ผลสำรวจพบว่ากรุงเทพฯ
ติดอันดับ 3 ของเมืองที่ผู้คนทำงานหนัก
และขาดสมดุลการใช้ชีวิตมากที่สุดในโลก
กรุงเทพฯ เจ้าของฉายามหานครที่ไม่เคยหลับใหล แต่ใครจะรู้ว่าท่ามกลางแสงไฟที่ศิวิไลซ์ กลับซ่อนความเหงาของคนทำงานไว้ทุกซอกหลืบของเมือง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคมที่ไม่มีวันหยุด มวลความซึมเศร้ายิ่งเพิ่มขึ้นจนต้องเสิร์ชหา ‘คลินิกแก้เหงาใกล้ฉัน’
ไม่ใช่แค่ชาวไทยที่เผชิญกับความโดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่เมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ต่างกัน ถึงขนาดมีการถ่ายทอดชีวิตวนลูปสุดเหงาของคนเมืองผ่านผลงานศิลปะ จนกลายเป็นภาพวาดสีน้ำมันชั้นครูที่หลายคนต้องเคยเห็นผ่านตา ซึ่งผลงานที่ว่านั่นก็คือ Nighthawks (1942) จาก Edward Hopper
นี่คือผลงานขึ้นหิ้งระดับที่ใครเห็นก็ต้องสัมผัสถึงความว่างเปล่าได้ทันที ภาพของร้านอาหารในยามดึกที่มีเพียงไม่กี่คนแวะเวียนมา รายล้อมด้วยแสงไฟสีอุ่นที่ตัดกับความมืดมิดของท้องถนน เป็นภาพที่เงียบงัน แต่กลับกึกก้องในใจผู้ชมมาทุกๆ ทศวรรษ
และในปี 2025 นี้ เราอยากพาทุกคนย้อนไปสัมผัสความเหงาของคนเมืองในอดีต ผ่านไดอารีจากภาพวาดสีน้ำมันที่แสนโดดเดี่ยวนี้กันเลย
ความโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คน
ณ มุมหนึ่งของร้านริมถนน ความมืดที่เริ่มเข้าปกคลุมเมืองช่วยขับเน้นให้แสงไฟนีออนโดดเด่นยิ่งกว่าคืนไหนๆ หญิงสาวและชายวัยกลางคนแต่งตัวดี นั่งจ้องแก้วน้ำอยู่ที่บาร์ ไม่มีบทสนทนา ไม่มีการพูดคุย มีเพียงเสียงช้อนส้อมกระทบจานที่ช่วยบรรเทาความเงียบงันของค่ำคืนนี้ลงไป

ถ้าจะให้บรรยายภาพ Nighthawks ใน 1 ประโยค เราก็อดนึกถึงเพลงดังยุค 90s อย่าง ‘คนเดียวไม่เหงาเท่า 3 คน’ ขึ้นมาซะอย่างนั้น เพราะแม้ในภาพจะเต็มไปด้วยผู้คน แต่มันกลับแผ่มวลความโดดเดี่ยวออกมาจนเรารู้สึกอึดอัดแทนพวกเขาที่นั่งอยู่
ว่ากันว่า Edward Hopper ศิลปิน American Realism เจ้าของภาพวาดนี้ ได้แรงบันดาลใจจากตอนที่เขาเดินเล่นในนิวยอร์กตอนกลางดึก แม้เมืองจะสว่างไสวไปด้วยแสงไฟ แต่สิ่งที่ Hopper สัมผัสได้คือความเงียบเหงาและสันโดษท่ามกลางผู้คนที่ขวักไขว่ แทนที่จะนำเสนอความศิวิไลซ์ ซึ่งเป็นแนวทางหลักของงานศิลปะในยุคนั้น เขากลับเลือกหยิบภาพความโดดเดี่ยวนี้มาถ่ายทอดเป็นรูปวาดสีน้ำมันชิ้นนี้แทน
Nighthawks คือผลงานที่พิสูจน์แล้วว่า Edward Hopper ไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่เป็นนักบันทึกเรื่องราว ตั้งแต่เริ่มเรียนศิลปะ แทนที่จะตั้งใจเรียนเทคนิคในห้องเรียน เขากลับเลือกที่จะออกไปสำรวจความเป็นไปในเมือง ใช้เวลาทั้งวันกับการมองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนผ่านหน้าต่าง และด้วยความช่างสังเกตนี้เอง ที่ทำให้เขามองเห็นช่องว่างของความเหงาขนาดใหญ่ จากชาวอเมริกันในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และนำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานในแนว American Realism
ศิลปะความเหงาที่เกิดจากแสงและเงา
ความเหงา คืออารมณ์ขุ่นมัวที่อยู่ภายใต้จิตใจของมนุษย์ ถึงจะมองไม่เห็น แต่กลับสัมผัสได้อย่างชัดเจน นี่คือความท้าทายของศิลปินในการถ่ายทอดความรู้สึกนามธรรมเหล่านี้ ให้ส่งไปถึงผู้เสพผลงาน

Morning Sun (1952)
อาวุธลับของ Hopper ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของภาพวาดเขา คือการใช้ ‘แสงและเงา’ บดบังภาพบางส่วน และขับเน้นบางมุมให้เด่นชัดขึ้น ความคอนทราสต์ที่แตกต่างกันในภาพ สร้างความแตกต่างระหว่างโลกภายในและภายนอก เป็นดังเส้นนำสายตาให้เราโฟกัสไปที่จุดสำคัญของภาพ เช่นตัวเอกที่กำลังนั่งมองเหม่ออยู่นั่นเอง

Rooms by the Sea (1951)
อีกหนึ่งเทคนิคคือการสร้างช่องว่างผ่านการจัดองค์ประกอบในรูป ถ้าสังเกตดูดีๆ ภาพส่วนใหญ่ของเขา มักจะวางตัวเอกไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของภาพ และเว้นช่องว่างที่ทำให้เขาและเธอเหล่านั้นดูตัวเล็กและโดดเดี่ยวในโลกกว้าง ซึ่งการจัดภาพแบบนี้ได้อิทธิพลมาจากเทคนิค Off-center ของการถ่ายภาพยนตร์
การใช้แสงและเงาที่โดดเด่นนี้เอง ทำให้ภาพของ Hopper กลายเป็นต้นแบบให้กับศิลปินและผู้กำกับภาพยนตร์หลายคน โดยเฉพาะในหนังสุดดาร์กอย่าง Film Noir ที่สะท้อนพลังด้านมืดในจิตใจมนุษย์
การปฏิวัติอุตสาหกรรมพลิกชีวิต
แม้ความโดดเดี่ยวของชีวิตวัยทำงานจะเป็นสิ่งที่ผูกติดกับเรามาทุกยุคทุกสมัย แต่ชนวนที่ทำให้มหานครนิวยอร์กกลายเป็นเมืองแห่งคนเหงาในยุคนั้น เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปี 1940 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2
เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตและธุรกิจ แรงงานจากหลากหลาย
ภูมิภาคหลั่งไหลเข้ามาภายในเขตเมืองเพื่อหวังจะให้ชุบชีวิตตัวเองด้วยความเจริญจากแสงสี และนำมาสู่แนวคิด American Dream ที่ฝังรากลึกในชีวิตคนทำงาน

Office at Night (1940)
ฝันของชาวอเมริกัน คือแนวความคิดที่บูชาการทำงานหนัก ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากเราตั้งใจมากพอ เราจะประสบความสำเร็จในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน แม้จะดูเป็นความมุ่งมั่นที่ดี แต่แนวคิดที่ตึงเกินไปกลับกัดกินจิตวิญญาณ และเปลี่ยนชาวอเมริกันในยุคนั้นให้กลายเป็น
‘ซอมบี้’ ที่ใช้ชีวิตเพียงแค่ตื่นมาทำงานและหลับไป
ฉากหลังยามดึกของ Nighthawks สะท้อนวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของคนเมืองในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี การแวะกินมื้อเย็นเล็กๆ ก่อนกลับบ้าน อาจเป็นช่วงพักผ่อนเพียงสั้นๆ ที่ใครหลายคนรอคอย แต่เพราะต้องเร่งรีบกลับให้ถึงบ้านก่อนเริ่มวันใหม่ ทำให้พวกเขาเลือกจะใช้เวลาอยู่กับตัวเอง และตัดสิ่งที่ทำให้เสียเวลาอย่าง ‘การพูดคุย’ และ ‘สร้างสัมพันธ์’ ออกไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แม้จะอยู่ท่ามกลางคนนับล้านในเมือง แต่คนทำงานกลับรู้สึกตัวคนเดียว
แม้ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจะผ่านไปหลายร้อยปี แนวคิด American Dream อาจกลายเป็นแค่ขนบเชยๆ ที่คนสมัยก่อนยึดถือ แต่ตราบใดที่โลกยังคงหมุนด้วยเม็ดเงิน คนทำงานตัวเล็กๆ อย่างเรา ก็เป็นได้เพียงมดงานที่ต้องเป็นทาสทุนนิยมอยู่วันยังค่ำ ต่อให้เราไม่อยากนั่งก้มหน้าอยู่ที่ออฟฟิศแค่ไหน สุดท้ายเงินในกระเป๋าที่ร่อยหรอ ก็สั่งให้เรากลับไปใช้ชีวิตวนลูปแบบซอมบี้ และมีความเหงาเป็นเพื่อน (ไม่) สนิทอยู่ดี