Foshan 佛山 เมืองแห่งศิลปะหลิงหนาน หมู่บ้านโบราณ วัดเก่า เตาเผา เซรามิก

ในช่วงปลายฤดูหนาวหลังจากผ่านพ้นทุกเทศกาลของชาวจีน ก็ได้ฤกษ์งามยามดีที่ first jobber เงินน้อยอย่างเราๆ จะได้มาผจญภัยในแดนมังกรอีกครั้ง 

ระหว่างเดินทางมาเที่ยวเมืองหลวงแห่งมณฑลกวางตุ้ง เราแบ่งเวลาอีก 1 วันเพื่อเดินทางไปเยี่ยมชม ‘ฝอซาน’ (Foshan) เมืองใกล้เคียงที่อยู่ติดกับกวางโจว โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินเพียงแค่ 1 ชั่วโมงกว่าเท่านั้น แต่ทว่าสิ่งที่ได้พบกลับคุ้มค่าราวกับว่าเราเดินทางมาไกลลิบเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศที่ไม่ได้คาดหวังเลยสักนิด 

‘ฝอซาน’ (佛山) หรือความหมายที่แปลว่าหุบเขาแห่งพุทธะ เมืองรองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนเดินทางมายังเมืองนี้ เรารับรู้อย่างคร่าวๆ ว่า ที่นี่เป็นเมืองที่เด่นดังเรื่องกังฟู เซรามิก แล้วก็ยังเป็นเมืองที่ถูกผลักดันให้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เมื่อได้ยินดังนั้น ภาพที่เราจินตนาการถึงฝอซานจึงดูห่างไกลกับความเป็นจริงที่รออยู่นัก 

แน่นอนว่าหลายๆ เมืองย่อมมีย่านที่ได้รับการพัฒนา และย่านที่ยังคงอนุรักษ์ความงดงามของประวัติศาสตร์ไว้ แต่การได้มาเยี่ยมฝอซานในครั้งนี้เรากลับได้สัมผัสฝอซานในมุมที่เฟื่องฟูไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน สถาปัตยกรรมที่วิจิตร และงานหัตถกรรมท้องถิ่นที่ยังคงหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในเมืองเอาไว้

ด้วยความตื่นเต้นตามประสานักเดินทาง คอลัมน์ ‘ที่ชอบ’ ในครั้งนี้จึงอยากเชื้อเชิญชาว a day มาจัด One Day Trip ลองเดินเล่นและสัมผัสกลิ่นอายของเมืองฝอซานไปพร้อมๆ กัน เมืองนี้จะมีความตื่นตาตื่นใจแบบไหนที่รอเราอยู่บ้าง ขอเชิญนักสำรวจผูกเชือกรองเท้าแล้วตามกันมาได้เลย

1

Zumiao Temple (祖庙)

วัดเก่าแก่ที่เป็นจิตวิญญาณ และศูนย์กลางวัฒนธรรม

จุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้ามายังฝอซานครั้งนี้ เราไม่ลังเลสักนิดที่จะเริ่มต้นด้วยการเข้ามาขอพรกับองค์พระ และเยี่ยมชมความงดงามของสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมากว่า 600 ปี มากไปกว่านั้น วัดนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองไว้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวศิลปะการต่อสู้ของจีนอย่าง ‘กังฟู’ อีกทั้งยังมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของ ‘งิ้วกวางตุ้ง’ ซึ่งเป็นการแสดงพื้นเมืองที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เอาเป็นว่า แค่ก้าวเท้าเข้ามาในวัดนี้ก็มีประสบการณ์หลากหลายชุดต่อคิวรอเจอนักเดินทางอย่างเราๆ อีกเพียบ 

จากการอ่านป้ายโน้นทีป้ายนี้ทีเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ เราสามารถสรุปได้สั้นๆ ว่าวัดซูเมียว (Zumiao) ถูกก่อตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (Northern Song) ราว ค.ศ. 1078 – 1085 โดยเริ่มแรกเป็นศาลเจ้าที่อุทิศให้กับ ‘เทพเจ้าเป่ยตี้’ (Beidi, 北帝) หรือมีชื่อเต็มว่า ‘เสวียนอู่ต้าตี้’ (Xuanwu Dadi, 玄武大帝) เทพเจ้าแห่งน้ำและการปกป้องคุ้มครอง จนกระทั่งในปลายราชวงศ์หยวน อาคารดั้งเดิมถูกเผาทำลาย และในสมัยในราชวงศ์หมิงและชิง วัดได้รับการขยับขยาย เติมสิ่งโน้นสิ่งนี้เข้าไป และปรับปรุงจนกลายมาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของฝอซานจนกระทั่งปัจจุบัน 

เมื่อมาถึงวัดนี้แล้วสิ่งที่พลาดไม่ได้คือการเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะ ‘เทพเบ้ากง’ ซึ่งสถิตอยู่ที่ศาลเจ้าภายในวัด (Beidi Hall) แต่หากใครที่ไม่ได้อินกับเรื่องศาสตร์การขอพรขนาดนั้น ความวิจิตรของสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกศาลเจ้า ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นลวดลายไม้แกะสลัก รูปปั้นเทพเจ้า หรือกระเบื้องเคลือบหลากสีที่นำมาประดับตัวอาคาร ถือเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่ควรค่าแก่การมาสัมผัสด้วยสายตาสักครั้งจริงๆ  

หลังจากขอพรกับองค์เทพกันไปยกใหญ่ และได้ย่างก้าวออกมาทางด้านหน้าศาลเจ้า หลากหลายสายตาต้องหันไปจับจ้องกับต้นทางของเสียงโห่ร้องดีใจ ซึ่งมาจากบ่อน้ำที่ประดับตัวเองอยู่บริเวณลานโล่งแจ้งหน้าศาลเจ้า ด้วยความสนใจตามประสาคนไทย เราจึงเดินดุ่มเข้าไปมุงดูเช่นกันว่า กิจกรรมตรงบ่อน้ำนั้นลุ้นระทึกถึงเพียงไหน ก่อนจะพบว่ามันคือบ่อน้ำซึ่งมีรูปปั้นเต่าที่มีงูอยู่บนหลัง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เสวียนอู่’ (玄武) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานตามความเชื่อแบบจีน อีกทั้งในบ่อยังประดับไปด้วยธนบัตรและเศษเหรียญมากมาย แถมยังมีเต่าจริงๆ ถูกเลี้ยงอยู่ในนั้นด้วย 

จากการสังเกตพฤติกรรมของชาวจีนท้องถิ่นโดยรอบ เราพบว่าพวกเขาจะโห่ร้องดีใจก็ต่อเมื่อสามารถโยนเหรียญให้อยู่บนตัวของรูปปั้นเต่านั้นได้ อาจเป็นความเชื่อที่ว่า หากเหรียญไม่หล่นลงน้ำไปเสียก่อน พรที่เราขออาจสัมฤทธิผลก็เป็นได้ 

ไม่น่าเชื่อว่าชาวจีนเองก็มีความเชื่อและพิธีกรรมการโยนเหรียญในบ่อเต่าที่คลับคล้ายคลับคลากับชาวไทยด้วยเหมือนกัน

*** อย่างไรก็ตามการโยนเหรียญหรือสิ่งของอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่อาหารลงไปในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เนื่องจากอาจทำให้สิ่งมีชีวิตได้รับอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้ *** 

นอกเสียจากความสวยงามของสิ่งปลูกสร้างภายในวัด และเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว วัดซูเมียวยังเป็นพื้นที่ที่ว่าด้วยเรื่องราวของศิลปะการต่อสู้อันโด่งดังในวัฒนธรรมจีนอย่าง ‘กังฟู’ ผ่านปรมาจารย์กังฟูในตำนานของจีน ‘หวงเฟยหง’ โดยจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด (Huang Feihong Memorial Hall, 黄飞鸿纪念馆) โดยภายในนิทรรศการจะประกอบไปด้วย ชีวประวัติของหวงเฟยหง ศิลปะการต่อสู้แบบกังฟู อีกทั้งยังมีการจัดแสดงภาพยนตร์และละครที่สร้างจากตำนานของเขาอีกด้วย 

หากใครที่เป็นสายเนิร์ดภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ รับรองได้เลยว่าจะต้องชอบการเล่าเรื่องของที่นี่แน่นอน

วิธีการเดินทาง: รถไฟฟ้าใต้ดิน Guangfo Line 1 (广佛线) 
ลงที่สถานี Zumiao (祖庙) ทางออก D, C และเดินต่อประมาณ 400 เมตร 

2

Lingnan Tiandi (岭南天地)

ย่านตึกเก่า และแหล่งชิลล์เอาต์ของชาวฝอซาน

เมื่อข้ามฝั่งจากวัดซูเมียวมายังถนนเทียนตี้ (Tiandi Road) เพียงเดินเท้าไม่กี่ร้อยเมตร เราก็จะพบกับกลุ่มอาคารสีอิฐสะอาดตาที่ผู้คนดูพลุกพล่านจนชวนสงสัยว่าด้านในกลุ่มอาคารนั้นมีอะไรกันแน่ 

สถานที่แห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Foshan Lingnan World’ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านฉานเชิง (Chancheng) ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ และการท่องเที่ยว โดยผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของมณฑลกวางตุ้ง หรือ ‘หลิงหนาน’ (Lingnan Architecture) เข้ากับสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านของฝาก รวมไปถึงงานคราฟต์ท้องถิ่น จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้จัดเป็นย่านที่มีเอกลักษณ์ และเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ผู้คนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ในวันหยุดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรม หรือใช้เวลาไปกับร้านหนังสือที่อยู่ภายในโครงการ 

ไม่แน่ใจว่าโครงการนี้มีอาณาเขตกว้างขวางแค่ไหน แต่เท่าที่เราพลางเดินพลางถ่ายรูปมากว่า 1 ชั่วโมง เรากลับพบว่า ไม่ว่าจะเดินเข้าไปซอยไหนก็จะพบกับบริเวณใหม่ให้เดินสำรวจเข้าไปอีก มากไปกว่านั้น ในแต่ละซอกซอยของโครงการนี้ยังเต็มไปด้วยร้านรวงที่เรียกร้องความสนใจของเรา ตั้งแต่การตกแต่งร้านให้เข้ากับเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมโบราณ รวมถึงความสวยงามและสร้างสรรค์ในสินค้าที่วางขายก็ดึงดูดให้เราต้องแวะชมเช่นเดียวกัน 

ขณะที่เดินเล่นในซอกตึกเหล่านี้ในวันที่อุณหภูมิแตะ 28 องศาเซลเซียส แต่กลับรู้สึกเย็นสบายราวกับว่าก้อนอิฐในละแวกนี้อาจช่วยคลายความร้อนก็เป็นได้

วิธีการเดินทาง: รถไฟฟ้าใต้ดิน Guangfo Line 1 (广佛线)
ลงที่สถานี Zumiao (祖庙) ทางออก D, C อยู่ตรงข้าม Zumiao Temple ฝั่งถนน Tiandi Road

ศิลปะแบบ ‘หลิงหนาน’ 

เอกลักษณ์ที่พบได้ในกวางตุ้ง

หลังจากเยี่ยมชม 2 สถานที่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Zumiao แล้ว สิ่งที่น่าสนใจซึ่งเราพบได้ทั้งในวัดซูเมียวและ Lingnan World คือเอกลักษณ์ในสถาปัตยกรรมแบบ ‘หลิงหนาน’ (Lingnan Architecture) ที่พบได้ทั้งในกวางโจว ฝอซาน และเมืองทางตอนใต้ของจีนที่ยังคงอนุรักษ์อาคารโบราณเอาไว้

ลักษณะโดดเด่นของสถาปัตยกรรมแบบหลิงหนานสามารถสังเกตได้จากรูปแบบของหลังคาที่มีความโค้งมน เพดานสูง ซึ่งเป็นการออกแบบอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากสภาพอากาศในเขตมณฑลกวางตุ้ง ที่มีความร้อนชื้นสูง อีกทั้งการใช้อิฐเผาซึ่งมีสีเทาและสีเขียว ยังเป็นส่วนช่วยในการระบายความร้อนให้ตัวอาคารได้ นอกจากนี้การใช้กระเบื้องเคลือบในการประดับตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคารยังถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่พบได้ในสถาปัตยกรรมแบบหลิงหนานเช่นกัน 

หากใครที่ชื่นชอบในสถาปัตยกรรมหลิงหนาน นอกจาก 2 แลนด์มาร์กในฝอซานแล้ว เมืองใกล้เคียงอย่างกวางโจวก็ยังมี ‘บ้านตระกูลเฉิน’ (Chen Clan Academy) ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ยังคงอนุรักษ์ความงดงาม และครบถ้วนของศิลปะแบบหลิงหนานไว้ได้อย่างดี อีกทั้งเมืองอื่นๆ ในทางตอนใต้อย่างเซินเจิ้น หรือฮ่องกง ก็มีลักษณะของสถาปัตยกรรมเช่นนี้ให้ได้เยี่ยมชมด้วยเหมือนกัน 

3

Shiwan Ceramics Street (石湾陶瓷街)

เส้นถนนที่เต็มไปด้วยเซรามิก 

หากคุณคือคนที่ชอบไปเดินช็อปปิงตามร้านญี่ปุ่นมือสองเพื่อเฟ้นหาถ้วยแก้วที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร แถมราคาถูก เราเองก็อยากชวนให้แวะมาลองหยิบจับงานเซรามิกที่ ‘Shiwan Ceramic Street’ ดูสักครั้ง เพราะงานกระเบื้องเคลือบของที่นี่มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ถ้วยแก้วธรรมดา กาน้ำชา ไปจนถึงโอ่งมังกร รูปปั้นองค์เทพ หรือแม้แต่บรรดาสรรพสัตว์เขาก็ปั้นเป็นเซรามิกขึ้นมาได้ นอกจากนี้ถนนเส้นนี้ก็ยังมีอาคารที่ออกแบบมาอย่างสวยงามตามสไตล์หลิงหนานให้ได้เยี่ยมชม แถมยังมีโซนพักผ่อนหย่อนใจให้ได้เดินแกว่งแขนริมสระน้ำขนาดใหญ่ มีร้านกาแฟ และซุ้มขายของกิฟต์ช็อปเล็กๆ ให้ได้จับจ่ายใช้สอยเช่นกัน 

บริเวณถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านรวงที่ประกอบกิจการค้าเครื่องเคลือบเซรามิก ซึ่งเอกลักษณ์ของแต่ละร้านก็อาจแตกต่างกันไป บ้างก็เป็นร้านที่ขายเฉพาะเครื่องน้ำชา บ้างก็ขายเพียงโหล แจกันขนาดใหญ่ บางร้านก็เฉพาะเจาะจงแค่เครื่องประดับ อย่างกำไลเซรามิก ในขณะที่บางร้านก็ผสมปนเปทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกันซะเลย แต่กระนั้นทุกร้านก็ยังเต็มไปด้วยลูกค้าที่แวะมาหยิบจับเลือกซื้อสินค้ากันอย่างระมัดระวัง พร้อมทั้งต่อราคากันอย่างสุดฤทธิ์ โดยรวมถือเป็นบรรยากาศที่ครึกครื้นพอสมควร และดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวบางคนก็ตั้งใจมาเดินเล่นพักผ่อนกับสัตว์เลี้ยงคู่ใจเท่านั้น 

ความสวยงามของกระเบื้อง และสีสันสีแวววับของเซรามิกแต่ละชิ้นบนถนนเส้นนี้ เมื่อถูกประกอบกับอาคารเก่าสุดคลาสสิก ทำให้ผู้แวะมาเยี่ยมชมแบบเรารู้สึกราวกับว่าย่านนี้เป็นตลาดค้าเซรามิกที่เหมือนกับพิพิธภัณฑ์อวดงานศิลปะยังไงอย่างงั้น แถมยังเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ผู้คนจอแจ และมีสีสันไปด้วยวิถีชีวิตของพ่อค้าแม่ขายที่พลางขายของพลางจิบน้ำชาไปในเวลาเดียวกัน 

วิธีการเดินทาง: รถไฟฟ้าใต้ดิน Guangfo Line 2 (广佛线) 
ลงที่สถานี Shiwan | 石湾 ทางออก D 

请进, 请坐, 请喝茶 

วัฒนธรรมการ ‘ชวนดื่มชา’ ของชาวจีน

请进, 请坐, 请喝茶 หรือ เชิญเข้ามา เชิญนั่ง เชิญดื่มชา ประโยคคลาสสิกในแบบเรียนภาษาจีนที่เคยผ่านหูผ่านตามาตั้งแต่ประถม กลับได้มาเห็นภาพเข้าจริงๆ ก็ตอนมาเยือนแผ่นดินจีนนี่แหละ 

ดูเหมือนว่าร้านค้าแต่ละร้านทั้งเล็กใหญ่ มักมีชุดน้ำชาตั้งไว้อยู่เสมอ พร้อมกับสหายวงน้ำชาที่พูดคุยกันอย่างออกรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากร้านนั้นเป็นร้านจำหน่ายใบชา หรือย่านที่เต็มไปด้วยถ้วยแก้วเซรามิกอย่าง ‘Shiwan Ceramic Street’ เราสามารถพบเจ้าของร้านที่ชวนลูกค้าดื่มชาได้ไม่ยากเลย 

อันที่จริงแล้วการชวนลูกค้าดื่มน้ำชาเป็นวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่แสดงถึงมารยาททางสังคม และความจริงใจของผู้ทำมาค้าขาย อีกทั้งการชวนดื่มชายังแฝงความหมายที่ลึกซึ้งในบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงถึงความยินดีที่จะต้อนรับ การสร้างบรรยากาศในการพูดคุยให้ผ่อนคลาย อีกทั้งในสมัยก่อนยังถือว่าการชวนดื่มชาเป็นการสื่อความหมายถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและไม่มีอะไรปิดบัง ดังนั้นการชวนผู้ที่แวะเวียนมาชมสินค้าได้นั่งพักและจิบชาสักครู่ จึงไม่ได้เป็นเพียงการเสิร์ฟเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังถือเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนถึงมารยาท ความจริงใจ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ แถมยังช่วยกระชับความสัมพันธ์จากการสร้างบทสนทนาระหว่างจิบน้ำชาด้วยเหมือนกัน 

Ancient Nanfeng Kiln (南风古灶)

เตาเผามังกร 500 ปี ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก

ในระยะเดินเท้าจากละแวก ‘Shiwan Ceramic Street’ ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งต้องแวะไปชมสักครั้งให้ได้ และถือเป็นหมุดหมายของการมายังฝอซานในครั้งนี้ นั่นก็คือการได้มาสัมผัสกับเตาเผาเซรามิกที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง หรือราวๆ 500 ปีก่อน ซึ่งเราแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่ามนุษย์เอเชียนแบบเราๆ สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาด้วยมือเปล่าได้อย่างไรกัน 

‘Nanfeng Kiln’ คือเตาเผาเซรามิกที่เก่าแก่ที่สุดในจีน แน่นอนว่าเตาเผามังกรแห่งนี้อยู่คู่บ้านคู่เมืองฝอซานมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นเตาเผาที่ใช้งานได้มาจนกระทั่งปัจจุบัน มากไปกว่านั้นยังเป็นโบราณสถานที่ได้รับการจดทะเบียนว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติของจีน ซึ่งนอกจากบริเวณนี้จะมีไฮไลต์เป็นเตาเผามังกรที่ใครๆ ต่างก็แวะมาชื่นชมแล้ว บริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยอาคารอิฐแดงโบราณคล้ายบ้านเรือนของผู้คนในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันถูกดัดแปลงให้กลายมาเป็นสตูดิโอศิลปะ สถานที่ทำเวิร์กช็อป ร้านค้าของที่ระลึก รวมไปถึงร้านของทานเล่นอย่างขนมหวาน น้ำชา และไอศกรีม 

ในเย็นวันเสาร์นั้น ผู้คนพลุกพล่านเป็นพิเศษ ดูเหมือนว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนด้วยเช่นกัน ระหว่างที่เดินเล่นตามร้านและตรอกซอกซอยต่างๆ เราพบทั้งวัยรุ่นที่แต่งกายแฟนซีมาถ่ายภาพกับอาคารโบราณ พบผู้สูงอายุที่เดินย่องๆ มาชมความสวยงามของเตาเผา แวะชมของกระจุกกระจิกที่ค้าขายในบ้านหลังเก่า และพบกับครอบครัวที่พาลูกหลานมาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ 

เสน่ห์ของ Nanfeng Kiln ที่เราสัมผัสได้ คือการปลุกให้ย่านเก่า และสถานที่โบราณกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ซึ่งผู้คนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งของเหล่านั้นได้ หลายครั้งที่เรามักเห็นของเก่าแก่กลายเป็นของเก่าเก็บ ซึ่งอาจเป็นเพราะความเปราะบางและข้อจำกัดของพวกมัน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผู้คนรุ่นหลังๆ อาจไม่ได้มีโอกาสในการชื่นชมสมบัติของชาติมากนัก แต่ไม่ใช่กับเตาเผาโบราณและบ้านหลังเล็กหลังใหญ่ในสถานที่แห่งนี้

วิธีการเดินทาง: รถไฟฟ้าใต้ดิน Guangfo Line 2 (广佛线) 
ลงที่สถานี Shiwan | 石湾 ทางออก D 

.

.

การเดินทางในครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักฝอซานในฐานะเมืองที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และสะดุดตาด้วยศิลปะท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ แม้เมืองจะปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของผู้คน แต่ก็ยังคงรักษาความเป็นตัวตนของตนเองเอาไว้ได้อย่างงดงาม

สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจลืมไปแล้วว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียง ‘One Day Trip’ ในฝอซานเท่านั้น แต่หากมีเวลาสัก 2 – 3 วันในการสำรวจเมืองนี้อย่างจริงจัง เราเชื่อว่าฝอซานยังมีตัวตนอีกหลายมิติที่ทั้งเราเองและนักเดินทางอีกหลายๆ ท่านยังไม่ได้ค้นพบ และหากวันไหนที่มีโอกาสได้กลับมาเยือนเมืองนี้อีกครั้ง ฝอซานอาจพาเราไปค้นพบกับมุมมองใหม่ๆ แบบที่เราไม่ได้คาดหวังแต่กลับคุ้มค่าคล้ายกับประสบการณ์ในครั้งนี้ก็ได้ 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER