ศึกวันแดงเดือด

‘ผ้าอนามัย’ ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของสาวๆ ผู้ต้องผจญวันนั้นของเดือนอยู่ทุกเดือนเป็นเวลากว่า 40 ปี (สิริรวมต้องใช้ผ้าอนามัยถึงราว 9,000 แผ่น) แต่ในบางประเทศ ผ้าอนามัยกลับกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ผลคือมีการบวกภาษีแพงลิบจนราคาผ้าอนามัยพุ่งสูงปรี๊ด เมื่อถึงยุคที่ประชาชนมีสิทธิ์และมีช่องแสดงความเห็นมากมาย สาวๆ จึงไม่ยอมนิ่งเฉยอีกต่อไป!

ปี 2015 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการเรียกร้องและทวงถามความยุติธรรมจากภาครัฐเรื่อง ‘ภาษีผ้าอนามัย’ ของสาวๆ หลายประเทศอย่างแท้จริง ผู้ลุกมาจุดไฟกลุ่มแรกๆ คือ สาวแคนาดาที่แสดงให้ผู้หญิงทั่วโลกเห็นว่า ‘เราทำได้ค่ะ’ วิธีการขับเคลื่อนของพวกเธอคือทำแคมเปญต่อต้านภาษีผ้าอนามัยผ่านเว็บไซต์ change.org โดยโจมตีรัฐบาลไว้ว่า ‘พวกคุณ (รัฐบาล) กำลังหาเงินจากร่างกายฉัน’ หลังโพสต์แคมเปญลงเว็บ มีคนลงชื่อเห็นด้วยกว่า 74,000 คน ในที่สุดรัฐบาลจึงรับฟังและประกาศชัยชนะของสาวๆ ด้วยการไม่เก็บภาษี

หลังจากนั้น ไฟก็ลุกโหมผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กไปถึงสาวๆ ชาติอื่น เกิดเป็นปรากฏการณ์เรียกร้องในหลายๆ ประเทศ วิธีการประท้วงของสาวๆ ก็มีตั้งแต่ระดมรายชื่อร่วมคัดค้านภาษีผ้าอนามัย และเดินประท้วงด้วยวิธีการที่หลากหลายจนได้พื้นที่สื่ออยู่หลายครั้ง เช่น การใส่กางเกงในเปื้อนเลือดไว้ด้านนอกกางเกง ใส่กางเกงสีขาวในวันนั้นของเดือน ทำราวตากผ้าโชว์กางเกงในเปื้อนเลือด รวมถึงวิธีโหดๆ อย่างการวิ่งมาราธอนแบบไม่ใส่ผ้าอนามัยในวันนั้นของเดือน โชว์ให้เห็นไปเลยว่าผ้าอนามัยนั้นจำเป็นกับผู้หญิงขั้นสุด และไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอยกตัวอย่างปรับทัศนคติให้ตรงกันด้วยการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากฝรั่งเศส

ยาสีฟัน 1 หลอด ราคา 2.52 ยูโร (ประมาณ 100 บาท) ใช้ได้เกือบ 2 เดือน

แอปเปิ้ล 1 กิโลกรัม ราคา 2.52 ยูโร (ประมาณ 100 บาท) ได้ประมาณ 5 ลูก

ผ้าอนามัย 1 กล่อง (16 ชิ้น) ราคา 4.27 ยูโร (ประมาณ 170 บาท) ใช้ได้ประมาณ 3 – 4 วัน

(โชคดีที่เมื่อสาวชาวปารีเซียนออกมาประท้วง รัฐบาลก็ปรับภาษีจาก 20 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือแค่ 5.5 เปอร์เซ็นต์)

แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ การต่อสู้กับภาครัฐนั้นแสนยากและอาจไม่ได้จบลงด้วยชัยชนะสวยงามทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น สาวๆ ชาวอังกฤษที่เดินขบวนและล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุน แต่ท้ายที่สุด ผ้าอนามัยก็ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเก็บภาษี 5 เปอร์เซ็นต์ดังเดิม (แม้รัฐบาลออกมาประกาศนโยบายว่าจะบริจาคเงิน 15 ล้านปอนด์ให้องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้หญิงทุกปีก็เถอะ) ส่วนประเทศสายแข็งอย่างเชโกสโลวาเกียนั้นประกาศกร้าวไม่ยอมลดภาษีผ้าอนามัย 20 เปอร์เซนต์เด็ดขาด แถมปัดว่าจะไม่หารือเรื่องภาษีผ้าอนามัยอีก ยังไม่นับหลายประเทศที่การประท้วงยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย ทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย จนถึงอิตาลี ดังนั้น เราคงได้เห็นการรวมตัวเพื่อศึกวันแดงเดือดของผู้หญิงอีกหลายครั้งในปี 2016 นี้แน่ๆ

แต่แม้ศึกยังไม่จบ เราก็ขอบอกเลยว่าดีใจและชื่นชมที่ผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่ดีเพื่อตัวเอง เพื่อสังคม เพื่อผู้หญิงด้วยกัน ถึงบางประเทศอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับภาครัฐเหมือนแคนาดา แต่เราเชื่อว่าศึกวันแดงเดือดครั้งนี้ช่วยจุดความกล้าที่จะลุกขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในใจผู้หญิงมากมายได้แน่นอน

สู้ต่อไปนะสาวๆ!

ภาพ: telegraph.co.uk


AUTHOR