จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอยู่ๆ คนไข้ในโรงพยาบาลเริ่มกลายร่างเป็นซอมบี เพราะติดเชื้อไวรัส
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนรักของคุณดันเป็นหมอในโรงพยาบาลนั้น
สำหรับ ‘สิง’ นักมวยเก่าที่แขวนนวมไปรับจ้างต่อยตี ตัดสินใจบุกเดี่ยวเข้าไปงัดหน้าซอมบีด้วยมือเปล่า แบบที่บอสชาตรีเตรียมตบโบนัสให้งามๆ
นั่นคือเรื่องย่อของ ‘ปากกัด ตีนถีบ’ (Ziam) ภาพยนตร์จาก Netflix เรื่องล่าสุดฝีมือการกำกับของกัลป์ กัลย์จาฤก กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กันตนา กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการบริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด นำแสดงโดย หมาก ปริญ สุภารัตน์ รับบทเป็น สิง, ณิชา ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ รับบทเป็น ริน และเวลา วันเวลา บุญนิธิไพสิฐ รับบทเป็น บัดดี้
นับเป็นการพาผลงานออริจินัลของกันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส ไปฉายบน Netflix เป็นเรื่องที่ 2 ต่อจากการพาซีรีส์สืบสันดาน (Master of the House) ติด Top 10 โลก ในฐานะ Executive Producer

กัลป์จบปริญญาโทด้าน Film Producing ที่ New York Film Academy ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมานั่งแท่นเป็นผู้กำกับครั้งแรกจาก ห้องหุ่น ภาพยนตร์หุ่นขี้ผึ้งสยองขวัญในปี 2557 ชิมลางด้านโปรดิวเซอร์จาก อวสานโลกสวย ภาพยนตร์ปั่นประสาทเน็ตไอดอลที่แหวกแนวสุดในปี 2559 มาจนถึง The Up Rank อาชญาเกม ผลงานกำกับซึ่งสะท้อนด้านมืดวงการเกมในปี 2565
เราจะเห็นความพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่บางอย่าง จากผลงานตลอด 10 ปีของกัลป์ แม้หลายเรื่องไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ แต่ก็สร้างการถกเถียงจนเป็นที่ฮือฮาในสังคม และนับเป็นความกล้าหาญของค่ายใหญ่อย่างกันตนาที่มอบรสชาติใหม่ๆ ให้ผู้ชม
มากไปกว่านั้น มันพอจะยืนยันได้ว่าชายคนนี้ชื่นชอบหนังลุ้นระทึกเสียเหลือเกิน
คุยกันคราวนี้ กัลป์บอกเราว่าเขียนบทเรื่องปากกัดตีนถีบไว้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน
ตั้งต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้านักมวยไทยสู้กับซอมบีด้วยมือเปล่า
แม้เป็นการกำกับภาพยนตร์แอกชันครั้งแรกในชีวิต กัลป์บอกว่าเขางัดมาทุกแม่ไม้มวยไทย ประหนึ่งนายขนมต้มกลับชาติมาเกิด
จากบทเมื่อ 10 ปีที่แล้วสู่ฝันที่กลายเป็นจริงของคนชอบหนังซอมบี
หลังทำหนังเรื่องห้องหุ่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมมีความฝันว่าอยากทําหนังซอมบี เคยเขียนบทหนังเรื่องนี้เป็น Pitch Package ไปที่เทศกาลภาพยนตร์เกาหลี เข้ารอบ 20 โพรเจกต์สุดท้าย แต่ไม่ได้สานต่อ แล้วก็คิดว่าถ้าเกิดเป็นตัวละครที่มีความสามารถในการต่อสู้แบบ Martial Arts หรือมวยไทย เราจะสู้ซอมบีได้หรือเปล่า
จนเมื่อปีที่แล้วมีโอกาสคุยกับ Netflix ผมขายเขาแบบ What If เนี่ยแหละว่าอยากเห็นภาพนักมวยต่อยกับซอมบีไหม เขาก็ตื่นเต้นว่าเฮ้ย มันจะเป็นยังไง อยากเห็นอะไรใหม่ๆ อยากทดลอง แล้วก็อยากพัฒนาวงการภาพยนตร์ของประเทศไทยไปด้วยกัน
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษมาจาก Siam คือประเทศไทย แต่เราอยากเล่นคําเป็นตัว Z ของซอมบี เพราะนี่เป็นเหมือนดิสโทเปียของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนปากกัดตีนถีบมาจากโลกดิสโทเปียที่คนเราไม่มีจะกิน เกิดภาวะโลกร้อน อากาศร้อนขึ้น ต้นไม้ไม่มี อาหารหายาก ชีวิตคนในตอนนั้นต้องปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว ยิ่งมีไวรัสเข้ามา ยิ่งตอบโจทย์คำว่าปากกัด ส่วนตีนถีบหมายถึงพระเอกที่ลุยเข้าไปช่วยชีวิตแฟนสาว

การไปต่อจากความสำเร็จของสืบสันดาน ที่ใช้เวลาสร้างเพียง 6 เดือน
ถามว่ากดดันมั้ยที่ไปต่อจากสืบสันดานที่ประสบความสำเร็จมาก เราก็กดดันทุกเรื่องที่ทํานะ แต่เราทําให้ดีที่สุด แล้วก็เชื่อว่างานของเรามันดี
เราใช้คนเขียนบท 5 คน ทํางานกันเป็นทีม เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีส่วนร่วมในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ช่วยกันออกไอเดีย
สืบสันดานใช้เวลาทำ 2 – 3 ปี เรื่องนี้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ข้อดีที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทำเร็ว เพราะในระหว่างทาง 10 ปีมานี้ ผมได้พัฒนาความรู้เรื่องซอมบี้ต่างๆ อยู่บ้าง บทเลยมีการต่อยอดมากขึ้น ด้วยความที่เราดูหนังซอมบีมาเยอะ เราก็เอาหลายๆ อย่างมาพัฒนาร่วมกัน แม้กระทั่งหนังสือที่เกี่ยวกับซอมบีของฝรั่ง แม้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่เขาก็เขียนขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวว่าทําไมถึงเกิดซอมบีขึ้น ต้องป้องกันตัวเองยังไง
แล้วจริงๆ ก็ได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง 28 days later นี่แหละครับ ส่วนตัวผมเป็นแฟนหนังของ Danny Boyle แล้วก็เป็นหนังในความทรงจําวัยรุ่นที่ชอบมากๆ
ตอนนี้หนังซอมบีก็กลายเป็นประเภทหนึ่งของหนัง ผมว่าทุกคนเข้าใจตรงกลางร่วมกันแล้วว่าซอมบีคืออะไร แต่ความช้าของหนังเรื่องนี้คือการดีไซน์โลกดิสโทเปียและตัวละครซอมบีขึ้นมา
ด้วยเชื้อไวรัสของเรามาจากปลา เราก็คิดว่ามีอะไรเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจบ้าง เราอยากได้ความเร็วของซอมบี อยากได้รูปร่างหน้าตาของซอมบี ผมวางไว้ว่ามี 4 สเตจด้วยกัน
หนึ่ง โดนกัดแล้วกําลังจะเป็นซอมบี้
สอง เป็นซอมบี้แล้ว พอฟื้นขึ้นมาแล้วดวงตาจะเปลี่ยนเป็นสีดํา เริ่มมีเส้นเลือดเพิ่มขึ้นตามร่างกาย
สาม เป็นซอมบี้มาสักพักแล้วมันเริ่มดุ เริ่มมีบาดแผล
สุดท้าย คือการกลายเป็นปลา
นักแสดงตัวแบกที่แบกทั้งหนังและความหวังของมนุษย์
หนึ่ง เราต้องหานักแสดงที่เล่นคิวแอกชันได้แน่น และจะดีมากถ้าเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว จะช่วยส่งเสริมกันขึ้นไปอีก ที่สําคัญคือในแต่ละฉาก มันไม่ใช่แอกชัน ต่อยตีกันเพียวๆ แต่ต้องมีการแอกติงที่ดีด้วย เพราะเราถ่ายเป็นช็อตๆ เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราถามหมากว่าสนใจรับบทสิงไหม แล้วก็ไม่ได้เห็นเขาเล่นหนังมานานแล้ว เราอยากลองเปลี่ยนลุคเขาดูด้วย เพราะเขาเป็นคนผิวดี หล่อ ใส แต่เราต้องการให้เขาเหมือนอยู่ในโลกยุคนั้น รวมถึงณิชาที่รับบท ริน เป็นคนผิวขาว มีออรานักแสดง
สิ่งที่ผมชอบที่สุด คือแววตาของณิชา มันมีความหวัง แต่ก็มีความกลัวอะไรสักอย่างอยู่ในตัวเองโดยธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับตัวละครนี้ที่มีหลายมิติในใจ
ส่วนตัวละครบัดดี้ เราแคสติงเด็กหลาย 10 คนกว่าจะได้น้องเวลามา ตอนแรกเรากังวลมาก ต้องเวิร์กชอปเพื่อทำความเข้าใจพอสมควร แต่น้องเป็นเด็กที่มีสมาธิมากๆ เล่นดรามาได้ พอสั่งแอกชันปั๊บเขาก็ทําได้ดีเสมอ ทั้งที่เป็นหนังเรื่องแรกของเขา
ตัวละครสมทบอย่างพี่เจสัน ยัง เราสนิทกับเขาอยู่แล้ว เป็นพี่เป็นน้องกันเลย ซึ่งเราอยากได้ตำรวจจริงๆ ที่เวลาจับปืน เวลาสั่ง เขารู้ดีว่าต้องทำอะไร ก็เลยขอเขาว่ามาช่วยแวบหนึ่งได้ไหมพี่ เขาก็ตอบรับเลยทันที
แล้วผมคิดว่าในหนังควรมีนักมวย เพราะอดีตของสิงเป็นนักมวยเก่า เราอยากให้สิงมีเพื่อนเป็นนักมวยที่ทำงานด้วยกัน สนิทกัน ก็เลยคิดถึงพี่แสนชัยขึ้นมา เขามีความเป็นธรรมชาติ มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ พอคนดูเห็นพี่แสนชัยในหนังก็จะได้อีกอารมณ์หนึ่ง เพราะไม่คิดว่าจะได้เห็นเขา
เราทํางานร่วมกันกับนักแสดง บางทีเขาจะมีไอเดียเสนอว่าอยากลองแบบนี้ดูมั้ยพี่ เช่น ฉากสุดท้าย ไอเดียเรา คืออยากให้หมากวิ่งมาหา แต่พอมานั่งคุยกัน หมากบอกว่าเขาอยากเดินมากกว่า เราก็บอกว่าเอาดิ ถ้ายูคิดว่าเดินมาแล้วเจ็บกว่า อีโมชันนัลกว่า ก็ลองดู ขอแค่มาหยุดอยู่ตรงนี้ ด้วยอารมณ์แบบนี้ก็พอ เราไม่ติดเลย
ถ่ายทอดผลลัพธ์ของการใช้พริวิเลจแบบผิดๆ ด้วยปลากลายพันธุ์
หนึ่งในเหตุผลของโลกดิสโทเปียนี้ คือการเกิดภาวะโลกร้อน น้ำเอ่อขึ้นมาจากข้างล่าง มีสึนามิ มีแผ่นดินไหว พอน้ำเอ่อล้นขึ้นมา ไอ้เชื้อโรคต่างๆ ใต้ทะเลก็ลอยขึ้นมาพร้อมปลาที่ไม่ควรจะอยู่เหนือน้ำ
ข่าวทุกวันนี้ก็จะเห็นปลาติดเชื้อเยอะขึ้น แล้วสิ่งสําคัญ คือโลกในหนังไม่มีอาหาร มีแต่แมลง การได้ปลามาสักตัวหนึ่ง โดยการนําเข้ามาด้วยวิธีการผิดๆ ยิ่งส่งผลให้เชื้อกลายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเราก็คิดเปรียบเทียบกับแมลงสาบ มันจะมีทฤษฎีว่าเมื่อเจอแมลงสาบ 1 ตัว เราจะเจอแหล่งของมันอีกไม่รู้เท่าไหร่ แต่ยังไงก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ เราเลยหยิบทฤษฎีนี้มาผสมผสานกับการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
ในหนังซอมบี การแพร่เชื้อครั้งแรกมักสําคัญที่สุดเสมอ เพราะเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง เราเลือกให้คนดูเห็นภาพการติดเชื้อในโต๊ะการประชุมของผู้นําธุรกิจ เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ควรจะนําปลาเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
เราตั้งใจให้คนกลุ่มนี้ติดเชื้อเป็นกลุ่มแรก เพราะคนอื่นทำตามกฎกันหมด มีแค่ไม่กี่คนในโลกที่มีพริวิเลจมากกว่าคนอื่น แต่เลือกใช้พริวิเลจในทางที่ผิด มันมักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอ
ออกแบบโลกดิสโทเปียด้วยฝีมือมากกว่า CG
ปัจจัย 4 ที่เหลืออยู่ในโลกตอนนั้น คือการแพทย์ โรงพยาบาลเป็นสิ่งจําเป็นมากในการดํารงชีวิต แล้วยิ่งโลกผิดเพี้ยน มีไวรัสเต็มไปหมด เราจะเห็นผู้คนไม่ปกติที่ร่างกายผอมกะหร่องเต็มไปหมด ผมก็คิดว่าโรงพยาบาลน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วเราอยากเล่าในพื้นที่แคบๆ เหมือนเป็นหนังเอาชีวิตรอดในพื้นที่จํากัด เวลาจํากัด เพื่อเรื่องราวเข้มข้นมากๆ เรื่องทั้งหมดเลยอยู่แค่ในตัวตึก
เราถ่ายทั้งหมด 4 ที่ ลานข้างหน้า คือโรงแรมร้างที่ชลบุรี เราก็ไปเซตอัปให้เป็นโรงพยาบาล แล้วก็มีโรงพยาบาลจริงๆ แถวทองหล่อ แล้วก็สร้างเซตชั้น 10 ที่แอกชันทั้งหมด เพราะมันจะต้องเละเทะประมาณหนึ่ง คงไม่มีใครได้ใช้ (หัวเราะ) ส่วนดาดฟ้าเป็น CG ล้วนครับ
ผมพยายามทําซอมบี้ด้วยการแต่งหน้าเอฟเฟกต์ แล้วผสมผสาน CG เข้าไปให้น้อยที่สุด รู้สึกว่ามันเข้าถึงคนมากกว่า เรียลกว่า ดุดันกว่า ซึ่ง CG ทั้งหลายแหล่ใช้เพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์ ไม่ใช่ใช้เพื่อสร้างโลกใหม่ เพราะเราไม่ใช่หนัง Sci-Fi
Make Up Artist ทำงานหนักมาก แล้วก็เยอะมาก (เน้นเสียง) ซอมบีตัวหนึ่งแต่งหน้า 3 – 4 ชั่วโมง แล้ววันหนึ่งมี 50 – 60 ตัว ช่างแต่งหน้าเอฟเฟกต์มาเกือบทั้งประเทศ
เรามี Reference ให้ บอกว่าชอบแบบนี้ ลองไปออกแบบดู ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะใช้จมูกของโวลเดอมอร์เป็นตัวอย่าง บวกกับปลาที่เราใช้ เขาก็ไป Mix & Match เองจนออกมาเป็นแบบนี้

Magic Moment ของผู้กำกับนักฟังเสียง
ปกติแล้วเวลาผมทำงาน ผมจะใช้เพลงทำงานด้วยเสมอ ถ้าเกิดดูสืบสันดาน หรืองานต่างๆ ของผม มักจะมีเพลย์ลิสต์ที่อยากใช้เป็นเครื่องมือผสมผสานให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วก็จะคุยกับคนตัดต่อว่า “เฮ้ย เพลงนี้เหมาะไหม?” เขาก็จะบอกว่า “เฮ้ย หรือเพลงนี้ดี?” โยนกันไปโยนกันมา
บางทีเรามี Reference เป็นภาษาอังกฤษ จังหวะใช่ แต่เนื้อไม่ได้ เราอยากได้ภาษาไทย แล้วก็หาไปเรื่อยๆ จนอยู่ดีๆ ก็เจอเพลงฉากสุดท้ายที่เป็น Magic Moment เพราะหาอยู่นานมากกว่าจะเป็นเพลงอะไร แล้วคนตัดต่อก็เสนอเพลงนี้ เรานั่งฟังจนรู้สึกว่าเออ อันนี้แหละ มันอีโมชันนัลมาก
หนังแอกชันเรื่องแรกของเจ้าพ่อหนังทริลเลอร์ที่ใส่เต็มสุดในชีวิต
ปกติเราทำแต่หนังทริลเลอร์ พอไปทําอย่างอื่น ไม่ว่าจะหนังเรื่องไหน ก็จะวนกลับมาทริลเลอร์อยู่อย่างนี้ จะโรแมนติกคอเมดีก็ไม่มีใครให้ทํา กลายเป็นถนัดแนวนี้ไปเลย (หัวเราะ)
คอเมดีเป็นศาสตร์ที่ยากมาก คนเราตลกไม่เท่ากัน ซึ่งมุกที่คนทั้งโลกเห็นแล้วตลกคืออะไรวะ แต่หนังผี หนังทริลเลอร์มันเป็นความรู้สึก
ยุคเราเด็กๆ หนังประเภทนี้เยอะมาก เช่น Child’s Play, A Nightmare On Elm Street เป็นหนังที่เด็กไม่ควรดู แต่เด็กมันชอบ แล้วก็กลายเป็นหนังไอคอนิกมาถึงทุกวันนี้
แต่เราอยากทำหนังแอกชันมานานมาก เพราะเราก็ชอบดู แต่โอกาสทำหนังแอกชันในประเทศไทยมันน้อย พอได้ทำแล้วเราก็ใส่เต็มที่
Netflix ให้โอกาสคนอย่างพวกเราที่เป็น Filmmaker ได้ใช้ศักยภาพ ได้พัฒนาตัวเอง แล้วก็เชื่อว่าเรามีคุณภาพไม่ต่างจากต่างประเทศ ซึ่งผลงานที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่าทีมงานตั้งใจมาก แล้วก็หวังว่าในอนาคตมันจะเป็นบันไดหนึ่งที่ทําให้ Filmmaker ทุกคนได้มีโอกาสทําสิ่งเหล่านี้
ผมผ่านอะไรมาพอสมควร ทั้งดีและไม่ดี ภูมิคุ้มกันค่อนข้างเยอะแล้ว เราก็ทําเต็มที่ของเรา ไม่เสียใจในสิ่งที่ทํา ทีมงานทุกคน นักแสดงทุกคนเห็น หรือแม้กระทั่ง Netflix เองก็ตาม ซึ่งเราห้ามความคิดใครไม่ได้หรอก
ถ้าดูจบแล้วทุกคนบอกว่าสะใจมาก สำหรับผม มันจบแล้ว
ประเด็นต่างๆ ที่อยู่ข้างใน ใครดูแล้วได้อะไรก็หยิบไปนะ แค่ออกมาแล้วตื่นเต้น สนุก เร้าใจ มองสิงเป็นไอคอนิกฮีโร่ มองว่าแม่งเท่ พระเอกสุดๆ เราก็ดีใจแล้ว
ความตั้งใจของเราก็อยากให้มันเวอร์อยู่แล้วแหละ แต่ในความเวอร์ก็มีอะไรซ่อนอยู่เยอะเหมือนกัน
ผมว่าเรื่องนี้ ยังมีลายเซ็นบางอย่างของผม แต่จัดเต็มกว่า เรียกว่าใส่สุดที่สุดในชีวิต เหนื่อยที่สุดตั้งแต่ทำมา เพราะมันใช้เวลานาน ดีเทลเยอะ แล้วก็ได้ใช้เทคนิคใหม่ๆ หลายๆ อย่าง ซึ่งเราสนุกกับมันมาก พอใจกับสิ่งที่ออกมามาก ในอนาคตถ้ามีโอกาสก็อยากทําแอกชันที่ใหญ่ขึ้น มีไดนามิกมากขึ้น มีลูกเล่นมากขึ้น
แล้วถ้าโลกนี้มีวันสิ้นสุดมนุษยชาติจริง ผมก็คงอยู่กับครอบครัว 20 – 30 คนที่บ้าน แล้วก็นั่งดู Netflix ด้วยกัน เพราะถ้าเจอแบบในหนังน่าจะหมดแรงตั้งแต่ดอกแรกแล้วครับ (หัวเราะ)
กันตนายุคใหม่ในมือผู้นำรุ่น 3 ที่คลาสสิกแต่มีสไตล์
ถามว่าก้าวผ่านความคลาสสิกของกันตนาไหม เรียกว่าผมพามันไปอีกจุดหนึ่งได้แล้วกัน
ผมใช้ความรู้ ข้อคิด วิธีการต่างๆ จากสิ่งที่ว่ากันว่าคลาสสิก จากผู้ใหญ่ที่อยู่กันตนา มาผสมผสานกับวิธีการของผมให้ลงตัวที่สุด จนเกิดเป็นสไตล์ใหม่ แล้วก็คงมีอะไรใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ทิ้งกลิ่นอายของเรา
แน่นอน คุณภาพต้องถึง ที่สำคัญเรื่องเล่าของเราต้องโกลบัลมากขึ้น
ผมว่ามนุษย์มีรัก โลภ โกรธ หลงเป็นพื้นฐาน ตัวละคร หรือเรื่องราวก็ควรที่จะเข้าถึงคนกลุ่มคนทั่วไปได้ง่าย นี่น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่บ้าน ซึ่งผมก็เสริมเทคนิคกับเรื่องเล่าใหม่ๆ ให้ตรงกับยุคสมัยนี้ แม้กระทั่งกับสืบสันดานเองก็ตาม
ไม่ว่ามันจะถูกเรียกว่าละคร ไม่ว่ามันจะถูกเรียกว่าซีรีส์ มันก็เป็นรสชาติของคนไทย ซึ่งเป็นรสชาติที่คนต่างประเทศก็ชอบ ไม่ได้ไม่ชอบ แล้วเราก็ไม่ได้เป็นเหมือนซีรีส์เกาหลี ไม่ได้เป็นเหมือนซีรีส์ฝรั่ง เราเป็นของเราแบบนี้แหละ
บางทีเราพยายามจะหนีตัวเอง อยากจะนู่นอยากจะนี่ แต่บางอย่างก็ดีและตอบโจทย์อยู่แล้ว เราแค่ต้องจับนู่นมาผสมนี่เพื่อเพิ่มคุณภาพ คุยกับผู้กํากับที่เขามีวิสัยทัศน์ แล้วก็พัฒนามันออกมาให้ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้
