ยงยุทธ จรรยารักษ์ : นักพฤกษศาสตร์ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ 2/4

คนไทยจำนวนมากเที่ยววัดโดยสนใจในความศักดิ์สิทธิ์และโชคลาภ
อาจารย์ลองถอดดีเอ็นเอของคนเหล่านี้หน่อยสิครับ

มาจากความโลภ
เมื่อเกิดความโลภก็เลยโง่ หลายคนที่ไปกับผมบอก อาจารย์พาไปให้ครบ 9 วัดได้ไหม ได้
ไม่มีปัญหา แต่ทำไมต้องครบ 9 วัด เอ้า เลข 9 นี่มันเลขมงคลนะคะอาจารย์ ผมบอก
งั้นวัดที่หนึ่ง อย่าลืมอธิษฐานว่า ถ้าดิฉันมีลูกขอให้ลูกดิฉันมี 9 นิ้ว
ไม่เอาอาจารย์! อ้าว ทำไมล่ะ เลข 9 เลขมงคลไม่ใช่เหรอ
ไอ้ก้าวที่เขาอยากได้น่ะมันเป็นกริยา แต่ 9 วัดน่ะเป็นจำนวนไม่ใช่กริยา
เห็นไหมว่าพอเราไม่มีความคิดที่จะให้ คิดแต่จะเทก ตาเราจะมืดเลย
เราจะคิดอะไรไม่เป็น

ตอนนี้อาจารย์ยังออกพาเดินชมอะไรแบบนี้ทุกเสาร์อาทิตย์เหมือนเดิมไหมครับ

ปกติแล้วจะทุกเสาร์อาทิตย์
วันรรมดาก็แล้วแต่จะมีหน่วยงานไหนขอร้องให้มาช่วย งานนี้ก็ไปให้เขาไม่ได้
ของศูนย์การท่องเที่ยว กทม. เดือนหน้าก็มีของผังเมืองด้วย
ไปอบรมเจ้าหน้าที่ผังเมือง เวลาไปเดินผมถามนักผังเมืองว่า ชุมชนคืออะไร
ก็ไม่มีใครตอบได้ งั้นบ้านคืออะไร ก็ไม่มีใครตอบได้ ถ้าไม่รู้จักบ้าน
ไม่รู้จักเมือง ไม่รู้จักชุมชน แล้วเราจะวางผังเมืองได้ยังไง

บ้านคืออะไรครับ

บ้านกับเรือนเหมือนกันไหม
ครอบครัวที่ขยายไปเรียกหมู่เรือน แล้วหมู่เรือนกับหมู่บ้านเหมือนกันไหม
เรือนกับบ้านต่างกันยังไง สังคมของไทยเรามี 3 ระดับ ระดับแรกคือบ้านหรือหมู่บ้าน
ระดับที่สองเรียกว่าตลาด แต่เราเรียกว่าชุมชน ระดับที่สามคือเมือง
นี่คือสภาพสังคมไทย ถามว่าหมู่บ้านคืออะไร คือกลุ่มคนที่มีอาชีพเดียวกัน
ทำมาหากินเหมือนกัน มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะมาจากต้นสายบรรพบุรุษเดียวกัน แล้วก็แตกแขนงออกไป แต่งงานๆ
แล้วก็แยกเรือนไป แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่ม บ้านคือพื้นที่ทำกิน
แต่เรือนคืออาคารที่อาศัยหลับนอน หัวใจของเรือนอยู่ตรงไหน

ห้องนอน

ไม่ใช่
เรือนใดที่ไร้ครัว เรือนนั้นเป็นแค่ที่ซุกหัวนอน เหมือนกับโรงเตี๊ยม
เพราะครัวจะครอบทุกคนในเรือนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
วันนี้อาหารถูกปากเราแต่ไม่ถูกปากน้อง แต่น้องกิน พรุ่งนี้อาหารถูกปากน้องแต่ไม่ถูกปากเรา
เราก็กิน ขึ้นอยู่กับว่าแม่ของครัวจะกำหนดอะไรขึ้นมา แต่พอมายุคปัจจุบัน
เรือนไทยไม่มีครัว อยากกินอะไรก็หิ้วกันมา พอเข้าบ้าน เข้าห้องตัวเอง
กดสวิตช์เปิดคอม ระหว่างรอก็เอาของที่ซื้อมาเทใส่จานยัดใส่ไมโครเวฟ ตั้งเวลา
กดเช็กเมล ไปหยิบมานั่งกิน เปิดทีวีดู แล้วก็นอน เช้าขึ้นมาก็เดินออก
ได้คุยกับใครบ้างไหม แล้วมันจะเป็นครอบครัวได้ยังไง มันเป็นแค่ที่ซุกหัวนอน
เห็นหรือยังว่าทำไมสังคมไทยถึงล่มสลาย ในอดีตครอบครัวเราอบอุ่น
ปัจจุบันครอบครัวเราแตก หนักยิ่งกว่านั้น ในหมู่บ้าน ความที่เขามีอาชีพเดียวกัน
เพราะฉะนั้นเขาจะพัฒนากระบวนการในการประกอบอาชีพไปเรื่อยๆ มันก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ
บ้านโน้นทำลายนี้ เออ ไม่เลว เอาแบบมาบ้าง ลูกหลานที่ออกมาก็ไปช่วยพ่อแม่ทำ
ลูกหลานไม่เคยต้องนับหนึ่งเลย เพราะต่อยอดจากพ่อแม่ จากปู่ย่าที่อยู่ในหมู่บ้าน
อาชีพมันก็พัฒนาสูงขึ้นๆ ถ้าเราอยู่อย่างนี้ การเกษตรมันจะสุดยอด
เพราะคนไทยเก่งที่สุดเรื่องการผสมพันธุ์พืชและปรับปรุงพันธุ์พืช

อาจารย์บอกว่ามหาวิทยาลัยที่พะเยาเพิ่งโทรมาเชิญไปคุยกับเด็กๆ
ว่าทำไมถึงควรเรียนเกษตร เพราะเด็กๆ ที่นั่นไม่เลือกเรียนด้านเกษตรเลย
อาจารย์เตรียมอะไรไปเป็นหมัดเด็ดครับ

ไม่มีหมัดเด็ด
คิดว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร คิดว่าจะเป็นขี้ข้าเขาไปตลอดชีวิตหรือ
ประการที่สองคิดว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมมันจะยั่งยืนอยู่ในเมืองไทยได้นานแค่ไหน อีก
20 ปีไม่มีแก๊ซธรรมชาติเหลือ 40 ปีไม่มีน้ำมันเหลือ
ถ้าสองตัวนี้หมดไฟฟ้าจะมาจากไหน ถ้าไม่มีไฟฟ้า อุตสาหกรรมจะเป็นยังไง
งานอะไรที่ทำได้โดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า

เกษตรกรรม

เห็นไหม
ตอนนี้เขามีมาตรการโลกกำหนดออกมาแล้วเรื่องคาร์บอนเครดิต
ประเทศพัฒนาแล้วจะถูกจำกัดการปล่อย ถ้าเขาลดการปล่อยเองไม่ได้
ก็ต้องมาซื้อเครดิตบ้านเรา เราทำสวนปกติก็คือการดูดคาร์บอน เอาผลไม้ไปขายปกติ
แต่เราจะได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ
แล้วมันเป็นการขายที่ไม่ต้องเสียวัตถุดิบ
มันไม่ดีกว่าหรือที่เราจะไปตกเป็นเบี้ยล่างของอุตสาหกรรม ที่เขาจะเฉดหัวเราเมื่อไหร่ก็ได้
งานเกษตรถ้าเรามีความรู้ติดตัว เราทำเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้
มีที่น้อยที่มากทำได้หมด แต่ถ้าเราเรียนเทคโนโลยีขั้นสูง ถามว่าคุณมีที่ที่จะทำไหม
มีงบที่จะซื้อเครื่องมือแค่ไหน ฉะนั้นชีวิตต้องเลือกในสิ่งที่เป็นไปได้
ไม่ใช่เลือกไปพึ่งเขา

ที่เด็กไม่เลือกอาจเป็นเพราะภาพของงานเกษตรจะออกไปทางชาวสวนชาวไร่
จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิดใช่ไหมครับ

จริงๆ
มันก็ใช่ แต่ถามว่าทำไมเขามองอย่างนั้น เพราะเราไม่มีปัญญาคิด รัชกาลที่ 5
ท่านทรงสร้างฐานการศึกษา เป้าหมายของการศึกษาในสมัยนั้นคืออะไร
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงผลิตคนมารับใช้ราชการ ผลิตคนมาแล้วถามว่ารับได้หมดเหรอ
เดี๋ยวตำแหน่งก็เต็ม พอเต็มแล้วเราก็ยังผลิตคนไปรับใช้เหมือนเดิม
ทำไงล่ะตำแหน่งไม่มีแล้ว เราก็ต้องวิ่งไปหานาย
เชิญคนโน้นคนนี้มาช่วยเป็นนายคนไทยให้หน่อย ฉันผลิตออกมาแล้วมันหางานทำไม่ได้
มาตั้งงานให้หน่อย

เราหาคนไทยเป็นนายคนไทยด้วยกันเองไม่ได้หรือ

เราไม่เคยสอนให้เป็นนายตัวเอง
มีเจ้าฟ้าอยู่องค์หนึ่ง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
พระองค์ท่านยอมสละตำแหน่งทั้งหลายไปเป็นเกษตรกร
เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่านี่คือวิถีของเรา เพราะศักยภาพของเราเต็มเพียบ
เราจะทำให้วิเศษแค่ไหนก็ได้ ถ้าเราจะทำ และจากสิ่งที่ท่านทำ ชาวบ้านรอบๆ
ก็เริ่มทำบ้างกระจายออกไปเรื่อยๆ
รัฐบาลที่ขี้อยู่บนหัวก็มองว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์
สั่งจับในฐานะนักโทษการเมืองส่งไปอยู่ตะรุเตา
กลัวว่าคนไทยจะมองความเป็นอิสระดีกว่าความเป็นทาส
เพราะทุกวันเราต้องการให้คนทั้งชาติไปเป็นทาสเขา เป็นขี้ข้าเขา
ขึ้นอยู่กับจะเป็นขี้ข้าระดับไหนเท่านั้นเอง ขายแรงงานหรือว่าขายสมอง
แล้วไม่ว่าจะทำเกษตรหรือทำอะไรก็ตาม เป้าหมายของชีวิตอยู่ตรงไหน

ความสุขหรือเปล่าครับ

ความสุขอยู่ตรงไหน
ความสุขอยู่ตรงสันโดษ แล้วถ้าเราเป็นขี้ข้าเขา เราจะมีความภาคภูมิใจในความสุขนั้นไหม
เพราะชีวิตที่เราอยู่ในปัจจุบัน มันคือเศษเงินที่เขาโยนมาให้ ยิ่งกว่านั้น
เขารุกเข้าไปในชนบท ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ดังมากเรื่องผ้าทอ
เพราะเป็นพวกชาวลาวมาจากเชียงขวาง ลายผ้าเขาจะสวย เมื่อคนติดใจผ้าบ้านหมี่
ก็เลยสั่งซื้อเยอะ กรงส่งเสริมฯ เขาก็รวมตัวกันสร้างเป็นกลุ่มทอผ้า
แล้วพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมชุมชน เขาทำไงรู้ไหม ทั้งหมู่บ้าน บ้านนี้มีหน้าที่ตีฝ้าย
นั่งตีฝ้ายอย่างเดียว บ้านนี้มีหน้าที่ปั่นฝ้าย เข้ากรอ
บ้านนี้เอาฝ้ายในกรอไปย้อมสี บ้านนี้เอาฝ้ายใส่ไจสำหรับทอ บ้านนี้ทอ
ที่ศูนย์ออกลาย ออกสี ทอเสร็จส่งศูนย์ จำหน่าย ถามว่าเกิดอะไรขึ้นในหมู่บ้านนี้

สินค้ากลายเป็นแบบเดียวกันหมด

ไม่เหมือน
เพราะมันอยู่ที่การออกลาย สมัยก่อนเวลาชาวบ้านล้วงผ้าออกมาจากหีบของเขา
เขารู้สึกยังไงกับผ้า

ภูมิใจ

เพราะนี่คืองานของเขาเอง
ลายก็เป็นลายที่เขาออกแบบ สีก็เป็นสีของชีวิตเขา ถ้าใครซื้อของเขาไปเขาจะภูมิใจมาก
เหมือนกับศิลปินที่เขียนรูป แล้วปัจจุบันความภาคภูมิใจของเขาจะอยู่ตรงไหน
ผ้าที่วางอยู่บนหิ้งของใคร ใครควรจะภูมิใจกับผ้าผืนนี้
เมื่อความภูมิใจในชีวิตไม่มีก็เลยต้องชดเชยด้วยการเสพทางกาย ไม่ใช่ทางใจ
ใจก็ยังพร่องตลอด มันถึงไม่เคยเจอความสุข เจอแต่ความสนุก
แล้วคุณค่าของชิ้นงานก็หายไปด้วย
เพราะมีแต่พวกโลว์คลาสเท่านั้นที่จะมาซื้อของพวกนี้ เพราะมันถูก
แต่ถ้าชิ้นผ้าที่ทอของเขาเอง เขาใส่จิตวิญญาณลงไปในนั้น
คุณค่ามันจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

อาจารย์มองการปลูกผักเป็นศิลปะ
เป็นสิ่งที่มีคุณค่า

ถามว่าคนปลูกผักภาคภูมิใจไหม
คนปลูกข้าวสมัยก่อนยังภูมิใจแต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ภูมิใจแล้ว
เพราะพันธุ์ข้าวเขาก็ต้องไปซื้อมา เป็นพันธุ์ข้าวลูกผสมของ ซี.พี.
เตรียมดินก็จ้างรถ หว่านก็จ้างคน ทุกอย่างจ้างๆๆ เกี่ยวข้าวก็จ้างรถเกี่ยว จ้างนวด
จ้างอบ แล้วก็ไปจำนำกับ ธอส. แล้วเขาจะภูมิใจตรงไหน

แล้วถ้าปลูกผักเองทุกขั้นตอนแต่ขายได้กิโลละ
3 บาท ยังเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอยู่ไหมครับ

ภูมิใจสิ
เพราะมันเอาไปเลี้ยงชีวิต ผมเดินเก็บตำลึงไปเรื่อย เก็บเสร็จก็เอามาลวกกิน
ภูมิใจไหม แล้วพอเรามีเยอะ เราก็เดินไปข้างรั้ว บอกคนข้างบ้านว่าเอาตำลึงไปจิ้มน้ำพริกไหม
เอาไปเลย เราอิ่มใจไหม

เหมือนมะม่วงที่บ้านออกลูกแล้วเอาไปแจกคนอื่น

เหมือนกันแหละ
แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เขามองที่ตัวเงิน ผมบอกแล้วไง ชีวิตในอดีตเขามีแต่ความรัก
ช่วยเหลือกัน ไม่เอาเปรียบกัน แต่ชีวิตปัจจุบันมีแต่ความใคร่
มีแต่กลยุทธ์ในการช่วงชิง ในการเอาชนะ แล้วมันสะใจที่ฉันชนะคู่แข่งได้
ดูสิมันเจ๊งไปเลย ถ้าเป็นคนโบราณเขาจะเสียใจมากที่เขาทำให้ใครเดือดร้อน
แล้วโลกปัจจุบันจะมีความสุขได้ยังไง ถ้าเรายังคิดกันแบบนี้ แล้วเราก็ยังส่งเสริม
ยังสอนให้คิดกันอย่างนี้

ภาคเกษตรทำรายได้หลักเลี้ยงประเทศได้ไหมครับ

เลี้ยงคนทั้งชาติได้
แต่เลี้ยงชาติไม่ได้ ถ้าชาติยังเป็นประชาธิปไตยอยู่อย่างนี้
รู้ไหมนายกรัฐมนตรีคือใคร คือผู้จัดการประเทศ พระมหากษัตริย์คือผู้ปกครองประเทศ
จริงไหม ผู้ปกครองประเทศต้องปกครองให้คนทั้งประเทศมีความสุข ผู้จัดการประเทศ
ประชาชนเป็นยังไงไม่สำคัญขอให้ได้กำไรที่สุด ร่ำรวยมากที่สุด
เห็นไหมเป้าหมายไม่เหมือนกัน มัวแต่มานั่งทำการเกษตรแล้วเมื่อไหร่มันจะรวย
สู้ขายทรัพยากรดีกว่า เร็วกว่า ทุกวันนี้เราทำอย่างเดียว ขายทรัพยากรให้คนอื่นเขา
แล้วรู้ไหมทรัพยากรคืออะไร คือมรดก มรดกคืออะไรรู้ไหม คือสิ่งที่คนรุ่นก่อนเขาฝากเราไว้แล้วให้เราดูแลรักษา
แล้วก็ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ไม่ใช่ให้เรามาผลาญ
คนที่ผลาญมรดกจนหมดเขาเรียกว่าคนเลวชาติ แล้วเราหนักยิ่งกว่านั้นอีก
ไม่ใช่แค่ผลาญอย่างเดียว ยังทิ้งขยะ ทิ้งสารพิษ ทิ้งหนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง
เห็นหรือยังว่าเราคิดผิดขนาดไหน

ถ้าอาจารย์เป็นนายกรัฐมนตรีสิ่งแรกที่จะทำคือ

ผมไม่เป็น
นโยบายแรกคือไม่เป็นนายกฯ เพราะผมไม่เห็นด้วยในประชาธิปไตย มันไม่ใช่วิถีไทย
การปกครองต้องมีวิถี การปกครองมีวิถีอยู่ 3 แบบ
ถ้าพ่อกับลูกต้องอยู่กันอย่างพ่อกับลูก พี่กับน้องก็ต้องพี่กับน้อง
เพื่อนกับเพื่อนก็ต้องอยู่กันอย่างเพื่อนกับเพื่อน
เพื่อนฝูงจะอยู่อย่างพ่อกับลูกไม่ได้ สังคมพ่อกับลูกเป็นแบบไหน มีช่องว่างเยอะ
พ่ออายุมากกว่า ประสบการณ์มากกว่า ลูกยังไม่รู้เรื่องเอาแต่วิ่งเล่นสนุกอย่างเดียว
เพราะฉะนั้นพ่อก็ต้องสั่ง ต้องกำหนดอนาคตลูก เพราะฉะนั้นเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าบ้านนั้นมีลูก
5 คน พ่อบอกพรุ่งนี้ไปโรงเรียน ไปนอนได้แล้ว ลูกบอก โอ๊ย ยังอยากเล่นเกมๆ
เพื่อความเป็นประชาธิปไตยโหวต 2 เสียงต่อ 5 เสียง เห็นไหม
พี่กับน้องมันคือระบบคอมมูน ประชาธิปไตยมันคือระบบเพื่อนฝูง บ้านเรามีไหม
ตรงไหนที่ไม่มีช่องว่าง การศึกษามีช่องว่างไหม เศรษฐกิจมีช่องว่างไหม
วงศ์ตระกูลมีช่องว่างไหม หาอะไรที่ไม่มีช่องว่างให้ดูหน่อยสิ
แล้วค่อยบอกว่าการอยู่ร่วมกันแบบเพื่อนฝูงดีที่สุด

อาจารย์เชื่อระบบไหนครับ

ไม่เชื่อระบบไหน
การปกครองจะเป็นแบบไหนขึ้นกับสภาพสังคมเป็นแบบไหน ของทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรดี
ไม่มีอะไรเลว มันมีแต่เหมาะหรือไม่เหมาะ ถ้าสภาพเป็นแบบนี้ เราควรจะเป็นแบบไหน

แล้วอะไรเหมาะกับเมืองไทยครับ

ถ้าคุณมีพี่น้อง
5 คน เรียนจบหมดแล้ว มีครอบครัวหมด มาเจอกันตอนปีใหม่ต้องให้พ่อสั่งไหม
แล้วพ่อจะสั่งไหม เห็นหรือยัง เพราะเหมือนกันแล้ว ทุกคนเป็นพ่อเหมือนกัน
พอเราใช้ผิดระบบเกิดอะไรรู้ไหม เมื่อสังคมมีช่องว่าง
ประชาธิปไตยจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเสริมฐานอำนาจให้กับทุนนิยม
เมื่อทุนนิยมใช้ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ช่องห่างของสังคมจะยิ่งฉีกห่างมากขึ้นๆ
ผมถึงเลือกไม่เป็นนายกฯ

ถ้าอาจารย์เป็นที่ปรึกษาของผู้ปกครองประเทศก็ได้ครับ
สิ่งแรกที่จะแนะนำคือ

ถ้ามีอำนาจ
สิ่งแรก อุตสาหกรรมที่ไม่ยืนอยู่บนขาเราเอง หยุด
ส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยืนอยู่บนขาของเราเอง และเรามีศักยภาพสูง อันที่หนึ่ง
อุตสาหกรรมอาหาร เรามีศักยภาพสูงมาก วัตถุดิบเรามี แต่เรายังไม่ได้ทำตลาดเลย
อันที่สอง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ อันที่สาม
เรามีอย่างเหลือเฟือแต่เราใช้ไม่เป็น ทำลายทิ้งหมดเลย คือการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สุดยอด ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด ไม่สึกหรอ
ถ้าเราใช้เป็น และเราขายการท่องเที่ยวยังไงก็ตาม สินค้าไม่เคยลด เพราะเราไม่ได้ขายตัวสินค้า
เราขายการเสพ ถ้าเราทำเป็น มันจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นตลาดด้วย
อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและแฟชั่นต่างๆ ก็เป็นตลาดด้วย เพราะมันดึงคนเข้ามา
แล้วเราก็เอาคนเหล่านี้เป็นพรีเซนเตอร์ที่จะไปแพร่ขยายตลาดต่างประเทศ

“ของทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว มันมีแต่เหมาะหรือไม่เหมาะ”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 90 กุมภาพันธ์ 2551)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

ภาพ กิตติศักดิ์ ทวีกิจภิญโญ

AUTHOR