จิตวิญญาณในหม้อนิลย้อมคราม
ความเชื่อที่ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตดั้งเดิม และรายละเอียดของงานมือละมุนละไม
คืออีกเสน่ห์หนึ่งที่สีย้อมครามธรรมชาตินี้มีอยู่เปี่ยมล้น แต่ในอีกฝั่งฟาก
แง่มุมทางวิทยาศาสตร์ของพืชตระกูลถั่วต้นนี้ก็ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งรู้สึกสนุกไปกับการได้ค้นหาความลับที่ซ่อนอยู่ในเนื้อคราม
และพยายามพัฒนาคุณค่าของสีสันให้หลากหลายและตอบโจทย์ความร่วมสมัย
พี่นก-สกุณา สาระนันท์ คือใครคนนั้น เธอเป็นคนสกลนครโดยดำเนิด
และเป็นเจ้าของ ‘ครามสกล’ ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่โดดเด่นเรื่องการนำครามมาออกแบบให้ร่วมสมัยและเข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ของแต่งบ้าน รองเท้า
ในขณะเดียวกันก็เป็นสื่อกลางระหว่างหน่วยงานรัฐ ดีไซเนอร์
กับกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งต่อ ‘คราม’ ให้กว้างขวางมากขึ้น เธอบอกว่า
การที่ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่เป็นตัวตนและเป็นภูมิปัญญาเดิมของชุมชนเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เธอจึงทุ่มเทให้กับการทำงานนี้อย่างจริงจัง
“เราเห็นว่าในทั่วจังหวัดของเรา
มีการทำผ้าย้อมครามกระจายอยู่ในทุกส่วนเลยค่ะ เป็นไลน์ผลิตชุมชนที่มีศักยภาพมากๆ
และความพิเศษของเราคือวิธีการ ‘ก่อหม้อนิล’ หรือที่เราเรียกกันว่า
‘การย้อมเย็น’ ทำให้สีไม่ตก
อีกทั้งคุณสมบัติของครามที่โดดเด่นก็คือป้องกันแสงยูวี ยับยั้งแบคทีเรีย และยังมีฤทธิ์ทางสมุนไพร
เมื่อบวกกับมิติความเป็นมาของครามก็เป็นอะไรที่สวยงาม ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของชาวภูไท
ในขณะที่ประโยชน์ที่ชาวสกลนครเองได้รับจากผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามยังอยู่ในวงจำกัด
พี่มองว่ามันน่าจะมีอะไรได้มากกว่านั้น
ก็เลยมีไอเดียว่าเราลองขยายช่องทางการตลาดดีไหม
ในเบื้องต้นพี่ก็คิดแค่ว่าหยิบผลิตภัณฑ์ชาวบ้านมาแปรรูป เติมความเป็นแฟชั่นเข้าไป
ในเวลานั้นก็เป็นโอกาสที่หน่วยงานหลายๆ ส่วนในจังหวัดเริ่มเข้ามาส่งเสริม
ก็มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกัน”
“ในใจพี่เองคิดว่า
เราอยากจะเอาผ้าครามไปแตะกับชีวิตผู้คนให้มากขึ้น แต่จากที่ลองเอาผ้าครามไปแปรรูป
พบว่าผ้าทอของเราสวยและมีคุณค่า แต่ยังมีความหลากหลายน้อยมากซึ่งเป็นอุปสรรคในการนำไปแปรรูป
เช่น ถ้าจะไปทำเฟอร์นิเจอร์ มันก็ยังปริ ถ้าจะไปทำงานแฟชั่น
บางทีเส้นใยเนื้อผ้ายังหนาไป บางไป
พี่ก็เลยคิดว่าพี่จะย้อนกลับมาอยู่ในจุดที่ดูแลเรื่องวัตถุดิบให้มีคุณภาพและหลากหลาย
เพื่อให้ใครก็ตามมาหยิบเอาครามไปใช้ได้ตามถนัด
พี่ก็เลยวางตัวเองว่าเราน่าจะเป็นจุดที่คอยเชื่อมผู้คนจากต่างถิ่น
คอยมาอธิบายเรื่องราวของจังหวัดสกลนครเกี่ยวกับเรื่องครามว่ามีศักยภาพอยู่ตรงไหนยังไง
ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายครามที่เป็นพันธมิตรกันอยู่มากกว่า 60 กลุ่มทั่วจังหวัด
ตอนนี้ตลาดผ้าครามก็ขยายตัวมากขึ้น แต่ในความเห็นพี่ มันยังไม่ใช่ตลาดที่แท้จริง
เหมือนเรากำลังตื่นเต้นไปกับการโปรโมต เพราะฉะนั้นก็ต้องมาดูกันว่าอะไรที่จะยั่งยืน
นั่นคือเราต้องเติมจุดแข็งให้แข็งแกร่งจริงๆ และพยายามเสริมในจุดที่เราอ่อน
นั่นก็คือในเรื่องของการดีไซน์และการแปรรูป”
ตัวร้านซึ่งเป็นเรือนไม้อันร่มรื่นกลางสวนสวย
สินค้าที่จัดวางอย่างสวยงาม
หม้อนิลสาธิตการย้อมครามที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้เวิร์กช็อปช่วงสั้นๆ
แถมยังได้ฝีมือตัวเองกลับบ้านไป และน้ำอัญชันเย็นฉ่ำพร้อมเสิร์ฟให้ผู้มาเยือนทุกคน
คือความประทับใจแรกที่ทุกคนได้รับจากการมาเยือนที่นี่
แต่นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวสนุกสนานที่ช่วยสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับจังหวัดควบคู่กันไป
พี่นกยังให้ความรู้เกี่ยวกับครามแท้ ครามเทียม ทำไมครามสีไม่ตก
ไปจนถึงการอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายในฐานะบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง
อีกส่วนที่สำคัญ พื้นที่นี้ยังเป็นประตูที่พี่นกจะต้อนรับขับสู้
ให้ข้อมูล และเป็นโฮมสเตย์เล็กๆ ให้กับดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ นักวิจัย
สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ที่สนใจเพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายแม่ๆ
หมู่บ้านต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการเพื่อการพัฒนาผ้าครามอย่างครบวงจร
“เมื่อมาทำจริงๆ มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่จะหยิบมาแล้วแปรรูปได้เลย
บางอย่างเราต้องไปดูตั้งแต่เรื่องเส้นใย การย้อม การ matching สี
พี่ไม่ได้เก่งดีไซน์ แต่พี่ก็ฟังจากลูกค้า ฟังจากดีไซเนอร์ แล้วเราก็มาส่งให้กลุ่มแม่ๆ
ที่เขาทำอยู่ ในขณะเดียวกัน พี่ก็จะดีลกับกลุ่มของนักวิจัย
หรือว่าสถาบันวิจัยต่างๆ อย่างเช่นเราจะเติมฟังก์ชันของผ้าครามได้อย่างไร
เช่นการกัดลาย พิมพ์สี เคลือบกันน้ำ เคลือบน้ำมัน
คือเราพยายามที่จะมองเรื่องฟังก์ชัน ใจพี่ลึกๆ พี่คิดว่าในอนาคตเมื่อครามบูมมากๆ
ที่ไหนก็ทำครามได้ สิ่งที่สกลนครจะต้องเริ่มทำตอนนี้ก็คือเรื่องนวัตกรรมด้วย
ไม่ได้แปลว่าเราจะฉีกแนวเอาวัฒนธรรมเดิมนะคะ
แต่คืการเติมฟังก์ชันให้มันดีขึ้น”
เราทึ่งในมุมมองที่กว้างและไกลของหญิงสาวผู้ก่อตั้งครามสกล
ขณะเดียวกันก็สงสัยว่าเธอทุ่มเทให้เฉดสีนี้ด้วยเหตุผลกลใด
“ถามว่าเราได้อะไร เราได้ความภูมิใจ
พี่สามารถซื้อครามได้กับทุกพื้นที่ในสกลเพื่อมาทำงานของพี่ ขณะเดียวกัน
เราก็สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับหลายๆ ท้องที่ได้ เราไปส่งเสริมให้เขาปลูกคราม
ส่งเสริมให้เขาทอผ้า ทำมัดหมี่ มีรายได้ เราเชื่อมเขากับผู้ประกอบการ มันตอบตัวเรา
คือเราก็เป็นคนสกลเนอะ ได้ทำสิ่งนี้มันก็เป็นความภูมิใจ
บางคนอาจจะเห็นแย้งเวลาพี่พูดอะไรที่เป็นนวัตกรรม แต่ในความเห็นของพี่
กว่าจะมาเป็นภูมิปัญญา มันต้องผ่านการทดลองจากบรรพบุรุษ มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด
มันไม่มีอะไรที่อยู่ดีๆ แล้วมันจะดีที่สุดขึ้นมา แล้วถึงวันนี้
พี่ก็อยากให้ในยุคที่เราอยู่ ซึ่งเราก็เป็นรุ่นที่ได้รับประโยชน์จากภูมิปัญญา
ขออนุญาตพูดง่ายๆ ว่าเรากำลังกินบุญเก่า พี่รู้สึกไม่ดี พี่คิดว่าในยุคของเราน่าจะมีอะไรใหม่
ไม่ใช่ว่ารุ่นลูกของเราก็ยังจะมาทำเหมือนเดิม มันต้องต่อยอดขึ้นไป
ใครที่อนุรักษ์ก็ดี เป็นเสน่ห์ แต่มันไม่ควรเหมือนกันทั้งเมือง
มันไม่เสียหายถ้าตราบใดที่เรารู้ว่าจุดแข็งของครามคืออะไร
มากกว่านั้นมันอยู่ที่เทคนิคที่เราจะต้องหาเพื่อให้มันดีที่สุด”
แววตามุ่งมั่นของพี่นกทำให้เราเต็มตื้นไปกับความตั้งใจของเธออย่างห้ามไม่ได้
หญิงสาวยิ้ม บอกว่าดีใจที่เรารู้สึกอย่างนั้น
“ในฐานะเจ้าบ้าน
คิดว่าสุดท้ายคือเราอยากจะเห็นรอยยิ้มและแววตาของคนที่มาเยี่ยมเราว่าเขาพึงพอใจ
ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไร ไม่จำเป็นว่าเฉพาะเรื่องคราม สกลนครเราก็มีดีอยู่เยอะ เป็นเมืองธรรมชาติที่มีเรื่องของสุขภาพ
และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย”
สกุณา สาระนันท์
เจ้าของ ‘ครามสกล’ และเจ้าบ้านชาวสกลนคร
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
อ่านเรื่องราวดีๆ เจือสีครามจากสกลนครได้ที่ด้านล่างเลย