“งานง่ายๆ แค่นี้ ขอเวลา 2 ชั่วโมงก็เสร็จ”
“ผมมั่นใจว่าผมจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้”
“ทุกคนที่งานปาร์ตี้จะต้องหลงเสน่ห์ฉันแน่ๆ”
บางครั้งเรามักพบว่าตนเองอาจกำลังตกอยู่ในบทสนทนากับคนที่คิดว่าตนเอง ‘ดี’ กว่าความเป็นจริง จนเราเผลอมองบนโดยไม่รู้ตัว หรือบางครั้งก็เป็นเราเองที่ประเมินทุกอย่างผิดพลาด แต่กลับแสดงความมั่นหน้ามั่นใจออกไป
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อบางคนคิดว่าตนเก่งกว่าที่เป็นจริง และมีความมั่นใจมากเกินไป แม้ว่าทักษะหรือความเป็นจริงจะไม่ถึงขนาดนั้นก็ตาม ในภาษานักจิตวิทยาจะใช้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Overconfidence Bias ถ้าแปลภาษาชาวบ้านโซเชียลก็คือ ‘ภัยความมั่น’
Overconfidence Bias จะเกิดขึ้นเมื่อบางคนประเมินความสามารถ ความรู้ หรือการควบคุมสถานการณ์ของตนเองสูงเกินไป จนคิดว่าตนดีกว่า ฉลาดกว่า หรือมีความสามารถมากกว่าที่เป็นจริง โดย ‘อคติทางความคิด’ นี้สามารถส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ ‘พฤติกรรม’ และความสามารถในการคาดเดาความสำเร็จ ถึงการประเมินความเสี่ยงอย่างแม่นยำได้
ว่าง่ายๆ คือ ความมั่นเกินไปอาจทำให้เรา ‘พลาดเป้า’ ไปเยอะ
หรือจริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงความพยายาม ‘หลอก’ ตัวเองจากความเป็นจริง?
หากลองพิจารณาจากสิ่งที่ ดิลลอน ฮาร์เปอร์ (Dillon Harper) นักจิตวิทยาจาก Giles and Associates Family Psychology ก็มีความเป็นไปได้ เขาเคยกล่าวไว้ว่า Overconfidence Bias เป็นวิธีของสมองในการเพิ่มความนับถือตนเองและลดความวิตกกังวล โดยมุ่งเน้นไปที่ชัยชนะในอดีต ขณะที่ลดหรือเพิกเฉยต่อความล้มเหลว
อคตินี้จะส่งผลต่อวิธีการตัดสินความสามารถของเราในหลายๆ ด้าน รวมถึงการเรียน การทำงาน งานอดิเรก งานประจำวัน และแม้แต่การตัดสินทางศีลธรรม เป็นผลให้เรามักจะประเมินความฉลาด ความสามารถ และความสำเร็จของตัวเองสูงเกินไป
ถึงแม้ว่าความคิดเชิงบวกจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี ทว่าก็เสี่ยงจะนำไปสู่ ‘ภัยความมั่น’ ที่ทำให้ตนเชื่อว่า ไม่มีทางพ่ายแพ้ได้ในเรื่องใดก็ตาม ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อมีประเด็นบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมที่เกี่ยวกับอคติทางความคิดในทำนองเดียวกับปรากฏการณ์ Overconfidence Bias ทีไร ผู้คนก็พร้อมจะขึ้นรถทัวร์ไปผสมโรง ‘ดับภัยความมั่น’ ต่อผู้ที่ถูกเพ่งเล็ง จนอาจพลาดโอกาสในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริง ขณะที่อีกฝ่ายก็พร้อมโต้กลับทุกอย่างโดยไม่สนคำแนะนำ และทำให้อคติระหว่าง 2 ฝ่ายนั้นซับซ้อนขึ้นไปอีก
ภัยความมั่นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการขาดประสบการณ์, การประเมินระดับตนเองสูง, การถูกเลี้ยงดู, จากปรากฏการณ์ Dunning-Kruger Effect หรือแม้แต่เรื่องของอำนาจ
ความอันตรายของ Overconfidence Bias คือเราไม่ค่อยตระหนักถึงมัน การพยายามเอาชนะความมั่นของตนเองจึงทำได้ยาก ขณะเดียวกัน การจัดการสิ่งนี้อาจไปกระทบความนับถือในตนเองอีกต่างหาก
แล้วจะทำอย่างไรหากเริ่มพบว่าเราเองอาจเป็นภัยความมั่น จะจัดการอย่างไรดี โดยที่ไม่บั่นทอน Self-esteem ของเราเอง?
สร้างความตระหนักรู้ในตนเอง
การรู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง และวิธีที่เรามองตัวเองเป็นสิ่งสำคัญในการเอาชนะภัยความมั่น เพราะจะช่วยให้เรามีมุมมองที่จำเป็นในการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเป็นมุมมองที่ ‘จริงแท้’ นักจิตวิทยา อนา โยวาโนวิช (Ana Jovanovic) เคยกล่าวไว้ว่า “การจะรู้จักตัวเองได้นั้น เราต้องมีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับตัวเอง จิตใจและร่างกายของเราเป็นพื้นที่ที่ต้องการแผนที่นำทาง ทุกคนต่างก็มีเส้นทางที่ไม่อยากเลือก และมีบางเส้นทางที่รู้สึกว่าคุ้มค่าแก่การสำรวจ เราจะไปได้ไกลแค่ไหนในการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจตัวเองนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมที่จะสำรวจและสัมผัสประสบการณ์อะไร”

มองโลกตามความเป็นจริง
การยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์เพอร์เฟ็กต์นั้นสำคัญ เราทุกคนต่างเคยประสบความล้มเหลวในบางครั้ง และความล้มเหลวเหล่านี้มักมีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาของเรา เมื่อเราประเมินความสามารถของตนเองสูงเกินไป และไม่ปล่อยให้มีช่องว่างสำหรับการปรับปรุง ก็ไม่ต่างกับการทำร้ายตัวเองด้วยการหลอกว่าเราเก่งที่สุดในทุกด้าน ดังนั้น จำไว้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แม้ว่าเราอาจจะมีทักษะ ความสามารถ หรือพรสวรรค์ในบางเรื่อง ก็จงเรียนรู้และมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นต่อไป

เปิดรับมุมมองภายนอก
การมีใครสักคนที่เป็นกระจกสะท้อนตัวเราเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เราได้มองเห็นบุคลิก นิสัย บางอย่างที่เราไม่เคยตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท คนรัก คนใกล้ชิด ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘สะท้อน’ ภาพความสามารถของเราได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ และแม้ว่าการยอมรับข้อเสียบางอย่างในตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก แต่นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของเราอย่างจริงแท้ที่สุด หากเราสามารถยอมรับได้ ย่อมหมายถึงการประเมินตัวเองได้ตรงมากขึ้น และส่งผลดีต่อการตัดสินใจหลายเรื่องในชีวิต

หัดตั้งคำถามกับตัวเอง
แม้เราจะมั่นใจในการตัดสินใจแสดงออกหรือกระทำบางอย่าง แต่การลองพยายามตั้งคำถามถึงทางเลือกนั้นอย่างจริงจัง พิจารณามุมมองอื่นๆ และหาข้อมูลที่อาจ ‘หักล้าง’ ความคิดปัจจุบันของเราได้ เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะแม้ความเป็นจริงที่พบอาจทำให้ความเชื่อมั่นบางอย่างของเราสั่นคลอน แต่มันก็คุ้มค่าที่จะเป็นการ ‘เปิดตา’ ให้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามกับตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ลองสร้างสมดุลให้กับความมั่นใจนั้นด้วยความสงสัยในระดับที่เหมาะสมก่อนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรีบเร่ง ‘หักดิบ’

มองหาจุดยืนอื่นๆ บ้าง
อย่าลืมว่า ความคิดมักมาจากสิ่งที่เราเสพ การรับข้อมูลจากแหล่งเดียว หรือประเภทใดประเภทหนึ่ง อาจนำไปสู่การคิดแบบ ‘ลำเอียง’ และนำไปสู่ความมั่นในความคิดที่มากเกินไปของตัวเองได้ คล้ายปรากฏการณ์ Echo Chamber ที่ความเชื่อหนึ่งขยายกว้างผ่านการสื่อสารและการทำซ้ำในพื้นที่ที่มีแต่ความคิดเดียวกัน โดยไม่ถูกตั้งคำถาม และปิดกั้นความคิดที่มาจากแหล่งอื่น จนระบบความเชื่อนั้นกลายเป็นความ ‘สุดโต่ง’ ที่แบ่งแยกขั้ว ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพยายามออกจาก ‘กะลา’ และมองหาความคิดหรือจุดยืนอื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะจุดยืนที่ท้าทายอคติที่มีอยู่ของเรา

ท้ายที่สุดแล้ว ความมั่นใจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย กลับกันมันได้สร้างบุคคลเจ๋งๆ ในหลายวงการขึ้นมามากมาย และความมั่นใจจะช่วยผลักดันให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ และกล้าเสี่ยงกับบางสิ่งที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตได้
แต่เช่นกันว่า ความมั่นใจที่มากเกินไปอาจทำให้เราหลงทางและนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรงในหลายด้านของชีวิตได้
มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง ความมั่นใจ กับ ภัยความมั่น เลือกยืนให้ถูกที่น่าจะดีกับชีวิต