Hidden Figures : ตัวเลขหรือใครกันที่ถูกซ่อนอยู่

Director: Theodore Melfi
Genre: Drama / History
Region: USA

ครั้งแรกที่ได้ดูเทรลเลอร์ของ
Hidden
figures
เราก็สะดุดกับการที่หนังเลือกเล่าถึงกลุ่มผู้หญิงผิวสีที่ทำงานเป็นนักคณิตกรอยู่ในองค์กรนาซ่าช่วงยุค
60 คอหนัง Drama-Biopic อย่างเราจึงไม่รอช้า
รีบตีตั๋วเข้าไปดูเรื่องนี้ทันทีที่มีเวลาว่าง

Hidden
Figures
เล่าเรื่องของผู้หญิงผิวสี 3 คนที่ทำงานอยู่ในแผนก West
Area Computer หน่วยนักคณิตกรของ Langley Research Center ในรัฐเวอร์จิเนียช่วงยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน โดยนักคณิตกรเหล่านี้จะถูกส่งไปเป็น
‘คอมพิวเตอร์มนุษย์’ ของหน่วยงานแต่ละหน่วยตามที่มีการร้องขอมาเพื่อใช้ประมวลผลข้อมูลต่างๆ
ท่ามกลางทัศนคติของคนอเมริกันที่ยังกีดกันคนผิวสีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในรัฐทางใต้ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา
ที่ทำให้คนผิวขาวมองว่าคนผิวสีต่ำต้อย เข้ามาในประเทศเพื่อเป็นทาสใช้แรงงาน สกปรก
หรืออะไรก็ตาม และยังมีการใช้กฎหมายที่เรียกว่า Jim Crow laws ที่บังคับให้ต้องแบ่งแยกการใช้สถานที่สาธารณะระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงอาหาร ไปจนถึงห้องน้ำ

แคทเธอรีน จอห์นสัน (แสดงโดย Taraji
P. Henson) เป็นนักคณิตกรผู้มีพรสวรรค์ด้านการคิดเลขมาตั้งแต่เด็ก เธอถูกส่งไปช่วยงานที่
Space Task Group ซึ่งมี อัล แฮร์ริสัน (แสดงโดย Kevin
Costner) เป็นผู้อำนวยการ แคทเธอรีนเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกในทีมซึ่งในอาคารที่เธอทำงานอยู่นั้นไม่มีห้องน้ำสำหรับคนผิวสี
และเพื่อนร่วมงานต่างก็ไม่ค่อยยินดีนักที่ต้องร่วมงานกับคนผิวสีอย่างเธอ แต่เมื่อสพภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศได้สำเร็จ
ก็เป็นการกดดันทางอ้อมให้สหรัฐอเมริกาต้องเร่งมือส่งนักบินอวกาศขึ้นไปสำรวจอวกาศบ้าง
เบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดจากความสามารถของแคทเธอรีนรวมถึงเหล่าสาวคณิตกรผิวสีที่แก้สมการอันซับซ้อนทางคณิตศาสตร์ได้สำเร็จ
ทำให้อัลเกิดความประทับใจ และไว้วางใจให้ทำงานต่อไป

ส่วนตัวเราชอบที่
Hidden
Figures
เป็นหนังชีวิตที่ไม่ขมขื่นจนเกินไปนัก เพราะหนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนผิวสีส่วนใหญ่จะเผยให้เห็นด้านมืดของสังคมคนผิวสีหรือชีวิตที่ไม่ขรุขระ
แต่เรื่องของคนผิวสีที่ใช้ความรู้ ความสามารถในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสุดใจ
ก็เป็นพลังบวกที่คนดูน่าจะได้ความหวังกลับมาเต็มๆ หรือแม้แต่ในซีนดราม่าเน้นอารมณ์
เราก็ไม่รู้สึกว่าถูกบทหรือตัวละครขยี้หรือยัดเยียดความเจ็บปวดมากจนเกินจริงนัก ในฉากระเบิดอารมณ์เรื่องห้องน้ำที่แคทเธอรีนต้องไปเข้าห้องน้ำสำหรับคนผิวสีที่ตึกอื่น
ทาราจิก็ทำได้ดีในแง่ของการแสดงสีหน้าท่าทางและอารมณ์จริงๆ โดยรวมแล้วเราชอบเรื่องนี้
ถึงแม้ว่าวิธีการเล่ามันสุดแสนจะคลีเช่ก็เถอะ แต่ก็จัดว่าเป็นหนังชีวิตที่ฟีลกู้ดเรื่องหนึ่งทีเดียว

AUTHOR