ยงยุทธ จรรยารักษ์ : นักพฤกษศาสตร์ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ 1/4

ความรู้เป็นศัตรูของปัญญา

อาจารย์พฤกษศาสตร์ผู้ไม่เคยสอนหนังสือด้วยตำรา
เขามีแต่คำถามกับความคิดที่ ‘ลึก’ และ ‘ซึ้ง’

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยงยุทธ
จรรยารักษ์
อายุ 65 ปี เกษียณราชการแล้ว
แต่ก็ยังคงสอนประจำอยู่ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิบกว่าปีก่อน
ผมเคยเรียนกับอาจารย์
และด้วยความที่ผมเคยเป็นประธานชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมซึ่งอาจารย์เป็นที่ปรึกษาชมรม
ผมเลยได้วิชาจากอาจารย์ติดตัวมามากโข ทั้งที่สั่งสอนกันซึ่งหน้า
และแอบเก็บมาแบบครูพักลักจำ

นอกรั้วมหาวิทยาลัย
ผมเคยร่วมโปรแกรมเดินทัวร์ของอาจารย์อยู่บ่อยๆ ทั้งเดินป่า เดินเมือง ขึ้นรถ
ลงเรือ ดูวัด ดูวัง ดูบ้าน ดูคน ดูนก ดูดาว
การนำทัวร์ของอาจารย์ไม่เหมือนไกด์คนไหนหรือนักวิชาการท่านใดทั้งนั้น
อาจารย์ชี้ให้ดูในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เคยเห็นแต่ไม่เคยสังเกต
เล่าในสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยเล่า
และตั้งคำถามกับผู้ร่วมทัวร์อย่างที่ไม่เคยมีใครถาม

ผู้ร่วมทัวร์ทุกคนสามารถร่วมร่างประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้นๆ
ได้ด้วยตนเอง

ทุกวันนี้คิวของอาจารย์ยังแน่นขนัดเหมือนเดิม
และแน่นขนัดล่วงหน้าไปแล้วหลายเดือน เกือบทุกวัน มีองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน
สถาบันการศึกษา และกลุ่มเอ็นจีโอ เชิญอาจารย์ไปพาทัวร์
หรือไม่ก็เชิญไปบรรยายอบรมในหัวข้อเกี่ยวกับธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ
ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งการบริหาร

อาจารย์เป็นนักพฤกษศาสตร์

สมัยเป็นนิสิต
การเข้าไปปรึกษากับอาจารย์นั้น ผมแทบไม่เคยได้รับคำตอบ ได้กลับมาแต่คำถามง่ายๆ
ที่ตอบไม่ง่ายเลย ทุกครั้งที่ผมไปถามอาจารย์ ผมถูกถามมากกว่าได้ถาม

ครั้งนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น

สิบกว่าปีผ่านไป
บรรยากาศการพูดคุยยังคงคล้ายๆ เดิม ถ้าเรียบเรียงบทสัมภาษณ์นี้แบบคำต่อคำ
มันคงแปลกประหลาดมาก เพราะจะเป็นบทสัมภาษณ์ที่ผู้สัมภาษณ์ต้องตอบมากกว่าถาม

เมื่อเราหย่อนก้นลงบนเก้าอี้
ผมยื่น a day หน้าปกคานธีไปให้อาจารย์
ยังไม่ทันได้เอื้อนเอ่ยอะไรกัน

คำถามแรกของอาจารย์มาแล้ว

คุณรู้ไหมว่าคานธีเอาชนะอังกฤษยังไง

อหิงสาครับ

ไม่ใช่
จุดอ่อนของอังกฤษคืออะไร

ขี้สงสารหรือเปล่าครับ

สะอาด
เจ้าระเบียบ กินข้าวแต่ละมื้อต้องแต่งตัวไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะเอาชนะอังกฤษ ก็ต้องทำให้สกปรกที่สุด ไม่เป็นระเบียบที่สุด
ขี้มันทุกที่ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ อังกฤษเลยต้องยอมเลิกปกครอง
ใครจะยอมไปตกนรก คนทั่วไปชอบบอกประชาธิปไตยต้องประท้วงแบบอหิงสา เวียดนามก็อหิงสา
นั่งอดข้าวเผาตัวตายไปกี่คนแล้ว ไม่เห็นชนะเลย ฝรั่งเศสก็เฉย
อหิงสามันต้องมีกลยุทธ์ แต่เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง
ต้องหาจุดอ่อนให้เจอ

วันนี้ผมจะมาชวนอาจารย์คุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ครับ
อยากให้คนอ่านอ่านแล้วรู้สึกรักต้นไม้เพิ่มขึ้น

ปัญหามันมีอยู่
2 ตัว อันที่หนึ่ง คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักความรัก รู้จักแต่ความใคร่
มีแต่อยากๆๆ เลยทำให้ลืมว่าความรักเป็นยังไง ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่น คนโตก็เหมือนกัน
พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรัก แต่ลูกต้องเรียนอย่างที่ฉันอยากให้เรียน
โตขึ้นมาต้องเป็นอย่างที่ฉันอยากให้เป็น นี่ความรักเหรอ เห็นไหม
รู้ไหมต้นแบบความรักที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ไหน ต้นไม้ นั่นแหละต้นแบบที่สำคัญที่สุด
พระพุทธองค์อยากจะหลุดพ้น ศึกษาทุกสำนัก ในวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์
ไม่มีที่ไหนสอนให้พระพุทธองค์หลุดพ้นได้ ในที่สุดเข้าสู่ธรรมชาติ นั่งมองต้นไม้
มองไปมองมาปิ๊ง แล้วเห็นทุกสเต็ป ถ้าอ่านต้นไม้เป็น

ทำไมต้นไม้ถึงเป็นต้นแบบของความรักล่ะครับ

เราเห็นใบไม้สีเขียวใช่ไหม
หน้าที่ของมันทำอะไร

สังเคราะห์แสง

เปลี่ยนแสงมาเป็นน้ำตาล
มันเก็บน้ำตาลไว้ในใบมันไหม มันไม่เก็บในใบเลย มันส่งไปที่รากหมด
พอรากได้น้ำตาลก็เจริญเติบโต แผ่ออกๆ หน้าที่ของรากคือ ดูดน้ำและเกลือแร่
ดูดมาแล้วมันเก็บไว้ไหม แล้วมันขายใบไหม มันส่งให้ มันมีแต่ให้ รากก็ให้ลำต้น
ใบยอดก็ให้มาที่ราก แล้วระหว่างทางไอ้ส่วนไหนอยากดึงมาใช้ก็ดึงไป
เมื่อรากเจริญเติบโตมันก็ส่งน้ำส่งเกลือแร่ขึ้นไปเยอะ พอน้ำเกลือแร่ขึ้นไปเยอะ
ยอดก็เจริญเติบโต ก็ยิ่งผลิตน้ำตาลมากขึ้น ส่งไปราก รากก็ยิ่งโต นี่คือต้นแบบที่ดี
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้ เราจะได้รับ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดจะเทก เราก็จะถูกเทก
ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนอยู่ได้ทุกวันนี้มันยืนได้ด้วยความรัก ไม่เหมือนคนเข้าองค์กรใหญ่ๆ
ไปคิดอย่างเดียว ทำยังไงให้ตัวฉันสบาย พยายามจะเทกจากองค์กร เมื่อเทกอย่างเดียว
รากขององค์กรก็ไม่โต ผลงานไม่มี มันก็จะเหี่ยวลงๆ ผลสุดท้ายก็ตาย
ไอ้ต้นนี้มันก็เป็นพืชเหมือนกัน แต่เป็นกาฝาก พอกาฝากขึ้นไปอยู่บนกิ่ง มันก็ดูดน้ำเลี้ยงจากกิ่ง
พอสร้างน้ำตาลมันไม่คืนกิ่ง เอาไปเลี้ยงยอดให้โตขึ้นๆ แต่กิ่งเท่าเดิม ในที่สุด
กิ่งมันก็แห้งลงๆ แล้วก็ตาย แล้วกาฝากเป็นไง ก็ตายเหมือนกัน

เหมือนว่าตอนนี้สังคมเราจะมีกาฝากมากกว่าต้นไม้

ต้องดูสถานการณ์โดยรวมของสังคมว่าเป็นยังไง
แล้วทำไมเราถึงมีกาฝากมากกว่าต้นไม้ เพราะเราไม่รู้จักความรัก
ความรักคือการให้โดยไม่มีข้อแม้ โดยไม่มีข้อต่อรอง โดยไม่ได้คิดว่าให้เพื่ออะไร
ให้เพราะจะให้เหมือนต้นไม้ แดดร้อนๆ เราเดินจ้ำอ้าวๆ ไปหลบใต้ต้นไม้
ต้นไม้มันต่อรองไหมว่า ถ้าเอ็งอาศัยร่มเอ็งต้องทำอะไรให้ข้า ไม่มี แล้วพอเราออกไป
อธิการบดีเดินมามันก็ให้ร่มเท่ากับให้เรา จิตมันบริสุทธิ์ที่สุด ไม่มีรังเกียจ
นั่นคือต้นแบบของชีวิต ซึ่งเราลืมไปเลย ทำไมเราลืม เพราะความโลภมันเข้ามาครอบจนเราไม่มองอะไรเลย
เรามองอย่างเดียวคือต้องเทิดทูนในหลวงในกระดาษ (ธนบัตร) ฉันต้องทำทุกอย่างเพื่อในหลวงในกระดาษแล้วก็สะสมในหลวงในกระดาษ
มันเลยทำให้ทุกอย่างแย่หมด

แย่ยังไงครับ

เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว
ผมไปที่ตลาดน้ำท่าคา ชาวบ้านแถวนั้นพายเรือมากันเต็มเลย
แต่ละลำก็มีของไม่เหมือนกัน เจอหน้าก็คุยกัน เอานั่นให้หน่อยสิ เอาไอ้นี่ไป
ตรงนั้นคือตลาด มันเป็นการทำธุรกิจใช่ไหม ธุรกิจแปลว่าอะไร

การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน

เปล่า
ผมซื้อกล้วยมาเครือนึง ผมถามเขาว่าเครือเท่าไหร่ 4 หวีเขาคิดยี่สิบ
ผมซื้อที่อื่นหวีละสามสิบ ผมก็งง เลยถามเขาว่าทำไมยี่สิบล่ะ
เขาบอกไม่รู้ว่าจะขายเท่าไหร่ ก็กล้วยมันสุกตั้งเยอะ เขาก็ตัดๆ ใส่มาในหัวเรือ
ถั่วพูมันขึ้นเต็มร้าน เขาก็เด็ดๆ ใส่เรือมา อยากได้อะไรก็มองในเรือลำโน้นลำนี้
แล้วก็แลกกัน เพราะฉะนั้นธุรกิจของไทยคือการทำสิ่งที่ไร้ค่า
หมดค่าสำหรับเราให้มีคุณค่าสำหรับผู้อื่นที่ขาด
ธุรกิจและชีวิตของไทยเลยเป็นชีวิตที่เกื้อกูล ไม่ใช่แก่งแย่ง มันก็ไม่ทำลายทรัพยากร
เพราะเมื่อเรากินใช้ไม่หมดเราก็แบ่งให้คนอื่น
แลกกันไปแลกกันมาก็เลยอยู่อย่างมีความสุข
เลยทำให้เป็นเมืองเดียวในโลกที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นเมืองยิ้ม

ทุกวันนี้สยามยังเป็นเมืองยิ้มอยู่ไหมครับ

ไม่ใช่แล้ว
เราเป็นเมืองที่อาชญากรรมชุมที่สุด ใครเป็นยังไงไม่ว่า ขอให้เอาเงินมาจ่ายในเมืองไทยพอ
แล้วเราไม่คัดคน ขอแค่มีเงิน เห็นไหมล่ะ
พวกอาชญากรทั้งหลายหนีมาฟอกเงินที่นี่เป็นแถว เงินคือตัวทำลายมนุษยชาติ ทำไมรู้ไหม
มันทำให้เราไม่มีเพดานในความต้องการ คุณคิดว่าตัวคุณดูแลควายได้กี่ตัว

สัก 10
ตัวมั้งครับ

ถ้ามี 50
ตัวล่ะ ดูแลไหวไหม

ก็คงไม่ทั่วถึง

งั้นก็หาคนมาช่วย
ถ้ามีบ่าว 10 คน ดูแลควายได้กี่ตัว

100
ตัวเลยครับ

แล้วถ้ามีบ่าว
100 คน

ก็ 1,000 ตัวครับ

เจ๊งเลย
คุณดูแลบ่าว 100 คนทั่วถึงเหรอ เห็นไหมว่าพอไม่ใช้เงินมันมีความจำกัด
ทำให้รู้ว่าแค่ไหนควรพอ แต่พอเปลี่ยนการใช้ชีวิตมาเป็นเอาเงินเป็นหลัก เสร็จเลย
คนสมัยก่อนเขาเอางานตั้ง งานทำให้ชีวิตเป็นปกติ ถ้าชีวิตไหนขาดงานชีวิตจะวิบัติ
แต่เงินมันปรนเปรอชีวิตให้ผิดปกติ เงินน้อยไม่มีปัญหา ถ้าเงินมากเมื่อไหร่วิบัติ
ทุกราย

ถ้าอย่างนั้นเราจะหาเงินกันไปทำไมล่ะครับ

เราหาเงินเพื่อความสนุก
เพราะเราเช้าใจผิดว่าความสนุกคือความสุข เราก็เลยคิดว่าถ้ามีเงินเยอะเราจะสุข
ถ้าเรามีเงินหลายร้อยล้านซื้อบ้านสักห้าร้อยล้านก็ไม่เดือดร้อน ถามว่าบ้านราคาห้าร้อยล้านมันทำให้เวลาอยู่ในบ้านนั้นมีความสุขขึ้นไหม

มีบ้านหลังใหญ่ๆ
อยู่ก็น่าจะเป็นสุขบ้างนะครับ

สุขหรือสบาย
หรือสะดวก แล้วมีความอบอุ่นไหม เงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุข มันเป็นแค่ความสนุก
ชั่ววูบก็หมด แต่ความสุขอยู่กับเราตลอด คิดถึงเมื่อไหร่เราก็มีความสุข

ทุกวันนี้เราเป็นคุณยายที่กำลังก้มๆ
คลานๆ หาเข็มอยู่ข้างถนนตรงใต้เสาไฟ มีวัยรุ่นผ่านมาก็มาช่วยหา หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ
ก็เลยถามว่าตอนที่คุณยายทำเข็มตก คุณยายทำตกตรงไหน ยายบอกว่า
ยายทำตกตอนเย็บผ้าอยู่ที่บ้านยายตรงโน้น แต่บ้านยายไม่มีไฟ มันมืด
เห็นว่าตรงนี้สว่าง ก็เลยมาหาตรงนี้จะได้เห็น โธ่! คุณยาย
แล้วอย่างนี้จะเจอได้ยังไง ความสุขของเราตกหายไปตอนไหนในชีวิต
เมื่ออายุเท่าไหร่ แล้วเราก็มาใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่เหลือเพื่อตามหาความสุขที่โคนเสาไฟ

มีวิธีตามหาความสุขไหมครับ

มี
รู้จักปัจจุบันไหม คืออะไร ปัจจุบันคือมหัศจรรย์ของชีวิต
เพราะตรงปัจจุบันทำให้อดีตของเราแสนจะรื่นรมย์เมื่อเราคิดถึง
ทำให้อนาคตแสนจะแจ่มใสเมื่อเราก้าวไปถึง เพราะฉะนั้นหัดอยู่กับปัจจุบันให้มีความสุขที่สุด
แล้วชีวิตในอดีตเราจะมีความสุข ชีวิตในอนาคตเราจะมีความสุข
จงเป็นในปัจจุบันให้เป็นสุข อย่าเป็นทุกข์กับสิ่งที่อยากจะเป็นในอนาคต
แล้วเราจะมีความสุข ความสุขคือสันโดษ สันโดษคืออะไร คือพอใจในปัจจุบัน
ขณะนี้เรามีความสุขที่สุดใช่ไหมเพราะเรามีร่างกายครบสามสิบสอง ถ้าตาเสียไปข้าง
เราก็ยังมีความสุขกว่าคนที่ตาเสียสองข้าง
ถ้าเราไปเศร้าใจว่าฉันเหลือตาข้างเดียวแล้วจะทำยังไง ก็จะเป็นทุกข์ตลอดไป
แล้วจะเป็นสุขได้ยังไง คิดเองนะ อย่าเชื่อ (หัวเราะ)

สำหรับคนนอกแวดวงพฤกษศาสตร์
อาจารย์ขึ้นชื่อมากเรื่องการพาคนไปเดินดูศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต
อย่างที่ไม่เหมือนนักวิชาการ หรือไกด์คนไหนๆ ทั้งนั้น
อาจารย์คิดว่าความต่างอยู่ตรงไหนครับ

เป้าหมายไม่เหมือนกัน
ตอนนี้ผมอายุ 65 แล้ว ทำไมผมยังสอน ยังไม่ยอมเกษียณ แล้วคณะก็ไม่ได้อยากให้สอน
เพราะผมค้นพบว่า ชีวิตผมคือการสร้างหลักสูตรเพื่อให้คนมีความสุข
ก็เหมือนกับวิชาโลกของพืช ทำยังไงคุณถึงจะมีความสุขจากพืช

ต้องรู้จัก
เข้าใจ เห็นคุณค่า

นี่คือสามอย่างที่พาไปดู
ปัญหาที่คนไทยไม่รักชาติไทยเพราะเราไม่รู้จัก เมื่อไม่รู้จักก็เลยไม่เข้าใจ
เมื่อไม่เข้าใจก็เลยไม่เห็นคุณค่า เรามองว่าประเทศไทยคือพฤกษาใหญ่
แต่พวกเราทั้งหลายคือกาฝากที่อยู่บนพฤกษา ที่อยู่ที่นี่เพราะเราต้องการเทกๆๆ
เราไม่ได้ต้องการความรักความผูกพัน ที่ยังจะผูกพันอยู่ก็คือพวกต่างจังหวัดเท่านั้น

เป้าหมายของผมคือต้องการให้ทุกคนที่ผมพาไปได้รู้จักตัวเอง
คือรู้จักคนไทย ว่าคนไทยเป็นยังไง ทำอะไร ทำไมถึงทำอย่างนี้
โปรแกรมของผมมักจะย้อนเวลาหาอดีตว่าคนในยุคนั้นเขาคิดยังไง
และเมื่อเวลาผ่านมาเราคิดกันยังไง นั่นคือความต่าง

อาจารย์ร่ำเรียนมาทางพฤกษศาสตร์
แล้วมากลายเป็นผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปวัฒนธรรมได้ยังไงครับ

ผมไม่ใช่ผู้รู้
ผู้รู้ต้องอยู่ในศาสตร์นั้น รู้รายละเอียดความเป็นมาในศาสตร์นั้น ผมเป็นแค่ผู้สนใจ
เพราะผมแค่ดูแล้วก็คิด เห็นอะไรแล้วก็คิด
แล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดกับทุกคนที่ไปด้วย ใครเหตุผลดีที่สุด เราก็รับอันนั้นมาไว้

อาจารย์พาเดินดูโดยไม่เล่า
แต่ใช้วิธีตั้งคำถามแล้วช่วยกันหาคำตอบ

เพราะผมไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไร
พาไป เห็นไอ้นี่แล้วคิดอะไร ทำไมมันต้องเป็นแบบนี้

นักวิทยาศาสตร์

ใช่
นักวิทยาศาสตร์คืออะไร

คนที่ชอบตั้งคำถาม
หาคำตอบ

ใช่
ในวิทยาศาสตร์มันมีวิชาพันธุศาสตร์ เป็นเรื่องของดีเอ็นเอ
เจ้าดีเอ็นเอทำให้เรามีรูปร่างอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผมไปวัดผมก็จะถาม เอ้า
ช่วยกันหาดีเอ็นเอของเจดีย์องค์นี้ที หรือเข้าไปกราบพระประธาน
ช่วยกันมองดีเอ็นเอของพระพุทธรูปองค์นี้หน่อยว่าดีเอ็นเอเป็นยังไงถึงออกมาเป็นพระพุทธรูปองค์นี้
ยกตัวอย่าง พระพุทธรูปหน้าเรียวสวย ขัดสมาธิเพชร (ฝ่าเท้าไขว้มาอยู่หน้าขาทั้งสองข้าง)
ผมมองว่านี่นำมาจากลังกา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แต่พออิทธิพลส่งมาถึงสุโขทัย
สุโขทัยมีความสุขมาก หน้าอิ่มเอิบยิ้ม หน้าเรียวสวยแต่ก็ยังยึดสไตล์กรีก
แต่คนไทยเราขาสั้น ขัดสมาธิเพชรไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนเป็นขัดสมาธิราบ
เพราะฉะนั้นดีเอ็นเอของพระพุทธรูปก็คือ คติความเชื่อมาจากไหน
สภาพแวดล้อมปัจจุบันเป็นยังไง คนสร้างคิดอะไรเขาถึงทำแบบนี้ออกมา
เพราะฉะนั้นทุกชิ้นเราไปหาว่าเขาคิดอะไร แล้วมันก็จะบอกว่า มันมาจากไหน
มาเมื่อไหร่ เวลาผมไปดูผมดูอย่างนี้
ผมจะไม่ไปนั่งอ่านประวัติว่าวัดนี้สร้างขึ้นมาเมื่อพ.ศ. เท่านี้ โดยพระเจ้าชื่อนี้
แล้วก็จบ เราสนุกกับสิ่งที่เห็น ไม่ได้สนุกกับข้อมูล

“ความสุขของเราตกหายไปตอนไหนในชีวิต เมื่ออายุเท่าไหร่ แล้วเราก็มาใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่เหลือเพื่อตามหาความสุขที่โคนเสาไฟ”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 90 กุมภาพันธ์ 2551)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

ภาพ กิตติศักดิ์ ทวีกิจภิญโญ

AUTHOR