“วันนี้เป็นอะไร ดูมึงไม่มีสติเลย”
“สติค่ะ สติ”
เคยเจอคำพูดทำนองนี้กันมาบ้างใช่ไหม
แน่นอนว่าคำพูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าเราบ้าหรอก เพราะมันมักเกิดในบริบทที่เราเกิดอาการ ‘อ๊อง’ จากบางสถานการณ์ในชีวิตประจำวันมากกว่า เช่น
ไปซื้อของกับเพื่อนในร้านสะดวกซื้อ แต่ตอนที่กำลังถือของเดินไปคิดเงิน พอเห็นหน้าพนักงาน จู่ๆ เราก็พูดขึ้นมาว่า “แก๊สโซฮอล์ 91 สองร้อยครับ”
หรือ
อยู่ในร้านก๋วยเตี๋ยว แต่ตอนที่กำลังจะสั่ง สมองกลับบอกให้เราพูดว่า “เส้นเล็กลูกชิ้นหมาค่ะ” จนเพื่อนต้องเตือนว่า “ลูกชิ้นหมาบ้านป้ามึงสิ ลูกชิ้นหมู”
เหล่านี้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเราขาดสติ และผลลัพธ์อาจหนักหนาขึ้น หากอยู่ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงหรือสุ่มเสี่ยงมากกว่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุคนี้ที่หลายคนชอบค่อนขอดว่าเป็นยุคสมัยแห่งความ ‘เปราะบาง’ ทางความรู้สึก จากปัจจัยและบรรยากาศหลายอย่างในสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระเบิดทางอารมณ์ในแง่ใดแง่หนึ่ง เนื่องจากผู้คนไม่มีอะไรให้เกาะเกี่ยวในเชิงอารมณ์ มันจึงสั่นไหวและแตกสลายง่าย
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนพุ่งไปข้างหน้าเร็วและแรง จน(เราอ้างได้ว่า)ไม่มีเวลาให้ได้หยุดคิดหรือพิจารณาความรู้สึกอย่างถี่ถ้วน มันจึงส่งผลต่อการกระทำที่ ‘ขาดสติ’ ซึ่งต่อเนื่องมา
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้คนจึงค้นหาและหันหาคำว่า ‘สติ’ มากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม ศาสตร์ใหม่ๆ เทรนด์ใหม่ๆ ที่ต่อยอด และพยายามผลักดันการฝึกการ ‘เจริญสติ’ เพิ่มมากขึ้น เพราะมันกลายเป็นวิธีแก้ไขความเครียดและความวิตกกังวลจากชีวิตในยุคนี้ที่ได้ผล
‘การฝึกสติ’ จึงถูกดึงมาเป็นเรื่องใกล้ตัว
แต่ในขณะเดียวกัน พอพูดถึงคำว่าการฝึกสติ หลายคนมีภาพเกี่ยวกับคำคำนี้ว่าต้องเป็นเรื่องซับซ้อนหรือใช้เวลานาน จึงไม่กล้าเริ่มต้น แต่ในความเป็นจริง การฝึกสติในชีวิตประจำวันอาจไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ที่สำคัญ คุณค่าและผลลัพธ์ของการฝึกสติอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตแบบ ‘องค์รวม’ ส่งผลต่อรากฐานความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงการพัฒนาตนเองได้
ลองมาดูกันว่า เราจะเชื่อมโยงการฝึกสติเข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างไร อย่าลืมว่า มันอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้เลย
อย่า ‘ตอบสนอง’ แต่ให้ ‘สังเกต’ ความคิด
ระหว่างการใช้ชีวิตในแต่ละวัน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาคือเรื่องของ ‘ความคิด’ ซึ่งส่งผลมาจากสิ่งที่เราพบเจอ และธรรมชาติของมนุษย์เรา เมื่อความคิดเกิดขึ้น เรามักมีปฏิกิริยาบางอย่างเพื่อ ‘ตอบสนอง’ ต่อมัน จนบางครั้งอาจทำให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ดังนั้น หากจะลองฝึกสติ เมื่อความคิดเกิดขึ้น แทนที่จะตอบสนอง ให้เปลี่ยนมาลอง ‘สังเกต’ อย่ารีบเร่งตัดสินหรือพยายามผลักมันออกไป แต่ให้สังเกตและยอมรับ เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การ ‘บรรลุ’ ถึงความรู้สึก ความคิด หรือสภาวะใดๆ แต่เป็นเพียงการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ นอกจากนี้ การสังเกตจะช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงรูปแบบความคิดของตนเองมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และช่วยให้เราสร้างระยะห่างระหว่าง ‘ตัวเรา’ กับ ‘ความคิด’ เราได้

จดจ่อต่อสิ่งตรงหน้าอย่างตั้งใจ
ทุกวันนี้การเป็นมนุษย์แบบ ‘Multifunction’ คือมีสกิลทำหลายอย่างได้พร้อมกันถือเป็นเรื่องปกติ เพราะหลายคนมองว่า ยิ่งทำหลายอย่างพร้อมกันมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีประสิทธิผลมากขึ้นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานหลายอย่างพร้อมกันอาจไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือมีประสิทธิภาพอย่างที่คิด แต่การทำงานทีละอย่างจะทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เข้าใจได้ว่า โลกทุกวันนี้ ความไวเป็นสิ่งที่ปฏิเสธลำบาก บางคนจึงไม่ค่อยอยาก ‘เสียเวลา’ ไปกับสิ่งที่มองว่าไม่ก่อให้เกิด ‘ผลประโยชน์’ เช่น รีบกินข้าวให้เสร็จจะได้รีบไปทำงานต่อ แต่หากต้องการฝึกสติผ่านการโฟกัสระหว่างวัน ช่วงเวลาของการกินข้าวอาจเป็นบททดสอบที่ดี ลองให้ความสนใจอย่างเต็มที่กับรสชาติ สัมผัสของอาหาร กลิ่นของอาหาร เมื่อไหร่ก็ตามที่เผลอหลุดโฟกัสไปยังสิ่งอื่น ลองค่อยๆ ดึงความสนใจกลับมาที่อาหารตรงหน้าอีกครั้ง การฝึกสติในการกินข้าวนี้สามารถเปลี่ยนรูทีนประจำวันให้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้

ฝึกการหายใจ
หากใครเป็นแฟนกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล ต้องเคยดูการ ‘ดวลจุดโทษ’ อย่างแน่นอน ในเวลาเช่นนั้น นักเตะที่ต้องออกมาเป็นผู้ยิงจุดโทษ จะเต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันในการดวลตัวต่อตัวกับผู้รักษาประตู เราจึงมักเห็นการ ‘หายใจลึก’ เวลากล้องซูมไปที่ใบหน้านักเตะ ก่อนจะยิงจุดโทษอยู่บ่อยๆ นั่นเพราะการหายใจสัมพันธ์กับเรื่องของสติและสมาธิ และเมื่อมีสมาธิ การยิงจุดโทษก็มีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหากจิตใจเต็มไปด้วยความกดดัน
ในการฝึกสติประจำวัน เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถหาเวลาจากวันอันแสนยุ่งเหยิงได้ ลองหลับตาและหายใจลึกๆ จดจ่อกับความรู้สึกของอากาศที่เข้าและออกจากปอด สังเกตให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิดด้วยการใส่ใจว่าลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นอย่างไร เย็นหรืออุ่น การหายใจเข้าออกทางจมูกและปากจะช่วยให้รู้สึกมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เคร่งเครียด

ลองเดินหรือเคลื่อนไหวอย่างมีสติ
ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ ‘การเดินอย่างมีสติ’ เพื่อเยียวยาความรู้สึก โดยเฉพาะการเดินท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งดีต่อสุขภาพกายและใจ การฝึกสติจึงสามารถทำได้ผ่านการเดินและการเคลื่อนไหว ลองหาเวลาในแต่ละวันเพื่อ ‘ใส่ใจ’ โลกรอบตัวระหว่างเดินดู สังเกตสีสันบนท้องฟ้า เสียงธรรมชาติรอบข้าง ปล่อยให้เสียงธรรมชาติปลอบประโลมจิตใจ อาจฟังดูแปลกสักหน่อย แต่หากเราอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ให้ลองฟังเสียงรถรางรอบข้างแทน เพราะเสียงเหล่านี้ก็สามารถเตือนใจถึง ‘ชีวิต’ ที่อยู่รอบตัวเราได้

อยู่กับปัจจุบัน
การฝึกสติที่คลาสสิกที่สุดที่เรามักได้ยินคือ ‘การอยู่กับปัจจุบัน’ การหมั่นใส่ใจจิตใจตลอดทั้งวันสามารถช่วยเจริญสติได้ ลองสังเกตว่าแต่ละช่วงเวลา จิตใจของเราล่องลอยไปในความฟุ้งซ่านหรือความคิดเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคตมากน้อยแค่ไหน หากรับรู้ว่าจิตใจและความคิดกำลังเตลิดไป ให้พยายามนำความคิดกลับมาสู่ปัจจุบันให้เร็วที่สุด
บางคนอาจมองว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆ แต่หากลองฝึกจิตใจให้มีสติด้วยวิธีง่ายๆ ในแต่ละวันอย่างมีวินัย การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละที่จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงในระยะยาว
แล้ววันหนึ่งเราอาจรู้ตัวว่า ชีวิตเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแบบไม่รู้ตัวก็ได้
