‘Exotic’ เป็นคำที่ถอดความเป็นภาษาไทยได้ยากมากที่สุดคำหนึ่ง เพราะคำๆ นี้ใช้อธิบายคอนเซปต์ของสิ่งที่มีความแปลกใหม่ในแบบ ‘ต่างชาติ’ ผ่านมุมมองของตะวันตก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมสำคัญๆ ของโลก แล้วความก้าวหน้าทางวิทยาการยังเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าซีกโลกตะวันออกในหลายสาขา
แล้วคำว่า ‘Exotic’ นั่นเองที่อธิบายความหมายบนโลโก้ของ ‘Mariage Frères’ แบรนด์ชาเก่าแก่จากประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างฝรั่งเศสได้ตรงที่สุด

วัฒนธรรมการดื่มชา
ชาอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวตะวันออกอย่างจีน อินเดียและทิเบตมาเป็นยาวนานกว่าร้อยพันปี แต่วัฒนธรรมการดื่มชาเพิ่งซึมซาบเข้าไปในโลกตะวันตก เมื่อประมาณศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้าชาวดัตช์ซึ่งเดินเรือจากโลกตะวันตกมายังดินแดนห่างไกลอีกซีกมหาสมุทร และได้แพร่หลายต่อไปยังอังกฤษ รวมถึงฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
แรกเริ่มเดิมที การดื่มชาเป็นสิ่งที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง จากการที่ราคาใบชาเป็นของหายาก มีความ Exotic มีค่า และมีราคาสูงลิบลิ่ว ธรรมเนียมการดื่ม Afternoon Tea จึงอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงโดยเฉพาะ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการดื่มชาช่วงบ่ายแบบอังกฤษที่พบเห็นได้ทั่วไปเหมือนอย่างในปัจจุบัน จากการที่อังกฤษนำใบชาจากประเทศจีนและอินเดียเข้ามาในราคาที่เป็นมิตรกับคนทั่วไปมากขึ้นในระยะเวลาต่อมา
แต่ในฝรั่งเศส วัฒนธรรมการดื่มชากลับมีปริบททางวัฒนธรรมและความหมายแตกต่างจากในอังกฤษอย่างสิ้นเชิง

ร้อยกว่าปีก่อนจะมาเป็น Mariage Frères
การออกเดินทางค้นหาสิ่งแปลกใหม่อยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด สำหรับยุโรปในศตวรรษที่ 17 อารยธรรมที่ความแปลกใหม่หรือว่า Exotic ของเอเชียนั้น เป็นที่สนใจยิ่งไปกว่าสิ่งใด
ต้นตระกูล Mariage ออกเดินทางจากฝรั่งเศสมายังเปอร์เซียและอินเดียในปี 1660 ด้วยกิจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในการเซ็นสัญญาทางการค้ากับดินแดนเปอร์เซีย แต่กว่าจะตั้งเป็นบริษัท Auguste Mariage & Compagnie นำเข้าความ exotic แบบเอเชีย ก็เมื่ออีกร้อยปีต่อมา
บริษัทแห่งแรกของตระกูล Mariage ตั้งอยู่บน Rue neuve Vivienne ซึ่งดูเหมือนว่าในตอนนี้จะไม่มีถนนสายนี้แล้ว ภายหลังได้เปิดร้านชา Maison de The Mariage Frères (Mariage Frères Tea House) บน Rue de Bourg-Tiboug ถนนสายเก่าแก่ของกรุงปารีส และดำเนินกิจการที่มีอายุยาวนานเกือบสองร้อยปีมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน Mariage Frères สานต่อธรรมเนียมการดื่มชาแบบชาวปารีเซียง ผ่านการเปิดสาขาในย่านหลักของโลก อย่างย่านกินซ่าในกรุงโตเกียว และ Covent Garden ของกรุงลอนดอน
การตกแต่งภายในร้านยังคงเป็นสไตล์เก่าแก่แบบต้นฉบับ ทำจากไม้เนื้อดี สีสวยและเคลือบเงาแต่พอดี และยังสร้าง Mariage Frères Tea Museum ขึ้นภายในสาขาแรกบน Rue de Bourg-Tiboug เพื่อจัดแสดงความเป็นมาและเรื่องราวบนเส้นทางการทำการค้าใบชาของ Mariage Frères

เอกลักษณ์เฉพาะของชาฝรั่งเศส
ด้วยความที่เป็นต้นกำเนิดของศิลปะวัฒนธรรมที่บ้านเราเรียกว่า ‘หลุยส์’ ประเทศฝรั่งเศสเป็นที่รู้จักดีในเรื่องความมั่งคั่ง หรูหรา ตระการตา แต่มีความอ่อนช้อยและละเมียดละไม ตามลักษณะเด่นของพระเจ้าหลุยส์ ผู้ปกครองฝรั่งเศสในสมัยก่อน คนไทยเราจึงนิยมเรียกความฟู่ฟ่า ร่ำรวย และส่องประกายสีทองระยิบระยับว่าสถาปัตยกรรมหรือศิลปะแบบ ‘หลุยส์’
แล้วกลิ่นไอความเป็น ‘หลุยส์’ ก็สะท้อนออกมาให้เห็นในวัฒนธรรมการดื่มชาของฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน
ใบชาที่จำหน่ายในกรุงปารีสช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีราคาหน่วยละหลายยูโร ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก ณ ตอนนั้น ประกอบกับ Salon de The หรือว่า ‘Tea Salon / Shop’ ในกรุงปารีสยังเป็นสถานที่สำหรับการเข้าสังคม การซื้อหาหรือว่าบริโภคชาในกลุ่มประชาชนทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักในขณะนั้น แม้ว่าการดื่มชาในฝรั่งเศสจะเข้าถึงผู้คนหลากหลายกลุ่ม แต่ก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันดังเช่นในอังกฤษ
หากมองในเรื่องรสชาติ เอกลักษณ์และความโดดเด่นของใบชาที่เบลนด์ในฝรั่งเศส อยู่ตรงที่หอมละมุนปานน้ำหอม โดยส่วนมากมักเป็นการเติมกลิ่นหอมและรสชาติบางๆ ของดอกไม้หรือผลไม้ลงไปในชาดำ (Black Tea) แบบที่เรียกว่า ‘Flavoured Tea’ หรือ ‘Perfumed Tea’ จุดนี้แตกต่างจากชาอังกฤษ ซึ่งเบลนด์ใบชากับพืชหรือดอกไม้ชนิดอื่นๆ โดยยังคงกลิ่นและรสชาติดั้งเดิมของใบชาไว้ค่อนข้างมาก
ตัวอย่างเช่น ในการเบลนด์ชาขายดีที่สุดของ Mariage Frères ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Marco Polo’ ต้องใช้ชาดำเกรดพรีเมียม ดอกไม้จากทิเบตและจีน แล้วเติมความสดชื่นของผลไม้ลงไปอีกนิด เพื่อให้ได้กลิ่นหอมหวานของกลีบดอกไม้ แต่ยังคงความสดใสแบบเบอร์รีอยู่ ต่อมาได้เพิ่มความหลายหลายเป็น Marco Polo Vert จากชาเขียวแถบเอเชีย และ Marco Polo Rouge ด้วยชาแดงจากแอฟริกา ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการนำเข้าใบชาของ Mariage Frères ในระยะหลังๆ
เรามองว่าการเบลนด์ชาแบบฝรั่งเศส ต้องใช้ความชำนาญ ทักษะและความประณีต คล้ายกับการเบลนด์น้ำหอมซึ่งประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นฉบับและมาตรฐาน นักเบลนด์ชาต้องคำนึงถึง Note ต่างๆ อย่างลดหลั่นกันไป เพื่อไม่ให้ความหอมฟุ้งตีกันจนเวียนศีรษะ แต่ก็ต้องมีความเด่นชัดในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องรักษาเอกลักษณ์ความหรูหรามั่งคั่งในแบบวัฒนธรรมฝรั่งเศสเอาไว้ด้วย
ศิลปะการเบลนด์ชา จึงใช้เวลาเรียนรู้และลองผิดลองถูกเป็นเวลานาน กว่าที่จะสามารถเบลนด์ชาที่แม้แต่ตัวเราเองจะพอใจได้ การเป็นนักเบลนด์ชาจึงเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องในฝรั่งเศสและหลายประเทศทั่วโลก

จารึกประวัติศาสตร์และการสื่อสารผ่านโลโก้
ในปัจจุบัน โลโก้มีหน้าที่หลากหลายการใช้งาน แต่สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารบุคลิกลักษณะและความเป็นแบรนด์ออกมาให้แก่ผู้พบเห็นให้มากที่สุด
หากมองผ่านๆ โลโก้วงกลมบนกระปุกชา Mariage Frères คงเป็นเพียงการออกแบบที่ละเอียดและละเมียดละไมตามความนิยมในสมัยก่อน แต่ในความจริงแล้ว เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของยุโรปไว้ได้อย่างน่าทึ่ง
ในเวลานั้น คำว่า ‘แบรนด์’ ยังไม่ถูกบัญญัติขึ้น สิ่งที่เราเห็นนั้นเป็น ‘ภาพจำ’ เพื่อกิจการค้าขาย สำหรับ Mariage Frères แล้ว รายละเอียดบนโลโก้รูปทรงกลมซึ่งเป็นเหมือนกับตราประทับนั้น ถ่ายทอดและบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งที่ทำ Henri และ Edouard Mariage สองผู้ก่อตั้ง กำลังดำเนินอยู่
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น ชาติตะวันตกนำเข้าวัฒนธรรมจากโลกตะวันออก เนื่องด้วยเหตุผลทางความ แปลกใหม่ แตกต่าง และน่าหลงใหลในแบบที่เรียกว่า ‘Exotic’ แล้วสิ่งแรกๆ ที่ยุโรปนำเข้าไปในตอนนั้นก็คือ ‘ใบชา’
บนโลโก้ของ Mariage Frères จึงพบคำว่า ‘ใบชาคุณภาพเยี่ยมจากประเทศจีน อินเดีย ซีลอน (ศรีลังกา) และฟอร์โมซา (ไต้หวัน) แล้วสิ่งนั้นก็เป็นธรรมเนียมที่ยิ่งใหญ่’
หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบเห็นรายละเอียดทางด้านภูมิศาสตร์ด้วย เช่น ภาพพันธุ์ไม้จากซีกโลกตะวันออกที่หาไม่ได้ในตะวันตก และถังไม้บรรจุใบชาใส่เรือข้ามมหาสมุทรมายังยุโรป เหล่านี้สร้างความประทับใจและประหลาดใจให้กับนักเดินเรือและพ่อค้าชาวยุโรปเป็นอย่างมาก
นอกไปจากนั้น ยังจะเห็นธรรมเนียมการใช้ภาพวาดหรือภาพแกะสลักของผู้ก่อตั้งกิจการลงบนโลโก้และฉลากสินค้า ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไทยเรารับเข้ามาในช่วงเปิดรับวิทยาการต่างชาติ ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ดังที่เห็นบนฉลากน้ำพริกเผาตราแม่ประนอม
จึงถือได้ว่าโลโก้ของร้านชา Mariage Frères เป็นอีกหนึ่งจารึกสำคัญทางประวัติศาตร์โลกก็ว่าได้!