ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง
อาจารย์เคยขี่จักรยานจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวปีนัง ไม่กลัวบ้างหรือครับ
กลัวอะไร
กลัวไปไม่ถึง
เคยกลัวจะเดินไปไม่ถึงสามย่านไหม
ไม่เคยครับ
ทำไมล่ะ
มันใกล้
ใกล้ ไกล
อะไรคือข้อจำกัด เวลา จริงไหม ให้เวลา 1 นาทีเดินให้ถึงสามย่าน
คุณก็บอกไม่ทันหรอกอาจารย์ มันไกล ถ้าอีกชั่วโมงเจอกันที่สามย่าน คุณบอกสบาย
ใกล้นิดเดียว เห็นไหมว่าหลายๆ อย่างเวลาที่เรามองมันมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย
เราต้องหาว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวกำหนด แล้วเราก็จะบริหารชีวิตได้ง่ายขึ้น
อาจารย์ใช้เวลาเดินทางไปกลับปีนังนานแค่ไหนครับ
2 เดือน
ตอนปิดเทอมใหญ่ ก็มันว่างเลยอยากเที่ยว ปีนังมันดังที่สุดในยุคนั้นแล้ว
การไปเที่ยวต่างประเทศก็คือปีนัง ดูแผนที่แล้วก็เห็นว่ามันไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเล
ทำไมเราจะไปไม่ได้ แล้วถ้าเราไม่มีเงินจะทำยังไง หนึ่งคือเดิน แล้วเมื่อไหร่จะถึง สองไปด้วยจักรยานมันก็ยังเร็วกว่าเดิน
ก็ทำงานเป็นแล็บบอยที่ยูเนสโก้ เก็บเงินไปเรื่อยๆ
ก็แล้วแต่ว่านักวิจัยเขาจะใช้ทำอะไร
ไปกันกี่คนครับ
4 คน
เป็นประเภทอยากเที่ยวเหมือนกันหมด แต่ไปถึงปีนังแค่ 2 คน ที่เหลือทยอยกลับก่อน
เขาก็มีเหตุจำเป็นเฉพาะตัวของเขา คนนึงถึงชุมพรกลับ อีกคนถึงภูเก็ตกลับ
อะไรทำให้อาจารย์รักการเดินทางครับ
หนังสือที่ยุให้ผมเที่ยวคือ
ล่องไพร ของน้อย อินทนนท์ กับ พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทปาลิต
แล้วทำยังไงถึงจะมีหนังสืออ่าน ผมก็ไปขายไอติม พอได้เงินก็วิ่งไปซื้อหนังสือ
ตอนนั้นอยู่มัธยมแล้ว พอได้หนังสือมาเล่มนึง อ่านจบแล้วก็ให้เช่าเล่มละสลึง
ก็เลยมีเงินซื้อหนังสือใหม่อยู่เรื่อย
พอเยอะขึ้นก็ปูหนังสือบนฟุตปาทให้เช่าตรงท่ารถเมล์ที่จะออกจากเมือง
รถเมล์ยังไม่ออก เขานัง่อยู่เฉยๆ ก็ต้องเอาหนังสือไปอ่าน พอรถเมล์ออกก็ส่งคืน
ผมเลยมีหนังสืออ่านเยอะเลย
ล่องไพร
เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นนักพฤกษศาสตร์รึเปล่าครับ
ไม่ใช่
มันทำให้ผมอยากเที่ยวป่า สมัยเด็กๆ ผมอยู่ที่ลพบุรี ว่างเมื่อไหร่ก็หนีเข้าป่าเลย
สมัยก่อนรถไฟเป็นรถจักรไอน้ำก็ต้องเข้าไปตัดฟืนในป่า
พอรถจะเข้าไปเอาฟืนในป่าเราก็กระโดดเกาะท้ายรถไป ก็เข้าดงพญาไฟ ดงพญาเย็นไปเอาฟืน
การมองป่าด้วยสายตาแบบเด็กๆ
อาจารย์เห็นอะไรบ้างครับ
เห็นชาวบ้าน
เขามีชีวิตที่อิสระมาก ได้เห็นธรรมชาติ
ได้เห็นความจริงที่ไม่ค่อยเหมือนที่เขาโฆษณา
ได้เห็นการเปรียบเทียบชีวิตในเมืองกับชีวิตในป่า
นั่นเลยทำให้ผมคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น
สิ่งที่น่าแปลกอีกอย่างคือ
เวลาอาจารย์จะสอนให้รู้จักระบบนิเวศ อาจารย์ก็พาคนมาเดินดูต้นไม้ในมหาวิทยาลัย
ในเมืองซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้สึกเลยว่ามีต้นไม้
หรือเวลาที่จะพาดูศิลปวัฒนธรรมชุมชนโบราณ
อาจารย์ก็พาไปดูตามตรอกซอกซอยซึ่งโปรแกรมท่องเที่ยวต่างๆ แทบไม่เคยพูดถึง
คนร่วมทัวร์กับอาจารย์ก็เลยงงว่า สถานที่แบบนี้จะมีอะไรให้ดูด้วยเหรอ
คนสมัยก่อนในความคิดของเขามีสุนทรี
มีความละเอียด คนปัจจุบันมองอะไรหยาบ ไปที่ไหนก็เลยไม่ค่อยจะเห็นความงาม
แต่พอมีใครกระตุ้นนิดเดียว โอ้โห ทำไมมันสุดยอดขนาดนี้ ฉันมองข้ามมาตลอดชีวิต นี่คือสิ่งที่มันหายและถูกกระตุ้นให้กลับคืนมา
เวลามองอะไรมองให้เกิดความสุนทรี ต้องมองด้วยปัญญา ไม่ใช่มองด้วยความรู้
เพราะฉะนั้นผมถึงได้สร้างปัญญาตลอด ผมไม่สร้างความรู้
ทำไมเราถึงควรรู้จักต้นไม้ครับ
ชีวิตที่อยู่ในโลกนี้
อยู่ด้วยตัวคนเดียวเท่านั้นใช่หรือเปล่า ถ้าอยู่ไม่ได้ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร ก็ต้องอยู่อย่างรู้จัก เข้าใจ เห็นคุณค่า
เมื่อเราผ่านสามกระบวนการก็จะเกิดความรัก เมื่อเกิดความรักก็จะช่วยเหลือเกื้อกูล
แต่ถ้าเราหันหลัง ไม่รู้ไม่ชี้ เราก็จทำลาย หวาดกลัว
ไม่รู้ว่าอะไรอยู่รอบตัวเราบ้าง อยากใช้ชีวิตแบบไหนล่ะ
เด็กยุคใหม่เขากลัวแปลกมาก
พาเขาเข้าป่า บางคนกรีดร้องจะเป็นจะตาย กลัวอะไรรู้ไหม กลัวมด เพราะไม่รู้จักมด
บางคนกลัวจิ้งจก กลัวงู กลัวทาก กลัวสารพัด กลัวเพราะไม่รู้จัก
แล้วพฤติกรรมอย่างนี้มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวเท่านั้น
มนุษย์ต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นตรงไหน
มีจินตนาการ
ใช่ มันเลยวาดภาพไปเรื่อย
ที่วาดภาพก็เพราะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ เราไม่เคยเห็นผี ไม่รู้จักผี
ก็เลยไม่เข้าใจผี แล้วก็กลัวผี แต่ถ้าคุณไปทำงานเป็นสัปเหร่อ คุณก็จะไม่กลัวผี
นั่นคือสิ่งที่วิทยาศาสตร์พยายามสอนเราให้เข้าใจทุกชีวิต แล้วจิตของเราจะสงบขึ้น
ทำไมตามถนนหนทางในกรุงเทพฯ
เราไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่เลยครับ
บ้านเรามีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง
ที่อื่นเขาชอบต้นไม้ใหญ่ อย่างไต้หวัน
เขาจะติดตามอายุเลยนะว่าต้นไม้ต้นนี้อายุร้อยปีแล้ว ร้อยห้าสิบปีแล้ว
แล้วเขาก็ชื่นชมที่มันอายุยืนนานได้ขนาดนี้
แต่ของบ้านเราเห็นต้นไม้ใหญ่ไม่ได้ต้องตัด เห็นต้นไม้สูงไม่ได้ต้องกุด ทำไม
มันไปพันสายไฟ
ไม่ใช่
เพื่อแสดงถึงการทำงาน การใช้ชีวิตของเราไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อสิ่งอื่น
แต่ใช้ชีวิตเพื่อตัวเราเอง เพราะฉะนั้นถ้าลงมือพัฒนาสภาพแวดล้อมเมื่อไหร่
เขาจะแจกมีด แจกกรรไกรคนละอัน เดินไปก็เล็มๆๆ ให้มันเป็นทรงอย่างที่ฉันต้องการ
เมื่อมันเตียนหมด นี่คือผลงานของการพัฒนา เพราะได้ลงมือทำแล้วนะ
นั่นคือทัศนคติของเรา ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ครูอนุบาลแล้ว เราสอนว่าต้นไม้ไม่มีชีวิต
ไม่มีความรู้สึก จะทำยังไงก็ได้ เด็กจะเด็ดก็ได้ ในชั้นอนุบาล
บ้านเมืองอื่นเขาสอนให้รู้จักชีวิตก่อน เริ่มจากชีวิตตัวเอง
ในระดับอนุบาลและประถมสอนให้มีระบบ มีวินัย คิดถึงผู้อื่น
พอมัธยมก็สอนให้ทำงานเป็นทีม พอเข้ามหาวิทยาลัยก็สอนให้คิด
แต่ของเราอนุบาลสอนให้ใช้เทคโนโลยีเป็น แล้วเราจะภูมิใจมาก ลูกฉันนะเปิดคอมฯ
เปิดเน็ตเองได้ด้วย เพื่ออะไร
ถ้าจะทำให้เด็กรักต้นไม้
ครูต้องรักก่อน แต่ละก้าวที่เราจะเดินต้องรู้ว่าเราเหยียบหัวเขานะ
เวลาเราถูกเหยียบเรารู้สึกยังไง เขาก็รู้สึกอย่างนั้น
แต่นี่เราไม่เคยมีใครรู้สึกเลย ลานดูดาวที่อุทยานเมืองน่านสวยเชียว หญ้าเขียว
แล้วก็มีที่ให้กางเต็นท์ ทำแคมป์ไฟ เผาหัวเขาเล่น พอดับไฟแล้วน้ำค้างลง
มันก็ชะเอาขี้เถ้าไหลไป เคยโดนด่างกัดไหม เหมือนกันเลย
เราไม่เคยเอาชีวิตเราไปใส่ในชีวิตเขา บ้านเมืองเราถึงเป็นอย่างนี้
เพราะเรามีธรรมชาติมากเกินไป เลยไม่เห็นคุณค่า
เราจะเห็นคุณค่าธรรมชาติก็ต่อเมื่อมันจากเราไปแล้ว
เพราะคุณค่าของความรักมันเกิดจากการพลัดพราก
ทราบว่าอาจารย์รักลูกสาวมาก
ถึงขนาดไม่ยอมเรียนปริญญาเอกต่อทั้งที่มีโอกาสแล้ว
อะไรคือสิ่งที่อยากให้ลูกได้รับไปจากอาจารย์ที่สุดครับ
ความสุข
คนเราจะสุขหรือไม่สุขมันไม่ได้ขึ้นกับคนอื่น มันขึ้นกับความคิดของเรา
เพราะความคิดมันกำหนดชีวิตเรา เราคิดเป็นก็มีความสุข ถ้าคิดไม่เป็นก็ไม่มีความสุข
นั่นคือหัวใจ จริงๆ มันเป็นหน้าที่เราที่จะต้องทำให้เขามีความสุข อย่างที่บอก
พอผมมีลูก ผมก็หยุดการเจริญเติบโตของผม
เพราะคนเราจะมีสุขถ้าเขารู้ว่าเขาได้เจริญเติบโตเกินหน้าบรรพบุรุษ
ผมก็หยุดของผมเท่านั้น เพราะฉะนั้นเขาโตแป๊บเดียวเขาก็เกินผมแล้ว แต่ถ้าผมยังถีบๆๆ
ขึ้นไป เขาก็เหนื่อย ถ้าเขาขึ้นไม่ถึง เขาก็ท้อแท้
ทำไมเราต้องไปนั่งทำลายชีวิตในอนาคตของเขา นั่นคือวิธีคิดของผม
“เพราะเรามีธรรมชาติมากเกินไป เลยไม่เห็นคุณค่า เราจะเห็นคุณค่าธรรมชาติก็ต่อเมื่อมันจากเราไปแล้ว เพราะคุณค่าของความรักมันเกิดจากการพลัดพราก”
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 90 กุมภาพันธ์ 2551)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ กิตติศักดิ์ ทวีกิจภิญโญ