นักข่าวเชิงข้อมูล (Data Journalist)

ทุกวันนี้ข่าวมาถึงเราด้วยอัตราที่รวดเร็วกว่าเมื่อก่อน จากหนังสือพิมพ์ที่วางหน้าบ้านทุกเช้า กลายเป็นข่าวบนหน้าจอเฟซบุ๊กที่เสิร์ฟให้เราทุกๆ นาที ข่าวต่างๆ มีให้เราเลือกเสพจนลืมที่จะตั้งแง่สงสัยหรือประเมินเนื้อแท้ความจริงของข่าวที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

เราได้มีโอกาสคุยกับ หวี-พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ นักข่าวอิสระเชิงข้อมูลที่ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างจากการนำเสนอข่าวเส้นทางการเงินของอุทยานราชภักดิ์ลงในสำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica.org เขาอธิบายกับเราว่าจริงๆ แล้วข่าวที่เราได้เห็นได้อ่านทุกวันนี้แบ่งย่อยได้ 2 ประเภทคือข่าวที่เป็นเชิงความคิดเห็นและข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง หน้าที่ของนักข่าวเชิงข้อมูลแบบเขาคือการพยายามชูข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงให้เด่นขึ้นท่ามกลางข่าวทุกวันนี้ที่ส่วนใหญ่มักเป็นข่าวเชิงความคิดเห็น

นักข่าวเชิงข้อมูล (Data Journalist) เริ่มมีบทบาทในวงการสื่อทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของจำนวนข่าวสารเฉลี่ยในแต่ละวันเรียกร้องความสมดุลระหว่างทัศนคติและความจริง อาชีพนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและมีบทบาทในวงการข่าว ทั้งยังสะท้อนว่าข้อมูล (Data) มีผลกับวงการสื่อมวลชนอย่างไร ส่วนในประเทศไทย หวีบอกกับเราว่าผู้เล่นที่ลงในสนามเดียวกับเขา เทียบกับจำนวนคนในสายงานข่าวทั้งหมดนั้นกลับมีอยู่แค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

เขาใช้วิธีการใดในการสร้างสรรค์ข่าวเหล่านี้ เบื้องลึกเบื้องหลังในการเข้าถึงข้อมูลและวิธีรับมือกับผลที่เกิดขึ้นต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันได้เลย

1. กำหนดจุดหมาย แล้วจะได้แผนที่
แน่นอนว่าก่อนจะเริ่มเดิน เราต้องตั้งพิกัดจุดหมายที่เราจะไปก่อน ข่าวล่าสุดที่หวีนำเสนออย่างการเข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจของทหารนั้นเกิดจากการกำหนดหัวข้อที่เข้าใจง่ายอย่างการตั้งคำถามว่า “เมื่อ 3 ปีที่แล้วมีทหารเข้ามานั่งในบอร์ดกี่คน? ปัจจุบันมีกี่คน?” คำถามนี้เป็นประเด็นที่ชัดเจน ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ส่งผลต่อขั้นตอนต่อมาที่ง่ายตาม เคล็ดลับอีกอย่างคือการเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตัวเองว่าประเด็นที่เรากำหนดนี้มันจะพาเราไปถึงเส้นชัยได้

2. สมบัติที่ล้ำค่า คือการได้มาซึ่งข้อมูล
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่แตกต่างกันระหว่างข่าวเชิงข้อมูลและเชิงความคิดเห็น การได้มาซึ่งข้อมูลนั้นเรายังคงใช้วิธีเดิมกับการทำข่าวปกติ นั่นคือจากการสัมภาษณ์, แหล่งข่าวเอกสาร และการลงพื้นที่ แต่ความแตกต่างคือสัดส่วนเนื้อหาที่เราจะให้น้ำหนักไปในด้านข้อมูลมากกว่าด้านความเห็น การหาวัตถุดิบมาทำข่าวที่เป็นเชิงข้อมูลนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าดูยาก แต่หวียืนยันว่าไม่ได้ยากอย่างที่พวกเราคิด ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เอามาเป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการรวบรวม เช่น เอกสารจากหน่วยงานรัฐที่หาได้จากเว็บไซต์ และในยุคที่ธุรกิจสื่อแข่งกันที่ความไวเช่นนี้ เลยทำให้การทำข่าวลักษณะนี้มีสัดส่วนที่น้อย

3. ถึงเวลาตัดเกรด
จากการหาข้อมูลที่หวีบอกว่าส่วนใหญ่จะใช้เวลาสืบค้นเป็นเดือนๆ ปริมาณของเนื้อหาเลยอยู่ในขั้นมหาศาล ขั้นตอนต่อมาจึงเป็นการประเมินและย่อยสิ่งเหล่านั้น มีข้อมูลมากทีเดียวที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ด้วยเหตุผลเรื่องความน่าเชื่อถือหรือหลุดจากประเด็นที่ตั้งไว้ ด้วยเหตุนี้หวีจึงค่อนข้างเชื่อข้อมูลที่มาจากเอกสารทางราชการเพราะเป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและพิสูจน์แล้วประมาณหนึ่ง อย่างข่าวการเข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจของทหาร ข้อมูลของข่าวนี้ก็มาจากเอกสารทางราชการเช่นกัน

4. นำเสนอยังไงให้รอด (ทั้งคู่)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความละเอียดอ่อนในการเสนอข่าวนั้นมีอยู่จริงในสังคมไทย ดังนั้นก่อนจะปล่อยข่าวที่ทำเสร็จแล้วออกไป หวีจะคิดถึงเรื่องที่ตามมา 2 เรื่องเสมอ หนึ่ง คือรูปแบบการนำเสนอที่จะไม่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนฟ้อง ในข้อนี้การมีผู้ใหญ่คอยคัดกรองและแนะนำจะช่วยผ่อนภาระตรงนี้ได้ สอง คือการให้ความเป็นธรรมกับคนที่ตกเป็นข่าว ซึ่งหวีบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะมันคือการให้โอกาสคนที่เราพาดพิงได้ชี้แจงและโต้แย้ง ส่วนผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับคนอ่านเป็นคนตัดสิน

5. รับข่าวร้อนๆ ไหมครับ?
หลังจากใช้เวลาหมักบ่มเป็นเดือนๆ ข่าวเชิงข้อมูลก็ถูกนำเสมอออกมาสู่สื่อต่างๆ ในยุคที่ข่าวสารเกิดขึ้นทุกๆ นาที ข้อดีของข่าวเชิงข้อมูลคือจุดนี้เอง ด้วยความที่ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริง กี่วันผ่านไปสิ่งนี้ก็ยังจะเป็นความจริงที่สามารถสืบค้นหาจุดเริ่มต้นได้ หวีบอกกับเราว่าสำหรับเขาแล้วนั้น ถ้าจะทำข่าวอะไรสักเรื่องมันต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม แม้เราจะทำข่าวมา 10 ข่าว แต่ขอให้มีสัก 1 ข่าวที่มีคนเอาประเด็นนี้ไปพูดและแชร์ต่อ อย่างเรื่องทหารและรัฐวิสาหกิจ ถ้ามันทำให้คนหันมาสนใจผลงานของรัฐวิสาหกิจว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรและนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ แค่นี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

6. งานของเรายังไม่จบ
เนื้อแท้ของข่าวล้วนเกี่ยวกับคน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากปล่อยข่าวจึงเกิดขึ้นกับคนที่เสพมันทั้งหมด สิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นการโต้แย้งหรือการให้มุมมองจากอีกฝั่งหนึ่งซึ่งนำมาสู่ข้อมูลใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดความสนใจในประเด็นนี้อีกครั้ง และความสนใจนี้เองก็จะพาเรากลับไปเริ่มกระบวนการในข้อแรกอีก เกิดเป็นวัฎจักรการทำข่าวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไปอย่างไม่รู้จบ

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์

AUTHOR