กระดาษสีขาวธรรมดา 1 แผ่น ไม่มีลวดลาย หรือข้อความใดๆ เป็นเพียงแค่ความว่างเปล่าที่ธรรมดา และอาจจะดูไร้ค่าจนหลายคนตั้งคำถามว่า ‘งานแบบนี้ก็เป็นศิลปะได้ด้วยเหรอ?’
ถ้าเราใช้ตามอง White on White (1918) คงเป็นเพียงแค่ภาพวาดสีขาวที่แทบจะกลืนไปกับผนัง แต่ถ้าเรามองให้ลึกด้วยหัวใจ จะเห็นถึงอุดมการณ์อันแน่วแน่ของ ‘คาซิเมียร์ มาเลวิช’ (Kazimir Malevich) ศิลปินหัวก้าวหน้าที่อยากปลดเปลื้องศิลปะจากพันธะทางโลกที่ผูกไว้ สู่ความบริสุทธิ์ที่แท้จริง

นี่คือหนึ่งในผลงานศิลปะ Suprematism ที่ตั้งคำถามกับความฟุ้งเฟ้อของลวดลาย พาเรากลับไปสู่จุดเริ่มต้นของงานศิลป์ที่ใช้เพียงแค่เรขาคณิตถ่ายทอดอารมณ์และจิตวิญญาณของศิลปิน โดยที่ปราศจากกรอบของโลกแห่งวัตถุ
ทำไมภาพกระดาษสีขาวธรรมดา ถึงสามารถสร้างกระเพื่อมให้กับวงการศิลปะ และกลายเป็นต้นแบบของสไตล์มินิมอลที่หลายคนคลั่งไคล้ในยุคนี้ ตามไปหาคำตอบไปด้วยกัน
ศิลปะคือความบริสุทธิ์ในตัวเอง
‘ความว่างเปล่า’ อาจเป็นสิ่งไร้ค่าและน่าเบื่อของใครหลายคน แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘คาซิเมียร์ มาเลวิช’ (Kazimir Malevich) ศิลปินชาวรัสเซีย ผู้บุกเบิกลัทธิ Suprematism ที่มาจากคำว่า Supreme ซึ่งหมายถึง ‘ความเหนือกว่า’

Suprematism เชื่อว่าศิลปะมีความบริสุทธิ์ในตัวเองอยู่แล้ว หากศิลปินไปปรุงแต่งศิลปะด้วยภาพเหมือนของโลกแห่งความจริง ย่อมถือเป็นการด้อยค่าและไม่ให้เกียรติศิลปะ ดังนั้นงานส่วนใหญ่ของเขาจึงถูกถ่ายทอดผ่านรูปทรงที่เรียบง่ายอย่าง สี่เหลี่ยม วงกลม ไปจนถึงเส้นตรง และวางบนพื้นหลังเรียบๆ ที่ไม่มีรายละเอียดใดๆ
เมื่อมีขาว ก็ต้องมีดำ ก่อนจะมี White on White ที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ววงการศิลปะ มาเลวิชได้เดบิวต์ในลัทธิ Suprematism ด้วยภาพวาด The Black Square (1915) ที่ดำทมิฬสมชื่อ เขาใช้สีดำละเลงลงบนผืนผ้าใบ ไม่มีการตัดเส้น ไล่เฉดสี หรือลงมิติใดๆ เป็นเพียงสี่เหลี่ยมสีดำ ที่อยู่บนพื้นหลังสีขาวเท่านั้น

โดยมาเลวิชมองว่า ‘สีดำ’ เป็นสัญญะของการสิ้นสุดศิลปะแบบเก่าที่บูชาความเหมือนจริง (Realism) และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องของมนุษย์ ก่อนที่เขาจะเริ่มสร้างศิลปะยุคใหม่ของตัวเอง โดยใช้ ‘สีขาว’ เป็นประตูไปสู่โลกใหม่
ฉันได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของศูนย์ (zero)
และเข้าสู่การสร้างสรรค์ใหม่
– คาซิเมียร์ มาเลวิช
สีขาวที่ว่างเปล่า แต่มีอยู่
ถ้าสังเกตดีๆ ผลงาน White on White ไม่ใช่แค่การนำกระดาษสีขาวมาแปะลงไปโต้งๆ บนผ้าใบ แต่มันคือศิลปะของการลงสี มาเลวิชวาดสี่เหลี่ยมสีขาว ซ้อนลงบนพื้นหลังสีขาว โดยใช้เทคนิคการลงน้ำหนักสีที่ต่างกัน เลือกใช้โทนสีขาวที่สว่างขึ้นมากกว่าพื้นหลัง พร้อมทั้งสร้างเทกเจอร์ของสีที่เป็นเอกลักษณ์จนทำให้กลายเป็นมิติที่ดูสมจริง
ความพิถีพิถันในแต่ละฝีพู่กันถือเป็นเสน่ห์ของภาพวาดสีขาวชิ้นนี้ หลายคนอาจมองว่า สีขาวอาจเป็นตัวแทนของความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกัน ความธรรมดาเหล่านี้ กลับชวนให้เรามองให้ลึก และหาคำตอบถึง ‘นัย’ ที่ซ่อนอยู่

มาเลวิช เลือกใช้สีขาวเป็นตัวแทนของ ‘ความบริสุทธิ์’ เป็นสัญญะของการปลดปล่อยศิลปะจากการถูกใช้เพื่อเป็นตัวแทนในการนำเสนอเรื่องราวของโลกภายนอก ทั้งการเมือง ศาสนา รวมไปถึงความใคร่ นอกจากนั้นพื้นหลังสีขาวที่กลืนไปกับภาพวาด ยังเป็นการนำเสนอถึง ‘ความไร้ขอบเขต’ เหมือนกับแนวคิดเรื่องนิพพาน ที่หมายถึงสภาวะสูงสุดในการหลุดพ้นอีกด้วยเช่นกัน
ศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้ใคร
แนวคิดหัวขบถที่แหวกค่านิยมศิลปะของมาเลวิช ถูกหล่อหลอมจากบริบทรอบข้าง โดยเหตุการณ์ที่เป็นตัวจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ ‘การปฏิวัติรัสเซีย’ ในปี 1917 เมื่อระบอบซาร์ถูกโค่นล้ม และแทนที่ด้วยพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) เหตุการณ์นี้ได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะรัสเซียอย่างมหาศาล
จากศิลปะที่บูชาความ Realism และ Symbolism ให้ค่ากับความหรูหรา ฟู่ฟ่าของราชวงศ์และชนชั้นสูง ถูกขยับขยายให้เข้าถึงประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็น ‘กระแสศิลปะอาวอง-การ์ด’ (Avant-Garde) ที่สนับสนุนแนวคิดใหม่ๆ ของวงการศิลปะ เพื่อสร้าง ‘ศิลปะแห่งอนาคต’ ที่ไม่ยึดติดกับอดีต และแน่นอนว่ามาเลวิช ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลอย่างมากในลัทธินี้
แนวคิดที่มองว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้ใคร หรืออะไร ได้รับคำชื่นชมจากเหล่าปัญญาชนในยุคนั้น เพราะมันเปรียบเหมือนกุญแจที่มาปลดล็อกความคิดให้เป็นอิสระ และพาเราตีความศิลปะได้อย่างไร้ขอบเขต แต่น่าเสียดายที่ Suprematism กลับเสื่อมความนิยมลงเมื่อ โจเซฟ สตาลิน ขึ้นสู่อำนาจในช่วงปลายทศวรรษ 1920
ศิลปะเข้าสู่ยุคของ ‘สัจนิยมสังคมนิยม’ (Socialist Realism) ที่สตาลินใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง แสดงภาพความรุ่งเรืองของระบอบคอมมิวนิสต์ และสร้าง Propaganda ครอบงำความคิดของประชาชนในยุคนั้น ทำให้โลกของศิลปะที่มาเลวิชอยากเห็น ค่อยๆ ลบเลือน และจางหายไปในที่สุด
White on White อาจไม่ใช่ภาพที่ได้เกรด A+ ในวิชาศิลปะ รวมถึงไม่ใช่ภาพที่สร้างความอภิรมย์เวลามอง แต่คุณค่าของ White on White คือการสร้างแนวคิดใหม่ ให้โลกได้รู้ว่า ‘ศิลปะ’ ไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในกรอบเดิมๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่รู้จบของมนุษย์ ศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ และอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง
ศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้รัฐหรือศาสนาอีกต่อไป
และไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการบันทึกประวัติศาสตร์ของผู้คน
แต่ต้องการหลุดพ้นจากพันธนาการของวัตถุ
ดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง โดยปราศจากการพึ่งพาสิ่งใด
– คาซิเมียร์ มาเลวิช