Pinkoi แพลตฟอร์มออนไลน์ที่อยากพางานดีไซน์ไทยและเอเชียไปสู่ระดับโลก

Highlights

  • Pinkoi คือ online marketplace หรือตลาดขายสินค้าออนไลน์จากไต้หวันที่รวบรวมงานคราฟต์และสินค้ามีดีไซน์จาก 18,000 แบรนด์ทั่วโลก โดยเน้นแบรนด์จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) เป็นหลัก
  • เมื่อเปิดหน้าเว็บไซต์ Pinkoi ขึ้นมา เราจะพบสินค้าตั้งแต่เครื่องเขียน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ไล่เรียงไปจนถึงบริการอย่างเวิร์กช็อป ทริปท่องเที่ยว และกีฬาเอกซ์ตรีม
  • ชวนคุยกับ Chang Chinfang หรือ ‘จำปา’ general manager ประจำ Pinkoi สาขาประเทศไทยที่มีเป้าหมายในการผลักดันสินค้าไทยให้ไปทั่วโลก

Pinkoi Thailand

เรารู้จัก Pinkoi ครั้งแรกจาก a day ฉบับ Taipei ที่พาคนอ่านไปเที่ยวออฟฟิศของพวกเขาถึงถิ่น นับแต่นั้น เว็บไซต์ศูนย์รวมสารพัดงานดีไซน์แห่งนี้ก็อยู่ในความสนใจของเรามาตลอด

สำหรับใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน Pinkoi คือ online marketplace หรือตลาดขายสินค้าออนไลน์จากไต้หวันที่รวบรวมงานคราฟต์และสินค้ามีดีไซน์จาก 18,000 แบรนด์ทั่วโลก โดยเน้นแบรนด์จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) เป็นหลัก เมื่อเปิดหน้าเว็บไซต์ Pinkoi ขึ้นมา เราจะพบสินค้าตั้งแต่เครื่องเขียน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ไล่เรียงไปจนถึงบริการอย่างเวิร์กช็อป ทริปท่องเที่ยว และกีฬาเอกซ์ตรีม 

Pinkoi ก่อตั้งในปี 2011 ในระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี Pinkoi มีลูกค้าที่เข้าไปซื้อสินค้าและบริการแล้วอย่างน้อย 3.5 ล้านคนจากทั่วโลก น่าสนใจว่าในจำนวนนั้น มีดีไซเนอร์จากประเทศไทยไม่น้อยที่สร้างชื่อบนเว็บไซต์ และได้รับการสั่งซื้อจากลูกค้าที่ไม่ได้อยู่โซนเอเชีย แต่รวมไปถึงฝั่งยุโรปซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง

เพราะอะไรดีไซเนอร์ไทยจึงเติบโตใน Pinkoi เรานำความสงสัยนี้มาถาม Chang Chinfang หรือ ‘จำปา’ general manager ประจำ Pinkoi สาขาประเทศไทยและทำหน้าที่ผลักดันดีไซเนอร์ไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

Chang Chinfang

 

ช่วงหลายปีมานี้เราเห็นตลาดงานคราฟต์และดีไซน์ในไต้หวันเติบโตเป็นอย่างมาก คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

คนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจของตัวเอง เพราะโอกาสสำเร็จหรือได้รายได้ที่สูงกว่าการเป็นพนักงานเงินเดือน ปีที่ผ่านมา คนไต้หวันที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วจะกล้าลงทุนทำธุรกิจมากขึ้นเพราะเงินเดือนของคนไต้หวันไม่ได้สูง สตาร์ทที่ไทเปอาจจะแค่ 28,000 NT$ ซึ่งค่าครองชีพของไทเปก็ประมาณสองหมื่นดอลลาร์แล้ว เด็กรุ่นใหม่จึงรู้สึกว่าถ้าลงทุนทำธุรกิจอาจจะมีโอกาสเติบโตมากกว่า อีกอย่างคือตอนนี้มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามารองรับพวกเขาหลายแพลตฟอร์ม และ Pinkoi ก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

ปัจจุบันมีเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น Pinkoi แตกต่างจากเว็บไซต์อื่นยังไง

ร้านค้าที่เปิดบน Pinkoi เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘สตูดิโอ’ และเรียกเจ้าของแบรนด์ว่า ‘ดีไซเนอร์’

ความจริงเราไม่ได้คิดว่าสินค้าที่ขายบน Pinkoi เป็นงานคราฟต์เสมอไป เพราะงานคราฟต์คือสินค้าทำมือหรือทำจากช่างที่มีฝีมือสูง แต่สินค้าบน Pinkoi จะเป็นสินค้ามีดีไซน์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ ซึ่งจะผ่านการคัดเลือกจากทีมงาน Pinkoi อีกที

นอกจากนี้ บนเว็บไซต์ยังมีระบบที่เป็นมิตรกับทั้งลูกค้าและดีไซเนอร์อย่างระบบสมาชิก คัดกรองสินค้าตามความสนใจของผู้ใช้ รวมไปถึงระบบคำนวณค่าจัดส่งทั่วโลก 

Pinkoi Thailand

หน้าเว็บไซต์ Pinkoi

 

เกณฑ์ที่คุณใช้ในการพิจารณาแบรนด์บน Pinkoi มีอะไรบ้าง

อย่างแรกคือต้องเป็นสินค้าที่ออกแบบเอง ทีมงานผู้คัดเลือกจะอ่านรายละเอียดของแบรนด์ที่สมัคร ก่อนจะพิจารณาจากประสบการณ์ว่าสินค้าชิ้นนี้มีการดีไซน์มากน้อยแค่ไหน เช่น ดีไซเนอร์ชาวไทยคนหนึ่งทำกระเป๋าที่ใช้ผ้าจากสำเพ็งมาตัดเย็บ ทีมงานก็จะพิจารณาว่าลายผ้าที่ใช้เป็นยังไง ใช้ซ้ำกับคนส่วนมากหรือไม่ มีการพลิกแพลงที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า

บางคนอาจมองว่าเราไม่มีมาตรฐาน แต่ความจริงทีมงานของเราแต่ละคนผ่านการดูงานดีไซน์มาเยอะมาก เรายังมีมุมมองจากคนหลายเชื้อชาติ ทั้งคนไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และจีน ซึ่งทุกคนจะได้ออกความเห็นในการพิจารณาเปิดร้านใหม่บน Pinkoi ในการประชุมที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์

อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการพิจารณาคือ Pinkoi เป็นเว็บไซต์ที่ลูกค้าไม่สามารถจับต้องสินค้าได้ รูปภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเจ้าของร้านไม่มีความสามารถในการถ่ายรูปที่ดีก็อาจไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งรูปที่ดีในที่นี้อาจจะไม่ถึงขนาดที่ต้องจ้างช่างภาพมาถ่าย แต่ดูแล้วต้องเกิดความรู้สึกอยากซื้อ ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าขายอะไร 

การคัดเลือกของเราส่งผลดีต่อลูกค้าด้วย เพราะลูกค้าจะรู้ว่าเมื่อเข้าเว็บ Pinkoi พวกเขาจะได้เจอสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความพิเศษเฉพาะเรา นี่คือความแตกต่างของเรากับเว็บไซต์ e-commerce อื่น

 

สินค้าที่วางจำหน่ายบน Pinkoi มีหลายประเภทและทุกชิ้นมีเอกลักษณ์ของตัวเอง คุณคิดว่าสินค้าเหล่านี้มีจุดร่วมที่เหมือนกันบ้างไหม

เราคิดว่าสินค้าทุกชิ้นมีเรื่องราวของตัวเอง ทั้งรายละเอียดข้อมูลสินค้าและไอเดียเบื้องหลังการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะคอยช่วยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้าที่มากขึ้นแล้วยังช่วยทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้นในสินค้าที่เขาสั่งซื้อไปอีกด้วย หากสตูดิโอไหนติดขัดเรื่องการแปลภาษาเพื่อการบรรยายเรื่องราวของสินค้า เราก็มีบริการแปลภาษาจากไทยเป็นจีนเพื่อให้การสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าหลักของเราราบรื่นยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่เราคอยสนับสนุนเพื่อการเติบโตของแบรนด์ต่างๆ บน Pinkoi

 

Pinkoi Thailand

จานเซรามิก Pinkoi x Miffy จากแบรนด์ May & Clay

Pinkoi Thailand

แบรนด์เสื้อผ้า Mulmul Cabinet

Pinkoi Thailand

แบรนด์เทียนหอม Wax Valley

 

นอกจากการขายและจัดจำหน่ายสินค้า Pinkoi ทำอย่างอื่นไหม

มีเวิร์กช็อปและ experience ในส่วนของเวิร์กช็อป จะมีทั้งเวิร์กช็อปจากร้านในไทเปและจังหวัดอื่นๆ ในทุกภาค ลูกค้าก็สามารถกดฟิลเตอร์ว่าอยากไปทำเวิร์กช็อปที่ไหน ส่วน experience จะเป็นกิจกรรมแนว ‘ประสบการณ์’ เช่นการปีนเขา ดำน้ำ พายเรือ หรือโปรแกรมโยคะ ที่เห็นในไทยก็จะเป็นทัวร์แนะนำประวัติศาสตร์เยาวราช เป็นต้น ซึ่งในไทยเรายังจัดกิจกรรมแบบนี้น้อย เพราะเราเริ่มเจาะกลุ่มตลาดไต้หวันก่อน ตอนแรกเราคิดว่าเวิร์กช็อปและ experience ปีนี้คงไม่สำเร็จ คงไม่มีใครอยากทำเวิร์กช็อปเพราะวิกฤตโควิด-19 แต่ปรากฏว่าพอทุกคนออกไปเที่ยวนอกประเทศไม่ได้ เวิร์กช็อปกับ experience จึงได้ผลตอบรับที่ดีมากๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากแชร์คือ Pinkoi for Business ซึ่งเป็นทิศทางในอนาคตของ Pinkoi มันคืออีกเว็บไซต์ที่แยกออกมาจากเว็บไซต์ปกติเพื่อให้บริการการซื้อ-ขายในปริมาณมาก จุดเริ่มต้นมาจากการมองเห็นว่าในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น จะมี selected shop ค่อนข้างเยอะ ก่อนหน้านี้เจ้าของร้าน selected shop จะต้องไปสำรวจว่าตอนนี้มีงานดีไซน์อะไรที่น่าสนใจ แล้วค่อยติดต่อเจ้าของแบรนด์ ซึ่ง Pinkoi for business เข้ามาช่วยกระชับเวลาในส่วนนี้ ตอนนี้กลุ่มร้านค้าที่ดีลกับเราแล้วก็มี Tsutaya Bookstore Tokyo, Siam Discovery ที่กรุงเทพฯ และอีกหลายร้าน

Pinkoi Workshop

 

ดูคุณให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แล้วเรื่องคุณภาพสินค้าล่ะ คุณมีการควบคุมยังไงบ้าง

เรามองว่า Pinkoi เป็นด่านแรกในการคัดกรอง เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้ผลิตจึงไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้เอง ผู้ซื้อจึงต้องเป็นผู้ตัดสินและรีวิวบอกต่อเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ร้าน เราเคยมีกรณีที่ดีไซเนอร์เขาได้รีวิวที่ดีมาตลอด แต่มีลูกค้าคนหนึ่งมารีวิวในทางลบว่าว่าสีของสินค้าไม่ตรงกับที่แสดงบนเว็บไซต์ ดีไซเนอร์พยายามแก้ปัญหาด้วยการทำอันใหม่ด้วยการส่งให้ลูกค้า สุดท้ายลูกค้าก็แฮปปี้มาก เขาก็ขอแก้ไขรีวิว เราจะอัพเดตรีวิวให้

แต่ถามว่าทีมงานเคยถูกดีไซเนอร์บางคนโกหกไหม ก็มี เราเคยเจอดีไซเนอร์ที่เอางานดีไซน์ของคนอื่นมาสมัครบน Pinkoi จนเราพิจารณาให้ผ่าน แต่สุดท้ายมีลูกค้ามาบอกว่าสินค้าชิ้นนี้ไม่ใช่งานดีไซน์ของเขา เราก็จะติดต่อดีไซเนอร์ ถ้าเขาไม่สามารถอธิบายหรือเคลมสิทธิของตัวเองได้เราก็จะปิดสตูดิโอเขาไป

ยังไงก็ตาม หนึ่งในหน้าที่ของแบรนด์ที่ดีและยั่งยืนคือรับฟีดแบ็กทั้งส่วนที่ติและชมเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าของแบรนด์ให้ดีขึ้น Pinkoi มีหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างแบรนด์และลูกค้า คอยสนับสนุนทั้งสองฝั่ง เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เราจะคอยช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ลูกค้า แจ้งดีไซเนอร์ให้พัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น และสนับสนุนดีไซเนอร์ในเรื่องทิศทางการพัฒนาสินค้าและบริการของแบรนด์ให้ขึ้น นอกจากนี้เรายังป้อนข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ดีไซเนอร์นำไปพัฒนาสินค้าของตัวเองให้สอดรับกับความนิยมของลูกค้าต่างชาติในขณะนั้น

 

Pinkoi ทั้งขายสินค้า เวิร์กช็อป และ experience อย่างนี้ เรายังนิยามเว็บไซต์ของเราว่าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ไหม

ก่อนหน้านี้เราจะเรียกตัวเองว่าเราเป็น e-commerce หรือเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ในยุคนี้เป้าหมายของเราคือเราอยากขายงานดีไซน์ไปทั่วเอเชียและทั่วโลกโดยวิธีการที่ไม่จำกัด ภายใน 5 ปีนี้เราวางแผนตีตลาดไปยังประเทศอื่นในเอเชียผ่านช่องทางออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็มีการจัดเวิร์กช็อปและ Pinkoi Market ซึ่งเป็นกิจกรรมแบบออฟไลน์ เราทำทั้งสองช่องทางเพราะมองว่าแต่ละทางก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน

Pinkoi Thailand

Pinkoi Market

พูดถึงการขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทำไมคุณถึงเลือกประเทศไทย

คุณ Peter Yen ผู้ก่อตั้งเคยมาเที่ยวไทย 2 ครั้งแล้วเขาได้เห็นงานดีไซเนอร์ไทยเยอะมาก คิดว่าถ้ามีแบรนด์ดีไซน์ที่ไทยเยอะขนาดนี้ แสดงว่าต้องมีคนที่ชอบและสนับสนุนงานดีไซน์จากไทยแน่นอน อีกอย่างคือจำนวนประชากรของไทยเยอะกว่าไต้หวัน 3-4 เท่า แสดงว่าดีไซเนอร์ไทยก็ต้องเยอะกว่าเรา แต่เขาแค่ยังไม่รู้จัก Pinkoi เท่านั้น นับแต่นั้นคุณปีเตอร์ก็ตัดสินใจมาตีตลาดไทยในปี 2015

Peter Yen

 

สินค้ายอดนิยมจากประเทศไทยบน Pinkoi คืออะไร

เสื้อผ้ากับกระเป๋า และประเภทหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือชุดว่ายน้ำ ก่อนที่แบรนด์ไทยจะเข้ามา เราไม่ค่อยมีชุดว่ายน้ำเท่าไหร่ แต่พอดีไซเนอร์ไทยเข้ามาก็มีมากขึ้น และถ้าพูดถึงเรื่องความนิยม สินค้ากระเป๋าจากประเทศไทยก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ชาติอื่นเลย ยกตัวอย่างแบรนด์ WHITEOAKFACTORY ที่ขายบน Pinkoi ตั้งแต่ปี 2015 มีช่วงหนึ่งที่จัดโปรโมชั่นแถมชุดว่ายน้ำแบรนด์ Bullet by Army of Interns ตอนนี้ขายไปแล้วกว่า 14,000 ชิ้นทั่วโลก

Pinkoi Thailand

แบรนด์กระเป๋า Whiteoakfactory

 

เพราะอะไรถึงขายดีขนาดนั้น

อาจเพราะแถมชุดว่ายน้ำ และฤดูกาลของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน การเข้ามาใน Pinkoi มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ คุณสามารถขายได้หลายช่วงเวลา อย่างที่ไทย ชุดว่ายน้ำจะขายดีในช่วงเดือนมีนาถึงพฤษภา เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงสงกรานต์ของไทย แต่ที่ไต้หวันไม่ใช่ คนไต้หวันจะนิยมใส่ไปทะเลกันในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งช่วงนั้นของคนไทยคือฤดูฝน

Pinkoi Thailand

แบรนด์ชุดว่ายน้ำ Bullet by Army of Interns

ตั้งแต่เข้ามาตีตลาดที่ไทย คุณพบอุปสรรคหรือความท้าทายอะไรบ้างไหม

ตอนแรกเราทำงานนี้คนเดียว จำได้ว่าช่วงเริ่มต้นที่เราชวนดีไซเนอร์ไทยมาเปิดร้านใน Pinkoi หลายคนคิดว่าเราเป็นเว็บไซต์ปลอม เขาไม่เชื่อว่าเราจะขายให้ได้และให้เงินกับเขา เราต้องค่อยๆ อธิบายเขาว่าเว็บไซต์ Pinkoi คืออะไร เข้ามาแล้วสามารถขายอะไรได้ เรื่องถัดมาคือไม่มีใครรู้ว่าเราจะขายของที่ไต้หวันยังไง เขาไม่รู้เรื่องการจัดส่ง เราก็ต้องจัดสัมมนาที่สอนดีไซเนอร์เรื่องการจัดส่งและบริการลูกค้าให้

อีกเรื่องที่ท้าทายเรามากคือดีไซเนอร์ไทยเคยชินกับการขายของบนอินสตาแกรม และ Line ที่โพสต์รูปแล้วเขียนแคปชั่นนิดหน่อย พวกเขาเคยชินกับการให้ลูกค้ามาถามเอง แต่พฤติกรรมลูกค้าบน Pinkoi ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาอ่านอย่างละเอียด ใช้วัสดุอะไร กระเป๋ามีกี่ช่อง ถ้าเขาไม่แน่ใจจะเข้าไปถาม ซึ่งถ้าคุณไม่มีข้อมูลอะไรให้เลยลูกค้าก็จะมองว่าดีไซเนอร์ไม่จริงจัง เขาจะไม่สั่งเลย นี่คือพฤติกรรมที่ต่างกัน ดีไซเนอร์ไทยที่เข้ามาแรกๆ อาจจะไม่เก็ต เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ  

ถ้าเทียบกันระหว่างวันแรกกับปัจจุบัน พอใจกับจุดที่ Pinkoi ยืนอยู่ตอนนี้แล้วหรือยัง

น่าจะบอกว่าภูมิใจมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าพอใจน่าจะใช้ได้กับแค่บางช่วงเวลา ถ้าเราพอใจเราจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง สิ่งที่เราหวังคือทุกๆ วันจะมีคนรู้จัก Pinkoi มากขึ้น หรือเราสามารถช่วยให้ดีไซเนอร์บางคนไปสู่ตลาดนานาชาติจริงจัง 

อย่างแบรนด์ไทยที่มียอดขาย 14,000 ชิ้นบน Pinkoi ก็เป็นเรื่องที่เราภูมิใจมากๆ เรารู้สึกว่าเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนเราเริ่มมาบุกตลาดไทยใหม่ๆ ดีไซเนอร์เหล่านี้ไม่เคยส่งของไปที่ฮ่องกงหรือญี่ปุ่น แต่ตอนนี้เขาโตขึ้น เราทั้งภูมิใจและมีความสุขมากๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เราฮึดสู้ตอนเจออุปสรรค

 

ก้าวต่อไปคือ Pinkoi คืออะไร

เป้าหมายของ Pinkoi สาขาประเทศไทยก็คืออยากให้ยอดขายของดีไซเนอร์ไทยดีขึ้น อีกข้อคืออยากให้ลูกค้าไทยรู้จัก Pinkoi มากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบคนไทยกับไต้หวัน เรารู้สึกว่าคนไทยมีไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนกว่า และหวังว่า Pinkoi อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เติมเต็มความสุขและไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้ 

 


ดีไซเนอร์ไทยคนไหนอยากเปิดสตูดิโอของตัวเองบน Pinkoi คลิกตามลิงก์นี้ pinkoi.life/V5m5v958I8 และใครอยากตามติดและช้อปปิ้งสินค้าดีไซน์สุดเท่ ไปที่ th.pinkoi.com/ และเฟซบุ๊ก Pinkoi ได้เลย 

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สร้างผลกระทบด้านลบให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอย่างมาก รวมถึงแบรนด์ของดีไซเนอร์ไทย Pinkoi ยังพร้อมจะผลักดันและสนับสนุนให้แบรนด์ไทยเติบโตยิ่งขึ้น Pinkoi มีใจช่วยเหลือชุมชนดีไซเนอร์ไทย โดยลดค่าบริการรวมสำหรับใบสั่งซื้อภายในประเทศจาก 15% เหลือ 5% ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2563

Pinkoi Thailand

AUTHOR