นี่มันซีนในหนังของเวส แอนเดอร์สันชัดๆ นั่นคือความคิดแวบแรกเมื่อเราเห็นมานีมีใจบอกว่าเธอและคนรักเปิดสตูดิโอใหม่
ประตูสีเหลืองรูปพระอาทิตย์คือสิ่งแรกที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเรามาถึง Sailom Sangdad Homey Studio สตูดิโอแห่งใหม่ของมานีมีใจ หรือ อุ๊–สุพัตรา หมั่นแสวง ช่างภาพสาวเจ้าของภาพถ่ายสีสดใส และ ต้น–เอกภณ เศรษฐสุข ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอหลากหลายผลงานไม่ว่าจะเป็น The Only One ของ Part Time Musicians ลมเปลี่ยนทิศ ของ Big Ass หรือเพลง RIVER ของสาวๆ BNK48
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการทำสตูดิโอของทั้งคู่ เพราะก่อนหน้านี้อุ๊และต้นได้แบ่งพื้นที่บ้านพักส่วนหนึ่งมาสร้างสีสันสดใสให้กับสตูดิโอ Maneemejai’s Home Space ในย่านลาดพร้าวมาแล้ว การออกแบบและตกแต่งสไตล์น่ารักแบบเกาหลีและญี่ปุ่นทำให้โฮมสเปซของมานีมีใจได้รับความนิยม จนพวกเขาคิดอยากขยับขยายพื้นที่ให้มีสตูดิโออีกแห่งเพื่อรองรับงานสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบได้
และเป็นเหตุผลให้เรายืนอยู่หน้าบ้านหลังใหญ่ย่านรามอินทราเพื่อพูดคุยกับพวกเขา เมื่อสายลมพัดมาและแดดสาดส่อง ทั้งคู่ก็เปิดประตูรอต้อนรับเรากันอยู่แล้ว
โซฟา กระเบื้อง สีบ้าน กระจกใส จากพื้นไปจนเพดานนั้นมีชีวิตชีวา
อุ๊และต้นพาเราเดินเข้ามาในห้องแรกของสตูดิโอ เมื่อเรากวาดสายตาไปรอบๆ ห้องนี้มีพื้นไม้สีน้ำตาลอ่อน โซฟาสีแดงและเหลืองตั้งอยู่ตรงกลาง ตู้สีน้ำตาลตรงนั้น กระถางต้นไม้ตรงนี้ ที่นี่คือห้องรับแขกของสายลมแสงแดดสตูดิโอ เจ้าบ้านชวนเรานั่งเปิดบทสนทนากันในบรรยากาศที่แสงแดดเริ่มสาดเข้ามาภายในห้อง
“เราใช้เวลา 2-3 ปีถึงได้เจอบ้านหลังนี้” ช่างภาพสาวเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง “จุดเริ่มต้นที่ตามหาสถานที่ทำสตูดิโอใหม่มันเกิดจากตอนแรกเรามีมานีมีใจโฮมสเปซเป็นโมเดลธุรกิจเล็กๆ ของเรา ซึ่งผลตอบรับมันเกินความตั้งใจของเรามาก แล้วเรารู้สึกว่าอยากขยายให้มันมีสตูดิโอจริงจังอีกสักที่”
“พื้นที่เดิมมีหลากหลายมุมให้ได้ถ่ายกันเยอะมาก แล้วงานวิดีโอก็อยากมาถ่ายด้วย แต่เพราะจุดเริ่มต้นมันเป็นการถ่ายรูปอย่างเดียวเลย มันเลยอาจจะยังไม่ซัพพอร์ตวิดีโอมากนัก เราเลยคุยกันว่างั้นมาหาสถานที่ที่ตอบโจทย์ทั้งสองอย่างดีกว่า” ต้นช่วยอธิบายเสริม
หากพูดถึงมานีมีใจโฮมสเปซ ที่นั่นถูกแต่งแต้มด้วยสีสันสดใสทุกมุมห้อง แต่สำหรับที่นี่ดูต่างออกไป พวกเขาเลือกตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้วินเทจในแบบที่อุ๊ชอบ
“ที่นี่จะแตกต่างจากที่เดิมมาก ไฮไลต์ของที่นี่คือทำให้บ้านดูมีชีวิต เพราะเราเลือกของจากที่เคยมีชีวิต ของทุกอย่างเป็นวินเทจ ซึ่งเคยมีเจ้าของมาก่อนแต่ถูกทิ้งให้ไม่มีมูลค่า พอเราเลือกแต่ละชิ้นมาไว้ในบ้านหลังนี้ มันเหมือนกับเราเพิ่มบทบาทให้ของชิ้นนั้นๆ ชุบชีวิตให้มันมีคุณค่ามากขึ้น แล้วเราก็อยากให้บ้านมีเรื่องของแสง กลิ่น บรรยากาศ การเดินทางของคนด้วย” ช่างภาพสาวเล่า
เราลองกวาดสายตาไปรอบๆ บ้านอีกครั้งเพื่อสำรวจบ้านที่มีชีวิตตามที่อุ๊บอก มันเป็นจริงอย่างนั้น กลิ่นอายของของใช้วินเทจทั่วทุกมุมห้องทำให้เราสัมผัสได้ถึงคำว่าบ้าน ไม่ใช่บ้านที่เห็นได้ทั่วไป แต่คือบ้านในฉากภาพยนตร์ต่างประเทศสักเรื่อง
“สตูดิโอเดิมของเราจะสไตล์เกาหลี ญี่ปุ่น พอมาที่นี่ด้วยโครงสร้างบ้านทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องเป็นแบบฝรั่ง แต่เราไม่ถนัดฝรั่งเลย ไม่เคยไปเที่ยวด้วยซ้ำ เลยทำให้เราเครียดว่าเฮ้ย มันจะไปได้ไหมวะ แต่พอทำไปมันก็สนุก เหมือนยิ่งไปค้นรูปเก่าๆ ไปดูตัวอย่างที่เมืองนอกมาด้วย” อุ๊บอกกับเราอย่างร่าเริง
แต่กว่าจะได้ออกมาตรงตามใจอุ๊กับต้น ทั้งสองต้องใส่ใจทุกๆ รายละเอียดของบ้าน ถึงขั้นที่ต้นเอ่ยปากบอกเราว่า พวกเขาตั้งใจเลือกของตกแต่งตั้งแต่พื้นไปจนถึงเพดาน
“แต่สนุกมาก” เขาว่าอย่างนั้น
แต่ก่อนที่พวกเขาจะไปเลือกซื้อของเข้ามาตกแต่งบ้าน อุ๊บอกกับเราว่าครั้งนี้เธอวางแผนในแต่ละห้องด้วยการคิดคาแร็กเตอร์ของคนที่จะอยู่ในห้องห้องนั้นก่อน เพื่อให้เห็นภาพแล้วสามารถเลือกของมาตกแต่งได้อย่างลงตัวด้วยการหาตัวอย่างจากหลายๆ ที่มาประกอบเป็นภาพของห้องห้องนั้น
“เราสร้างแต่ละห้องจากคาแร็กเตอร์คนที่เราจินตนาการขึ้นมา ก่อนซื้อของมาตกแต่ง เราพยายามคิดให้ดีก่อน ต้องคิดเยอะ เปรียบเทียบสีและวัสดุหลายอย่างมาก เช่น เราได้โซฟาตัวนี้มา แล้วเราอยากให้โซฟาสีแดงนี้มันอยู่กับสีแดงโทนนี้ เราก็เอารูปโซฟา 2 ตัวไปเปรียบเทียบกันว่ามันอยู่ด้วยกันได้จริงๆ ไหม แต่ถ้าเป็นสตูดิโอเดิม เราจะซื้อมันเลย ใช้ความรู้สึกอย่างเดียว” อุ๊อธิบาย
ไม่ใช่แค่โซฟา แต่พวกเขาลงรายละเอียดตั้งแต่ภายนอกไปจนถึงภายใน ต้นเล่าว่ากว่ากระเบื้องสีเขียวที่ติดด้านหน้าบ้านจะลงตัวเขากับอุ๊ต้องเลือกกระเบื้องถึง 6-7 ร้านมาเปรียบเทียบกัน
“อย่างสีหลังคาบ้านแข่งกันอยู่ประมาณ 8 สี สีถังละสามร้อย ห้าร้อย พันหนึ่งบ้าง ก็ซื้อมาหมดเลย ซื้อมาลอง ลองสีหนึ่งแล้วก็ยืนมอง คิดว่าอันไหนดี ทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 3 อาทิตย์ แค่นั่งดูสีหลังคาอย่างเดียว” ต้นเล่าอย่างอารมณ์ดี
“สุดท้ายใช้สีเดิมนะ เพราะสีอื่นๆ ที่เอามาลองมันปลอมมาก” อุ๊เล่าเจือเสียงหัวเราะ “มีอีกอันคือ สีหน้าต่างของห้อง living room ตอนแรกเป็นสีเข้มมากๆ แล้วไม่น่าอยู่ กระจกก็เป็นฟิล์มดำหมดเลย เราเลยเปลี่ยนเป็นกระจกใส แล้วให้ช่างขัดพื้น ขัดหน้าต่าง เพราะอยากได้สีไม้ที่อ่อนกว่านี้ ขัดเกือบสิบรอบจนช่างเกลียด” อุ๊พูดจบ พวกเราส่งเสียงหัวเราะไปกับเธอด้วย
ความที่อยากให้บ้านหลังนี้มีชีวิตชีวาทำให้ทั้งสองบอกว่า พวกเขากลายเป็นนักพกตลับเมตรและอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้านแทนการพกกล้องไปทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น ต้นยังยอมหยุดรับงานนานกว่าครึ่งปีเพื่อลงแรงให้กับสตูดิโอนี้
“เราทำงานโปรดักชั่นอยู่ตั้งหลายปี พอมาทำอันนี้แป๊บเดียวทำให้เราเรียนรู้โลก โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สุดท้ายสำหรับเราในการทำแต่ละห้อง ไม่ได้เหมือนการสร้างบ้าน มันเหมือนการสร้างซีนหนังมากกว่า ใช้ศาสตร์เดียวกันเลย เราจะคิดว่าเวลาคนเข้ามา แล้วคนจะรู้สึกยังไงกับห้องนี้ เขาจะได้กลิ่นอะไร เขาจะเห็นอะไร แล้วเขาจะได้ยินเสียงอะไรบ้าง ทุกอย่างเหมือนการสร้างซีนหนัง แค่เปลี่ยนบรรยากาศจากการกำกับหน้ากอง มากำกับผู้รับเหมา กำกับช่างแทน”
เป็นสตูดิโอที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนในวงการ
นอกจากการสร้างสตูดิโอให้มีชีวิตแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อุ๊และต้นคำนึงถึงคือการสร้างพื้นที่ให้ตอบโจทย์ต่อผู้ใช้งาน
“ด้วยความที่เราสองคนทำงานที่ต้องใช้สตูดิโอ แล้วเราก็เจอโลเคชั่นมาเยอะ แต่ละที่มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันไปหมดเลย พวกเราไม่ชอบพื้นที่ที่ดูแข็งๆ ไม่มีชีวิต เราเลยเลือกสร้างพื้นที่แบบที่เราอยากได้ ให้ตอบโจทย์คนทำงานด้วย” อุ๊เล่า
“เราเป็นผู้กำกับ สมมติมีงานถ่ายบ้านหลังหนึ่ง จะมีทีมโลเคชั่นส่งโลเคชั่นมาให้เรา 5-6 ที่ เราดูแล้วมันเป็นบ้านกลางๆ คาแร็กเตอร์ไม่ได้ชัดมาก แล้วเรารู้สึกว่าเวลาทำงานไม่ค่อยสนุก เราเลยพยายามหาฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ต่อคนทำงานวิดีโอด้วย” ต้นช่วยเสริมขึ้น
แต่ในรายละเอียดการสร้างสรรค์สตูดิโอให้ตอบโจทย์ทั้งงานภาพนิ่งและวิดีโอไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความต้องการในแต่ละงานไม่เหมือนกัน
“เราขัดแย้งกันไปหลายรอบมาก” ต้นเล่าแล้วหัวเราะ ก่อนจะอธิบายอีกว่า
“อุ๊ถ่ายภาพนิ่ง เขาก็อยากจะสร้างพื้นที่ที่สุดกว่านี้อีก เช่น ห้องนั่งเล่นอาจจะกลายเป็นสีเขียว ติดวอลเปเปอร์ที่เอาออกไม่ได้ทั้งห้องไปแล้ว แต่พอต้องนึกถึงภาพวิดีโอ ซึ่งเป็นงานที่เน้นการใช้พื้นที่ ทั้งมุมสูงและมุมกว้าง เราต้องคำนึงถึงตรงนี้ ห้องนี้เลยต้องมีความสุดแบบกลางๆ คือถ้ายกเก้าอี้ออก แล้วเอารูปออก ก็จะสามารถเซตเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ห้องผู้ชาย ถ้าเอาของทุกอย่างออก แต่โครงสร้างของห้องใต้หลังคาก็ยังอยู่ เราเลยต้องพยายามบาลานซ์ให้ใช้ได้ทั้งสองงาน”
“ส่วนมุมช่างภาพ เราจะดีเทลมากๆ ว่าตรงนี้ไม่ควรมีปลั๊กเพราะรีทัชยาก กำแพงตรงนี้ห้ามเลอะ แม้กระทั่งตะปูที่อยู่ในรูปเราก็อยากให้เป็นสีขาว เพราะอยากให้ดึงรูปออกแล้วก็ยังเป็นสีขาวอยู่ สีต่างๆ ที่เลือกใช้ในห้องต้องเอามาเปรียบเทียบกันตลอดว่าอยู่ห้องเดียวกันได้ไหม ขึ้นกล้องไหม ฟอร์มของต้นไม้ต่างๆ ต้องรับแสงในช่วงเวลาไหนได้บ้าง โซฟาที่เลือกนางแบบนั่งแล้วขาจะต้องไม่สั้น เตียงจะต้องไม่ยวบ มันเป็นเรื่องของดีเทลมากๆ เลย” ช่างภาพสาวอธิบาย
นอกจากนี้ อุ๊และต้นยังลงรายละเอียดของงานด้วยการสังเกตแสงที่จะเข้ามาในช่วงเวลาต่างๆ ห้องไหนแสงเข้ามาในช่วงเวลาใด หรือแม้กระทั่งเล่นกับแสงด้วยการติดกระจกสีรุ้งเอาไว้ที่ห้องด้านล่าง เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นให้กับคนทำงานด้านภาพได้สนุกกับพื้นที่ของบ้านมากขึ้น
“สำหรับเราอยากให้คนมาที่นี่เพราะสายลมแสงแดดเป็นสตูดิโอที่เขาอยากมา ไม่ได้เป็นตัวเลือกสุดท้ายเพราะที่อื่นเต็ม ดังนั้น เราเลยทุ่มเท พยายามมองหาว่าตรงไหนที่จะช่วยทำให้คนในวงการเดียวกันทำงานได้ เราตกแต่งไปด้วย หยิบกล้องขึ้นมาลองถ่ายไปด้วย ส่วนพี่ต้นเปิดดู reference จากงานโฆษณา มิวสิกวิดีโอ และหนัง ว่าเขาต้องการอะไร พวกเราทุ่มเทและใส่ใจมันมากๆ”
สายลมและแสงแดด 4 ห้อง 4 คาแร็กเตอร์
แม้ว่าภาพรวมของสตูดิโอแห่งนี้จะเป็นสไตล์วินเทจและมีความเป็นบ้านครอบเอาไว้ แต่เจ้าบ้านทั้งสองใส่ใจรายละเอียดแต่ละห้องด้วยการสร้างคาแร็กเตอร์เจ้าของห้อง ซึ่งมีจุดเด่นและแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
“เรารู้สึกว่าถึงแม้อยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่ก็ไม่มีใครที่มีรสนิยมเหมือนกันทั้งบ้าน เราเลยแบ่งแต่ละห้องให้เป็นแต่ละคาแร็กเตอร์ แล้วมันสนุกกว่าการคุมโทนสีให้เหมือนกันทั้งหมด เราคิดด้วยว่าคนที่มาที่นี่ เขาจะรู้สึกว่าฉันชอบห้องนี้ ฉันชอบมุมนี้ แล้วเราจะเข้าใจว่า อ๋อ ก็คนแบบนี้จะชอบห้องนี้ไง”
ห้องไหนจะตรงกับคาแร็กเตอร์ใครบ้าง เราอยากชวนคุณลองไปสำรวจกัน
Living Room
เริ่มกันที่ห้องนั่งเล่นที่อยู่ทางซ้ายมือเมื่อเดินเข้ามาจากประตูหน้าบ้าน ห้องนี้ตกแต่งด้วยสีโทนร้อนอาบไล้ไปทั่วห้อง ทั้งโซฟา ภาพวาดติดผนัง กระถางต้นไม้ หรือแม้กระทั่งหนังสือที่วางเรียงรายทั่วชั้น ช่างภาพสาวบอกกับเราว่านี่คือสไตล์ห้องนั่งเล่นที่จริงจังในยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่อุ๊ชอบ ด้วยสีสดๆ ที่น่าสนใจทำให้เธอเลือกมาตกแต่งห้องนั่งเล่นนี้
“living room จะเน้นธีมเดียวกับชื่อบ้านชัดเจน เพราะห้องนี้จะเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างวงกลมทั้งหมดเลย เพื่อแสดงถึงพระอาทิตย์ ดังนั้นถ้าสังเกตดีๆ จะมีพระอาทิตย์เยอะมาก” ต้นอธิบายเสริม
ถัดจากพื้นที่สีโทนร้อนเดินต่อมาเรื่อยๆ เราจะเห็นเปียโนทางด้านซ้ายวางอยู่หน้าบันไดทางขึ้นชั้นสอง อุ๊บอกว่ามุมนี้เป็นมุมของคาแร็กเตอร์ผู้ชายที่เธอสร้างขึ้น ซึ่งผู้ชายคนนี้ชื่นชอบการเล่นเปียโนมาก แต่ขณะเดียวกันเขาก็หลงใหลในภาพพระอาทิตย์ตกดิน ทำให้กรอบรูปเหนือเปียโนเต็มไปด้วยภาพวาดแสงอาทิตย์ตกแต่งอยู่
อีกมุมใกล้กับเปียโนยังมีพื้นที่นั่งเล่นอันประกอบไปด้วยโซฟาสีเขียวอ่อน พร้อมตู้หนังสือสีน้ำตาลขนาดใหญ่อัดแน่นไปด้วยหนังสือเรียงรายอยู่ ที่นี่เป็นห้องนั่งเล่นเล็กๆ สำหรับคาแร็กเตอร์ผู้ชายในบ้าน บรรยากาศจะแตกต่างจากห้องนั่งเล่นโทนร้อนอย่างมาก แม้ทั้งสองห้องจะอยู่ชั้นเดียวกันก็ตาม
Cafe Room
เดินลงบันไดจากห้องนั่งเล่นลงมายังชั้นล่างจะเจอกับเคาน์เตอร์สีเขียวและพื้นที่คาเฟ่ในบ้าน
“ห้องนี้เป็นคอนเซปต์บ้านคุณย่าอยู่ในหุบเขาต่างประเทศ คาแร็กเตอร์คุณย่าเป็นคนชอบเย็บปักถักร้อย งานประดิษฐ์ และชอบทำกับข้าว” อุ๊อธิบาย
ใกล้ๆ กันมีพื้นที่โต๊ะกินข้าวที่ตกแต่งด้วยม่านลายตารางสีเขียวอ่อนและผนังวอลเปเปอร์ลายดอกไม้ พร้อมทีวีเก่าตั้งอยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นห้องครัวอีกสไตล์ น่ารักอบอุ่น
Girl’s Room
ก้าวเท้าขึ้นบันไดไปชั้นสอง แล้วบิดกลอนประตูเพื่อเริ่มสำรวจห้องแรกคือ ห้องนอนของผู้หญิง ผนังสีชมพูตัดสลับกับสีฟ้า ตกแต่งด้วยม่านสีขาวนวลตาให้บรรยากาศเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในฉากภาพยนตร์ต่างประเทศสักเรื่อง สำหรับห้องผู้หญิงอุ๊เล่าว่า เธอสร้างคาแร็กเตอร์ให้เป็นเด็กสาวลูกครึ่ง ชอบสีชมพู ชอบเล่นไพ่ และมักพาเพื่อนมาเมาท์ในห้อง
“ผู้หญิงคนนี้มีความเรียบร้อยปนความซ่าหน่อยๆ เพราะตอนกลางคืนเธอจะปีนหน้าต่างออกไปข้างนอก เป็นผู้หญิงชอบดอกไม้ มีแมวชื่อมิมิกุโมะ มาจากชื่อเพลงของ BNK48 แปลว่า ท้องฟ้ามีหู” เล่าเสร็จอุ๊เริ่มหัวเราะ แล้วเธอก็จัดแจงให้แมวส่งเสียงทักทายพวกเราในห้อง
“เราตั้งใจอยากให้มันดูฝรั่งๆ ชอบหนังที่สไตล์นั้นด้วย มีกลิ่นวัยรุ่น เด็กๆ น่ารักดี มันดูเสรี”
แต่ที่ดึงดูดเราเป็นพิเศษเห็นจะเป็นบันไดสีเขียวตรงมุมห้อง ซึ่งเชื่อมต่อขึ้นไปยังชั้นลอยของห้องนี้
“ตรงนี้เราต่อเติมใหม่ ตอนแรกเพดานห้องต่ำกว่านี้ แต่เราอยากให้ตอบโจทย์การทำงานของโปรดักชั่นต่างๆ ที่ต้องอาศัยแสง ไฟ อุปกรณ์ต่างๆ ด้วย เราเลยรีโนเวตใหม่” ต้นอธิบาย
Boy’s Room
ขยับตัวออกจากห้องผู้หญิงมาสู่ห้องผู้ชาย จุดเด่นของห้องนี้คือเพดานเฉียงตรงหัวเตียง และมีแสงจากหน้าต่างสองข้างสาดเข้ามาในคล้ายห้องใต้หลังคา การตกแต่งเต็มไปด้วยโทนสีสบายตาแตกต่างจากห้องอื่นๆ
“ห้องนี้เป็นห้องผู้ชายติดเหล้าหน่อยๆ” ต้นพูดขึ้น เรียกเสียงหัวเราะพวกเรา “เขาเป็นคนไม่ชอบออกจากบ้าน ชอบอยู่บ้าน เขียนหนังสือ และชอบศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์”
นอกจากพื้นที่ห้องที่เรายกตัวอย่างมาแล้ว สายลมแสงแดดโฮมมี่สตูดิโอยังมีห้องเรนโบว์ ห้องว่างที่มีกระจกสะท้อนแสงเป็นสีรุ้ง ห้องครัวขนาดเล็ก สวนหน้าบ้าน และห้องสตูดิโอสีขาว เพื่อตอบโจทย์งานสร้างสรรค์ที่สนใจมาใช้พื้นที่บ้านหลังนี้ด้วย
“เราอยากให้ทุกคนมาสนุกกับพื้นที่นะ เราอยากเห็นคนมาเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนเซต เปลี่ยนอะไรให้บ้านเราทุกวัน มันสนุกมากตรงที่เราได้เห็นมุมมองของช่างภาพ ได้เห็นการทำงานของคนอื่น ได้เห็นบ้านเราในมุมมองของคนอื่น มุมที่มันสวย มุมที่เราไม่เคยมอง ในฐานะที่เป็นเจ้าของโลเคชั่น มันสนุกมากที่ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของหลายๆ คน ในโลกของวงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่สตูดิโอนี้ และเราอยากให้ทุกคนได้มาสนุกในพื้นที่ของเรา” อุ๊ทิ้งท้าย
ใครสนใจอยากถ่ายภาพที่ Sailom Sangdad Homey Studio สามารถติดต่อได้ที่เพจ facebook.com/SailomSangdadHomeyStudio เลยนะ