Return to Seoul คนสองแผ่นดินที่เปลี่ยวเหงาและการตามหาครอบครัวที่สร้างบาดแผลกลายเป็นปมลึกยากสะสาง

จากข้อมูลในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ “เสียงร้องจาก… บุตร ‘บุญ’ ธรรมเกาหลีใต้” รายงานว่า มีบุตรบุญธรรมชาวเกาหลีใต้กว่าสองแสนคนส่งออกไปสู่ครอบครัวอุปถัมภ์ในซีกโลกตะวันตกเป็นจำนวนมากติดอันดับโลก ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลี

เด็กเหล่านั้นที่โตขึ้นมาต้องเผชิญกับความรู้สึกย้อนแย้งและไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนเลยกลายเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างสองประเทศ (in between) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเพื่อนของผู้กำกับภาพยนตร์ ดาวี ชู (Davy Chou) ที่ชื่อ Laure Badufle ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์และอยู่เบื้องหลังที่มาของเรื่อง Return to Seoul คืนรังโซล เรื่องนี้ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาหลังจากฝากผลงานไว้ในเรื่อง Diamond Island (2016) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกและได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ Laure Badufle เดินทางกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดเกาหลีใต้ของตัวเองเมื่อวัย 23 ปี เพื่อตามหาพ่อแม่ตามสายเลือด กลายเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว ความรู้สึกผิด และกำแพงภาษาที่ส่งผลกับการสื่อสาร ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นฉากต่างๆ ของภาพยนตร์ โดยในเรื่องมีคุณป้าชาวเกาหลี ที่รับบทโดย คิม ซอนยอง (Kim Sun-young) นักแสดงสมทบหญิงเจ้าบทบาทอาจุมม่าหน้าตาคุ้นเคย ที่ฝากผลงานไว้ในซีรีส์เรื่องดังที่สร้างความประทับใจคนไทยอย่างเรื่อง Reply 1988 (2015), Vagabond (2019) และ Crash Landing On You (2019) เป็นต้น

Return to Seoul คืนรังโซล เปิดตัวรอบพรีเมียร์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2022 ซึ่งได้เข้าฉายในสายการประกวดรอง Un Certain Regard ทั้งนี้ยังเป็นตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศกัมพูชาที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอยู่ใน short lists (15 เรื่องที่ผ่านการคัดเลือกจากทั้งหมด 93 ประเทศ) รางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ในสาขา (Best International Feature Film) แม้ไม่ผ่านเข้าไปถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย แต่ก็ได้รับเสียงวิจารณ์และคะแนนรีวิวในทางบวกจาก เว็บมะเขือเน่า อย่างท่วมท้น

Return to Seoul คืนรังโซล ภาพยนตร์ 3 ภาษาสลับกันไปมาระหว่าง ฝรั่งเศส เกาหลี และอังกฤษ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ พัค จีมิน (Park Ji-min) รับบทเป็น เฟรดดี หรือ ยอนฮี (ชื่อแต่กำเนิด) คาแรกเตอร์หลักที่ดำเนินเรื่องนี้ เธอรับบทเป็นหญิงสาวเชื้อชาติเกาหลีใต้ที่ครอบครัวชาวฝรั่งเศสรับไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเล็ก ก่อนที่จะเรียนรู้ภาษาหรือวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย เฟรดดี กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดด้วยความไม่ตั้งใจอันเนื่องมาจากแผนท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นถูกพายุถล่มจนต้องมาแลนดิ้งที่ประเทศเกาหลีใต้แทน 

แต่กลายเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอจนไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีก จากที่ตั้งต้นการไม่มีแผนใดๆ ในมือกลายเป็นการเดินทางเพื่อค้นหาครอบครัวที่ยอมทิ้งเธอไปสู่อ้อมอกของคนแดนไกลมารับไปอุปถัมภ์ ด้วยหลักฐานที่มีเพียงรูปถ่ายติดตัวใบเดียวโดยมี เทน่า ที่รับบทโดย ฮันกุก (Guka Han) เพื่อนคนแรกที่สื่อสารภาษาฝรั่งเศสและช่วยออกตามหาครอบครัวชาวเกาหลีก็ยังไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ที่ไม่มั่นคงที่มาจากจิตใจที่อ่อนไหวของ เฟรดดี ได้ตลอดรอดฝั่ง

ตลอดทั้งเรื่อง เฟรดดี ต้องเผชิญความรู้สึกความย้อนแย้งกับตัวตนของเธอที่แตกต่างจากผู้คนแปลกหน้าที่มีหน้าตาสีผมเหมือนกัน แม้ใบหน้าที่คนมองว่าถอดมาจากคนเกาหลีโบราณมีความบริสุทธิ์ดั้งเดิม กลับไม่เชื่อมต่อถึงรากเหง้าและครอบครัวทางสายเลือดของตัวเองแม้แต่น้อย ทั้งภาษา ความคิดและวิถีชีวิต ที่แตกต่างกันสุดขั้ว ยิ่งทำให้ เฟรดดี ตีตัวออกห่างจากทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทั้งในฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ที่เป็นแผ่นดินเกิด ความเหงา เศร้า และเปล่าเปลี่ยว ยิ่งสร้างความสับสนให้กับคนๆ หนึ่งเป็นอย่างมาก ทำให้การเดินทางครั้งนี้ที่ขยายจากสองสัปดาห์ลากยาวกินเวลากว่า 8 ปี

คำถามคาใจที่ไม่สามารถสลัดทิ้งได้ เวียนกลับมาหลอกหลอนในวันครบรอบวันเกิดทุกๆ ปีของ เฟรดดี 

“แม่จะคิดถึงเธอบ้างหรือไม่ แล้วตอนนี้แม่อยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรบ้าง” 

เหมือนเป็นประโยคแหลมคมอันตรายที่ทิ่มแทงใจและกัดกินไปจนถึงตอนท้ายเรื่อง การโดนปฏิเสธจากคนในครอบครัว สร้างบาดแผลที่เผลอไปเปิดรับความเจ็บปวดให้ค่อยๆ เข้ามาทำร้าย ยิ่งรู้มากขึ้น ยิ่งทำให้หัวใจและแววตาของ เฟรดดี ล่องลอยออกไปไกลจนเรามองตามไม่ทัน 

ความสะเทือนใจที่ผู้ชมได้รับคือการเห็นช่องว่างที่มองไม่เห็นทำให้เธอผลักทุกคนรอบกายออกไปจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม นั่นก็อาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกที่เกิดมาจากการไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนเลย แม้แต่บ้านเกิดหรือเป็นประเทศที่เธอเติบโตขึ้นมา โชคชะตาก็ดูเหมือนจะเล่นตลกเมื่อมอบหน้าที่ให้เด็กคนหนึ่งที่ถูกส่งไปอยู่ต่างแดนโดยไม่ได้เลือก กลับต้องมาอยู่เบื้องหลังการป้องกันดินแดนที่ไม่ต้อนรับเมื่อเธอเกิดมา 

แม้จะให้เหตุผลว่าทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเธอ พ่อและย่าที่ตัดสินใจยื่นเธอให้เอเจนซีรับเลี้ยงเด็กเพื่อให้ครอบครัวชาวตะวันตกที่พร้อมกว่ามาอุปถัมภ์ในวันนั้นต่างก็ต้องแบกรับกับความรู้สึกผิดต่อ เฟรดดี หรือ ยอนฮี สะสมเรื่อยมากว่า 20 ปี จนเมื่อได้พบหน้าลูกสาวแบบไม่ทันตั้งตัว ทุกคนก็ดูจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะไถ่ถอนบาปกับพระเจ้าและชดเชยผ่านการกระทำเท่าที่สติปัญญาจะนึกถึงได้เพื่อทำให้ลูกและหลานที่ทิ้งไปรู้สึกเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน 

แต่ระยะทางสร้างระยะห่างทั้งร่ายกายและจิตใจจนเป็นทางคู่ขนานที่ไม่สามารถมองหน้าหรือสัมผัสกันได้อย่างสนิทใจ กำแพงทางภาษาและวัฒนธรรมดูจะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ยิ่งทำให้ไม่สามารถข้ามสะพานมาเจอกันได้ 

ตัวละครแม่ ที่เป็นชนวนเหตุสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดดูจะคลุมเครือและน่าโกรธแค้นแทน เฟรดดี ที่เจ็บช้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนผู้ชมอยากเข้าไปกอดเธอแน่นๆ สักครั้ง บีบมือส่งพลังใจให้เธอเชิดหน้ากลับมาเป็นหญิงสาวคนเดิมที่สดใส กล้าหาญ มีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง 

ภาพบรรยากาศประเทศเกาหลีผ่านมุมมองนักทำหนังชาวฝรั่งเศสทั้งมีเสน่ห์และโดดเดี่ยว จนหลายครั้งที่เราอินและเห็นอกเห็นใจตัวละคร เฟรดดี อย่างจับใจ ประกอบกับดนตรีประกอบที่คัดมาจัดวางได้อย่างถูกที่ถูกเวลาทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนติดตามและสร้างความประทับใจให้ผู้ชม

Return to Seoul คืนรังโซล เดินหน้าคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์รอบโลกถึง 9 รางวัล อาทิ 

– Los Angeles Film Critics Association Awards (New Generation Award) 

– Boston Society of Film Critics Awards (Best Film) 

– Asia Pacific Screen Awards (Best Director, Best New Performance) 

– Tokyo FILMeX (Special Jury Prize)

รับชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ลิงก์


เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา

AUTHOR