​รัสเซียต้อนรับผู้มาเยือนในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ยังไงบ้าง

คริสเตียโน โรนัลโด กัปตันทีมชาติโปรตุเกสอาจรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้รับการต้อนรับด้วยขนมปังและเกลือเมื่อครั้งเดินทางมาถึงรัสเซียในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา อันที่จริงการต้อนรับแบบนี้เป็นประเพณีดั้งเดิมในวัฒนธรรมสลาฟ ‘ขนมปัง’ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และสุขภาพ ในขณะที่ ‘เกลือ’ คือการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเครื่องหมายของการคืนดี

ชาวรัสเซียต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองแบบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ขนมปังมีความสำคัญมากเพราะเป็นการบอกเป็นนัยว่าเจ้าของบ้านมีอันจะกิน จึงสามารถต้อนรับผู้มาเยือนด้วยขนมปังก้อนใหญ่ ส่วนเกลือที่เคยเป็นสินค้าราคาแพงในสมัยโบราณ เป็นการบอกออกมาดังๆ ว่า การต้อนรับของชาวรัสเซียจะเป็นไปอย่าง ‘หรูหรา’ และ ‘ไม่ขาดตกบกพร่อง’

ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยสีสันที่ลืมไม่ลง

‘An unforgettable, colourful Russia’ เป็นไอเดียของ Alexei Sorokin ประธานคณะกรรมการจัดงานฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ตลอดระยะเวลาการเตรียมงาน มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลรัสเซียใช้จ่ายเงินมากถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคตามเมืองใหญ่

เป็นที่ทราบกันว่าการแข่งขันจะจัดขึ้นใน 11 เมือง (มอสโก, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, คาซาน, ซามารา, ซารันสก์, รอสตอฟ, โซชิ, เยกาเตรินเบิร์ก, วอลโกกราด, นิซนีย์ นอฟโกรอด, คาลินินกราด) 6 ใน 11 เมืองที่ว่านี้ รัฐบาลทุ่มเงินสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ในสนามบินรวมไปถึงตัดถนนและปรับปรุงทัศนียภาพเพิ่มเติม ส่วนใครที่ไม่อยากเดินทางทางอากาศ การรถไฟรัสเซียมีแผนสำรอง เปิดการเดินรถพิเศษระหว่างเมืองเพิ่มอีกกว่า 700 รอบ นอกจากนี้การรถไฟยังคิดใหญ่ จ้างครูสอนภาษาอังกฤษมาเปิดคอร์สอบรมภาษาแบบพิเศษให้เจ้าหน้าที่รถไฟ เป้าหมายคือให้พนักงานสามารถตอบคำถามได้อย่าง ‘สุภาพ’ และ ‘มีใจบริการ’

ปัญหาเรื่องการเดินทางผ่านไป หัวข้อใหม่คือเรื่องที่พัก รัสเซียไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของประเทศโดนโจมตีเหมือนครั้งกรุงเคียฟของยูเครนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกรอบไฟนอล จึงออกเงินสร้างโรงแรมใหม่ 21 แห่งในแต่ละเมืองเพื่อกันเสียงนินทาว่าโรงแรมท้องถิ่นโก่งราคาและปฎิบัติตนไม่สุภาพต่อนักท่องเที่ยว

ที่น่าสนใจคือรัฐบาลรัสเซียได้ออกนโยบายคุ้มครองและสนับสนุนกลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) โดยการเปิด House of Pride ที่พักสำหรับกลุ่มเพศทางเลือกทั้งในมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แถมยังอนุมัติให้ติดธงสีรุ้งประดับในทุกสนามแข่งขันเพื่อเป็นกระบอกเสียงสำคัญต้านกระแสรัสเซียเป็นประเทศเหยียดเพศ

Gianni Infantino ประธาน FIFA กล่าวว่า “ไม่เคยเห็นชาติไหนลงทุนมากขนาดนี้เพื่อการต้อนรับแฟนกีฬา”

Sorokin ให้ความเห็นกับประเด็นนี้ว่า “ไม่มีอะไรมากไป ทุกอย่างเป็นสิ่งจำเป็น”

สร้างกิมมิกให้เป็นที่จดจำ

มีใครยังจำเจ้าปลาหมึกพอลที่ทำนายผลบอลได้อย่างแม่นยำเมื่อครั้งฟุตบอลโลกในแอฟริกาใต้ได้บ้าง ปีนี้รัสเซียก็ไม่ทิ้งโอกาส เพราะมีการแนะนำสัตว์น้อยใหญ่ที่อ้างว่าสามารถทำนายผลบอลได้ดีไม่แพ้กัน หนึ่งในสัตว์ที่กำลังโด่งดังที่สุดในโลกโซเชียล คือ Achilles แมวหูหนวกที่อาศัยอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เฮเมตาชในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เจ้าแมว Achilles เพิ่งทำนายว่ารัสเซียจะคว้าชัยเหนือซาอุดีอาระเบีย ด้วยการเลือกอาหารในถาดที่มีธงประเทศรัสเซีย

แน่นอนว่าเมืองอื่นก็ไม่น้อยหน้าเพราะแต่ละสนามแข่งขันก็มีสัตว์ทำนายของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เจ้านาก Harry จากโซชิ เจ้าสมเสร็จ Cleopatra จากนิซนีย์ นอฟโกรอด และเจ้า Yasha เรนเดียร์เขาสวยจากมอสโก

ลบภาพจำของสหภาพโซเวียต

อีกหนึ่งประเด็นที่รัสเซียเล่นใหญ่ต้อนรับชาวต่างชาติอย่างอึกทึกครึกโครม ก็มาจากความตั้งใจที่จะมอบมุมมองใหม่ของความเป็นรัสเซีย

Ivan Smetanin เจ้าหน้าสื่อสารองค์กรของรถไฟใต้ดินมอสโกได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “แต่ไหนแต่ไรมา ภาพจำของรัสเซียคือความเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่มีความเป็นมิตร ไม่ยิ้มแย้ม และดูแลแขกด้วยความเย็นชา”

แม้ว่ารัสเซียจะเปิดประเทศและพยายามสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวมาหลายปี แต่ในโลกที่ทุกคนแข่งกันต้อนรับชาวต่างชาติด้วยอัธยาศัย รัสเซียถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนัก ในปี 2016 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกรัสเซียราว 26 ล้านคน แต่กว่าครึ่งเป็นประชากรจากกลุ่มประเทศโซเวียตเก่า เช่น คาซัคสถานหรือยูเครน

“ฟุตบอลโลกมีความหมายกับคนรัสเซียมากยิ่งกว่าโอลิมปิกที่โซชิ พวกเขาอยากให้โลกมาเห็นกับตาว่ารัสเซียไม่ใช่ประเทศที่โหดร้ายเหมือนในข่าวหนังสือพิมพ์” Doug Steele เจ้าของร้านอาหารชาวแคนาดาที่อาศัยอยู่ในรัสเซียมา 24 ปีให้ความเห็น

แม้ว่าสถานการณ์โลกที่ผ่านมาจะทำให้รัสเซียถูกมองในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการรบในภาคตะวันออกของยูเครน ความขัดแย้งในจอร์เจีย หรือกระทั่งข่าวการลอบสังหารอดีตสายลับในอังกฤษ ทำให้โลกเกิดความสงสัย และมองย้อนไปไกลว่าการยอมให้รัสเซียเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคงไม่ต่างจากโอลิมปิกของฮิตเลอร์ในปี 1936

แต่ชาวรัสเซียส่วนใหญ่มองว่าเวทีนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักรัสเซียด้วยตาของตัวเอง “ฉันหวังว่าชาวต่างชาติจะเข้าใจว่าเราไม่ใช่ศัตรู เราปรับตัว เปิดรับ และอยากเป็นเพื่อนกับทุกคน” Julia Golubeva สาวชาวมอสโกกล่าว

ย้อนกลับไปในปี 2010 เมื่อรัสเซียได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2018 วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีที่แทบไม่พูดภาษาอังกฤษออกสื่อ กล่าวเสียงดังฟังชัดต่อคณะกรรมการ FIFA ว่า “From bottom of my heart, thank you.”

เมื่อครั้งโซชิได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2014 Vitaly Mutko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาในขณะนั้น ก็เคยให้สัญญาว่า “จะเปิดกว้างต้อนรับทุกคนด้วยอัธยาศัยไมตรี” นี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าเจ้าภาพรัสเซียทุ่มสุดตัวเรื่องการต้อนรับและให้ความสำคัญกับแขกบ้านแขกเมืองไม่แพ้ผลการแข่งกีฬา


อ้างอิง

https://www.rbth.com/lifestyle/328541-11-animals-and-one-robot

https://www.rbth.com/russian-kitchen/328522-why-russians-greet-bread-salt

https://www.economist.com/europe/2018/06/14/russia-prepares-to-welcome-1m-visitors-for-the-world-cup

https://economictimes.indiatimes.com/news/sports/what-sort-of-welcome-will-world-cup-visitors-get-in-russia/articleshow/64493366.cms

http://www.cbc.ca/news/world/russians-welcome-tourists-for-world-cup-1.4674279

https://sputniknews.com/worldcup-2018-archive/201806101065284264-putin-fifa-welcome/

https://www.advocate.com/world/2018/4/21/there-will-be-pride-house-russia-during-world-cup

ภาพประกอบ มงคล ศรีธนาวิโรจน์

AUTHOR