ความเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนไม่ต้องการเผชิญ
ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ บ่อยครั้งความเปลี่ยนแปลงฟังดูน่ากลัว และมักถูกมองว่าเป็นการ ‘สูญเสีย’ หรือ ‘ผลเสีย’ มากกว่าดี ซึ่งส่งผลให้เราต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระบวนการตัดสินใจของเราด้วย
ลองนึกสถานการณ์ตามง่ายๆ
เอกำลังนั่งอยู่ในร้านอาหารที่เขาไปบ่อยๆ กับเพื่อน เมื่อเปิดดูเมนูตรงหน้า เขารู้สึกอยากลองเมนูใหม่ แต่ด้วยความหิว และไม่อยากเสี่ยงกับจานที่ไม่เคยกิน จึงเลือกสั่งแบบเดิม แทนที่จะสั่งจานใหม่ (ที่อาจถูกใจมากกว่าก็ได้)
หรือสถานการณ์ที่สอง
บีกลับจากที่ทำงานมาถึงห้อง เธอรับรู้ว่ามีงานบางชิ้นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องส่งให้รุ่นพี่วันไหน ทันใดนั้น มีข้อความจากรุ่นพี่ส่งมาเพื่อแจ้งข้อสรุป แต่เธอตัดสินใจไม่เปิดอ่านและดองแชตไว้ เพราะคิดว่า ไม่อ่าน = ไม่รับรู้ = ยังไม่ต้องทำ
การ ‘เพลย์เซฟ’ ฟังดูคล้ายความ ‘เคยชิน’ แต่สิ่งนี้มีชื่อเรียก นั่นก็คือ ‘Status Quo Bias’ หรือ อคติการยึดติดสภาพเดิม ซึ่งเป็นความคิดประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความต้องการอยากให้สิ่งต่างๆ ยังคงเป็นเช่นเดิม หรืออยากให้สถานการณ์ปัจจุบันยังคงเหมือนเดิม
แล้วพฤติกรรมแบบนี้คืออะไร มันส่งผลกระทบอย่างไร?

Status Quo Bias เลือกแบบเดิมไว้เป็นดี
คำคำนี้ถูกเสนอครั้งแรกโดย Richard Zeckhauser ในปี 1982 ซึ่งในการทดลอง จะให้ผู้เข้าร่วมถูกถามคำถามต่างๆ และพวกเขาต้องรับบทบาทเป็น ‘ผู้ตัดสินใจ’ คำถามเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นกับส่วนบุคคล ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
แน่นอนว่าผลการทดลองแสดงให้เห็นถึง Status Quo Bias อย่างชัดเจนในคำตอบของผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ผู้เข้าร่วมมีแนวโน้มที่จะเลือกตัวเลือกที่ ‘รักษาสภาพเดิม’ ไว้มากกว่า
แม้ว่า Status Quo Bias ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจมาพร้อมการเปลี่ยนแปลง แต่มันก็ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์หรือสิ่งที่ดีกว่าอีกด้วย
บางครั้งเราก็มีพฤติกรรมเช่นนี้โดยไม่รู้ตัว เช่น ดองแชต ไม่อยากคุยถึงปัญหาในที่ทำงาน หรือปล่อยจอยในความสัมพันธ์โดยไม่ยืนยันสถานะกับอีกฝ่าย ด้วยเพราะกลัวถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจไม่เหมือนเดิม หรือส่งผลต่อความรู้สึกวุ่นวายในชีวิตมากขึ้น จึงเลือกปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ (ทั้งที่เบื้องหลังนั้นอาจไม่ปกติ)
ในที่สุด สิ่งที่คุ้นเคยก็กลายเป็นข้ออ้าง เมื่อเราต้องเลือกระหว่างสิ่งที่เราคุ้นเคยและทางเลือกอื่น เราจึงรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะเลือกสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ในเมื่อมันอาจส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจที่ทำให้พลาดโอกาสบางอย่างไป

ไร้เหตุผลแต่ก็เวิร์ก
ถึงแม้ Status Quo Bias จะถูกมองว่าไร้เหตุผล แต่ก็สามารถส่งผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อชีวิตของเราได้ เช่น
- การยึดติดกับสิ่งที่ ‘เวิร์ก’ ในอดีตจะช่วยป้องกันไม่ให้เราอยู่ในความ ‘เสี่ยง’ และสามารถให้การปกป้องได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องตัดสินใจกับสิ่งที่ซับซ้อนหรือมีผลตามมา Status Quo Bias จะช่วยลดภาระข้อมูลที่มากเกินไปและให้ความปลอดภัยทางจิตใจในระดับหนึ่งด้วย
- Status Quo Bias ทำให้เรา ‘ชื่นชอบ’ สิ่งที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วจะถือว่าเป็น ‘สิ่งดี’ Status Quo Bias จึงช่วย ‘กรอง’ เพื่อแยกแยะว่าสิ่งใดควรเก็บไว้และสิ่งใดไม่ควรเก็บไว้

สบายใจแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน Status Quo Bias ก็ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ขี้เกียจ เพราะเราไม่ได้พิจารณาตัวเลือกทั้งหมดของเรา
- เมื่อมี Status Quo Bias การตัดสินใจของเราจึงขึ้นอยู่กับ ‘ความง่าย’ มากกว่า ‘การใช้เหตุผล’ ที่สมเหตุสมผล ด้วยเหตุนี้ เราจึงลงเอยด้วยการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองในหลายครั้ง
- การให้ความสำคัญกับ Status Quo Bias ในระดับสังคม มักถูกใช้เพื่ออธิบายความคิดแบบ ‘อนุรักษ์นิยม’ ซึ่งมักให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ เหมือนเช่นที่เป็นมาในอดีต แต่อย่าลืมว่า มันไม่ได้ความว่าสิ่งต่างๆ ในอดีตจะดีขึ้นเสมอไป เผลอๆ ทัศนคติประเภทนี้สามารถขัดขวาง ‘ความก้าวหน้า’ ในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโลกปัจจุบันได้ เช่น สิทธิของ LQBT+
ไม่ต่างจากอคติหรือการยึดติดทางความคิดอื่นๆ Status Quo Bias ก็มีมุมที่เป็นประโยชน์อย่างที่กล่าวไป เพราะมันช่วยป้องกันไม่ให้เราตกอยู่ใน ‘ความเสี่ยง’ ในบางเรื่อง มันจึงให้การปกป้องได้ในระดับหนึ่ง
แต่เช่นเดียวกันว่า การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบ่อยๆ ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากแท้จริงแล้วทางเลือกอื่นนั้นให้ความปลอดภัยและเป็นประโยชน์มากกว่า ‘ความเคยชิน’ ในปัจจุบันของเราเอง
เฉยหรือเสี่ยง ผลกระทบของสองสิ่งนั้นอาจต่างกันมหาศาล