ประวัติ วะโฮรัมย์ : ตำนานพาราลิมปิกไทยผู้ก้าวเดินด้วยหัวใจจนกลายเป็นประวัติศาสตร์

Highlights

  • ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ คือตำนานนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย 5 สมัย เขาเป็นนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่คว้าเหรียญในการแข่งขันระดับโลกมาแบบนับไม่ถ้วน
  • ประวัติเริ่มต้นด้วยความพยายามที่มากกว่าใครจนคว้ามเกียรติประวัติมาอย่างรวดเร็ว เคล็ดลับความสำเร็จของเขาคือวินัยที่สูงอย่างมาก รวมถึงจิตใจที่ไม่ว่อกแว่ก แค่โฟกัสในการซ้อมเท่านั้น
  • พาราลิมปิกครั้งหน้าในปี 2020 จะเป็นครั้งสุดท้ายของประวัติที่จะลงแข่งในนามทีมชาติไทย แต่เขายืนยันว่าจะยังเล่นกีฬานี้ไปเรื่อยๆ เพราะความรักและมันเป็นตัวตนของเขาไปแล้ว

คงไม่ใช่เรื่องเกินเลย ถ้าเราจะบอกว่าในวงการกีฬาคนพิการของประเทศไทย ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ คือตำนาน

7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง คือเกียรติประวัติของเขากับกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งในการแข่งพาราลิมปิกเกมตลอด 5 สมัยที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วในการแข่งขันกีฬาคนพิการระดับโลกนี้ที่ประวัติแทบจะคว้าเหรียญให้กับตัวเองและประเทศไทยจนเกือบครบ

พูดกันตามตรง ความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการในประเทศไทยมักไม่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างเท่ากับนักกีฬาประเภทอื่น เรามักเห็นข่าวความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการในวงแคบเท่านั้น การลำดับความสำคัญที่ไม่เท่ากันทำให้พวกเขามักถูกมองข้ามและได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมอยู่บ่อยๆ

แต่ถึงจะอยู่ในเงื่อนไขน่าน้อยใจขนาดไหน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขาทุกคนล้วนกัดฟันสู้และพยายามไม่ต่างจากนักกีฬาคนอื่น ต้นทุนที่ต่างออกไปไม่เคยทำให้พวกเขาย่อท้อ จนสามารถพาธงชาติไทยไปปักบนเวทีโลกมานักต่อนัก

และ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ คือคนที่ทำสิ่งเหล่านี้มากว่า 20 ปีแล้ว

ระหว่างการซ้อมเพื่อไปแข่งอาเซียนพาราเกมส์ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราเชิญประวัติมานั่งคุยกันถึงประวัติของเขา ตั้งแต่จุดแรกจนถึงความสำเร็จยิ่งใหญ่ทุกวันนี้ เพราะถ้อยคำจากปากชายวัย 37 ปีบนเก้าอี้วีลแชร์ตรงหน้าเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า ต่อให้เราจะเริ่มต้นในจุดที่ไม่เท่ากัน แต่เราแซงกันได้ ด้วยความตั้งใจที่มากพอ

History of Beginning

ถ้าเราจะย้อนกันไปที่จุดเริ่มต้นของ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’  เราคงต้องไปที่จังหวัดสระแก้ว

ประวัติเป็นลูกชายคนสุดท้องในครอบครัวฐานะปานกลาง ทุกอย่างในชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างปกติจนตอนที่เขามีอายุ 3 ขวบ ขาของเขาเริ่มผิดปกติจากการเป็นโปลิโอจนสูญเสียความสามารถในการเดินในที่สุด แต่ถึงแม้ต้นทุนของเขาจะลดทอนลง สิ่งที่พ่อแม่ของเขาทำคือการให้สิ่งที่เด็กปกติทั่วไปจะได้รับ นั่นคือการศึกษาในโรงเรียนสามัญ

นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอันนำมาสู่เส้นทางในชีวิต

“ผมเป็นเด็กพิการคนเดียวที่เรียนกับเด็กปกติในต่างจังหวัด การที่เราไปเรียนในสังคมปกติมันทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นตัวประหลาด กิจกรรมที่เขาทำกันเราก็ทำไม่ได้ มันเกิดเป็นความอึดอัดว่าทำไมเราต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ด้วย ทำไมเราต้องเกิดมาเป็นภาระคนอื่น”

ฟังดูเหมือนความรู้สึกเหล่านี้เป็นเหมือนปัญหาที่เด็กพิการทุกคนในประเทศไทยต้องเจอ แต่สิ่งที่ทำให้ประวัติแตกต่างจากคนอื่น คือแผลที่ทำให้เขาเจ็บในวัยเด็กนั้นกลับได้สร้างโอกาสจนกลายเป็นก้าวแรกของเขาในวันนี้

พออายุ 11 ปี ผมได้รับมอบทุนจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เข้ารับการรักษาตัวและศึกษาต่อที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่นั่นผมมีโอกาสได้เห็นนักกีฬาวีลแชร์ซ้อม เรารู้สึกอยากเป็นแบบเขาบ้าง เราอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราไม่ใช่คนป่วย

“เราอยากสู้เพื่อเอาชนะใจตัวเอง”

วงล้อแรกในวีลแชร์เรซซิ่งถูกหมุนด้วยมือของเขาครั้งแรกในวันนั้น

และมันตามมาอีกเป็นล้านครั้งตลอด 20 ปี

History of Success

“ตอนนั้นอายุ 17-18 ซ้อมยังไงก็ไม่เหนื่อยนะ แต่ท้อบ่อยมาก”

พอขึ้นชื่อว่าเป็นนักกีฬา จะเป็นกีฬาประเภทไหนก็คงหลีกเลี่ยงการซ้อมไม่ได้ ในกีฬาวีลแซร์เรซซิ่งเองก็เช่นกัน การก้มหน้าก้มตาซ้อมเป็นเหมือนบันไดที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ มันนำมาด้วยความเหนื่อยแทบสาหัส และความเหนื่อยนี้เองที่เป็นตัวชี้วัดว่าใครที่จะผ่านเข้าเส้นชัย

“เวลาเราซ้อมเหนื่อยๆ เราท้ออยู่แล้วล่ะ ยิ่งเวลาเห็นพี่ๆ ที่เขาปั่นเร็ว เราจะตั้งคำถามว่าทำไมเราปั่นไม่เร็วเหมือนเขา บางคนอาจจะท้อแล้วจบแค่นี้ แต่สำหรับผม ผมก็ท้อแต่จะตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วพวกพี่เขาทำยังไง ผมเรียนรู้และเอามาปรับปรุงให้เก่งเหมือนคนอื่น”

ประวัติเล่าให้เราฟังว่าในช่วงนั้น เขาฝันใหญ่ตั้งแต่แรก นั่นคือการติดทีมชาติเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกให้ได้ และด้วยทัศนคติที่ดีบวกกับเป็นคนที่ไม่ได้คิดอะไรมากมาย วงล้อวีลแชร์ถูกหมุนไปเรื่อยๆ จนพาเขาเข้าเส้นชัยในเวลาไม่นาน ประวัติได้เป็นหนึ่งในตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งพาราลิมปิกเกมที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2000

ถ้าการติดทีมชาติคือความฝัน ก็ต้องบอกว่าครั้งแรกของเขานั้นเกินฝันไปมาก เพราะสุดท้ายหลังจากกลับมาจากซิดนีย์ ในมือของประวัติมีเหรียญเงิน 1 เหรียญและเหรียญทอง 2 เหรียญ

“เหมือนฝันเลยนะ” เขาพูดพร้อมรอยยิ้มและอธิบายต่อ

“จากที่เริ่มต้นเราไม่ได้อยากได้เหรียญอะไรหรอก แค่อยากไปแข่งรายการใหญ่สักครั้งในชีวิต แต่จากจุดนั้นมันทำให้เราซ้อม เราไม่ได้คิดหรือหวังอะไรเลยนอกจากซ้อมอย่างเดียว ในหัวมีแค่เสียงที่บอกว่าไหนๆ เราเป็นตัวแทนทีมชาติแล้ว  เราต้องทำเต็มที่ เราคิดแค่นั้นเลย ดังนั้นการได้เหรียญมันเลยเหมือนฝันมากกว่า

“ความสำเร็จนั้นมันทำให้เราหายเหนื่อยนะครับ การที่เราทุ่มเทและซ้อมหนักมากๆ มันจะหายเหนื่อยทุกอย่างเลยเวลาสำเร็จ หลังจากนั้นเรารู้ดีว่าการป้องกันแชมป์จะยากกว่า แต่เราก็ยังยึดหลักเดิมคือซ้อม ซ้อมแบบบ้าระห่ำ เราต้องมีวินัยที่สูงมาก”

ดูจากความสำเร็จที่เริ่มต้นจากปี 2000 จนถึงปัจจุบัน เหรียญรางวัลทั้งหมดเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าประวัติทำได้และมีวินัยอย่างที่เขาพูดจริงๆ 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดงในพาราลิมปิกทั้ง 5 ครั้งเป็นความสำเร็จที่ส่งให้เขาเป็นตำนาน แรงบันดาลใจจากสองล้อวีลแชร์ของเขาถูกส่งต่อให้กับคนพิการทุกคนในประเทศไทย

“ไม่มีอะไรดีกว่าการเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ท้อได้สู้ต่อไปอีกแล้วครับ”

ความฝันของเขาได้ส่งพลังมาถึงทุกคนในโลกแห่งความจริงแล้ว – เรารู้สึกแบบนั้น

History of Me

ปัจจุบันวีลแชร์ของประวัติพาเขามาไกลเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

ความสำเร็จและแรงบันดาลใจถูกส่งออกมาผ่านเรื่องราวของเขานับไม่ถ้วน ตั้งแต่วันแรกที่ประวัติเข้ามา วงการกีฬาของคนพิการยังไม่ได้ถูกพูดถึงมาก แต่ในปัจจุบันพวกเขาเริ่มได้รับพื้นที่สื่อรวมถึงคำชื่นชม แน่นอนว่าความสำเร็จของเขาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ผลักดันให้วงการก้าวมาไกลขนาดนี้

“วงการดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก ทั้งหมดที่นักกีฬาทุกคนพยายามทำก็ทำให้เกิดกระแสขึ้นมา เราที่เป็นเหมือนผู้บุกเบิกเห็นรุ่นน้องแล้วก็ดีใจนะ เรายินดีที่จะบอกเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เขาฟังเพื่อให้เขามีแรงฮึด”

จากรุ่นน้องกลายเป็นเหมือนพี่ใหญ่ในวงการ ไม่แปลกที่ในวัย 37 ปี สภาพร่างกายของเขาจะโรยราลง ประวัติเองก็รับรู้สิ่งนี้รวมถึงวางแผนเส้นทางในการอำลาทีมชาติไปแล้ว

“พาราลิมปิกที่โตเกียว (ปี 2020) คงเป็นครั้งสุดท้ายของผมแล้ว อายุมากแล้วมันก็โรยราลงเป็นธรรมดา แต่ถ้าถามว่าผมยังรักมันไหม ผมรักมันนะ เราอยู่กับสิ่งนี้มาตลอดจนมันปลูกฝังความเป็นเรา เวลาไม่ได้เล่นนานๆ ผมคิดถึงรถแข่งและสนามเสมอ“

“เห็นภาพตัวเองลงจากวีลแชร์หรือยัง” เราถามประวัติเป็นการทิ้งท้าย ประวัติที่นั่งอยู่บนวีลแชร์จับสองล้อไว้แน่นก่อนตอบเราด้วยรอยยิ้ม

“ผมคงเล่นไปเรื่อยๆ ครับ เพราะสิ่งนี้มันเติมเต็มหัวใจเราที่สุด”

 

ตอนนั้นเองที่เรารู้ว่าคำว่าเป็นไปไม่ได้ มันถูกทำลายได้

ขอแค่คุณ Start Your Impossible เท่านั้นเอง

 

AUTHOR