ALL THINGS MUST PASS : เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วยังไงต่อ

Director: Colin Hanks
Region: USA
Genre: Documentary / History / Music

ปกติเป็นคนดูหนังสารคดีแล้วค่อนไปทางหลับมากกว่าตื่น
แต่กับ
All
Things Must Pass
ต้องยอมรับว่าเราตื่น (เต้น) ตั้งแต่ยังไม่ได้ดู และพอได้ดูก็ตื่นสลับเต้นยาวเรื่อยไปจนเอนด์เครดิต
จนดูจบต้องมานั่งถอดรหัสว่าหนังสารคดีที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของ Tower Records ร้านขายเพลงขนาดใหญ่เบ้อเร่อที่มีสาขาหลายประเทศทั่วโลก
มันทำงานอะไรกับตัวเรามากมายขนาดนั้น

แน่นอนว่าในชั้นแรก
หนังทำงานกับความทรงจำของเรา แค่ได้เห็นโลโก้ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ เราก็เห็นภาพอดีตของตัวเองตอนเป็นวัยรุ่นใส่เหล็กดัดฟัน
เดินเลื่อนลอยขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้น 4 สยามเซ็นเตอร์
เลี้ยวเข้าประตูร้านโลโก้เหลืองตัวอักษรแดง ยืนด้อมๆ มองๆ รอให้บูททดลองฟังซีดีว่าง
ใส่หูฟังไล่ฟังเพลงไปเรื่อยจนสะดุดเข้ากับบางเพลง เพลงที่ดลใจให้เราซื้อเทปอัลบั้มนั้นกลับไปฟังที่บ้าน
แล้วชีวิตวันเสาร์ของเด็กมัธยมคนหนึ่งก็ไม่เลื่อนลอยอีกต่อไป…

ถึงความทรงจำของเราจะเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวคอดนตรีและแฟนพันธุ์แท้ที่โตทันยุคนั้นมากกว่า
แต่ตัวหนังเองก็มีพลังมากพอที่ทำให้เราอยากรู้อยากเห็นประวัติศาสตร์ของร้านขายเพลงแห่งนี้ไปกับเขาด้วย
พลังที่ว่าเกิดจากการที่หนังถูกเล่าผ่านเสียงของผู้ก่อตั้งชื่อ รัสส์ โซโลมอน และกลุ่มคนที่เคยทำงานในทาวเวอร์เรคคอร์ดส์
ซึ่งคนกลุ่มนี้ดันมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนเจ้าของหรือพนักงานร้านทั่วไปเลยสักนิด
พอไอ้พวกคนนิสัยนอกกรอบ เพี้ยน บ้าบิ่น ขี้เหล้า เมายา ฯลฯ เหล่านี้มาเป็นคนเล่าเรื่อง
มันจึงกลายเป็นประวัติร้านที่เต็มไปด้วยวีรกรรมบ้าๆ หลุดๆ ที่สงสัยว่าเฮ้ย
ทำแบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ เป็นที่อื่นคงโดนไล่ออกไปละ เชื่อว่าต่อให้คนดูไม่อินกับทาวเวอร์เรคคอร์ดส์เลยสักนิด
ก็สนุกไปกับเสน่ห์ของหนังได้ไม่ยาก

ก้าวข้ามความสนุก
มองลึกลงไปเราจะเห็นว่าหนังมันทำงานกับสมองของเราไปพร้อมๆ กัน ภายใต้ความไร้กฎเกณฑ์ตายตัวในการทำงานแบบนั้น
มันสะท้อนให้เห็นวิธีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบของรัสส์ที่โคตรน่ารัก
และไม่สงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงเป็นที่รักของทุกคนในบริษัท
ดูไปจะเริ่มตอบคำถามได้ว่าเหตุผลที่ร้านขายเพลงแห่งนี้ประสบความสำเร็จถึงขีดสุดและเปิดสาขาไปทั่วโลกได้
ไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างบริษัทแบบบนลงล่างอย่างองค์กรทั่วไป
แต่อยู่ที่ความไว้ใจให้คนเล็กๆ ได้มีอำนาจและทำงานในแบบที่สนุกแถมเป็นตัวเองที่สุด
ส่วนหนึ่งอาจเพราะนี่เป็นงานที่อยู่บนอุตสาหกรรมดนตรีด้วยล่ะมั้ง
ที่ทำให้ไม่มีคุณสมบัติไหนของพนักงานที่สำคัญไปกว่า ‘ความรัก’
ในการทำงานและเสียงดนตรีเลย (ไฟในการทำงานที่รักลุกโชติช่วง)

เซอร์ไพรส์ที่สุดคือ
เมื่อดูไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง
หนังเริ่มจู่โจมความรู้สึกเรามากขึ้นและทำงานกับตัวเราในระดับมุมมองต่อ ‘ชีวิต’ การได้เห็นไทม์ไลน์ของอุตสาหกรรมดนตรีโลกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคแผ่นเสียง
เทป ซีดี ยันเอ็มพีสาม ได้เห็นร้านขายเพลงที่เคยเป็นแค่ความฝันของชายคนหนึ่ง
รุ่งเรืองถึงขีดสุดอย่างไม่น่าเชื่อ และร่วงตกลงถึงจุดต่ำสุดในช่วงเวลาไม่กี่ปี
เรารู้สึกว่าหนังกำลังพูดกับเราในประเด็นที่เป็นสัจธรรมใหญ่ของชีวิต สิ่งที่พวกเราทุกชีวิตต้องเผชิญ
นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง

ทุกการเปลี่ยนแปลง
เรามักไม่ได้คาดคิดหรือเตรียมตัวเตรียมใจมามากพอเสมอ เช่นเดียวกันกับรัสส์ โซโลมอน
ที่รู้ทั้งรู้ว่าวงการเพลงถูกอุตสาหกรรมยุคเอ็มพีสามเข้าจู่โจม
ก็ยังปรับตัวไม่ทันจนทำให้บริษัทถึงจุดจบ แต่จะบอกว่าเขามองโลกในแง่ดีเกินไปหน่อย
มั่นใจในตัวเองเกินไปนิด ก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะถ้าเขาไม่ใช่คนประเภทนี้
ทาวเวอร์เรคคอร์ดส์ก็คงมาไม่ถึงจุดนี้จริงๆ ในฐานะคนที่เคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเหมือนกันและคาดว่าจะเจออีกหลายระลอก
เรารู้สึกว่าช่วงท้ายของหนังทรงพลังในแง่ที่มันไม่ได้นำไปหาความเศร้าแบบสุดๆ
และไม่ได้เย่อหยิ่งในตำนานของตัวเองเสียขนาดนั้น
แต่มันมีแง่มุมของคนที่พยายามเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วย่อมดับไป

นอกเหนือจากความสนุกและอารมณ์ร่วมทั้งมวลที่ต้องยกนิ้วให้การเล่าเรื่องของผู้กำกับ
ผู้ทำให้เราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วไม่หลับไปในโรงหนังเสียก่อน ประโยคของรัสส์ที่ปรากฏช่วงท้ายของหนังคลอด้วยเพลง
All
Things Must Pass
ของจอร์จ แฮริสัน (จังหวะที่บางคนเริ่มน้ำตาคลอเบ้าแล้ว)
คือทัศนคติสำคัญที่เราได้รับจากหนังเรื่องนี้ว่าถ้าทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่
ดับไป แล้วเราจะทำยังไงต่อ

“Let’s
think about the future”

สั้นๆ
ได้ใจความดีนะ

*ติดตามรายละเอียดการฉายของ All Things Must Pass ได้ที่ facebook.com l Documentary Club

AUTHOR