SYNOVA : วิธีคิดของผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของแบรนด์ใหญ่ทั่วโลก

บอกใครใครจะเชื่อว่าผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของเมนูเบเกอรี่และเครื่องดื่มในคาเฟ่ชั้นนำ ที่สำคัญเคยเป็นนักเรียนแพทย์!

แต่เชื่อเราเถอะ เพราะนั่นคือเรื่องราวจากชีวิตจริงของ มะปราง–สมสนิท วรรณประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัทซินโนวา (SYNOVA) ผู้ให้บริการคิดค้นสูตรเมนูเบเกอรี่และเครื่องดื่มให้กับคาเฟ่ ร้านอาหาร แบรนด์ชั้นนำทั้งของไทยและต่างประเทศ

มะปรางเล่าว่า จากนักเรียนแพทย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเซฟโซนมาตลอด เธอตัดสินใจก้าวผ่านความกลัว แล้วกระโดดเข้าสู่ความท้าทายในเส้นทางอาชีพเชฟขนมหวานเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะความเชื่อว่าทุกช่วงชีวิตคือการทดลอง และจงอย่าลังเลที่จะค้นหาความสุขระหว่างทางในการทำงานทุกๆ วัน

synova

จุดเริ่มต้นของบริษัทซินโนวาเกิดขึ้นได้อย่างไร

เราเริ่มจากการทำงานเป็นที่ปรึกษาในการครีเอตเมนูต่างๆ ให้กับแบรนด์ก่อน เนื้องานของเราหลากหลายมาก ไล่มาตั้งแต่คิดคอนเซปต์ ดูเทรนด์ของขนม รวมถึงออกแบบเมนูขนมและเครื่องดื่มให้เข้ากับคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ในแต่ละร้าน นั่นคือช่วงเริ่มต้น แต่หลังจากนั้นเราเริ่มเข้ามามีส่วนในการผลิตสินค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ จุดนี้เองที่ทำให้เรามีโอกาสเป็นเบื้องหลังของร้านอาหารและร้านกาแฟแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดเป็นซินโนวาขึ้นมา

ได้ยินมาว่า ก่อนที่จะมาทำงานบริษัทซินโนวา เส้นทางชีวิตคุณไม่ได้ใกล้เคียงกับวงการขนมหวานหรือเครื่องดื่มเลย

ใช่ เราไปเรียนที่เมืองนอกตั้งแต่อายุ 12 ตอนนั้นอยู่ในช่วงวัยรุ่นเนอะ ที่ต้องพิสูจน์ตัวว่าเราชอบอะไรกันแน่ ก็เลยพยายามเรียนให้ดีที่สุด จนในที่สุดก็พบว่าเราเรียนชีววิทยาได้ดี เลยคิดว่าอาจจะเหมาะกับอาชีพทางด้านนี้หรือเปล่า ประกอบกับที่บ้านฝั่งคุณพ่อเป็นคุณหมอกันหมดเลย ก็เลยตัดสินใจเรียนหมอ ตอนนั้นคือต้องเลือกและคิดว่านี่เป็นอาชีพที่มั่นคงแล้วแหละ

แล้วเราก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ไปเรียนเราก็ได้พบว่าการทำงานในโรงพยาบาล ในความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกับตอนเรียนนะ เป็นอีกแบบนึงเลย เราไม่ได้รู้สึกสนุกหรือชอบมันขนาดนั้น ในขณะที่พอกลับบ้านเราชอบทำขนมจนถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ชอบที่จะไปอ่านหนังสือหาความรู้เกี่ยวกับขนม ก็เลยค้นพบว่านั่นแหละคือความสุขในแต่ละวันของเรา ก็เป็นจุดที่ทำให้เราค้นพบตัวเอง

ตัดสินใจยากแค่ไหนในการเปลี่ยนเส้นทาง เพราะว่าถ้าจบหมอมาก็น่าจะมั่นคงแน่ๆ

ยากพอสมควรเลย เพราะว่าสิบกว่าปีที่แล้ว เชฟขนมหวานยังไม่เป็นที่นิยม อาชีพเชฟทำขนมหวานเหมือนไม่มีอะไรมารองรับเราเลย แต่เราก็ตัดสินใจที่จะไปเรียนด้าน Pastry Chef ก่อน และไปเรียนด้าน food science ให้ลึกเข้าไปอีก ซึ่งการเรียนเชฟจะเน้นการปฏิบัติ สอนให้เราเข้าใจเรื่องของการทำขนม การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบตกแต่ง แต่ว่าการเรียนด้าน food science ทำให้เราลงลึกไปถึงระดับโมเลกุลของอาหาร ทำให้เราเข้าใจในองค์ประกอบของมันอย่างแท้จริง

แต่ก็ยอมรับว่าตอนนั้นกลัวมากเลย แต่ต้องขอบคุณที่บ้านมากๆ ที่ให้โอกาส ให้เราทำสิ่งที่ถนัดแล้วก็ชอบด้วย คือเราเชื่อว่าถ้าได้ทำในสิ่งที่เราถนัดมากๆ แต่อาจจะไม่ได้ชอบมันนัก เราก็คงทำได้ดีในจุดหนึ่ง แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ทั้งชอบและถนัด เราคงจะมีความสุขในทุกๆ วันที่ได้ทำมัน

การทำขนมมอบความสุข ความสนุกให้คุณอย่างไร

เราเริ่มมานั่งคิดว่าความสุขระหว่างทางมันสำคัญ จากที่เราได้ลองทำขนม ได้หาความรู้ต่างๆ ในด้านนี้ เราสนุกที่ได้ตื่นมาทำมันในทุกๆ วัน แม้กระทั่งก่อนนอน ตอนเรากำลังจะทานข้าว เราก็จะคิดถึงขนมใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ เป็นชีวิตที่มีความสนุกและมีความตื่นเต้นว่าเราจะเอาอะไรมารวมกับอะไรเพื่อให้เป็นเมนูขนมใหม่ๆ ได้อีกบ้าง

ซึ่งการทำขนมมันมีความเป็นวิทยาศาสตร์พอสมควร เราต้องเขียนสูตรขึ้นมาให้เสร็จก่อน แล้วลงมือทำ ไม่สามารถทำไปชิมไปเหมือนอาหารคาวได้ สูตรขนมบางอย่างที่อยากจะทำให้ได้หรือไปให้ถึง เราต้องทำหลายครั้ง อาจจะ 6 ครั้ง 10 ครั้ง หรือขนมบางอย่างเราทดลองและล้มเหลวมากกว่า 30 ครั้งก็ยังมี เพราะการทำขนมมันยากตั้งแต่การออกแบบรูปร่าง น้ำหนัก การคำนวณราคาต้นทุน ไปจนกระทั่งถึงกลิ่น ซึ่งกลิ่นต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะว่าคนที่ชิมจะรับรู้กลิ่นเป็นอย่างแรกเลยว่าซับซ้อนไหม ลึกซึ้งไหม ใช่กลิ่นที่เขาชอบไหม รสชาติจะเป็นสิ่งที่ตามมา

ความสนุกก็คือการที่เราได้ใช้เซนส์ในเรื่องของการรับรู้รสชาติและกลิ่นให้ดีที่สุด ว่าคนประเทศไหนชอบแบบไหน เพราะว่าเราไม่ได้ทำงานให้เฉพาะกับแบรนด์ในประเทศไทย บางครั้งก็ต้องทำให้บางประเทศและต้องไปเข้าใจว่าคนประเทศนั้นชอบรสชาติแบบไหนกันแน่

ความท้าทายในการออกแบบเมนูให้แบรนด์ต่างๆ คืออะไร

ความยากก็คือเมื่อเราต้องดูแลหลายๆ แบรนด์ จะทำยังไงที่จะช่วยให้เมนูมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันและก็เข้มแข็งที่สุดในแบบที่เขาจะสามารถเป็นได้ มันคือการเข้าใจและมองเห็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพราะทุกครั้งที่เรารับโจทย์มาจะมีสิ่งที่ลูกค้าพูดและไม่ได้พูดออกมาเสมอ ซึ่งนี่คือประสบการณ์ที่เราเก็บเกี่ยวมาตลอด ในวันแรกๆ เรายังไม่รู้และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดหรอก แต่เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้เราเข้าใจในความต้องการของอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

อย่างที่เล่าไปว่าในความต้องการของแต่ละแบรนด์คือการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง และต้องการถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นผ่านเมนูอาหาร เขาอาจจะให้ข้อมูลเราบางส่วน และเราก็เป็นคนที่จะต้องแนะนำ ให้คำปรึกษาว่านี่เป็นสิ่งที่น่าจะเหมาะกับเขาที่สุด เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นตัวแทนของแบรนด์เขา

“ซึ่งความสมบูรณ์ของเมนูไม่ได้มีแค่ความสวยอย่างเดียว แต่มันคือความเหมาะสมลงตัว”

บางแบรนด์อาจจะชอบเมนูอะไรที่ดูใหญ่ๆ เยอะๆ หรือบางแบรนด์ที่ติดสัญชาติมาว่าเขาเป็นแบรนด์ออสเตรเลีย เป็นเกาหลี เป็นญี่ปุ่น ในเมนูที่เราออกแบบก็ต้องมีองค์ประกอบที่สื่อถึงประเทศเหล่านั้นให้ครบ เราต้องดูตั้งแต่การตกแต่ง รู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามาทานเป็นกลุ่มไหน อายุเท่าไหร่ คนไทยหรือต่างชาติ มันมีหลายส่วนที่ทำให้เมนูสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนุกมากและเป็นสิ่งที่เราถนัด ทำให้ซินโนวาแตกต่างจากวันเริ่มต้น

มีโจทย์ยากๆ ที่ได้รับบ้างไหม

ถ้าพูดถึงการสร้างขนมปัง เราก็ต้องพูดถึงรูปร่าง การสร้างโพรง ความเหนียวนุ่ม หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มก็ดี เค้กก็ดี ทุกเมนูมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ซึ่งคนที่มาทำงานหรือธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม จะมีความรักในงานนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราก็จะเป็นเหมือนผู้ช่วยให้เขาไปได้ถึงสิ่งที่อยากจะเป็น สานฝันของเขาให้ได้

เล่ากระบวนการทำงานให้ฟังหน่อย

เราจะมีกลุ่ม R&D ในการทำงานส่วนของเชิงตรรกะทั้งหมด การกำหนดสูตรต่างๆ หรือสเปกของสินค้า และเราก็มีทีมเชฟที่คอยครีเอตเมนูตามสูตรนั้นๆให้หน้าตา รูปร่างออกมาเป็นแบบที่ต้องการ  ซึ่งกลุ่มคนทั้งสองนี้ เราเลือกจากคนที่มี passion คนที่รักในสิ่งที่เขาทำ เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดความสมดุล เรามองหลายๆ สิ่งในชีวิตเป็นการทดลอง วางแผนให้มีหลายๆ ทางเลือก และใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ออกมาให้สวยงาม ซึ่งเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้แน่นอน

การทดลองในการทำงานสามารถปรับใช้กับชีวิตได้ด้วยหรือเปล่า

การใช้ชีวิตก็คือการทำการทดลองอยู่แล้ว ในแต่ละช่วงวัยของทุกคนก็มีช่วงของการที่เราจะทดลองหาตัวเองให้เจอ ว่าเราอยากจะทำอะไร เราทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ไม่ดี เราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร ถ้าค้นพบจนเจอ เราจะไม่ต้องรอความสุขที่ปลายทาง ระหว่างทางเราก็จะทำมันออกมาได้ดี และก็มีความสุขที่ได้ทำมันในทุกๆ วัน สิ่งนี้น่าจะปรับใช้ได้กับทุกๆ คนแหละ

ในทุกการทดลองน่าจะมาพร้อมกับความกลัว คุณจัดการและก้าวผ่านมาอย่างไร

เชื่อว่าทุกคนมีความกังวล มีความกลัวในสิ่งที่ตัวเองคาดไม่ถึง และมักจะเลือกอยู่ในคอมฟอร์ตโซน เพราะคิดว่ามันมั่นคงกว่า สบายกว่า ถ้าเราอยากจะก้าวข้ามตรงจุดนั้น และค้นพบสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด คงต้องรวบรวบพลัง หากเรามีโอกาสและได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เราก็จะทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราต้องฝ่าฟันด้วยตัวเราเอง มีข้อจำกัดหลายๆ อย่างจากครอบครัว ตรงนี้ก็คงต้องใช้กำลังใจและพลังใจในการทำมันที่มากกว่าเดิม

มีหลายๆ คนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าทำอะไรแล้วชอบ ทำอะไรแล้วไม่ชอบ ไม่รู้ว่าถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร มีความรู้สึกว่าฉันทำได้ทุกอย่าง หรือทำไม่ได้สักอย่าง ถ้ามีโอกาสพยายามทำการทดลอง โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงในหลายๆ จุดที่คุณยังทำได้ เพื่อหาว่าจริงๆ แล้วคุณมีความสุขที่จะทำอะไร คุณถนัดแล้วก็ชอบที่จะทำอะไร เพื่อว่าสักวันหนึ่งโอกาสจะมาถึง หรือว่าคุณจะเป็นคนสร้างโอกาสของคุณเองที่จะได้ทำสิ่งนั้นจริงๆ ที่คุณทั้งรัก ทั้งชอบ ทั้งถนัด มันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณที่คุณตื่นมาแล้วอยากจะทำทุกวัน แล้วก็ทำมันให้สำเร็จ

เราจะไม่คาดหวังอะไรจากมัน มันจะมีความสุขระหว่างทาง แล้วเราก็จะได้รับความสุขนั้นไปเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือของผลลัพธ์แห่งความสำเร็จนั้น มันเป็นผลพลอยได้

AUTHOR