ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่ภาพยนตร์หรือเรื่องเล่าทำได้คือสามารถที่จะพาผู้ชมเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง โลกที่พวกเขาไม่เคยได้ย่างกรายเข้าไป หรือกระทั่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ และสิ่งนั้นคือจุดที่เด่นที่สุดของภาพยนตร์ The Stone พระแท้ คนเก๊
ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบยกประเด็นของคอมมิวนิตีที่ก้าวล้ำกันไปไกลราวกับเรื่องเซอร์เรียล อย่างวงการพระเครื่อง มาเล่าอย่างละเอียดยิบ ชนิดที่ซูมเข้าไปถึงรูขุมขน และบ่มให้คนที่ไม่รู้ประสาอะไรเลยเกี่ยวกับวงการนี้ ค่อยๆ ตั้งไข่ หัดคลาน เดิน ไปจนถึงสามารถที่จะก้าวขาเข้าไปยังฐานทัพของเหล่าเซียนพระได้ โดยใช้เวลาเพียงองก์แรกของหนังเท่านั้น เเละเลือกวิธีเล่าแบบชาญฉลาดอย่างการนำเสนอข้อมูลผ่านความไม่รู้ของตัวละครหลักอย่าง ‘เอก’ (รับบทโดย จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) ให้พวกเราซึ่งเป็นคนดูเกาะหลังตัวละครเข้าไปในโลกที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ ขณะเดียวกันกับที่แบกเอาภาระอันหนักอึ้งที่ตัวละครเผชิญอยู่เอาไว้ด้วย
The Stone พระแท้ คนเก๊ เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องเเรกของ เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ และ บี-วุฒิพงษ์ สุขะนินทร์ ร่วมกันกำกับภายใต้ค่ายหนังคาร์แมนไลน์ สตูดิโอ, เอ็ม สตูดิโอ และ จังก้าสตูดิโอ

เรื่องราวการตีแผ่วงการพระเครื่องผ่านสายตาของ เอก ที่ต้องเอาพระในบ้านมาขายเพื่อหาเงินรักษาพ่อที่ป่วยหนัก แต่ ‘พระสมเด็จเฮียรัตน์’ ที่เขาถืออยู่กลับมีราคากว่าร้อยล้าน ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่ใหญ่ยิ่งของเหล่าคนที่อยากเป็นเจ้าของ จนพาเรื่องราวไปสู่ความวินาศเกินควบคุม
สิ่งที่หนังทำได้อย่างดีมากๆ คือจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องที่เฟี้ยวฟ้าวซึ่งเท่อย่าบอกใคร ในองก์แรกและสอง เราแทบจะไม่เห็นส่วนที่ปลิ้นเกินออกมาเลย การเล่าเรื่องแต่ละฉากก็ถูกดีไซน์มาอย่างดี การลำดับเรื่องราวก็สมูทไม่เห็นรอยต่อ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีรสชาติไม่เหมือนใครเลยคือผู้กำกับน่าจะทำงานอย่างหนักกับกลเม็ดลูกล่อลูกชน ที่พยายามจะถอดแบบวงการพระเครื่องออกมาผ่านภาษาภาพยนตร์และพยายามทำให้เราเชื่อได้ว่า นี่คือสิ่งที่คนในวงการคิด พูด กระทำจริงๆ ตัวละครทุกตัวถูกปรุงขึ้นมาอย่างเข้มข้น และมีที่ทางของตัวเอง แถมยังถูกวางไว้ในช่วงเวลา สถานการณ์ที่ถูกต้องอีกด้วย

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง**
เ(ห)ลี่ยมพระเครื่อง
สิ่งที่เป็นเสน่ห์มากๆ ของหนังเรื่องนี้คือการดำเนินเรื่องด้วยความเหลี่ยมของทุกๆ ตัวละคร จนคนดูเอง ซึ่งควรจะอยู่ในบทของพระเจ้าก็ถูกหลอก และไว้ใจใครไม่ได้สักคนในโลกของขลังแห่งนี้

ตั้งแต่ที่เอกก้าวขาเข้าไปบนพื้นที่อันน่าฉงนสนเท่ห์นั้น ความไม่น่าไว้วางใจแทรกซึมออกมานอกจอจนเราเองก็แตะสัมผัสได้ ‘เฮียเซ้งพาราไดซ์’ (รับบทโดย อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) ลองเชิงเหล่าคนที่แวะเวียนมาที่ร้าน ด้วยคำถามวัดใจอย่าง “เปิดราคาที่เท่าไหร่” น่าขนลุกขนพองพอๆ กับความเย็นของแอร์ในโรงหนัง ทำให้นึกไปถึงความเวิ้งว้างในความไม่รู้ที่เป็นจุดอ่อนและช่องว่างให้ใครต่อใครมาช่วงชิงความเป็นจริงเอาไปได้
เอกคือตัวละครที่มีพื้นที่ว่างเกี่ยวกับวงการนี้ให้เหล่าเซียนมาหยิบฉวย ลวงล่อ เอาสิ่งที่เขามีไปเติมเต็มความใคร่อยากของตัวเอง และตัวเอกเองเมื่อรู้ว่าพระที่อยู่ในมือมีมูลค่า แม้เงินที่เฮียเซ้งให้มาก็มากเพียงพอแล้ว แต่เขาก็ยังคิดว่าต้องไปต่อแม้ไม่ชัวร์ว่าพระที่มีอยู่จะเเท้ไหม รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง
จุดนี้เป็นจุดที่ตัวละครเหลี่ยมตัวเเม่อย่าง ‘เซียนหมวย’ (รับบทโดย กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ) เท่าทันความไม่พอของเอก จึงหลอกเอกและพวกเราด้วยลุคซ่าก๋ากั่น (แต่น่ารักอ่ะ) เซียนหมวยเธอรู้ว่าตัวเองมีอะไรและใช้มันอย่างเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นลุค วิธีการที่ใช้ในการไลฟ์สดหรือคุยกับเอกล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะทำให้เธอรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เป็นอะไรที่เฮียเซ้งพาราไดซ์ไม่มี เขาจึงไม่มีทางชนะเซียนหมวยได้เลยสักครั้ง ตั้งแต่ต้นจนจบเราจึงเผชิญหน้าอยู่กับความสงสัยใคร่รู้ว่าลึกๆ แล้วเซียนหมวยคิดอย่างไร เอกมีผลต่อการตัดสินใจของเธอมากแค่ไหน หรือเธอเพียงเดินหน้า เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วาดหวังไว้เท่านั้นเอง

ฉากที่ตราตรึงใจเราสุดๆ คือฉากท้ายเรื่องที่เซียนหมวยและ ‘พ่อสุนทร’ (รับบทโดย นพพล โกมารชุน) แบ่งรับแบ่งสู้ความในใจของตัวเอง เราจะเห็นภาพของการระเบิดอารมณ์อัดอั้นตันใจของลูกสาวและการสยบยอมของพ่อ แต่ภายใต้ความน้ำเน่านั้นกลับเชื่อถือใครไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าในฉากนั้นบทจะแกว่งและเหินไปบ้าง แต่การตัดสลับไปที่หน้าเด้ดของ ‘วิคเตอร์’ (รับบทโดย จุลจักร จักรพงษ์) และ เอก ที่มาเรียกเสียงฮาก็ทุเลาความอีหยังวะของซีนนั้นได้บ้าง และยังช่วยสนับสนุนความปลิ้นปล้อนของพ่อสุนทรได้เป็นอย่างดี
วัตถุแห่งศรัทธา แท้ไม่แท้ขึ้นอยู่กับเซียน
“ถ้าเซียนพระดังๆ บอกว่าแท้ ยังไงก็แท้” คำพูดที่เซียนหมวยบอกกับเอกในฉากที่เขาพยายามจะสร้างความมั่นใจให้กับเด็กชายที่ไม่ประสา ทั้งเรื่องพระเเละเรื่องคน มันทั้งทรงพลัง และสะท้อนหลักใหญ่ใจความของหนังได้เป็นอย่างดี ทำให้เรานึกคิดได้ว่าสิ่งเหล่านี้จริงๆ มันอาจไม่ได้ใช้กับแค่วงการพระเครื่อง แต่กลับโยงใยได้ถึงหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม เกี่ยวกับการให้คุณค่าอะไรบางอย่าง การถูกการันตีโดยเหล่าคนที่มี Power ผลักดันให้บางสิ่งบางอย่างเป็นได้มากกว่าสิ่งที่มันเป็นอะไรเหล่านี้จับต้องไม่ได้ เป็นมโนทัศน์ที่ลอยเคว้งอยู่ในอากาศ ไร้กฎเกณฑ์และมาตรวัด มีเพียงความเชื่อที่เป็นแท่นมั่นให้ยึดเกาะ

เราจะเห็นการตีมูลค่าที่เซอร์เรียลมากๆ ในโลกที่ตัวละครอยู่ พระเครื่องที่มีต้นทางเป็นเครื่องเคารพบูชา สำหรับผู้ศรัทธาในศาสนา กลับกลายเปลี่ยนมาเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคม มูลค่าด้านเม็ดเงินที่ห้อยคออยู่มีความสำคัญกว่าคุณค่าทางธรรมไปเสียอีก ดังนั้นพระเครื่องเองก็ผันตัวมาเป็นมากกว่าสิ่งที่เคยเป็น ถูกพัดพาให้มาอยู่ในโลกของการค้า โดยมีราคาเป็นเครื่องการันตีคุณค่าสำหรับการมีอยู่ และความเชื่อต่อวัตถุนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปจากแรงยึดเหนี่ยวทางใจเป็นยึดตรึงทางความต้องการ

ความเป็นเจ้าของ
สุดท้ายแล้วพระควรเป็นของใคร? ในเมื่อทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าเป็นของตัวเอง ในตอนต้นแน่นอนว่าเราต่างเข้าใจว่าพระเป็นของเอก ก็ในเมื่อเขาเจอในบ้านของตัวเองด้วยซ้ำ แถมยังนึกโกรธที่พ่อไม่ยอมเอาไปขายให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อตามที่เฮียเซ้งบอกว่าพระ ‘ควร’ จะเป็นของเขาเพราะไอ้เด็กนี่ เดินดุ่มๆ ถือพระเข้ามาที่ร้านและเฮียเซ้งก็เป็นคนแรกที่การันตีว่ามันมีมูลค่านะ ในมุมมองของเซียนพระเขาคือผู้ค้นพบและแตะสัมผัสด้วยมือของตัวเองด้วยซ้ำไป ในขณะที่เซียนหมวยก็เชื่อมั่นว่าเขามีสิทธิ ไม่รู้แหละ เขาเองคือผู้ประกาศก้องว่า ‘พระสมเด็จเฮียรัตน์’ เป็นของแท้ ความโกลาหลยังไม่จบเเค่นั้นเมื่อ วิคเตอร์ หนุ่มสุดคูลนักหักนิ้ว เฉลยปมว่าจริงๆ แล้วพระเป็นของพ่อเขาที่ถูกฆ่าตายและโดนปล้นไปโดยพ่อของเอก อ้าว งั้นสุดท้ายแล้วพระควรเป็นของใคร ยังไม่รวมกับพ่อสุนทรที่เชื่อมั่นว่าตัวเขาเองมีบารมีมากเพียงพอที่จะถือครอง พระสมเด็จองค์นี้ ทำให้เรื่องยิ่งไปกันใหญ่กว่าเดิม

ทุกคนต่างเชื่อมั่นในความเป็นเจ้าของของตัวเองในระบบคิดที่แตกต่างกันไป และยังมีความต้องการใช้มูลค่าของพระสมเด็จองค์นี้ในการเติมเต็มความปรารถนาของตัวเอง ดังนั้นไม่ว่าใครก็จะสูญเสียพระองค์นี้ไปไม่ได้ จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลายอย่างในฉากสุดท้ายของเรื่อง แม้ในท่อนส่วนนี้ของหนังจะเต็มไปด้วยความระส่ำระส่ายของบทที่ถูกเก็บไม่เนี้ยบ แต่ก็ยังเผยแง่มุมของความกระหายอยากในมนุษย์ไว้อย่างเด่นชัด ทุกคนไม่ได้ยิงกันเพราะแย่งชิงพระ แต่พวกเขาฆ่าแกงกันเพราะพ่ายแพ้ให้กับพื้นที่ว่างเปล่าในจิตใจ ที่คาดหวังว่ามูลค่าของพระสมเด็จองค์นี้จะมาเติมเต็มได้ ตัวละครเอกซึ่งไม่ประสาในคราแรก ค่อยๆ กะเทาะตัวเอง จนในท้ายที่สุดเมื่อได้ลิ้มรสการเป็นเจ้าของแล้ว ก็ยากที่จะถอนคืน เเม้เหตุที่เคยสมผลกลับไม่สมเหตุสมผลอีกแล้ว พระไม่ได้เป็นของพ่อเขาอีกต่อไป สิ่งที่เคยคับข้องใจว่าทำไมพ่อไม่ขายพระถูกคลี่คลาย แต่เขาก็ยังยึดมั่นว่าตัวเองเป็นเจ้าของ สุดท้ายทุกตัวละครต่างทิ้งเหตุผลออกไป เพราะเงินสำคัญสุดจ่ะ

จริงหรือเค้ก
พระเครื่องกับศาสนาเป็นเอกเทศจากกันโดยสิ้นเชิง และไม่ว่าพระสมเด็จเฮียรัตน์ในเรื่องจะจริงหรือเค้ก แต่ Storytelling ในฉากสุดท้ายได้สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับพระองค์นี้เเล้วเรียบร้อย

สุดท้ายแล้วความจริงวัดกันที่ตรงไหน ช่วงเวลา มวลสาร ความศักดิ์สิทธิ์ วิธีการปั๊มพิมพ์ ไม่มีใครตอบได้ ขึ้นอยู่กับว่าพระองค์นั้นสวมเครื่องเคราอะไรอยู่ และถูกให้คุณค่าในแบบไหนโดยใครต่างหากที่สำคัญ และไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะถูกสลับสับเปลี่ยนวงการแห่งวัตถุศรัทธากลายไปเป็นสิ่งอื่น รถเก่า ของเเบรนด์เนม งานศิลปะ หรือแม้กระทั่งคน แก่นแกนของมันก็ยังอยู่ เพราะมูลค่าแห่งความจริงเหล่านั้นช่างนามธรรม เต็มไปด้วยปรากฏการณ์การเฮโลของจิตที่กระเด็นกระดอนไปสู่กัน จนเกิดการเเห่แหนที่เซอร์เรียลเหลือเกินขึ้นมา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจที่จะชวนคิดเกี่ยวกับความจริง ความลวง ไม่ว่าจะเป็นตัววัตถุ ความเชื่อ หรือผู้คน อะไรจะเก๊หรือจริงอาจไม่ได้มีอยู่จริง แต่มนุษย์ก็เป็นแบบนั้น พวกเราทุกคนล้วนติ๊ต่าง
