เมื่อพูดถึงชื่อผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ภาพแรกที่ลอยขึ้นมาในหัวของทุกคนคืออะไร การจัดวางวัตถุให้สมมาตรเป๊ะๆ การใช้สีโทนพาสเทลในการแต่งแต้มฉาก หรือพล็อตเรื่องอันแสนตลกร้ายชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดระหว่างดู
‘The Phoenician Sheme’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเวส แอนเดอร์สัน ยังคงรวบรวมลายเซ็นเหล่านั้น พร้อมเพิ่มเติมด้วยเรื่องราวการไล่ล่าที่ทั้งตลกและตื่นเต้น นำโดยฌาฌา คอร์ดา (รับบทโดย เบนิซิโอ เดล โทโร) นักธุรกิจผู้ถูกปองร้าย และลิซเซิล (รับบทโดย มีอา เทรียเพิลตัน) ลูกสาวผู้เป็นแม่ชีฝึกหัด ซึ่งถูกพาตัวออกมาเพื่อเป็นทายาทอาณาจักรธุรกิจของพ่อตนเอง ทั้งสองจึงต้องร่วมกันออกผจญภัยตามหาผู้ร่วมลงทุนและหลบหนีจากการถูกตามล่า
นอกจากเนื้อเรื่องสุดเข้มข้นและมุกตลกที่สาดกันไปมา อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจและเห็นได้ค่อนข้างบ่อยในหนัง คือสัญลักษณ์ความเป็นคาทอลิก ซึ่งถูกสอดแทรกอยู่ในฉากต่างๆ บ้างก็โผล่มาให้เห็นชัดเจน บ้างก็หลบซ่อนเสียจนเกือบมิด ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็อาจมองข้ามไปได้ งั้นลองมาสำรวจกันหน่อยดีกว่าว่าใน The Phoenician Scheme มีสัญลักษณ์ความเป็นคาทอลิกอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง?
ไม้กางเขน สัญลักษณ์ความศรัทธาของคริสเตียน

ขอเริ่มกันที่สัญลักษณ์ที่สื่อถึงศาสนาคริสต์ได้ชัดเจนที่สุดอย่าง ‘ไม้กางเขน’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสร้อยลูกประคำที่ลิซเซิลพกติดตัวอยู่เสมอ โดยจี้ไม้กางเขนที่เราเห็นกันในเรื่องเป็นผลงานการออกแบบจากแบรนด์เครื่องประดับคาร์เทีย มีต้นแบบมาจากจี้ไม้กางเขนในยุค ค.ศ. 1880 ของแบรนด์ ซึ่งตัวเวส แอนเดอร์สันบังเอิญไปพบและชื่นชอบดีไซน์ดังกล่าว จึงขอให้คาร์เทียช่วยออกแบบสร้อยลูกประคำเส้นนี้ขึ้นมา
ส่วนในเชิงศาสนา ไม้กางเขนถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในศาสนาคริสต์ โดยเป็นสัญลักษณ์ของความตายและการฟื้นคืนชีพของพระคริสต์ ผู้ศรัทธาจึงมักพกไม้กางเขนติดตัวไว้เสมอ เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจถึงการเสียสละ ความเมตตา ความรักอันไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนความหวังในชีวิตนิรันดร์
ไม้กางเขนของลิซเซิลจึงไม่ใช่เพียงเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม แต่เป็นเหมือนศูนย์กลางของความเชื่อที่ตัวเธอยึดมั่น ทั้งในฐานะของแม่ชีฝึกหัดและลูกสาวของชายผู้ถูกมองว่าเลวเกินกว่าจะไถ่บาปได้ ไม้กางเขนจึงกลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ของแรงศรัทธา และความขัดแย้งระหว่างการให้อภัยและความขุ่นเคืองต่อผู้เป็นพ่อที่เธอต้องเผชิญตลอดทั้งเรื่อง
เลข 10 กับสัญญะทางศาสนาคริสต์

หลายคนอาจสงสัย เลข 10 โผล่มาตอนไหนของหนัง หากไม่สังเกตให้ดีก็อาจมองข้ามไป เพราะเลข 10 ถูกใส่มาผ่านจำนวนลูกของฌาฌา โดยเขามีลูกทั้งหมด 10 คน เป็นผู้ชาย 9 คน และผู้หญิง 1 คน ซึ่งก็คือลิซเซิล มีอยู่หลายฉากที่บรรดาลูกๆ ของฌาฌาอยู่รวมตัวกันครบทุกคน จึงทำให้สงสัยว่าเลข 10 นั้น มีความสำคัญกับศาสนาคริสต์อย่างไรบ้าง จนได้พบว่ามันคือจำนวนทั้งหมดของบัญญัติของพระเจ้า
‘บัญญัติ 10 ประการ (The Ten Commandments)’ หลักศีลธรรมพื้นฐานที่พระเจ้าประทานแก่โมเสส ทำหน้าที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของผู้ศรัทธา และถือเป็นรากฐานของความเชื่อทางศาสนาคริสต์ โดยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติต่อพระเจ้า ได้แก่ การนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว การไม่ควรออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ และการไม่ลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนข้อที่เหลือ คือหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน เช่น การไม่ลักทรัพย์ การนับถือบิดามารดา การไม่ปลงใจผิดประเวณี การไม่ฆ่าคน ฯลฯ
การให้ตัวละครอย่างฌาฌา ต้องมีลูกถึงสิบคน จึงอาจเป็นสัญญะที่เน้นย้ำถึงแนวคิดเรื่องกฎเกณฑ์แห่งความดี ซึ่งตัวละครอย่างฌาฌาแทบไม่เคยยึดถือปฏิบัติ
พระคาร์ดินัลกับสีแดงแห่งศรัทธา

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ชาวคริสเตียนทั่วโลกได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญอย่างพิธีเลือกตั้งพระสันตปาปาพระองค์ใหม่แห่งนครรัฐวาติกัน ซึ่งถือเป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรคาทอลิก หนึ่งในภาพสำคัญที่ปรากฏให้เห็น คือเหล่าพระคาร์ดินัลในชุดสีแดง ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมในฐานะผู้แทนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
ในภาพยนตร์เองก็ได้มีพระคาร์ดินัลด้วยเช่นกัน ซึ่งโผล่มาให้เราเห็นตั้งแต่ที่ตัวอย่างหนังปล่อยออกมา แม้จะไม่ได้มีบทบาทสลักสำคัญเท่าสองพ่อลูก แต่ทางศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกพระคาร์ดินัลถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะของผู้ช่วยงานภายในศาสนจักรวาติกัน รวมถึงมีหน้าที่เป็นอัครมุขนายก มุขนายก หรือบาทหลวงประจำแต่ละสังฆมณฑลทั่วโลก
ส่วนสาเหตุว่าทำไมพระคาร์ดินัลถึงต้องส่วมชุดสีแดง ซึ่งแตกต่างจากพระตำแหน่งอื่นๆ ในศาสนจักร เพราะสีแดงสื่อถึงโลหิตของพระเยซู ซึ่งการใส่ชุดสีแดง จึงเป็นเหมือนการร่วมแสดงถึงความรักและความจงรักภักดีต่อพระคริสต์ ตลอดจนแสดงออกถึงการเสียสละตนเพื่อศาสนจักรด้วย
หัวกะโหลกของอดัม ผู้เป็นมนุษย์คนแรกของโลก

สำหรับใครที่รับชมหนังเต็ม หรือเคยดูตัวอย่างผ่านตามา ก็คงสังเกตเห็นหัวกะโหลกมนุษย์ ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มักวางอยู่ไม่ห่างตัวของฌาฌามากนัก โดยหัวกะโหลกมนุษย์นี้ ก็มีความหมายในเชิงคาทอลิกด้วยเช่นกัน
ในทางศาสนาคริสต์จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หัวกะโหลกของอดัม หรือ Adam’s Skull’ ผู้เป็นมนุษย์คนแรกตามพระคัมภีร์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวของอดัมถูกฝังไว้ ณ เชิงเขากอลโกธา (Golgotha) สถานที่ซึ่งพระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ภาพวาดทางศาสนาที่เล่าถึงฉากพระเยซูถูกตรึงกางเขน ก็มักมีการใส่หัวกะโหลกของอดัมอยู่ข้างใต้ของไม้กางเขนเสมอ เช่น ภาพ The Crucifixion ของคาร์โล คริเวลลี (Carlo Crivelli) เป็นต้น
การที่หัวกะโหลกปรากฏอยู่ใกล้ตัวฌาฌา จึงอาจเป็นสิ่งที่สื่อถึงความเป็นมนุษย์ การไม่ได้อยู่เหนือไปกว่าใคร และความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้
อีกา สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า

เมื่อพูดถึงอีกา หลายคนก็อาจนึกถึงการเป็นตัวแทนของความชั่วร้าย ความมืดมิด หรือเวทมนตร์ ทว่าในความเชื่อทางศาสนาคริสต์ อีกาถือเป็นสัตว์ชนิดสำคัญ ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับนกสีดำชนิดนี้ถูกบันทึกเอาไว้อยู่ในหนังสือปฐมกาล (Book of Genesis) หนังสือเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม โดยอีกาเป็นเพียงสัตว์ 1 ใน 2 ชนิด ที่มีการระบุชนิดพันธุ์เอาไว้ (ในที่นี้อีกาจะใช้คำว่า Raven แทนคำว่า Crow ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของกา) แถมพวกมันยังเป็นสัตว์ที่โนอาห์ส่งให้ไปค้นหาแผ่นดินในระหว่างโดยสารอยู่บนเรือโนอาห์ด้วย
นอกจากนี้ บางแนวคิดทางศาสนาคริสต์ อีกายังถูกมองเป็นตัวแทนของสัตว์ที่พระเจ้าทรงใช้ เพื่อให้มาช่วยเหลือมนุษย์ด้วย อย่างเนื้อหาในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ตอน 1 พงศ์กษัตริย์ พระเจ้าได้ส่งอีกามาช่วยเหลือเอลียาห์ ในระหว่างที่เขาหลบซ่อนตัวจากภัยพิบัติที่บริเวณริมลำธารเคริธ ใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน
อีกาจึงไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความตายและความมืดหม่นเสียทั้งหมด แต่มันยังเป็นสัตว์ชนิดสำคัญที่มีบทบาททางศาสนาคริสต์ ดังนั้นการใส่พวกมันเข้ามาในหนังจึงอาจเป็นอีกหนึ่งสัญญะทางศาสนาที่เวส แอนเดอร์สันต้องการซ่อนเอาไว้ให้ผู้ชมอย่างเราได้ขบคิดกันต่อถึงนิยามและความหมายของพวกมันตามสไตล์ของผู้กำกับก็ได้
ดอกจิกสี่แฉก ลวดลายสำคัญบนสถาปัตยกรรมสไตล์คริสต์

‘ดอกจิกสี่แฉก (Quatrefoil)’ อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญ ซึ่งมักปรากฏทั่วไปตามสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวข้องกับศาสนา ดอกจิกเหล่านี้ไม่ใช่ลวดลายที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อความสวยงามเท่านั้น ทว่าพวกมันกลับมีความหมายทางคริสตศาสนาอยู่เบื้องหลังด้วย
ในทางศาสนาดอกจิกสี่แฉกเหล่านี้ เปรียบเสมือนตัวแทนของสี่ธรรมมูญแห่งพระวรสารในพันธสัญญาใหม่ ได้แก่ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ซึ่งเป็นผู้เขียนพระวรสารที่บันทึกเรื่องราวชีวิต คำสอน การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนชีพของพระเยซูเจ้าเอาไว้ โดยดอกจิกสี่แฉกมีปรากฏตามสถาปัตยกรรมทั้งในรูปแบบรูปแกะสลักนูนต่ำ ช่องบนซุ้มประตู กระจกสี อย่างในภาพยนตร์ก็มีปรากฏเป็นลวดลายแกะสลักบริเวณระเบียงที่ยื่นออกมาในปราสาท
นอกจากนี้ภาพของดอกจิกสี่แฉกก็ยังแสดงถึงความสมดุลและความสมมาตร เหมือนกับการนำรูปเลขาคณิตมาวางซ้อนกันได้อย่างพอดี ไม่ขาดและไม่เกิน การนำเอาดอกจิกสี่แฉกนี้มาอยู่ในฉากของหนัง สามารถสะท้อนตัวตนความเป็นเวส แอนเดอร์สันออกมาได้อย่างชัดเจน เพราะมันก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความสมมาตรของวัตถุและฉาก อันเป็นลายเซ็นสำคัญในภาพยนตร์ของเวสด้วย
อ้างอิงจาก