอย่าง ‘พีพี’ ไอคอนิกของกลุ่ม LGBTQIA+ พรีเซนเตอร์แบรนด์ดังทั้งไทยและต่างประเทศ นี่ถือเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า สำหรับคนไทยเหล่าเพศทางเลือก ก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนข้างบ้านที่สนิทชิดเชื้อกันเป็นอย่างดี
แต่นี่ก็แค่ข้อสันนิษฐาน ปนความมโนเบื้องต้นเท่านั้น ‘ซองแดงแต่งผี’ ในเวอร์ชันของ ‘บิวกิ้น-พีพี’ จะถ่ายทอดความ (ไม่) เท่าเทียมของสังคมไทยออกมาในเฉดสีไหน จะแดงสมชื่อโปรเจกต์หรือเปล่า? คนดูทางบ้านอย่างเราคงหาคำตอบได้ที่ในโรงภาพยนตร์ต้นปีหน้าเท่านั้น