“ทำทุกสิ่งจากใจและไม่เสแสร้งเป็นคนอื่น” บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์

เรากำลังพูดถึง บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ ศิลปินวัย 41 ที่เปิดฉากดนตรีดิสโก้ในไทยเป็นคนแรกๆ ทำให้ดนตรีแนวนี้เข้ามาอยู่ในการรับรู้ของผู้ฟังชาวไทยที่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเพลงป๊อปและร็อก ในช่วงเวลาที่วงฮอตถึงขีดสุด หากไม่นับวงดนตรีลูกทุ่ง Groove Riders มีงานจ้างชนิดอยู่ในลิสต์ 10 อันดับแรกของไทย

ความนิยมท่วมท้นทำให้บุรินทร์ต้องร้องเพลงฮิตอย่าง ‘หยุด’ เพลงชาติงานแต่งบนเวทีการแสดงสดนับหมื่นครั้ง ไม่ใช่แค่บทบาทศิลปินคุณภาพที่คนฟังจดจำได้ แต่เขายังเป็นผู้บริหารบริษัทนำเข้ารถยนต์หรูจากเมืองนอก เปิดบริการบริษัทเช่ารถ ทำร้านอาหาร สร้าง office building ปลูกปั้นตลาดนัด ไม่เว้นแม้แต่คอมมูนิตี้มอลล์ เขาเคยเป็นโฆษกโฆษณาเสียงนุ่มที่ขายตั้งแต่ยาสีฟันยันคาสิโนในต่างประเทศ และยังมีหมวกอีกหลายใบที่เราไม่เคยคิดว่าคนเพียงคนเดียวจะสวมใส่แถมรับผิดชอบหน้าที่พวกนี้ไหว แต่เขาก็ทำได้อย่างดียิ่ง

หลังบุรินทร์เว้นช่วงจากวงการเพลงไปนานกว่า 7 ปี เขากลับมาพร้อมอัลบั้มใหม่ที่ตั้งใจปั้นไม่แพ้ชุดก่อน นี่คือการเดินทางยาวนาน 17 ปี ในวงการเพลงไทยที่มีคนผลัดเปลี่ยนหน้าเข้ามาแล้วหายไป แต่บุรินทร์คือตัวละครที่ไม่เคยหยุดโลดแล่นในวงการ และยังคงมีคนรอคอยเพลงของเขาเสมอ ก่อนกลับมาติดตามพัฒนาการทางดนตรีแนวโซลในอัลบั้มใหม่ของเขา เราขอให้บุรินทร์ทบทวนและย้อนกลับไปสอนตัวเองในวัยหนุ่ม เบื้องหลังบุรินทร์ที่สุขุมลุ่มลึกในวัย 41 เขาเคยเป็นวัยรุ่นเลือดร้อนชีวิตโชกโชนมาก่อน

อย่ากลัวอะไรเลย

“ตอนเด็ก ผมไม่เคยคิดอยากเป็นนักร้อง ยุคนั้นมีการแข่งขัน Coke Music Awards ผมก็ไม่เคยลง แต่คนรอบตัวไปแข่งหมด ผมคิดว่าแค่ร้องเพลงในห้องน้ำก็มีความสุขแล้ว”

“ย้อนกลับไป ผมรักเสียงเพลงและการเล่นดนตรีกับเพื่อนมาก ชีวิตไม่มีอะไรสุขกว่าการทำเพลงแล้วมีแฟนเพลงขยายเรื่อยๆ วันนี้เลยเกินความคาดฝัน จากที่คิดทำเพลงเดียวแล้วจบ บอกพ่อแม่ว่าจะดังหรือไม่ดังเราจะเลิกทำแล้วกลับบ้าน ปรากฏตอนนี้เราออกอัลบั้ม 4 ชุดกว่าๆ มีเพลงของตัวเองกว่า 50 เพลง วันนั้นผมอยากกลับไปบอกตัวเองว่าสิ่งที่รู้สึกตื่นเต้นตอนหนุ่มๆ ต่อไปจะกลายเป็นความสุขของชีวิตวันนี้เลยนะ”

“ตอนกำลังจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของ Groove Riders มีสมาชิกวงนัดเราคุยว่าเขากำลังฟอร์มวงแนวดิสโก้ คุยแล้วเราคลิกเลยทำเพลงด้วยกัน ผมเริ่มมีความสุข มีสิ่งต่างๆ ที่มาหาเรา สิ่งสำคัญคือแฟนคลับ เขาสร้างแรงใจในการทำงานให้เรา ตัวเราได้ทำทุกขั้นตอนในอัลบั้ม เราผลิตแบบที่อยากทำทุกอย่าง จุดนั้นเราอยากบอกตัวเองตอนเด็กว่า เฮ้ย ชีวิตนี้เราจะได้รับความสุขที่หาจากที่ไหนอีกไม่ได้อีกแล้ว นอกจากในพื้นที่นี้เท่านั้น”

“ตอนเริ่มต้น ผมกลัวซะทุกอย่าง ผมชอบเสียงเพลง แต่ไม่ได้ชอบการแสดง ถ้าให้ขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีจะเขินมาก มีสองครั้งในชีวิตที่ขึ้นไปร้องเพลงก่อนเป็นนักร้อง ครั้งแรกร้องที่งานกีฬาสีโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ครั้งที่สองผมได้เล่นให้คนดูที่เมืองบอสตัน ในบาร์แจ๊ส ผมเป็นนักร้องตัวแถม เพราะพี่ชายผมเป็นนักร้องหลัก สองครั้งนั้นผมโคตรเกลียด เพราะไม่มีความมั่นใจเลย”

“ตอนขึ้นเวทีแรกในชีวิตกับวง Groove Riders ผมตื่นเต้น ประหม่าไปทุกอย่าง เพราะพี่ๆ ใน Bakery Music ยกทีมมาดูทั้งค่าย ตัวเราเป็นแฟนคลับค่ายอยู่แล้วเลยเขินมาก วินาทีนั้นคิดว่าไอดอลเรามาดูเราต้องเล่นให้สุด แต่ความเป็นจริงกลับตัดสินใจยืนหันหลังให้คนดูตลอด 45 นาทีที่แสดง เราหันกลับมาแค่ตอนขอบคุณ วันนั้นโดนพี่สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) พูดแรงๆ ว่า Groove Riders เพลงสนุกแต่ทำไมโชว์ไม่ดี ผมคิดว่าทำไมด่ากันตรงขนาดนี้ แต่ต้องขอบคุณพี่สุกี้ที่เขามาพูดแล้วทำให้เรามีวันของตัวเองจนได้ เพราะตอนนั้นเราคิดว่าผมจะทำให้พี่เห็น วันหนึ่งจะต้องเป็นนักร้องที่ดีให้ได้ วันนั้นเป็นอีกวันที่เราอยากกลับไปบอกตัวเองว่ามาได้ไกลมากนะ จากจุดที่เคยไม่เป็นตัวเอง ทุกอย่างประดังเข้ามาเร็ว แต่ถ้าไม่มีผมในตอนนั้นจะไม่มีผมในวันนี้ได้เลย ”

จงเป็นตัวเองให้ดีที่สุด

“ช่วงเปิดตัววงแรกๆ ผมคิดมากว่าเราจะมีตัวตนยังไง สุดท้ายเวลาผ่านไปเราตอบได้ว่าอยากเป็นตัวเองให้ดีที่สุด ฉะนั้นรู้สึกยังไงเราต้องทำอย่างนั้นบนเวที โชคดีวงเราอยู่ในยุคสมัยที่ไทยเปลี่ยนจากการไปเที่ยวเธคมาเที่ยวผับ ผับต้องการมีวงดนตรีสด ยุคแรกนักดนตรีเลยมีงานเล่นเยอะเพราะมีผับให้เราลง ทำให้เราได้งานเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีเยอะเกินไป ช่วงนั้นผมคิดว่าน่าจะ 300 – 400 งานในปีเดียว มีงานทุกวัน บางวัน 2 – 3 งาน เป็นอย่างนั้นอยู่ 6 – 7 ปี”

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าวิธีการแสดง จากที่เคยคิดมากว่าเราจะเป็นยังไง เราคิดแค่ว่าทำให้เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น เราแค่ปล่อยออกมาจากใจ แสดงให้เขาดูอย่างนั้น การแสดงบนเวทีผมว่าต้องสนุกกว่าตัวเพลงขึ้นอีกหลายสเตป เราเลยใส่เต็มที่”

“ช่วงอายุ 20 ต้นๆ ผมบริหารตัวเองได้ไม่ดี แต่ก็ได้ประสบการณ์การบริหารพลังมาจากรุ่นพี่ในช่วงทัวร์คอนเสิร์ต เราได้ไปทัวร์กับศิลปินที่เป็นไอดอลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพี่ป๊อด Moderndog, พี่โป้ Yokee Playboy และศิลปินทั้งค่าย Bakery หรือรุ่นน้องอย่างเบน ชลาทิศ ตอนร้องเพลงใหม่ๆ เขาเป็นนักศึกษาออกมาร้องเพลงกับผม 30 งาน อย่างศิลปินรุ่นใหญ่ที่ผมได้ไปร้องด้วยก็มีพี่แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ และ เบิร์ดกะฮาร์ท เป็นชีวิตที่มีความสุขมากเพราะถือว่าเราได้รับวิชาจากพี่ๆ ในวงการทุกคนมา แล้วสั่งสมหล่อหลอมเป็นการแสดงของตัวเราวันนี้”

“เราเคยเล่นสดตั้งแต่มีคนดูแค่ 7 คนในวันแรกๆ ตอนนั้นเราใจแป้วนิดๆ แต่ก็เต็มที่และเคยเล่นให้คนดูมากที่สุดสองแสนกว่าคน ผมไม่เคยท้อ มีแต่วันที่เราเหนื่อย เพราะต้องโชว์ทุกวัน เล่นเพลงซ้ำหลายปี กลายเป็นการโชว์ที่มีรูปแบบซ้ำๆ ถ้าถึงจุดนี้เมื่อไหร่ผมจะหยุดทันที เมื่อก่อนเราเคยดื้อด้านที่จะทำต่อ แต่สุดท้ายเราคิดว่าไม่ธรรมชาติ เป็นการแสดงที่เป็นหุ่นยนต์ ไม่ได้ออกมาจากจิตใจ พอเริ่มไม่สนุกกับโชว์ผมจะหยุดพัก เป็นแบบนี้ตั้งแต่อัลบั้มที่แล้ว ปี 2560 เป็นปีที่ผมรับโชว์น้อยที่สุดในชีวิต เราจึงต้องถอยมาปรับสมดุลให้ตัวเอง”

จัดการพลังงานให้เหมาะสม

“ตอนเด็กทำตัวไม่ดี (หัวเราะ) อยากกลับไปสอนตัวเองเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ว่าประสบการณ์ชีวิต เราเจอมาทั้งดีหรือไม่ดี สิ่งที่เข้ามาในชีวิตผมน่ะ ผมอยากกรองได้ ผมบอกเลยว่าช่วงเป็นวัยรุ่นคือช่วงที่โง่เขลาที่สุด ทำอะไรไม่ค่อยคิด สมมติมีคนมองหน้า เราก็คิดแล้วมองเหี้ยอะไร วัยรุ่นน่ะพลังเยอะ จัดการพลังตัวเองไม่ได้ เลยใช้พลังไม่ถูกต้องนัก”

“สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเราอยากทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ให้มากที่สุด ตอนนี้มองกลับไปก็คิดว่าเด็กมาก ร่างกายอาจโตแล้ว แต่จิตใจและวุฒิภาวะยังเด็ก ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ คิดว่าเพื่อนดีที่สุด ต้องตามเพื่อน ไม่งั้นเพื่อนจะไม่ยอมรับ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเลย ตอนวัยรุ่นผมไม่เบานะ คิดว่ารอดตายมาได้ก็ดีแล้ว เพราะตอนนั้นอีโก้เยอะ พอมีเยอะเราก็ทำเรื่องเสี่ยงๆ ถ้ารอดตายก็ได้เรียนรู้ แต่ถ้าไม่รอดชีวิตน่าจะกลายเป็นอีกเกมนึงไปเลย”

“เราอยากสอนทั้งตัวเองและวัยรุ่นคนอื่นว่าควรมองชีวิตให้ถ้วนถี่ คนในครอบครัวเราหวังดีที่สุด เพื่อนดีมี แต่เพื่อนไม่ดีมีเยอะ ฉะนั้นคิดให้ดีๆ หันหลังกลับมามองอีกครั้งว่าทำแล้วดีไหม ถ้าใช้อารมณ์และกำลังตัดสินปัญหา สุดท้ายคุ้มไหมที่แขนขาขาดชั่วชีวิต พ่อแม่ต้องมาเข็นรถเข็นให้ แล้วเพื่อนล่ะ เขามาเลี้ยงดูเรามั้ย แต่นั่นแหละ เมื่อโตขึ้นมาเราถึงจะเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าชีวิตมีคุณค่ามาก ไม่ต้องรีบไปเสี่ยงเพราะอารมณ์ หรือสิ่งที่เป็นแฟชั่น เพราะแฟชั่นมาแล้วไป แต่ตัวเราเองต่างหากที่ต้องอยู่กับตัวเองตลอดชีวิต ดังนั้นเราต้องมีจุดยืนที่แน่วแน่”

อย่าเสียเวลาและไม่ต้องคิดมาก

“ตอนแรกผมเรียนปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษยังไม่จบ เราอยากไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกามากกว่าเลยย้าย ปีแรกที่อยู่คนเดียวเรามีอิสระ พอเข้ามหาวิทยาลัยพ่อแม่ก็ไม่อยู่ แถมมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งในมือ ชีวิตมีความสุขเต็มที่กับมันมาก ตอนนั้นหนังสือก็ไม่ไปเรียน วันๆ ตีสนุ้กทั้งวัน (หัวเราะ)”

“ช่วงมหาวิทยาลัยไม่ตั้งใจเรียน สำมะเลเทเมา ผมเกิดมาในยุคเรฟ อิเล็กทรอนิกส์รุ่นแรกๆ เลยไว้ผมทอง ใส่ลูกประคำทั้งตัว สวมเสื้อยืดเก่าๆ กางเกงขาม้า ผ้าใบมอซอ เดินอยู่บนถนนมีคนไทยพาลูกมาเรียนซัมเมอร์ แล้วเขาชี้ให้ลูกดูว่าดูไอ้เด็กเวียดนามคนนั้นสิพ่อแม่ไม่สั่งสอน เราคิดว่าเราคงเป็นเด็กที่ดูซ่ามาก ผมเลยหันไปบอกเขาว่าขอโทษทีนะฮะ ผมเป็นคนไทย แล้วพ่อแม่สอนผมแล้วด้วย แต่ว่าผมไม่ฟัง (หัวเราะ)”

“พอผมย้ายไปอยู่อเมริกา มันสนุกกว่าอังกฤษเยอะเลย เรียนถึงชั้นปีสาม เพื่อนๆ บางคนเขาเรียนจบไปหมด รวมเวลาตั้งแต่อยู่อังกฤษ ผมใช้เวลาเรียนมหาวิทยาลัย 5 ปี มันนานมากจนมานั่งคิดว่าถ้าเพื่อนเรียนจบแล้วกลับบ้านไปหมดแล้วเหลือเราอยู่คนเดียว เราจะอายเขาไหม พอคิดไป เราว่าต้องเรียนดีกว่า รอไม่ได้นะ จะได้จบพร้อมๆ เขา เลยกลับมานั่งตั้งใจเรียนใหม่ จนจบปริญญาตรีแล้วเรียนโทอีกหนึ่งปี สุดท้ายไล่คนอื่นทันได้ในที่สุด เรารู้สึกแล้วว่าเราคิดถูก เราจะมัวไปเที่ยวเตร็ดเตร่ทุกคืนแล้วไม่อ่านหนังสือไม่ได้ อีกอย่างคือเราตระหนักได้ว่าเพื่อนที่เที่ยวด้วยกันในวันนั้น ตอนนี้มีอยู่ไม่กี่คนที่เรายังเจอกันอยู่ ถ้าบอกตัวเองได้ผมอยากบอกว่าทำดีแล้วที่คิดได้ทัน”

“พอโตขึ้น ภาระหน้าที่วิธีการใช้ชีวิตทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ผมมีครอบครัวและมีธุรกิจที่ต้องเริ่มต้นใหม่เอง งานหลายอย่างชนกัน เราเติบโตขึ้น สติเราต้องมีมากขึ้น เรามีครอบครัว มีพนักงานต้องดูแล ถ้าเราใช้แต่ความรู้สึกอย่างเดียวในการทำธุรกิจคงไม่ได้ เลยเริ่มศึกษา ค้นคว้า และใช้สมาธิทำงานมากขึ้น สมัยก่อนผมขับรถใจร้อนมาก แต่หลังๆ เราแค่ขอโทษคำเดียวหรือว่าปล่อยผ่านไป ปัญหาก็ไม่เกิดแล้ว ถ้าลงมาต่อยแล้วหยิบปืนยิงกันเรื่องไร้สาระมาก อย่าเอาเรื่องแบบนี้มาเป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะชีวิตต้องเหนื่อยต้องทำเรื่องใหญ่ๆ อีกเยอะ มันเหนื่อยเกินกว่าที่จะเอาสิ่งปัญญาอ่อนมาอยู่ในชีวิต”

“ผมมีความสุขกับทุกสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รักแล้วมีความสุข ไม่เสแสร้งทำเป็นรัก สมมติชอบผู้หญิงสักคน เขาฟังแจ๊ส กินอาหารหรู เที่ยวยุโรป แต่เราชอบอาหารป่า ชอบเที่ยวธรรมชาติ เราจะไม่เสแสร้งชอบตาม แล้วเปลี่ยนตัวเองไปทุกอย่าง ถ้าเราชอบเพลงลูกทุ่งหมอลำก็บอกเลยว่าชอบ มันมีจุดเท่อยู่ แล้วพิสูจน์ให้คนอื่นรู้ว่าเจ๋ง หลายคนเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าสังคมจนเหนื่อย ผมว่าสุดท้ายเป็นคนดีของสังคมและเพื่อนฝูงแค่นั้นแหละพอแล้ว แล้วเพื่อนจะยอมรับไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้เลย ถ้างั้นก็ไม่ต้องคบกัน เราไม่ต้องคิดมาก”

ของบางอย่างต้องรู้จักรอคอย

“พอเรามีลูก เขาเปลี่ยนชีวิตเรา ทำให้สติสว่างขึ้น เมื่อก่อนกลางคืนออกนอกบ้านทุกวัน ผมติดใจร้อน ไม่มุ่งมั่นทำงานเท่าปัจจุบันนี้ พอมีลูก เรานั่งมองเขา ถ้าเขาโตมาแล้วเราเป็นคนล้มเหลว หรือสร้างอนาคตที่ดีไม่ได้ ผมจะเสียใจไปชั่วชีวิต ซึ่งลูกทำให้เราใจเย็น ขับรถช้า ตั้งใจทำงานหาเงิน เรารักเขา อยากให้เขาพบสิ่งที่ดีที่สุด ตอนนี้ลูกเพิ่งอายุ 10 ปี ยิ่งเขาโต ยิ่งมีภาระมากขึ้น เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้”

“สุดท้ายแล้ว ก่อนจากโลกนี้ไป ผมอยากเป็นคนที่ดีของสังคม พูดเหมือนผมจะตาย (หัวเราะ) แต่นั่นแหละแค่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่เราอยากนำเสนอไว้ให้คนอื่น ฝากผลงานดีๆ เอาไว้ให้คนรุ่นต่อไป ได้เอนจอยทุกครั้งที่เราทำดนตรี เราอยากให้ดนตรีของเราฟังได้อย่างไม่มีกาลเวลา ผมคิดว่าถ้าผมอายุ 70 ผมจะต้องอยากกลับมานั่งฟังเพลงของตัวเอง ถึงตอนนี้จะไม่ทำดนตรีตามแฟชั่น แต่เราชอบมันจริงๆ และใช้แต่ทีมงานคุณภาพทั้งหมด แค่นี้เราไม่เสียใจอะไรแล้ว”

“มองจากตรงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ต่อยอดมาเป็นวันนี้ได้สมบูรณ์ ผมเห็นว่าความรู้สึกในอดีตกับปัจจุบันต่างกัน ในอดีตเราไม่มีทางมองเห็นอนาคตได้ อย่างเพลง ‘เกือบ’ เป็นเพลงที่ผมไม่ชอบมากที่สุดในอัลบั้ม เพราะมันไม่เข้ากับอัลบั้มที่แล้วเลย ซึ่งเพลงนี้โคตรเพราะ แต่ผมว่ายังไงก็ไม่เหมาะกับผม ผมเลยให้เพลงนี้ไปกับคนอื่น จำได้ว่าให้ใหญ่-โมโนโทน ไปทำ แต่เขาไม่เอา สุดท้ายทุกคนบอกผมว่าพี่ต้องเอามาใส่อัลบั้ม ปรากฏว่ากลายเป็นเพลงที่ดังสุดในอัลบั้มที่แล้ว เรื่องนี้ถ้าสอนอะไรตัวเองในอดีตได้ ก็คืออนาคตคาดเดาไม่ได้และไม่มีอะไรแน่นอนสักอย่าง”

“อย่างยุคแรกที่ทำเพลง ผมไม่เชื่อคำว่า less is more เราเชื่อว่า more is more ดนตรีต้องเยอะสิถึงจะมัน เครื่องเป่าต้องจัดเต็ม 15 – 20 ตัว เครื่องสายต้อง 50 ชิ้น พอโตขึ้นเรากลับพบว่าเพลงบางเพลงมีเครื่องดนตรี 3 ชิ้นก็ดีได้ อัลบั้มใหม่เลยใช้ดนตรีน้อย เครื่องเป่าหายไป เอาซินทิไซเซอร์ขึ้นมา ทำให้เป็นเพลงประมาณปี 1983 คือยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของ anti-disco และดนตรีฮิปฮอปในยุคปัจจุบัน เรียกว่า electro soul อัลบั้มนี้ผมใช้ทีมงานระดับโลกหมด ทำกันอยู่ 7 ปี รออยู่นานเหมือนกันกว่าจะได้อัลบั้มนี้แบบเสร็จสมบูรณ์ แต่เราก็ได้เรียนรู้เลยว่าของบางอย่างรีบร้อนไม่ได้ ต้องใช้เวลาตกตะกอน”

ออกแบบศิลปกรรม วัชรพงศ์ แหล่งหล้า

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR