“เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด” คุยกับ HED วงดนตรีฟิวชันสำเนียงอีสานที่โคตรจ๊วด และควรค่าแก่การถูกค้นพบมากกว่านี้

“เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด” คุยกับ HED วงดนตรีฟิวชันสำเนียงอีสานที่โคตรจ๊วด และควรค่าแก่การถูกค้นพบมากกว่านี้

เทสต์ดี แต่หัวใจหมอลำ

พี่ครับๆ ฟังเพลงอะไรอยู่ครับ?

เพลงที่ฟังตอนอยู่กับแฟน VS ตอนอยู่คนเดียว

สารพัดคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เพลงอีสานครอบครองพื้นที่ในหัวใจของผู้ฟังจำนวนมาก แต่ภาพจำในแง่ลบยังคงไม่เลือนรางไป ทำให้เพลงอีสานกลายเป็นเพลงสำหรับคนเทสต์ไม่ดี หรือคนบ้านนอก ทั้งที่ดนตรีประเภทนี้เป็นสุ้มเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะฉบับของไทย แต่หลายคนกลับมองไม่เห็นคุณค่านี้

ไม่ว่าภาพจำเพลงอีสานของคุณจะเป็นแบบไหน แต่เราอยากให้คุณลืมภาพจำเหล่านั้นไปชั่วขณะ แล้วลองมาเปิดใจทำความรู้จักกับ ‘HED’ วงดนตรีฟิวชันที่ผสานความเป็นอีสานกับสไตล์ตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ แจซ ฮิปฮอป โซล และจังหวะสนุกสนานมากมาย ผ่านการปรุงรสของ ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (พิณและแคน) การ์ด-อมรศักดิ์ ปราบภัย (กลอง) และ มาร์ช-ฐิติวัฒน์ ตรีภพ (เบส)

สามหนุ่มสุดกวนจากแดนอีสาน อยากสานต่อรากเหง้าของตน พร้อมทั้งเฮ็ดในสิ่งที่รัก เพื่อสร้างสรรค์ดนตรีแปลกแหวกแนว จึงรวมตัวสร้างวงดนตรีด้วยกันอย่างเรียบง่ายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่อยากเล่นดนตรีสนุกๆ ด้วยกัน และส่งต่อ Magic Moment ให้ผู้ฟังได้สัมผัส

เส้นทางการเติบโตของกลุ่มคนช่างฝันที่กล้าลงมือทำ จนกลายเป็นคติประจำวง “เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด” แม้ไม่มีค่ายหรือต้นสังกัดช่วยดูแล แต่ ณ ตอนนี้ พวกเขาสามารถพาวงดนตรีขนาดเล็กแต่ใจไม่เล็ก ซึ่งเกิดขึ้นจากพื้นเพ ตัวตน และวัตถุดิบของสมาชิกแต่ละคน มาไกลจนได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Summer Sonic Bangkok 2024

ลองเปิดใจฟังเพลงของวง HED สักครั้ง แล้วคุณจะรู้ว่า ‘อีสานฟังก์’ ไม่ได้ฟังยากอย่างที่คิด

ขอ 1 ประโยคภาษาอีสานที่บ่งบอกตัวตนวง HED

ต้น: “จ๊วด” ถ้าเป็นภาษาอังกฤษน่าจะแปลเป็นคำว่า Awesome หรือที่หมายถึง สุดยอดมากๆ ถึงพริกถึงขิง จุดประสงค์ของ HED คือการเอาความเป็นรากเหง้า พื้นเพด้านดนตรีที่เราเสพมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันมาผสมผสานจนมีความแปลกแหวกแนว

มาร์ช: ถ้าวันไหนเล่นดนตรีแล้วรู้สึกสุดยอดมากๆ ผมมักจะพูดว่า “คักแท้ว่ะ” เพราะสนุกมากจนเกินคำว่าสนุก

การ์ด: มาร์ชขโมยประโยคของผมไป (หัวเราะ) ผมนึกถึงประโยค “คักขนาด” ในวันที่เล่นดนตรีด้วยกันแล้วทุกอย่างมันออกมาดี เรามีความสุข คนดูก็มีความสุข

ทำไมจึงตั้งชื่อวงว่า HED หรือ ‘เฮ็ด’ ที่แปลว่าลงมือทำ?

“HED นี่แหละ สั้นๆ จำง่ายดี และคำนี้ก็บ่งบอกตัวตนทุกอย่างของวงเรา”

การ์ด: ตอนแรกเราเสนอกันหลายชื่อมาก แต่รู้สึกไม่ใช่ ผู้จัดการวงเลยเสนอชื่อ ‘เฮ็ด’ ที่แปลว่าลงมือทำ เนื่องจากเราตั้งวงกันอย่างรวดเร็ว พบปะเจอกันพร้อมกัน 3 คนครั้งเดียว อีก 7 วันถัดมาก็ไปทำเพลงทำอัลบัมด้วยกันเลย ทุกอย่างง่ายลงตัว

อยากให้ลองคิดเล่นๆ ว่าตัวอักษร H, E, D ย่อมาจากอะไร?

การ์ด: H = Hometown เพราะพวกเราทุกคนเป็นคนอีสาน ดนตรีอีสานจึงเป็นเสียงดนตรีที่เราเคยได้ยินตั้งแต่เด็ก HED โอบล้อมด้วยกลิ่นอายของดนตรีอีสานอยู่เสมอ

E = Enjoy เราเอนจอยในสิ่งที่เราทำ นับตั้งแต่การทำเพลง ไปจนถึงการแสดงสดบนเวที และคิดว่าผู้ฟังก็น่าจะเอนจอยกับผลงานเพลงของพวกเรา

D = Dreamer วง HED ขับเคลื่อนด้วยความฝันและแพสชัน เมื่อเป็นนักดนตรีก็อยากมีเพลงเป็นของตัวเอง อยากอัดเสียง อยากแสดงบนเวที คิดว่าพวกเราทุกคนเป็น Dreamer ที่ลงมือทำตามความฝัน

ทราบมาว่าแต่ละคนก็เป็นสมาชิกวงอื่นด้วย แล้ววง HED เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ต้น: ก่อนหน้านี้ เราทั้ง 3 คนรู้จักกันอยู่แล้ว แต่เจอกันตามวาระโอกาส ครั้งหนึ่งผมไปทำงานที่ขอนแก่น และพี่การ์ดอยู่ที่นั่นพอดี จึงชวนกันมาเล่นดนตรีที่บาร์แจซ เล่นกลอง พิณ เครื่องดนตรีอีสาน กลายเป็นว่าทั้งผมและพี่การ์ดต่างไปบอกพี่มาร์ชว่าเล่นดนตรีด้วยกันมาแล้วประทับใจมาก พวกเราจึงนัดมากินข้าวด้วยกัน และในวันนั้นก็คุยกันว่า ลองมาแจม ลองมาเล่นดนตรีด้วยกันไหม จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นด้วยความง่าย ไม่ได้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการรวมตัวสร้างวง แค่อยากลองเล่นดนตรีด้วยกัน ถ้าเวิร์กก็ไปต่อ ไม่เวิร์กก็กลับบ้าน แค่นั้นเลย

“ความฝันของเราทั้ง 3 คนคือ แค่อยากเล่นดนตรีด้วยกัน เพราะเราเป็นคนบ้านเดียวกัน มีธรรมชาติหรือเคมีที่ตรงกัน จึงลงมือทำวง HED ไปด้วยกัน”

มาร์ช: วันแรกที่ไปอัดเพลงด้วยกัน ตอนนั้นยังไม่มีเดโม ไม่มีไอเดียอะไรเลย แต่เมื่อเล่นด้วยกัน 3 คนกลับรู้สึกลงตัว เวลาผมเล่นดนตรี ผมจะเสพความรู้สึกของคนในวงไปด้วย ไม่จำเป็นต้องมีเพลงเดโม แค่ต้นเล่นมา ผมจะเล่นตาม พี่การ์ดจะซัปพอร์ต แม้จะไม่มีเนื้อร้อง แต่ดนตรีของพวกเราให้ความรู้สึกเหมือนบทสนทนาที่เกิดขึ้นในร้านอาหารคืนนั้น

การ์ด: สำหรับผม แค่อยากให้บรรยากาศและช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ณ บาร์แจซขอนแก่น กลับมาอีกครั้ง

วง HED นิยามตัวเองว่าเป็นวงดนตรีแบบไหน?

การ์ด: คงนิยามว่า ‘Isan with Da Beat’ นั่นคือดนตรีอีสานผสมผสานกับแนวเพลงอะไรก็ได้ เช่น ฟังก์ ฮิปฮอป หรือโซล หรือควบคู่กับจังหวะสนุกๆ

ขณะที่เพลงป๊อปกำลังมาแรง ทำไมจึงเลือกผสมผสานดนตรีอีสานเข้ากับดนตรีตะวันตก หรือทำเพลงแนว Isan Funk (อีสานฟังก์)?

ต้น: คำถามนี้ตอบง่ายมาก เพราะผมเล่นพิณ ไม่ได้เล่นกีตาร์ (หัวเราะ) เหตุผลที่ทำเพลงแนว Isan Funk (อีสานฟังก์) เพราะด้วยพื้นเพ เราฟังเพลงสไตล์นี้อยู่แล้ว แนวเพลงของวง HED เกิดขึ้นจากความเป็นเรา และวัตถุดิบในตัวสมาชิกแต่ละคน เราไม่ได้พยายามที่จะเป็นคนอื่น หรือเล่นดนตรีแบบที่คนอื่นชอบ แต่ทำเพลงจากวัตถุดิบในตัวเรา เช่น ผมเล่นเครื่องดนตรีอีสาน แต่ผมก็ชอบฟังเพลงหลากหลาย เช่น เพลงอีสาน หมอลํา แจซ และคลาสสิก หรือพี่มาร์ชชอบแนวเพลงแจซมากที่สุด พี่การ์ดชอบแจซและฮิปฮอปมากที่สุด แต่ก็ชอบแนวเพลงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน จึงเกิดเคมีที่หาได้เฉพาะวง HED

ไม่กลัวคนฟังรู้สึกว่า ดนตรีอีสานเข้าถึงยากเหรอ?

ต้น: ไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย และถ้าคิดแบบนั้น คงไม่มีวันได้เริ่มทำสิ่งที่ชอบ ผมคิดแค่ว่า แนวเพลงอีสานฟังก์คือสิ่งที่เราชอบ เราก็ลงมือทำเลย ซึ่งกลายเป็นว่ามีกลุ่มคนฟังที่ชอบเหมือนกับเรา ชื่นชอบแนวเพลงใหม่ๆ เหมือนเราเปิดร้านอาหารเล็กๆ ตามความชอบของตัวเอง แล้วลูกค้าก็บอกปากต่อปากว่า ร้านนี้ทำอาหารอร่อย มีเมนูแปลกใหม่ วง HED ไม่ได้ทำผัดกะเพราที่เป็นอาหารยอดนิยม แต่เราทำลาบหมู ถ้าใครชอบเมนูและรสชาติแบบนี้ ก็ต้องลองมาชิมเอง

แล้วถ้าต้องเปรียบวง HED เป็นอาหารอีสาน จะเปรียบเป็นเมนูอะไร?

ต้น: ผมว่าก็เป็นอาหารพื้นๆ ไม่ใช่เมนูลึกล้ำ แต่เป็นอาหารพื้นๆ ที่มีความยูนีก แน่นอนว่ามีวงดนตรีอีกมากที่เล่นพิณกับแคน ทั้งในและนอกประเทศ แต่ดนตรีอีสานฉบับวง HED ก็มีสไตล์ที่แตกต่างจากวงอื่น ผมจึงเปรียบวง HED เป็น ‘ลาบ’ ที่มีส่วนผสมจากลาบชัยภูมิกับลาบร้อยเอ็ด (บ้านเกิดของต้นกับมาร์ช) ลาบมีทุกที่ แต่ในแต่ละถิ่นพื้นที่ก็มีรสชาติแตกต่างกัน รสมือใครรสมือมัน

มาร์ช: เมนูหลักของวง HED คือ ‘ลาบ’ แต่วิธีกินของพวกเราแต่ละคนจะแตกต่างกัน ผมอยากกินลาบกับข้าวเจ้า ต้นอยากกินลาบที่มีรสชาติติดขม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อนำมาผสมผสานกัน พวกเรารู้ว่าแต่ละเพลงต้องหยิบใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง หรือชูรสชาติแบบไหนเป็นหลัก เพราะพวกเราพูดคุยกันผ่านเสียงดนตรี

การ์ด: ผมเห็นด้วย เพราะลาบเป็นเมนูที่เข้าถึงง่าย แต่ถ้าต้องรังสรรค์ 1 เมนูที่สะท้อนความเป็นวง HED ที่สุด ผมคิดว่า HED คือ ‘สปาเกตตีลาบ’ เพราะ HED ผสมผสานระหว่างดนตรีอีสานกับความเป็นสากล

การเผยแพร่วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของคนอีสาน คือ หนึ่งในจุดประสงค์ของวง HED ไหม?

ต้น: ตอบตรงๆ เลยว่า ‘ไม่’ แต่ผมเกิดมากับเสียงพิณเสียงแคน จะให้ผมไปเป่าปี่โนรามันก็ไม่ใช่ตัวผม การเผยแพร่วัฒนธรรมอีสานไม่ใช่จุดประสงค์หลักของวง แต่คือผลพลอยได้ หรือกำไรมากกว่า เมื่อสิ่งที่เราทำ ช่วยให้ส่งเสริม Soft Power หรือสะท้อนถึงวัตนธรรมความเป็นไทย

“ผมก็เล่นเครื่องดนตรีหลายชนิด แต่เครื่องดนตรีที่เราเล่นแล้วรู้สึกเข้ามือ หรือตรงกับจริตเรา มันคือพิณกับแคน เราไม่ได้พยายามเล่นดนตรีอีสาน แต่ดนตรีอีสานคือตัวตนของเรา”

ทำไมเครื่องดนตรีอีสานจึงถูกจริตคุณมากที่สุด?

ต้น: ผมเติบโตมาในครอบครัวที่ชอบฟังเพลง ดนตรีผ่านหูเรามาหลายประเภท ทั้งเพลงสากล เพลงลูกทุ่ง เพลงหมอลำ เครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ ‘กีตาร์’ ด้วยซ้ำ แต่เครื่องดนตรีที่ชื่นชอบที่สุดกลายเป็น ‘พิณกับแคน’ เพราะเราเข้าชมรมดนตรีช่วงมัธยม แต่เราเล่นพิณกับแคนไม่เป็นเลย ทำได้แค่มองเพื่อนคนอื่นเล่น

“ตอนที่เห็นเพื่อนเล่นนั่นแหละที่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้เรากระหายที่จะเล่น มั่นใจขึ้น เราจึงไปขวนขวายมากขึ้น ซึ่งทำให้เราเจอในสิ่งที่คนอื่นไม่เจอ เราทำด้วยความพยายาม จนวันหนึ่ง เราก็ตกหลุมรักพิณกับแคน เพราะเสียงดนตรีที่มีเสน่ห์”

“เราไม่ได้เล่นเพราะอยากเท่ ย้อนไปเมื่อ 10 – 15 ปีที่แล้ว การเล่นดนตรีพื้นบ้านมันไม่เท่หรอกครับ การพูดภาษาท้องถิ่นยังเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราอยากเล่นเครื่องดนตรีอีสาน อยากพูดภาษาอีสาน เพราะมันสะท้อนตัวตนบางอย่างในตัวเรา มันคือธรรมชาติของเรา”

คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า ‘ฟังเพลงอีสาน = เทสต์ไม่ดี’

“แคนคือตัวแทนของ Southeast Asia พิณคือสุ้มเสียงของ Southeast Asia ไทยร่ำรวยวัฒนธรรม และมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้หลายคนยังมองไม่เห็นคุณค่าของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ทำให้ความงดงามของวัฒนธรรมหล่นหายไป”

ต้น: ประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ภาพจำตั้งแต่สมัยก่อนที่ คนเมืองคือทันสมัย คนต่างจังหวัดคือบ้านนอก ซึ่งสาเหตุของภาพจำนี้มาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ใช่แค่คนต่างจังหวัดที่โดนดูถูก แต่คนชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ถูกดูแคลนเช่นกัน แต่ผมคิดว่า วัฒนธรรมอีสานค่อนข้างแข็งแรง ปัจจุบัน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เริ่มกินซอยจุ๊ เส้นที่แบ่งกั้นระหว่างความท้องถิ่นกับความเป็นเมืองเริ่มเลือนรางลง ถ้าใครยังยึดถือค่านิยมแบบเดิมก็จะกลายเป็นคนล้าหลังในสายตาคนอื่น

“ในวงการดนตรีไม่มีกำแพงด้านวัฒนธรรม ทุกคนต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าคุณจะมาจากที่ไหน หรือเล่นดนตรีแนวไหน ดนตรีอีสานไม่มีกรอบกำหนดว่าต้องเล่นแบบเดิมตลอด ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขนบ เพราะไม่ใช่ Traditional Music แต่เป็น Folk Music ที่นำดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานกับดนตรีร่วมสมัย จึงมีความอะลุ่มอล่วยที่ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์อะไรก็ได้ คิดนอกกรอบได้อย่างอิสระ”

การ์ด: สำหรับผม งานดนตรีหรือศิลปะ มันมีแค่ 2 อย่างคือ ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ เป็นเรื่องของรสนิยม ไม่มีเหตุผลอะไรนอกเหนือจากนั้น

ทำไมต้องเป็น ‘กลอง เบส และ พิณกับแคน’ เท่านั้น?

ต้น: คำตอบเดิมเลยครับ ผมไม่ได้เล่นกีตาร์ (หัวเราะ)

การ์ด: เราไม่ได้มองว่าต้องเอาอะไรมาปรุง แต่เพราะเรามีเครื่องปรุงหรือวัตถุดิบแบบนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งสิ่งที่เรามีสามารถผสมผสานหรือต่อยอดเป็นแนวเพลงอื่นๆ ได้อีกมากมาย เพลงของวง HED ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นไปพร้อมกับสมาชิกในวง

ทำไมช่วงแรกจึงตัดสินใจทำเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง?

ต้น: เพราะเป็นนักดนตรี ไม่ใช่นักร้องครับ (หัวเราะ) ถ้ามีเนื้อร้อง ขั้นตอนและเงื่อนไขในการทำงานจะมากขึ้น  แต่การทำดนตรีบรรเลงจะง่ายกว่า อยากเล่าเรื่องอะไรก็สามารถสื่อสารได้เลย ไม่ต้องมีบริบทมากมาย ว่าเพลงรักต้องเป็นแบบไหน เพลงอกหักต้องเป็นแบบไหน วิธีการเล่าเรื่องของดนตรีบรรเลงจะมีความอิสระกว่า ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าจะตีความอย่างไร

ดนตรีที่ไม่มีคำร้องจะสามารถสื่อสารความหมายจากศิลปินสู่ผู้ฟังได้ไหม?

ต้น: พวกเรา 3 คนเป็นนักดนตรีที่เติบโตมากับเพลงบรรเลง จึงมองว่า การสื่อสารความหมายกับผู้ชมผู้ฟังไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น คนดูสามารถตีความอย่างไรก็ได้ตามที่ตัวเองรู้สึกต่อทำนองเพลง เช่น สนุก เศร้า คิดถึงบ้าน หรือสภาวะต่างๆ ถ้าชอบฟังดนตรีอยู่แล้ว ผมคิดว่าเพลงบรรเลงไม่ได้เข้าใจยาก

“เพลงป๊อปที่มีเนื้อร้องคือ ภาพ Portrait ที่มองแล้วเข้าใจได้ในทันที แต่เพลงบรรเลงเปรียบเสมือนภาพ Landscape (ภาพทิวทัศน์) ซึ่งเป็นพื้นที่อิสระในการตีความ ไม่ได้จำกัดว่าแต่ละเพลงต้องมีความหมายอย่างไร”

การ์ด: พวกเราเคยไปแสดงที่ Adhere The 13th Blues Bar ซึ่งมีผู้ฟังคนหนึ่งส่งเสียงถามว่า “ชื่อเพลงอะไรนะครับ ผมจะได้จินตนาการตาม” ถ้าเรามีชื่อเพลง สีประจำเพลง หรือระดับความเข้มข้นของดนตรีก็ช่วยให้คนฟังสามารถจินตนาการภาพตามได้ และเข้าใจความหมายที่เราต้องการจะเล่ามากขึ้น ทั้งที่เป็นเพลงบรรเลง

“รูปแบบเพลงสไตล์ HED จะค่อยๆ ดึงผู้ฟังให้กระโดดเข้ามาใน HED Space”

เพลงของวง HED ส่งต่อความรู้สึก หรือสื่อสารความหมายแบบไหนให้ผู้ฟัง?

มาร์ช: ในฐานะคนทำเพลง เราไม่ได้คาดหวังว่าอยากได้อะไรกลับมาจากผู้ฟัง หรืออยากให้ผู้ฟังรู้สึกแบบไหน แค่คิดว่า บรรยากาศตอนที่เล่นดนตรีด้วยกัน 3 คน มันว้าวว่ะ เรามีความสุขในการทำเพลงร่วมกับสมาชิกในวงมากๆ จนอยากส่งต่อความสุขให้ผู้ฟัง เราจะรู้ว่าผู้ฟังรู้สึกอย่างไร ก็ต่อเมื่อเราได้แสดงสดต่อหน้าพวกเขา

“เพลงเดียวกัน แต่แสดงคนละเวลา คนละสถานที่ ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่อย่างน้อยที่สุด ชื่อเพลงจะพาคนไปทัวร์ ว่าเพลงนี้กำลังเล่าเรื่องอะไร”

การ์ด: ส่วนใหญ่ผมจะเป็นคนคิดชื่อเพลง โดยนั่งฟังเพลงแล้วตกตะกอนว่ารู้สึกอย่างไร หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นชื่อและคอนเซปต์ เพื่อสร้างภาพของเพลงนั้นๆ ให้ทั้ง 3 คนเข้าใจความหมาย ซึ่งมีแก่นหลักเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกประการ

ยกตัวอย่างความหมายของ 3 ชื่อเพลงให้ฟังหน่อย

การ์ด: เพลง HED (เฮ็ด) เป็นเพลงแรกที่ลงมือทำ เป็นชื่อเพลงที่ตรงกับชื่อวง และสะท้อนถึงตัวตนวง HED มากที่สุด ต่อไปเพลง Bangkok Journey (สู่กรุง) อาจจะผิดแกรมมา แต่ชอบให้คำเรียงแบบนี้ ชื่อนี้เกิดจากการเดินทางของพวกเรา 3 คน ซึ่งเดินทางจากอีสานมาทำงานที่กรุงเทพฯ ณ ปัจจุบัน

สุดท้ายคือเพลง MOONMUNG (มูนมัง) คำว่า ‘มูลมัง’ ในภาษาอีสาน หมายถึงทรัพย์สมบัติหรือมรดกที่ตกทอดมาถึงเรา ในที่นี้จึงเปรียบเทียบว่า ดนตรีอีสานคือทรัพย์สมบัติของเรา แต่เปลี่ยนคำว่า ‘มูล’ เป็น ‘มูน’ ซึ่งหมายถึงดวงจันทร์ เพราะเพลงนี้เล่าถึงช่วงเวลากลางคืน

อีกทั้ง MOONMUNG (มูนมัง) ยังเป็นเพลงแรกที่มีเนื้อร้อง เนื่องจากเพลงก่อนหน้านี้เป็นเพลงบรรเลงทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีคนชื่นชอบและสนุกไปกับเพลงประมาณหนึ่ง ความตั้งใจแรกในการทำเพลงที่มีเนื้อร้องจึงคือ อยากให้คนทั่วไปเข้าถึงเพลงของเราได้ง่ายขึ้น กระโดดเข้ามาใน HED Space มากขึ้น

โดยเนื้อเพลงนี้จะประกอบไปด้วย 3 ภาษา คือ ภาษาอีสาน ภาษากลาง และภาษาอังกฤษ นี่คือความตั้งใจที่โคตรหวังผล ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นคนอีสาน คนทั่วไป หรือต่างชาติก็สามารถเข้าใจเพลงของเราได้

ประสบการณ์แสดงที่งาน Summer Sonic Bangkok 2024 เป็นอย่างไรบ้าง?

มาร์ช: จริงๆ แสดงกับวง HED ไม่ว่าจะงานอะไร ก็สนุกทุกโชว์อยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่คิดว่า ผู้ชมในงาน Summer Sonic Bangkok 2024 ซึ่งตั้งใจมาชมการแสดงของศิลปินชื่อดัง พวกเขาจะเปิดใจรับฟังเพลงของพวกเราขนาดนั้น ณ เวลานั้น

เวทีที่เราแสดงเป็นเวทีด้านนอก ตอนแรกคิดว่า ผู้ชมคงมีจำนวนไม่มาก แต่เมื่อเริ่มแสดงไปสักพัก ผู้ชมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า พวกเราไม่จำเป็นต้องร้องเพลงก็ได้ แค่สื่อสารพลังของพวกเรา 3 คนออกไปก็เพียงพอแล้ว ถือเป็นงานที่สนุกมาก เพราะทุกคนเปิดกว้างเรื่องดนตรี

ต้น: พวกเราน่าจะเป็นวงเดียวที่แสดงเพลงบรรเลงสไตล์อีสานผสานความเป็นสากล ซึ่งมีคำร้องน้อยมาก ท่ามกลางดนตรีกระแสหลัก ทำให้วง HED โดดเด่นประมาณหนึ่ง เพราะช่วยตัดเลี่ยนจากเสียงดนตรีกระแสหลัก รวมถึงผู้ชมส่วนใหญ่ในเทศกาลดนตรี (Music Festival) เป็นคอฟังเพลงอยู่แล้ว พวกเราจึงรู้สึกใกล้ชิดกับผู้ชม และมีคนมาเงี่ยหูฟังเพลงของวง HED มากขึ้น

“หลายคนเต้นยับ เซิ้งเลย เราก็ไม่คิดว่า หนุ่มๆ สาวๆ Summer Sonic จะเสียทรงขนาดนั้น นับเป็นอีกหนึ่งงานที่พวกเราประทับใจ และได้ประทับตราแล้วว่าครั้งหนึ่ง วง HED เคยไปเล่นที่งาน Summer Sonic Bangkok 2024”

เสน่ห์ในการแสดงสดของวง HED คืออะไร ทำไมจึงควรไปดูวง HED แสดงสดสักครั้งในชีวิต?

ต้น: อร่อยไม่ซ้ำ จำสูตรไม่ได้ (หัวเราะ)

การ์ด: ในการแสดงสดจะมีพลังของพวกเรา 3 คนที่ส่งต่อถึงกัน รวมถึงพลังที่ส่งไปหาผู้ชม ทำให้การแสดงแต่ละครั้งสนุกมากสำหรับพวกเรา และมีสิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเสมอ เพลงเดียวกันอาจจะมีบรรยากาศ พลัง หรือมวลความสนุกที่ไม่เหมือนกัน

ต้น: เนื่องจากพี่มาร์ชกับพี่การ์ดเป็นนักดนตรีแจซอยู่แล้ว จึงมีความซุกซนในการลองทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ บรรยากาศแต่ละงาน เช่น บางงานบรรยากาศค่อนข้างตึง เราก็จะถอยมา Keep Cool หรือถ้างานที่คนตกอยู่ในภวังค์เราแล้ว เราก็ต้องพิจารณาว่าจะไปสุดได้ประมาณไหน เพลงนี้ตัดจบเลยไหม หรือยาวได้แค่ไหน ดังนั้น การแสดงสดของวง HED จึงมีความลื่นไหล และแตกต่างกันในแต่ละงาน

มาร์ช: ความรู้สึกตอนเล่นกับวง HED เหมือนกับตอนเล่นดนตรีแจซเลย สมาชิกทั้ง 3 คนมีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพเท่ากัน แน่นอนว่าการแสดงสดก็ยังต้องมีแกนหลักที่คงเดิมไว้ แต่ผู้ชมจะได้สัมผัสความสดใหม่ในทุกครั้ง ถ้าผมเห็นผู้ชมที่เอนจอยไปกับเพลงของเรา ผมจะพยายามทำให้เขาเอนจอยได้มากกว่าเดิม

“อยากให้ทุกคนลองมาดูการแสดงสดสักครั้งหนึ่ง และนอนให้เพียงพอก่อนมาดูวง HED เพราะมันสนุกสุดเหวี่ยงจริงๆ”

ผลงานในอนาคตของวง HED จะมีอะไรใหม่ๆ มาเซอร์ไพรส์ผู้ฟังไหม?

ต้น: มีอีกเยอะเลยครับ แต่ถ้าบอกไป มันก็สปอยล์สิ อยากให้ทุกคนติดตามรอดูต่อไป อย่างที่บอกว่า HED เปรียบเสมือนเมนูลาบ ซึ่งกินคู่กับอะไรก็ได้ วันหนึ่งอาจจะเป็นขนมปังซาวโดวจ์ลาบก็ได้ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ในศิลปะด้านดนตรี เพราะพวกเราไม่ได้ตั้งเป้าหรือคาดหวังไว้ตั้งแต่แรก ว่าวง HED ต้องเป็นอย่างไร แต่เพลงของ HED จะแปรเปลี่ยนไปตามความชอบของสมาชิกในวง หรือขึ้นอยู่กับสิ่งที่เจอในแต่ละช่วงเวลา

อยากให้ทุกคนเตรียมใจและเปิดใจรับฟังเพลงของพวกเรา เชื่อว่าเป็นงานที่ไม่เคยมีมาก่อนแน่นอน เฮ้ย ขิงเกินไปไหมวะ (หัวเราะ)

สิ่งที่วง HED จะเฮ็ด (ทำ) ต่อไปคืออะไร?

การ์ด: พวกเราคงพยายามรักษาสิ่งที่ทำมาตลอดระยะเวลา 5 ปี และลองทำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ร่วมงานกับศิลปินท่านอื่น แสดงในเวทีที่ใหญ่ขึ้น หรือไปทัวร์ในจังหวัดต่างๆ จะพยายามผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเร็ว

มาร์ช: ถ้าให้คิดเร็วๆ ก็อยากดังนั่นแหละ (หัวเราะ)

คนที่ฟังเพลงวง HED นับเป็นคนเทสต์ดีไหม?

ต้น: ถ้าฟัง HED ก็เทสต์ดีสิครับ (หัวเราะ) เราปรุงมาขนาดนี้แล้ว ผมว่าวง HED เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ทำให้ทุกคนได้รับมุมมองใหม่ๆ HED เหมือนอาหารแปลกใหม่ ที่ครั้งแรกอาจจะไม่กล้ากินหรือไม่คุ้นชิน แต่ถ้าได้ลองชิมแล้วจะติดใจ

การ์ด: บางคนอาจจะชอบฟังเพลงคลาสสิก แต่บางคนชอบฟังเพลงอีสาน ไม่มีหรอกคำว่า เทสต์ดีหรือไม่ดี มีแค่ชอบหรือไม่ชอบ

อยากฝากอะไรถึงคนที่ยังไม่เปิดใจฟังเพลงอีสานและเพลงจากวง HED?

ต้น: จริงๆ ไม่ต้องเปิดใจหรอกครับ เดี๋ยวผมเก็บไว้ฟังเอง ของดีแบบนี้

มาร์ช: ใช้กลยุทธ์ยิ่งห้าม ยิ่งอยากฟัง (หัวเราะ) เชื่อผม ฟังเลย แล้วคุณจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ จากพวกเรา 3 คน

การ์ด: ไม่ต้องถึงขั้นเปิดใจก็ได้ แค่อยากให้ลองฟังเพลงวง HED สักครั้ง ว่า HED ก็เป็นอีกหนึ่งแนวเพลง อีกหนึ่งทางเลือกที่จะพาคุณไปเปิดโลก เป็นซาวนด์ใหม่ๆ ที่หลายคนอาจยังไม่เคยฟัง หรือจริงๆ แล้ว เพลงวง HED อาจเป็นเสียงดนตรีที่คุณกำลังตามหาอยู่ก็ได้

จากคำกล่าว ‘เฮ็ดในสื่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด’ แล้วสิ่งที่วง HED เชื่อร่วมกันคืออะไร?

“เชื่อในตัวเอง และเชื่อในเพื่อนร่วมวง HED สามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำเพลงแบบไหนก็ได้ ผมเชื่อใจในพวกเราทั้ง 3 คน สิ่งที่เราทำไม่มีทางผิดพลาดหรอก พวกเราวางใจในกันและกัน ไม่ใช่แค่เรื่องดนตรี แต่รวมไปถึงเรื่องชีวิตและการทำงาน HED เป็นวงที่ไม่มีค่ายดูแล แต่สามารถทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะความเชื่อใจทั้งด้านดนตรีและตัวบุคคล”

PHOTOGRAPHER

gunsept

เด็กหาดใหญ่ แหลงใต้ไม่เป็นแต่ว่า รักดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์