‘บ้านเก่าวังกรด’ ตลาดวังกรด ชุมชนเก่าริมน้ำน่านเมืองพิจิตร ย่านที่คลุกเคล้าไปด้วยเสน่ห์ของผู้คน อาหาร และบ้านเรือน

อาคารไม้สองชั้นเรียงรายกันเป็นแถว มีหอนาฬิกาเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน คุณลุงคุณป้ายิ้มแย้มต้อนรับ แม้แสงอาทิตย์ช่วงเที่ยงวันจะร้อนแรงเพียงใด แต่น้ำมะนาวดอง และน้ำแข็งไสกลับเย็นชื่นจนชะโลมใจผู้มาเยือนได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

‘วังกรด’ อาจเป็นย่านที่ไม่คุ้นหูของใครหลายคน แต่สำหรับคนในพื้นที่ ชุมชนนี้คือหัวจิตหัวใจซึ่งกำลังจะเติบโตเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตแห่งหนึ่งของเมืองพิจิตร 

โดยมีศูนย์กลางคือ ‘ตลาดวังกรด’ ย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ริมแม่น้ำน่าน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาราวรัชกาลที่ 5 และค่อยๆ เติบโตขึ้นตามความเจริญของการค้ามาเป็นลำดับ 

เป็นเพราะประวัติศาสตร์ และความเหนียวแน่นของชุมชน ย่านเก่าวังกรดจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งน่ามาเยือนอย่างยิ่ง ครั้งนี้ a day จึงอยากมาสาธยายความน่าสนใจของชุมชนนี้ผ่านซีรีส์ ‘Lost in Local’ ย่านการค้าเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี จะมีอะไรต่อคิวรอแนะนำตัวกับทุกคนอยู่บ้าง อ่านบทความนี้จบแล้วขึ้นรถไฟตามกันมาได้เลย

บ้านหลวงประเทืองคดี 

บ้านฉาบปูนหลังแรกในชุมชนตลาดวังกรด

และจุดเริ่มต้นของศูนย์กลางการค้า 

หากย้อนเวลากลับไปเกือบ 100 ปีที่แล้ว เมื่อสัญจรมาทางน้ำ เราอาจพบกับอาคารบ้านไม้ และตลาดเก่าวังกรดก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากเดินทางด้วยถนนหนทางทันสมัยอย่างในปัจจุบัน บ้านหลังแรกที่จะต้อนรับเราเมื่อย่างกรายเข้ามาถึงวังกรด คือบ้านฉาบปูนทรงฝรั่ง ซึ่งตั้งตระหง่านต้อนรับผู้มาเยือนเป็นด่านแรก 

บ้านหลวงประเทืองคดี หรือบ้านคุณนายแจง คือบ้านฉาบปูนหลังแรกของชุมชนตลาดวังกรด เป็นบ้านสไตล์ยุโรปที่ก่อสร้างโดยช่างชาวเวียดนาม เจ้าของบ้าน คือ หลวงประเทืองคดี อัยการคนแรกของจังหวัดพิจิตร เป็นคหบดีผู้ริเริ่ม และสนับสนุนให้คนในชุมชนสร้างตลาดวังกรดขึ้น 

ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปซึ่งดูโดดเด่นไปจากตึกรามบ้านช่องอื่นๆ ในละแวกนี้ ทำให้ในปัจจุบันบ้านของหลวงประเทืองคดี ถูกบูรณะให้กลับมามีชีวิตอย่างเก่า และถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คอยบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนวังกรดให้กับผู้มาเยือน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักเดินทาง และผู้ที่หลงใหลในเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 

เมื่อมองจากภายนอกตัวอาคาร บ้านหลังนี้มีสีขาวนวล ประดับด้วยหน้าต่างบานประตูที่ทำมาจากไม้อย่างประณีต และร่มรื่นไปด้วยความเขียวชะอุ่มของต้นไม้ ภายในบ้านยังคงไว้ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตู้ ตั่ง ที่นอน หมอน มุ้ง รวมถึงตำแหน่งใช้สอยของห้องต่างๆ ยังคงถูกจัดวางไว้เช่นเคย 

นอกจากเฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่ราวกับพาเราย้อนเวลาได้แล้ว ฟังก์ชันต่างๆ ภายในยังถูกออกแบบมาให้ตอบรับกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคสมัยนั้น 

เมื่อเดินมายังบริเวณโถงกลางบ้านจะพบกับทางเดินลงไปยังชั้นใต้ดิน ซึ่งถูกใช้เป็นที่เก็บทรัพย์สิน และเป็นหลุมหลบภัยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

เรื่องราวของ ‘ย่าแจง’

หญิงชาวเวียดนามที่กลายมาเป็น ‘แม่’ ของคนในชุมชน 

‘ย่าแจง’ หรือ นางแจง ไทยตรง คือหญิงชาวเวียดนาม เข้ามาอยู่ที่พิจิตรพร้อมๆ กับสามีชาวเวียดนามซึ่งตามมาทำงานกับ ‘โฮจิมินห์’ ในประเทศไทย ภายหลังที่สามีของเธอถูกอุ้มหายเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง จึงทำให้ย่าแจงพบกับเส้นทางความรักใหม่อีกครั้งกับหลวงประเทืองคดี อัยการที่ทำหน้าที่ต่อสู้เกี่ยวกับคดีความให้กับครอบครัวของเธอ และท้ายที่สุดทั้งสองก็พบรักกัน

หลังจากย่าแจงเสียชีวิต บ้านหลังนี้ได้ตกเป็นของนายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง บุตรชายคนที่ 5 ของย่าแจงกับสามีชาวเวียดนาม ภายหลังนายแพทย์วรสิทธิ์ได้มอบบ้านหลังนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาลเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม พร้อมฝากคำมั่นกับเทศบาลไว้ว่า “หากวันหนึ่งหลวงพอจะมีงบ ขอให้ช่วยสร้าง

รูปแม่ของเขาเอาไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับย่าแจง” 

วันคืนผ่านไปย่าแจงมีรูปปั้นของตนเองอยู่หน้าบ้านหลังเดิม บ้านที่เธอสร้าง และดูแลจนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนวังกรด และย่าแจงก็ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งทางจิตใจของผู้คนในชุมชน รวมถึงผู้ที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมบ้านหลังนี้ 

“ถ้าอยากได้อะไรก็ขอย่าแจงได้เลย แกใจดีมาก” พี่ไกด์ชุมชนบอกกับพวกเราด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะเล่าเหตุการณ์อัศจรรย์ที่คนในชุมชนเคยมีประสบการณ์จากการขอพรกับย่าแจง และทิ้งท้ายไว้ว่า “ย่าแจงแกชอบลิปสติกสีแดง” ย่าแจงจึงได้กลายมาเป็น ‘แม่’ ของลูกๆ ในชุมชนวังกรด

‘ตลาดเก่าวังกรด’ 

สัมผัสเสน่ห์ชุมชนผ่านผู้คน อาหาร และร้านรวง

เรือนไม้แถวเก่าแก่ทอดยาวทั้งสองฟากฝั่ง ซ้ายขวาคือกิจการร้านรวงของชาวจีนโพ้นทะเลที่เปิดกิจการกันมาหลายชั่วอายุคน 

แม้ตลาดเก่าวังกรดจะเสียหายอย่างมากจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแม้หลายกิจการต่างล้มหายตายจากไปตามความเสื่อมโทรมของพื้นที่ แต่ทว่าด้วยความเป็นชุมชน เมื่อสงครามสงบตลาดก็ได้กลับมาครึกครื้น และมีชีวิตอีกครั้ง 

แน่นอนว่าย่านนี้จะครึกครื้นไม่ได้เลย หากขาดฟันเฟืองสำคัญอย่างผู้คนในชุมชน และร้านค้าร้านอาหารที่ตั้งตะหง่านหยัดยืนอยู่กับผู้คนในพื้นที่ 

อาคารไม้กว่าสิบห้องที่เรียงรายกันเป็นแถว ในแต่ละห้องจะประกอบไปด้วยกิจการร้านค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ร้านตัดผม เสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นสีสันสำคัญที่แต่งแต้มให้ชุมชนนี้กลายเป็นย่านที่ห้ามพลาดเมื่อได้มาเยือนเมืองพิจิตร 

‘ตลาดวังกรด’ ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของสายกิน เพราะที่นี่คือตลาดเก่าแก่ที่รวมของอร่อยเมืองพิจิตรไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง สองข้างทางเต็มไปด้วยอาหารรสเด็ด สูตรที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น แถมราคาก็แสนถูก ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มพริกสดโบราณที่พวกเราแวะไปฝากท้องกันตั้งแต่มื้อแรกที่ไปถึง หรือจะเป็นน้ำแข็งไสของหวานดับร้อน สูตรน้ำกะทิหวานมันกลมกล่อม เมื่อบวกกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ย่านเก่าทำให้อร่อยขึ้นหลายเท่าตัว

ด้วยบรรยากาศในช่วงหน้าร้อน ทำให้เราเดินโซซัดโซเซไปซบน้ำมะนาวดองเย็นชื่นใจของคุณป้าร้านไซ้ลุ่ย ต้นตำหรับน้ำมะนาวดองแบบซัวเถาที่เอาชนะความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ได้ชะงัก แต่ยิ่งชะงักมากไปกว่านั้น เมื่อเหลือบไปเห็นราคาน้ำหวานของร้านข้างๆ ที่ถามราคาซ้ำแล้วซ้ำเล่าคุณป้าก็ยังยืนยันว่าราคาเพียง 6 บาทเท่านั้น

นอกจากความอร่อย สิ่งที่ทำให้ตลาดวังกรดยังคงเป็นสถานที่ที่น่ามาเยือนเสมอ นั่นคือความดั้งเดิมแบบไม่เติมแต่งของพื้นที่ ความออริจินัลของผู้คนที่กินอยู่กันอย่างปกติ แม้ย่านนี้จะถูกผลักดันให้กลายเป็นย่านท่องเที่ยว ทว่าผู้มาเยือนอย่างเรากลับรู้สึกเหมือนกลับมาบ้านญาติผู้ใหญ่ อาจเพราะบรรยากาศที่ไม่เบียดเสียด ผู้คนไม่จอแจ และอาหารราคาไม่กี่สิบบาท ซึ่งแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เคยพบเจอมา 

ตั้งแต่ก้าวเข้ามาพวกเราถูกต้อนรับด้วยอาหารอร่อยๆ มีคุณลุงคุณป้าใจดีที่อยากให้เราลองชิมโน่นชิมนี่ และชวนพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบราวกับว่ารู้จักกันมานาน 

ศาลเจ้าพ่อวังกลม ศูนย์รวมใจของชาวตลาดวังกรด

เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือหัวใจของชุมชนเสมอ ไม่แปลกที่ย่านการค้าอย่างวังกรดจะมีศูนย์รวมจิตใจที่ชาวบ้านนับถือมาอย่างยาวนาน 

เมื่อลัดไปทางริมน้ำน่าน เราจะพบกับสถาปัตยกรรมจีนที่ตั้งเด่นเป็นสง่า ‘ศาลเจ้าพ่อวังกลม’ หรือ ‘ปุนเถ่ากง’ คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และเชื่อกันว่าหากได้มาเยือนวังกรดจะต้องแวะสักการะเพื่อความร่มเย็นเป็นสิริมงคล 

ชาวบ้านที่นี่เชื่อกันว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่จะช่วยประทานโชคลาภ วาสนา และจะช่วยให้กิจการร้านค้ารุ่งเรือง มากไปกว่านั้นความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ได้อยู่เพียงแต่ในจังหวัดพิจิตรเท่านั้น ทว่าชื่อเสียง และความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังกระฉ่อนไปไกลยังจังหวัดข้างเคียงด้วย 

วังกรด ชุมชนเล็กๆ ที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราว 

วังกรดเป็นหนึ่งในย่านที่เราได้แวะมาเยือน และกลับไปพร้อมกับเรื่องเล่าเต็มไปหมด ภาพของพิจิตรที่เคยจินตนาการ และสงสัยก่อนไปว่ามีสถานที่ไหนให้เราไปเที่ยวบ้างนะ กลับเกินคาดไปมากเมื่อได้แวะมาเยี่ยมชมชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ด้วยตัวเอง ที่นี่ต้อนรับเราด้วยมื้ออาหารแสนอร่อยในราคาย่อมเยา อีกทั้งสารพัดของคาวหวานที่เดินไปกินไปอย่างเพลิดเพลิน ผู้คนที่เป็นมิตรราวกับญาติผู้ใหญ่ รวมถึงบ้านเก่าที่มีเรื่องเล่าอยู่ในทุกซอกทุกมุม

การเดินทางมายังพิจิตรในครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักเมืองเล็กๆ แห่งนี้ในมุมที่เปี่ยมด้วยวัฒนธรรม และความทรงจำ

เราได้พบกับผู้คนที่รักและหวงแหนบ้านเกิดของตนอย่างสุดหัวใจ และพยายามอย่างเต็มที่

เพื่อให้ “บ้านของเขา” กลายเป็น “บ้านของทุกคน” ที่แวะมาเยือน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นอยบอย

ช่างภาพที่ชอบนอยเพราะน้ำตาลตก 🥲