ในความเป็นมนุษย์ เราพูดถึงความโศกศัลย์มากกว่าความสุขสันต์ และโดยมากบ่อเกิดของมันมาจากคำนามเพียงคำเดียวคือ ‘ความรัก’ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
“ลองมองรอบตัวดูสิ! ความสุขทั้งเรียบง่ายและอยู่ใกล้ตัวเราแค่นี้เอง” คำพูดปลอบใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันปลิวอยู่ว่อนเน็ต แต่แล้วจะทำยังไงดีล่ะ เพราะเมื่อความเศร้าเท่าเม็ดฝุ่นปะทะตัวทีไร เราก็พลันลืมหน้าตาความสุขจนหมดสิ้นทุกที อุตส่าห์สะสมมันมาตั้งนานกลับพังทลายลงเสียดื้อๆ
หากนี่เป็นสงคราม ความโศกศัลย์คงชนะมนุษย์อยู่ร่ำไป

และหากมีบ่อความเศร้าในคน ‘ออสการ์ ไวลด์’ ก็คงจะเป็นหลุมที่ลึกที่สุด เขาไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนชื่อดังระดับโลก แต่ยังถูกจดจำในสถานะนักโทษ และน่าเศร้าเหลือเกินที่การรักเพศเดียวกันกลายเป็นข้อครหาใหญ่ข้อหนึ่งของสังคม
จากคำเกริ่น คุณคงพอรู้ว่าจะต้องรับมือกับอะไรขณะที่อ่านหนังสือ ‘ที่ใดมีความเศร้า’ ฉบับ De Profundis ที่ออสการ์ ไวลด์เขียนระหว่างอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ กรงขังพันธนาการเขาไว้ราวกับว่าที่นี่ไม่มีอนาคตให้คิดถึง จะมีแต่เพียงอดีตให้หวนรำลึกเท่านั้น

‘โดยปกติผู้ตายเป็นคนร่าเริง’ ป้ายหลุมศพของออสการ์ ไวลด์ควรแปะคำนี้ไว้อย่างยิ่ง เพราะนอกจากเขาจะเป็นหนุ่มหน้ามน ผมสลวยประบ่า และมีดวงตายั่ว (โมโห) ล้อเล่น! งานเขียนส่วนใหญ่ของเขายังมีวิวาทะร้อนแรง ล้อเลียนสังคม และมีความเป็นปรัชญาตลกร้ายที่สูงมากทีเดียว ต้องตั้งใจอ่านสัก 2 รอบหรือมากกว่านั้น ถึงจะเข้าใจความหมายลึกล้ำที่ซ่อนอยู่ ส่วนเรื่องของภาษาวิจิตรบรรจงต่างก็เป็นที่รู้กันดีว่าออสการ์เลื่องชื่อมากเพียงใด
“ธรรมชาติจะแขวนดาวไว้บนแผ่นฟ้ายามค่ำคืน เพื่อที่ว่าผมจะสามารถเดินท่องไปในความมืดได้โดยไม่สะดุดล้ม และนำพาสายลมให้พัดกลบรอยเท้าของผมเพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีใครเดินตามรอยเท้าเหล่านั้นมาพบความเจ็บปวดของผม”
“ขอแค่คนจนมีรูปลักษณ์ที่งดงาม การแก้ปัญหาความยากจนก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น”
“ความเจ็บปวดนั้นต่างจากความสำราญ มันไม่สวมหน้ากาก”

หนังสือเล่มนี้จะไม่พาคนอ่านทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง หรืออยู่ใต้เมฆที่มีกลิตเตอร์โปรยลงมา มันบังคับให้เราหันหน้าเผชิญกับความกลัวตัวโตในใจ กลัวที่จะโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง หรือวันหนึ่งอาจตกเป็นแกะดำของสังคม และเพื่อนยากเพียงคนเดียวที่จะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ยามนั้นคือความเศร้า แน่นอนว่าความเศร้าไม่พูดเกี่ยวก้อยว่าจะอยู่กับเราตลอดไปหรอก แต่มันจะคอยผลุบโผล่เหมือนผีเฝ้าดูอยู่ไม่ไกล ตราบใดที่เรายังหาแสงสว่างของตัวเองไม่พบ
ฟังดูจะมีสี Blue เกือบ Black ไปหน่อย แม้ส่วนใหญ่ขณะอ่านจะทำให้รู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำที่ค่อยๆ ลึกลงเกือบก้นบึ้ง แต่ด้วยความหวังว่าอยากจะมีชีวิตอยู่ แม้จะต้องจมน้ำลึกเพียงใด เราจะตะกายขึ้นสุดกำลังเพื่อให้ได้เห็นแสงเหนือผิวน้ำ และโผล่ขึ้นมาหายใจอีกครั้ง

“การรักตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นของความรักชั่วชีวิต” นี่เป็นหนึ่งในแสงที่ออสการ์ ไวลด์ค้นเจอ เราสัมผัสความเป็นออสการ์ได้จากหนังสือเล่มบางเล่มนี้ ภาพนักโทษที่เคยเข้าใจมลายหาย เพราะตัวอักษรที่เขาทิ้งร่องรอยไว้ตราตรึงในใจผู้อ่านทั่วโลกว่าเขาคือ ‘ออสการ์ ไวลด์’ นักเขียนผู้มอบแรงบันดาลใจแด่ชาว LGBTQA+
ท้ายที่สุด หนังสือทิ้งทวนเป็นนัยๆ ให้เราว่าอย่าเศร้าหรือร้องไห้บ่อยนักเลย เพราะเดี๋ยวมันจะกลายเป็น ‘ที่ใดมีความเศร้า ที่นั้นมีคนตาบวม’ ไปเสียได้
ขอบคุณผู้แปลอย่าง รติพร ชัยปิยะพร ที่เป็นส่วนหนึ่งให้ผู้อ่านสัมผัสความเป็นออสการ์ ไวลด์ได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว
