เฉื่อยช้า ยืดยาด น่าโมโห! เก้าอี้โรงพยาบาลล้นทะลักเพราะคนจ่อคิวรอวัดความดัน ไหนจะต้องกรอกประวัติยืดยาวกว่าพอร์ตโฟลิโอ บรรดาหมอเป็นเหมือนดาราที่แฟนคลับคลั่งไคล้อยากจับมือ ส่วนเหล่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ดูจะเป็นผู้จัดการดาราไปซะทีเดียว
หากฟังจากน้ำเสียงกระโชกโฮกฮากอย่างไม่ต้อนรับ ราวจะบอกคนไข้เป็นนัยๆ ว่า “ถ้าอาการไม่หนักมากก็กลับบ้านไปซะ!” โรงพยาบาลไม่ใช่สวนสนุก ไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ใช่คาเฟ่ หากแต่เป็นยมโลกตัดสินชะตาชีวิต คำเปรียบเปรยสถานที่แห่งนี้ในฐานะคนเคยเข้าออกอยู่บ่อยครั้งอย่างฉัน โดยหารู้ไม่ว่าเจ้าพนักงานภายในนั้นก็รู้สึกไม่ต่างกัน

‘อดัม เคย์’ แพทย์จบใหม่บอกเล่าความอลหม่านในแผนกสูติ-นรีเวชและความปั่นป่วนของชีวิตด้วยสำนวนตลกร้าย ประโยคเสียดสีประชดประชันที่ทำให้คนอ่านหัวเราะดังก๊ากออกมา หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมงเท่ากันน่ะใช่ ซึ่งหมอมักบอกให้คนไข้พักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แต่ในหน้าที่ของพวกเขาแล้ว คำว่า ‘พัก’ คือคำต้องห้ามเช่นเดียวกับคำว่า ‘ลาป่วย’ ‘ไม่ว่าง’ และ ‘เลิกงาน’ อดัมไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อบอกถึงความทรหดที่หมอต้องเผชิญ แต่ไม่ว่าใครๆ ก็ควรอ่านเรื่องใกล้ตัวประเภทนี้ อย่างน้อยมันอาจจะทำให้เราไม่หัวเสียมากนักเวลาที่หมอวินิจฉัยเฉื่อยช้าเพราะออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ!

วันดีคืนดีมีคนไข้อุตริรูดเสาราวหมีโคอาลา แต่เป็นหมีโคอาลาที่อวัยวะเพศถลอกน่ะนะ หรือไม่ก็สาวน้อยผู้ขาดความรู้พื้นฐาน เอนจอยกับการมีเพศสัมพันธ์สุดเหวี่ยง เธอกระวีกระวาดเข้าพบหมอถามว่าต้องกินยาคุมฉุกเฉินกี่เม็ด เพราะเมื่อคืนเธอควบม้าไปถึง 3 ตัวด้วยกัน ไปจนถึงเคสของชายหนุ่มผู้อยากโชว์ความปึ๋งปั๋งให้แฟนสาวตะลึงด้วยการยื่นของลับปะทะกับใบพัดลม แต่มันผิดคาด!
เราจะแอบยกตัวอย่างบทสนทนาจากปลายปากกาของหมออดัมให้ฟังสักนิดหนึ่ง “ผมบอกคนไข้คนหนึ่งว่าเขายังทำ MRI ไม่ได้จนกว่าจะถึงสัปดาห์หน้า เขาขู่ว่าจะหักขาผมทิ้งทั้งสองข้าง ความคิดแรกของผมคือ เฮ้ย! งั้นก็ได้หยุดงานสัก 2 – 3 สัปดาห์เลยสิ ผมเกือบจะเสนอตัวไปหาไม้เบสบอลให้เขาแล้ว”
ร้อยกว่าเคสสุดบันเทิงถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ ‘This is going to hurt’ โดย ‘Adam Kay’ ที่ติดอันดับขายดีของ Sunday Times นานร่วม 1 ปีมากกว่าหลายล้านเล่มทั่วโลก และถูกดัดแปลงเป็นละครช่อง BBC มาแล้ว ทั้งยังต้องขอบคุณนักแปลอย่าง ‘เจนจิรา เสรีโยธิน’ ที่ทำให้อ่านภาษาแพทย์ได้อย่างสนุกสนานจนนั่งตบเข่าตัวเองดังฉาด

หมอไม่เพียงช่วยยื้อชีพจรคนไข้ที่เฉียดใกล้ยมทูต แต่พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักแลกกับเงินเดือนเท่าขี้มด ทว่าถึงรายได้จะมหาศาลก็ไม่มีอะไรอยากซื้อมากไปกว่า ‘เวลา’ หรอก การต้องแบกหน้าปฏิเสธนัดเพื่อนสนิท แฟน บัตรเชิญงานแต่ง กระทั่งงานศพนับครั้งไม่ถ้วนทำเอาปวดใจอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเหนื่อยขนาดนี้ทำไมไม่ลาออกไปเสียล่ะ อดัมคงตอบขึ้นมาทันทีว่าเป็นเพราะการได้มีบทบาทในชีวิตของผู้คน มันคือสิ่งพิเศษสำหรับเขา
แม้อดัมจะเล่าเหตุการณ์ที่ผันผ่านมาด้วยความสำราญใจ แต่เราเชื่อว่าระหว่างนั้นต้องมีน้ำตาหยดแหมะอยู่บนหน้ากระดาษจนเปรอะแน่ๆ เพราะเล่มนี้ไม่ได้มีเพียงความห่ามฮา แต่ยังประมวลช่วงเวลาแหลกสลายเอาไว้อย่างถึงรส เมื่อเรื่องดำเนินจนใกล้ปิดจบเล่มแล้ว เราได้ค้นพบประโยคหนึ่งที่ว่า “หมอก็ป่วยได้ และจงดูแลผู้ดูแลบ้าง ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องรู้สึกเจ็บนิดๆ กันไปอีกนาน”
วี้หว่อ! วี้หว่อ! ได้ยินเสียงนิดๆ แล้วใช่ไหมล่ะ
