The Puffin House : ร้านอุปกรณ์เดินทางของคุณหมอนักท่องโลก

ในยุคที่ใครๆ
ก็นิยมออกเดินทางไปดูโลกกว้าง หลายคนไปแล้วกลับมาเล่าเรื่องลงบนโลกออนไลน์
หนึ่งในนั้นคือ ‘หมอๆ ตะลุยโลก’ หรือ หมอวิน-นพ.อัศวิน ชมจิตต์ และ หมอโจ้-นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค ที่ออกท่องโลกกว้างแล้วกลับมาเล่าประสบการณ์
เคล็ดลับการเดินทางลงบล็อกและเพจจนโด่งดัง

ที่สนุกกว่านั้นคือ ทั้งคู่ไม่ได้หยุดแค่แบ่งปันเรื่องสนุกจากการเดินทาง
แต่ยังโดดมาเปิด ‘The Puffin House’ ร้านขายอุปกรณ์เดินทางขนาดกะทัดรัด
บริเวณย่านฝั่งธน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าโพธิ์นิมิตร โดยมีพีรวิชย์ หาญนวโชค
พี่ชายของหมอโจ้มาร่วมสนุกลงขันด้วยอีกคน

เรื่องราวของร้านสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเจ้าของเป็นคุณหมอนักเดินทางจะน่าสนใจแค่ไหน
ลองอ่านกันเลย

ร้านของนักเดินทางโดยนักเดินทาง
อัศวิน: “ที่มาของร้านนี้คือเราคิดว่าช่วงนี้มาเรียนต่อด้านแพทย์เฉพาะทางซึ่งเรียนหนัก
คงไม่ได้เที่ยวแล้ว แต่เราเป็นคนชอบเที่ยว เที่ยวมาตลอดตั้งแต่หลังเรียนจบหมอ และทุกวันนี้เพจ
‘หมอๆ ตะลุยโลก’ ก็ยังคงเดินหน้าต่อ เราคอยรับคำถามหลังไมค์
ซึ่งมีหลายคำถามที่เราก็อยากแก้ปัญหาให้พวกเขาบ้าง เช่น
เขาถามเรื่องการแต่งตัว การหาเป้ การเดินทางในสภาพภูมิอากาศต่างๆ เราเลยคิดว่าน่าจะทำร้านขายอุปกรณ์เดินทาง
ซึ่งถ้าขายแต่ของก็คงดูเหมือนร้านทั่วไป
เราเลยอยากทำให้ร้านมีความเป็นคอมมูนิตี้ คือมีการจัดทอล์ก เชิญคนที่มีประสบการณ์ในการเที่ยวในภูมิภาค
หรือกลุ่มประเทศนั้นๆ มาพูดคุย ซึ่งเรายังไม่เคยเห็นร้านแบบนี้มาก่อนในประเทศไทย”

อรรควิชญ์: “ที่ผ่านมา เราทำรีวิวการเดินทางกันเยอะมาก
เขียนประสบการณ์แบบที่ถ้าปัจจุบันก็เรียกว่าบล็อกเกอร์ ตอนนี้เราไม่มีเวลาแล้ว ไปเที่ยวเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้
แต่ยังมีข้อมูลที่ทำมาตลอด 3 ปีเยอะมาก
ทั้งที่เขียนไปแล้วและยังไม่ได้เขียน ก็เลยคิดว่าเราน่าจะมีช่องทางในการเอาข้อมูลพวกนี้มาเผยแพร่
เปลี่ยนจากการเขียนเป็นการพูด”

อัศวิน: “ก็เลยเป็นที่มาของคอนเซปต์ Travel Store & Community ของร้าน The Puffin House ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นเดอะ
พัฟฟิน คำนี้มาจากนกพัฟฟินซึ่งเป็นนกที่น่ารัก
แล้วเราก็รู้สึกว่าความน่ารักของมันน่าจะดึงดูดคน มากกว่าคำอย่าง Travel Outdoor
Shop”

ปักหมุดในที่ที่ยังไม่มีคู่แข่ง
อรรควิชญ์: “ตอนเลือกทำเลร้าน เรามองแล้วว่า
ร้านขายอุปกรณ์เดินทางในเขตเมืองมีเยอะมากแล้ว
เลยรถไฟฟ้าสถานีสยามไปมีเป็นตับ แต่ที่ฝั่งธนฯ ซึ่งเป็นแถวบ้านผมยังไม่มีที่แบบนี้
ผมมองว่าฝั่งธนฯ เป็นที่ที่มีพลัง มีคนหลายแสนคนอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันถ้าคนจะซื้อของคือไปสะพานควาย
ไปอารีย์ ย่านนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมองผ่านไป เราก็เลยเดินเท้าไล่หาทำเล ตั้งแต่สถานีโพธิ์นิมิตรจนถึงสถานีกรุงธนบุรีก่อนจะข้ามไปอีกฝั่ง
ตอนแรกเจอตึกหลังนึงแถวกรุงธนบุรีฯ แต่ค่าเช่าเดือนละตั้งสามหมื่น แพงเกินไป
ผมก็เดินมาแถวนี้ เจอบ้านหลังนึง ยังทำไม่เสร็จเลย เจ้าของบ้านกำลังรีโนเวต
แต่มองแล้วว่าโอเค ใกล้บีทีเอสมาก แค่ 30 เมตรเอง แล้วซอยนี้เป็นทางขึ้นรถไฟฟ้าสถานีโพธิ์นิมิตร
ดูสถิติปีที่แล้วคนใช้สถานีโพธิ์นิมิตรไม่เยอะ ประมาณสี่ห้าหมื่นคน แต่ทุกคนมาลงทางออกที่
1 ซึ่งเป็นทางมาถึงตรงนี้ แล้วคนก็เข้าซอยนี้มาเยอะ มีคนเดินผ่านตลอดเวลา ผมก็เลยมาคุยกับเขา ตึกที่เช่ามี 3 ชั้น
ตอนแรกตั้งใจจะแบ่งแต่ละชั้นเป็นแต่ละส่วนเลย แต่ในเฟสแรกที่ทำ คิดว่าถ้าเกิดเปิด 2 ชั้น
อย่างแรกคือดูแลยาก ต้นทุนสูง ก็เลยทำเป็นเฟสเดียวกันไปก่อน”

 

ขายของแท้ ราคาเป็นมิตร
อัศวิน: “ส่วนของ Travel Store ตอนนี้คนซื้อจะเจอปัญหาคือ เราไม่แน่ใจว่าของที่ซื้อเป็นของแท้หรือเปล่า
เราเลยคุยกันว่าถ้าเอาของที่ไม่แท้มาขาย
แล้วมาบอกว่าก๊อปเกรดเอหรือของเหมือนของจริงแต่ว่าไม่รับประกันนะ ในราคาที่เกือบเท่าของจริง
น่าจะเป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภค เราเลยตัดสินใจว่าน่าจะขายแต่ของแท้ในราคาจับต้องได้
หันมาหากลุ่มคนที่เริ่มต้นเดินทาง ไม่อยากใช้งบในการแต่งองค์ทรงเครื่องสูง เพราะบางครั้งสโลแกนของพวกเราก็เป็นการเดินทางเชิงประหยัดหน่อย
ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีหลายแบรนด์
แบรนด์ที่เรารู้จักดีมากอย่าง The
North Face Columbia มีค่าแบรนดิ้งสูง เราก็มองหาแบรนด์ต่างๆ ที่ราคาถูกลงมาอย่าง Quechua ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขยายนำสินค้าอย่าง The North Face Columbia เข้ามาในสินค้าบางประเภทที่น่าสนใจและราคาไม่แพงมากนัก เช่น ถุงมือ หมวก”

อรรควิชญ์: “เราตั้งใจไว้ว่าจะยกคนในแฟนเพจที่มีอยู่มาที่ร้าน
ซึ่งคนกลุ่มหลักเป็นผู้หญิง อายุ 25 – 34 ปี ก็ดูจากเพจ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มากเลยในเพจ
สินค้าทุกอย่างก็น่าจะพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้เป็นหลัก ส่วนเรื่องของแท้ ตอนแรกคิดกันหนักมาก ถ้าเราเลือกของแท้มาขาย
มาร์จิ้นก็จะไม่สูงมากเพราะว่ามันมีตัวแทนประเทศไทย กว่าจะมาถึงเราก็เป็น second dealer ที่จริงแล้ว ดีที่สุดคือต้องไปดีลสินค้ามาเองจากต่างประเทศ
ผมจะกลายเป็นเจ้าของแบรนด์นี้ในประเทศไทย
ทุกอย่างจะดีกว่ามาก แต่ต้นทุนสูงเพราะคุณต้องสต็อกสินค้าอาจจะเป็นหลักล้านบาท
ซึ่งผมมองว่าไม่เหมาะกับช่วงเริ่มต้น เลยต้องไปดีลกับเจ้าของที่มีสินค้าในเมืองไทยแล้ว
ทำให้มาร์จิ้นไม่สูงอย่างที่บอก ขณะเดียวกัน ถ้าคุณไปเอาของก๊อปเกรดเอมา
กำไรจะสูงมาก แต่พวกผมก็ตั้งใจว่าจะทำร้านให้เป็นสิ่งที่จะดีต่อไปในอนาคต
ถ้าเกิดเราเริ่มต้นด้วยของก๊อปเกรดเอ ในอนาคต ถ้าเราอยากเอาของอย่าง The North Face มาขาย แต่ร้านเคยมีประวัติขายของก๊อปเกรดเอมาก่อน
ใครจะดีลกับผมล่ะ เราก็ต้องเริ่มต้นให้ถูกก่อน ตอนปลายทางจะได้เป็นของแท้ไปตลอด
ทุกคนก็จะรู้ว่ามาที่นี่ ของที่ขายคือของแท้”

โฟกัสสินค้าให้ถูก
อัศวิน: “ผมจะรับผิดชอบดูส่วนของร้านค้า ผมก็มองว่าควรโฟกัสกับชิ้นไหน
และไม่โฟกัสกับชิ้นไหน ตอนนี้พอมองเห็นภาพแล้วว่าชิ้นที่ควรโฟกัสคือกระเป๋า
เพราะว่าไม่มีไซส์เยอะ มีแค่สี แล้วสีก็มีไม่เยอะ สีพื้นคือ ดำ เทา กับสีที่ไม่ใช่สีพื้นซึ่งมีอยู่ไม่กี่สี ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันทำให้เรามองเห็นช่อง
เมื่อเทียบกับเสื้อที่ยากมากเลย ในขณะที่อุปกรณ์อย่างอื่นเช่น
พวกเครื่องประดับมันก็ดีนะ แต่บางคนเขาไม่รู้ว่าเอาไว้ทำอะไร อย่างกุญแจล็อกดีๆ ที่มีปลดรหัสหรือว่ามีสายคล้อง
ผมรู้ว่าอันนี้มันดี ควรใช้ แต่คนที่เริ่มต้นมาใหม่ เขาจะบอกว่าทำไมต้องใช้ด้วย”

ร้านของคนวางแผนล่วงหน้า
อรรควิชญ์: “ของในร้านเรา ถ้าคุณไม่ได้รีบมาก
สมมติต้องการ 3 เดือนล่วงหน้า ต้องการรุ่นนี้ โอเค เราหาได้สบายมาก ทุกรุ่นหาได้หมด
แต่คนที่ต้องการไปปีนเขาพรุ่งนี้แล้ว มาร้านเราอาจจะไม่ตอบโจทย์
คุณต้องไปร้านที่ใหญ่กว่านี้”

 

ที่รวมตัวของขาเที่ยว
อรรควิชญ์: “ถ้าเป็นวันธรรมดา ด้านหน้าจะเป็นช็อป ส่วนที่เรานั่งอยู่ก็จะเป็นที่นั่งคุยกันแบบวันนี้
ตั้งกิจกรรมมา ใครอยากไปไหนก็มานั่งคุยกันได้ แต่ถ้าเป็นวันอาทิตย์ ผมก็จะเก็บหมด
กลายเป็นส่วนจัดทอล์กเต็มตัว ตอนนี้ทุกวันอาทิตย์ก็จะมีจัดกิจกรรม เช่น จัดเรื่องการไปเที่ยวไอซ์แลนด์
เป็นทอล์ก ถ้าคุณมาแบบความรู้เป็นศูนย์ ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับไอซ์แลนด์
แต่คุณอยากจะไปไอซ์แลนด์ ไปดูแสงเหนือ คุณต้องทำยังไง มาฟังกันได้ 20 คนต่อรอบ ผมอยากให้ที่นี่เป็นโรงเรียนของแบ็กแพ็กเกอร์
พวกผมมีประสบการณ์มากพอจะทำในช่วงต้นได้และก็ถือว่าไม่มีต้นทุน เพราะพวกผมซึ่งตีต้นทุนตัวเองเป็นศูนย์
แต่พอผ่านหลังจากระยะสามสี่เดือนแรกไปแล้ว
คิดว่ามันน่าจะเริ่มวนลูปแล้ว เราก็ต้องหาคนที่มีความรู้ในด้านที่แตกต่าง
เป็นคนที่รู้จัก เช่น คนที่เคยไปอเมริกาใต้มาช่วย”

“ครั้งแรกที่จัดผมไม่ได้เก็บตังค์
กะจะลองเทสต์ดู แต่พอรับคนมาเสร็จ สุดท้ายเขาไม่มาแล้วไม่แจ้งด้วย
มันทำให้งานที่เราวางแผนไว้ทั้งหมดเสียไปเลย ตอนหลังเลยเรียนรู้ว่าถ้าทำแบบนี้
ผมวางแผนงานระดับ1-2 เดือนล่วงหน้าไม่ได้ สมมติผมขอสปอนเซอร์มาบอกเจ้าของผลิตภัณฑ์ไว้ว่า
โอเค จะมีครั้งละ 20 คน 6 ครั้งติดกัน 120 คน ปรากฏว่าเขามาสังเกตการณ์ดูมีครั้งละ
5 คน ตายพอดี เราก็เลยต้องเก็บเงินค่ากิจกรรม เป็นขั้นต่ำให้คนฟังรู้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่เขาต้องมาฟังผมพูด
ซึ่งเขาก็จะมาครบจริงๆ ถ้าเป็นสูตรนี้ ส่วนเรื่องหัวข้อที่พูด
สองครั้งแรกที่จัดผมพูดเรื่องทั่วๆ ไป ปรากฏว่ามันกระจัดกระจายมาก
คุมความสนใจคนให้อยู่ในที่เดียวกันไม่ได้ แต่พอมาเจาะประเด็นว่าเป็นไอซ์แลนด์
แสงเหนือ ทุกคนที่มาที่นี่คือไอซ์แลนด์กับแสงเหนือ มีแค่สองอย่าง Icelandair ที่เป็นสปอนเซอร์ก็ได้คุยกับคนที่จะไปไอซ์แลนด์จริงๆ
ตรงกลุ่ม ผมเองก็พูดได้ง่าย อีกทั้งยังแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีในร้านที่ใช้ที่ไอซ์แลนด์ได้ด้วย
เป็นการแทรกโฆษณาผลิตภัณฑ์เข้าไปในการจัดทอล์กโดยที่ไม่เกิดปัญหาอะไรอีก”

ออนไลน์คือความหวัง
อัศวิน: “อย่างที่เรารู้กันคือในกรุงเทพฯ
จะเป็นศูนย์กลางที่มีอุปกรณ์เดินทางขายเยอะมาก แต่ต่างจังหวัดมันไม่มีร้านสำหรับนักท่องเที่ยวจริงๆ
คนก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหนดี เขาเสิร์ชไปเจอข้อมูลอะไรก็ไม่รู้
แต่เขารู้ว่าเราเป็นคนชอบเที่ยว มีฐานข้อมูลเยอะ แล้วเรามีความรู้จริง แนะนำเขาได้
เขาก็ไว้ใจในการที่เราแนะนำของให้ ตัดสินใจว่าสำหรับเขา ของชิ้นนั้นเหมาะมั้ย
ถ้าเหมาะ เขาก็สั่ง มันเลยทำให้ผมพยายามทำตลาดออนไลน์ซึ่งถือว่าในอนาคตก็คงมีมากขึ้น
เพราะตอนนี้ยอดออนไลน์มากกว่ายอดออฟไลน์เยอะ ประมาณ 70 – 30 ซึ่งในอนาคตออนไลน์น่าจะ
90 เพราะตอนนี้กลายเป็นว่าทุกคนรีเควสต์ของ แต่ของยังไม่มา
มีคนสั่งออร์เดอร์มาจากทั่วทุกภาคแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่คือกระเป๋า เพราะเป็นสิ่งที่เขาหาซื้อไม่ได้ในบริเวณแถวนั้น”

“ในส่วนแผนการตลาดออนไลน์ ตอนแรกเราคิดว่าจะใช้เพจหมอๆ
ตะลุยโลกประชาสัมพันธ์ แต่คิดว่ามันอาจจะดูขายตรงไปนิดนึง เพราะที่เราตั้งใจทำเพจตั้งแต่แรก
เราตั้งใจทำเป็นฐานข้อมูล ไม่อยากให้เป็นเพจขายของตามไทม์ไลน์ เราก็เลยไปตั้งเซ็ตใหม่ของทางร้าน
เป็นแฟนเพจของ The Puffin House แทน
อันนี้เราจะลงเต็มที่แล้วก็อาจจะใช้การบูสต์โพสต์ ใช้อินสตาแกรม ใช้ไลน์มาช่วย
ซึ่งตั้งแต่ทำมา ที่เวิร์กที่สุดคืออินสตาแกรม เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเห็นจากอินสตาแกรม
ในขณะที่เฟซบุ๊กตอนนี้เราไม่แน่ใจว่ามันลด reach ของแฟนเพจหรือเปล่า ทำให้โอกาสการเห็นมันน้อยลง ข้อมูลที่เป็นคอนเทนต์การขายโดยตรงจะไม่ค่อยเวิร์ก
ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่ทำให้มีความน่าสนใจในการแชร์มากกว่า
ถ้าเกิดข้อมูลไม่น่าแชร์ ไม่เวิร์ก เท่ากับว่าเราเอาเงินไปโฆษณาทิ้ง แล้วจำนวนไลก์ของเพจไม่เกี่ยวกับจำนวนยอดขายสักนิดเดียวนะ
คือถ้าคนเขาอยากได้ เขาก็จะซื้อ ผมเคยมี motto อันนึง ตลกมาก คนถามไม่ซื้อ คนซื้อไม่ถาม เป็นอย่างนั้นจริงๆ
คนส่วนใหญ่ที่ถามเยอะเกิน 10 ประโยค ไม่เคยซื้อเลย แต่คนถาม 3 ประโยคจบ ซื้อหมด”

อรรควิชญ์: “แต่ยังไงก็ตาม การมีเพจมาก่อนส่งผลมากนะ ถ้าเกิดไม่มี
ผมคิดไม่ออกว่าจะพาคนมาหาเราได้ยังไง คงต้องใช้เงินอย่างเดียว ซื้อโฆษณา จ้างดารา ขณะที่พอเรามีเพจมาก่อน
มันก็ทำให้ทำงานง่ายขึ้น เหมือนมีช่องทางหลักในการกระจายข่าวของตัวเอง”

เพิ่มคุณค่าสินค้าด้วยประสบการณ์คนขาย
อรรควิชญ์: “ตอนนี้ผมคิดว่านอกเหนือจากการใช้วิธีมาตรฐานอย่างอินสตาแกรม
ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ผมคิดว่าอาจต้องสร้างสิ่งที่แตกต่างจากร้านทั่วไป ถ้าคุณขายของ ก็บูสต์โพสต์เจอกับร้านอื่นอยู่ดี
เหมือนไปแข่งสนามเดียวกับเขา ต้องสร้างอะไรที่แตกต่างมากขึ้น ร้านอื่นเขาอาจขายของอย่างเดียว
แนะนำอุปกรณ์ได้ แต่เขาทำสิ่งที่ไกลกว่านี้ไม่ได้ ขณะที่ผมไปได้ไกลกว่านี้ คุณจะได้ความรู้มากขึ้น
เพราะผมเป็นคนที่จับต้องได้จริงๆ พูดง่ายๆ คือทักได้ คุยได้ ประสบการณ์
ผลงานก็มีอยู่ เราไม่ได้เป็นคนขายของแต่เป็นนักท่องเที่ยวมาก่อน แต่อยากมาขายของอีกที่นึงเฉยๆ
ให้เป็นการเพิ่มคุณค่าในสินค้า ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่ามีเป้ Deuter ใบนึง ลูกค้าไปซื้อที่ห้างก็จะเจอพนักงาน ซึ่งอาจจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือแค่คนที่ถูกจ้างมาขายของ
อันนี้ผมบอกไม่ได้ แต่ถ้าคุณมาซื้อที่ผม ผมแบก Deuter มา 7 ปี อยู่กับมันมานานมาก ผมก็จะมีประสบการณ์อื่นเสนอเพิ่มให้ได้ด้วย”

คิดก่อนทำ
อัศวิน: “ผมว่าก่อนเปิดร้าน คุณต้องเขียนงบการเงินออกมาบนกระดาษก่อน การที่เราโลกสวย คิดไปเอง มันไม่เวิร์ก
มันต้องคิดถึงกรณีที่แย่ที่สุดว่าเรามีสายป่านยาวแค่ไหน เหมือนเราซื้อคอนโดฯ ปล่อยเช่า เราปล่อยเช่าเดือนละหมื่น
ผ่อนเดือนละแปดพัน สมมติไม่มีคนเช่าปีนึง ไหวมั้ย
ไม่มีคนเช่า 2 ปีไหวมั้ย แล้วถ้าไม่มีคนเช่า 2 ปีนี่ควรซื้อมั้ย แต่ถ้าเกิดคิดว่ามีคนเช่าแน่ๆ 3 เดือน อะไรมาสนับสนุนว่าคนจะเช่าเรา 3 เดือนแน่ๆ
เพราะตรงนั้นคอนโดฯ เต็มหรือเปล่า หรือคอนโดฯ มันว่างมาก ถ้าเกิดคอนโดฯ ว่างมาก เขาอาจไม่เช่าของเราก็ได้ ถ้าเกิดเราเขียนเรื่องการเงินลงไปแล้วในกรณี worst case scenario แล้วเราสายป่านไหวอยู่ ก็น่าทำ แล้วเรื่องการตลาด
ถ้าคิดแล้ววิธีการแบรนดิ้งมันไม่เวิร์ก สร้างความแตกต่าง
ทำให้คนรับรู้ภายในเวลาอันสั้นได้เร็วที่สุดไม่ได้ ก็ไม่เวิร์ก”

ธุรกิจต้องเติบโต
อรรควิชญ์: “ตอนนี้รายได้ผมจะมาจาก 3 ทาง ทางแรกคือกำไรสินค้าที่ขายต่อชิ้น ทางที่สองคือการที่ผมจัดทอล์ก เก็บค่าใช่จ่ายราวๆ 300 – 500 บาทโดยทั่วไป ทางที่สามคือสปอนเซอร์ที่มาสนับสนุนร้าน
ซึ่งตอนนี้ก็กำลังประเมินอยู่ว่าควรเน้นไปทางไหนดี
รายได้แต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ตอนนี้ผมคิดว่าการทำทอล์กโปะค่าใช้จ่ายขั้นต่ำแต่ละเดือนได้แล้วในระดับนึง
แต่การทำร้านมันต้องมีกำไรไปโปะทุนที่ผมลงทุนไปทั้งหมดด้วย ซึ่งผมมองว่าสุดท้ายแล้ว
ยอดสินค้าต้องโตมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำสัก 3 เดือนแล้วยอดมันไม่โตขึ้นเลย
ได้เดือนละหมื่น มันก็คงไม่ใช่แล้ว ต้องมาประเมินแล้วว่ามันควรทำต่อมั้ย
เหนื่อยขนาดนี้ เลิกขายไปอยู่เวรต่อดีกว่า จะมาเหนื่อยขนาดนี้ทำไม
ก็คงต้องมาประเมินอีกทีนึง”

 

เดินทางในดินแดนใหม่
อัศวิน: “การทำร้านนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายนะ
ถ้าเราเรียนอะไรมาแล้วไปทำงานสายนั้น มันก็ดูไม่ยากเมื่อเทียบกับเรียนอะไรมาแล้วไม่ได้ทำอะไรในสายนั้นเลย
เป็นโจทย์ที่ทำให้เราต้องคิดต้องทำ”

อรรควิชญ์: “วิชาบริหารไม่เคยมีในหลักสูตรแพทย์เลยครับ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องมาเรียนรู้ใหม่ การเป็นหมอคุณทำสิ่งที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ไม่ได้
ออกไปจากมาตรฐานได้ก็นิดเดียว แล้วคุณก็ต้องกลับเข้ามาแล้ว เพราะถ้าเกิดทำผิด
คุณก็จะโดนจับเข้าคุก แต่ในทางการตลาดมันไม่ใช่ คุณจะทำอะไรก็ได้เท่าที่จินตนาการพาไปถึง
ทุกวันก็มีบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ ถ้าเป็นหมอก็เหมือนเจอเคสผู้ป่วย
ยิ่งเจอก็ยิ่งเก่ง”

“ก่อนเปิดร้าน คุณต้องเขียนงบการเงินออกมาบนกระดาษก่อน การที่เราโลกสวย คิดไปเอง มันไม่เวิร์ก มันต้องคิดถึงกรณีที่แย่ที่สุดว่าเรามีสายป่านยาวแค่ไหน ในกรณี worst case scenario แล้วเราสายป่านไหวอยู่ ก็น่าทำ แล้วเรื่องการตลาด ถ้าคิดแล้ววิธีการแบรนดิ้งไม่เวิร์ก สร้างความแตกต่าง ทำให้คนรับรู้ภายในเวลาอันสั้นได้เร็วที่สุดไม่ได้ ก็ไม่น่าทำเหมือนกัน” — อัศวิน ชมจิตต์

The Puffin House

ประเภทธุรกิจ: ร้านขายอุปกรณ์เดินทาง
คอนเซปต์: Travel Store and Community
เจ้าของ: อัศวิน
ชมจิตต์ (28 ปี) อรรควิชญ์ หาญนวโชค (29 ปี) พีรวิชญ์ หาญนวโชค (31 ปี)
Facebook | The Puffin House

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR