Lastburi นิทรรศการภาพถ่ายที่ตั้งคำถามกับความเป็นราชบุรีของ ติ้ว วศินบุรี

หากใครติดตามงานศิลปะร่วมสมัยในไทยคงคุ้นเคยกับชื่อของ ติ้ว–วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธรและทายาทโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่อยู่ไม่น้อย เพราะพี่ติ้วมีผลงานศิลปะโดยเฉพาะประติมากรรมเซรามิกทั้งชิ้นเล็กและใหญ่จัดแสดงตามที่ต่างๆ มากมาย รวมทั้งยังเป็นผู้ผลักดันศิลปะให้เข้าถึงชุมชนราชบุรีจนกลายมาเป็นเมืองอาร์ตอย่างในปัจจุบัน

แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่านอกจากเซรามิกที่เป็นงานประจำแล้ว อีกหนึ่งศาสตร์ของศิลปะที่พี่ติ้วสนใจไม่แพ้กันคือการถ่ายภาพ เพราะมองว่าเป็นการบันทึกความทรงจำเอาไว้

“จุดร่วมของการทำงานเซรามิกกับการถ่ายภาพคือความบังเอิญ ในงานเซรามิกเรารู้ขั้นตอนการปั้น เผา แต่บางครั้งเกิดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เราเผาไปตามปกติ แต่วันหนึ่งไฟเบอร์เข้าไปอุดเตาและเกิดคาร์บอน จากงานที่ทำเป็นสีแดงก็กลายเป็นสีเขียวขึ้นมา เป็นการทำงานที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีดีแค่ไหน ใช้ความรู้ขนาดไหนก็ตาม บางทีเราเอาตรงนี้มาปรับเป็นความตั้งใจในการทำงานด้วยซ้ำไป เอาดินที่เผาความร้อน 1000 องศา มาเผาที่ 1200 องศา ดูว่ามันจะบิดเบี้ยวออกมาแบบไหน เราควบคุมส่วนหนึ่ง ให้ธรรมชาติจัดการส่วนหนึ่ง การถ่ายภาพก็เหมือนกัน เราอาจจะเดินผ่านทางเดิมทุกวันแต่ไม่ได้มองเห็นถึงความสวยงาม ความเปลี่ยนแปลง แต่วันหนึ่งอาจจะมีใบไม้ร่วงลงมา แสงเป็นสีทอง มีเต่าทองเดินมาพอดี เราก็เห็นความสวยงามที่เกิดจากความบังเอิญ มันสนุกที่เราไม่ได้ควบคุมทั้งหมด และเราต้องมองออกว่าจะเล่นกับสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างไร”

ที่ผ่านมาแม้จะเคยไปร่วมแสดงงานภาพถ่ายร่วมกับศิลปินท่านอื่นอยู่บ้าง แต่งาน ‘Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด’ เป็นการแสดงผลงานภาพถ่ายเดี่ยวเป็นครั้งแรกของพี่ติ้ว โดยมี Panasonic Lumix ให้การสนับสนุน เขาจึงได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ด้วยกล้อง Panasonic Lumix G9

“พานาโซนิคเป็นแบรนด์ที่เปิดกว้าง เราอยากทำโปรเจกต์ภาพถ่ายที่เกี่ยวกับชุมชนราชบุรี เพราะในปัจจุบันเราเอาแต่พูดกันเรื่องฟังก์ชั่นเสริม อุปกรณ์ต่างๆ จนคนหลงลืมไปว่าหน้าที่สำคัญของกล้องคือการใช้บันทึกความทรงจำ เป็นเรื่องราวส่วนบุคคล ทำให้ได้เรียนรู้ เปลี่ยนมุมมอง เชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของเรา เขาก็ตกลงที่จะทำร่วมกัน”

ภาพถ่ายที่จัดแสดงเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวตนความเป็นราชบุรี ช่วยทำให้คนราชบุรีเองเห็นคุณค่า ตั้งคำถามกับตัวตน และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา เพราะเขาประสบมากับตัวว่าการอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนคุ้นเคย จะทำให้เรามองไม่เห็นตัวตนและความสำคัญของมัน จนกระทั่งมันหายไปจึงเริ่มเห็นคุณค่าและรู้สึกเสียดาย

“เราเกิดในโรงโอ่ง ก็ผูกพันกับสถานที่ ตอนเด็กๆ วิ่งเล่นในโรงงาน ถ้าวันหนึ่งมันจะหายไปก็เสียดาย คิดมาตลอดว่าไม่ว่าจะเรียนจบอะไรก็อยากมาทำพื้นที่นี้ต่อ ราชบุรีก็เหมือนกัน แต่ก่อนเราไม่รู้สึกอะไรกับมัน แต่ตอนกลับมาจากเรียนต่อที่เยอรมนีเราก็เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยมองข้าม ทั้งแม่น้ำ วัด ซุ้มประตู บ้านที่ตั้งอยู่ตรงนั้น ความทรงจำที่เราไม่เคยคิดว่ามีตัวตนถูกทำให้ชัดขึ้นมาจากการที่เราเห็นค่าของมัน เราเลยพยายามใช้ศิลปะสร้างชุมชน ใช้ภาพถ่ายซึ่งเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดเป็นตัวเชื่อม ทำให้คนเห็นคุณค่าและรับรู้ตัวตนที่เคยมองข้ามได้เร็วขึ้น สำหรับบางคนบ้านเกิดอาจจะไม่ใช่บ้านตาย แต่สำหรับเรา บ้านเกิดเป็นบ้านตาย นิทรรศการนี้เลยเป็นชื่อ Lastburi ด้วย”

การจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ นอกจากถ่ายภาพแล้ว พี่ติ้วยังเป็นผู้ออกแบบแนวคิดการจัดแสดงเองทั้งหมด โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็นสามส่วน และใช้ธีมสีในการจัดแสดงที่แตกต่างกันออกไป

“ห้องแรกใช้สีประจำจังหวัดราชบุรีคือฟ้า-เทา แต่ไม่มีใครรู้ว่าฟ้า-เทาคืออะไร เฉดไหน แพนโทนรหัสอะไร เหมือนกับการที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคืออะไร เลยเป็นการเริ่มต้นพูดถึงตัวตนความเป็นราชบุรีไปด้วยกัน”

ผลงานที่จัดแสดงในห้องนี้เป็นภาพ ‘ไอ้จุด’ ประติมากรรมหมาที่มีรูพรุนทั่วตัวไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดราชบุรีที่คนมักไม่เคยเห็น ซึ่งไอ้จุดเป็นผลงานที่พี่ติ้วได้แรงบันดาลใจมาจากสุนัขข้างถนนในไทย โดยปกติแล้วไอ้จุดจะตั้งอยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนติดต่อเจ้าจุดไปจัดแสดงตามที่ต่างๆ รายได้ทั้งหมดก็จะเข้าไปสนับสนุนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านของมัน

ส่วนในห้องที่สอง พี่ติ้วใช้สีเทา-ฟ้าโดยมีสัดส่วนสีเทามากขึ้น แนวคิดการจัดแสดงในห้องนี้คือการตั้งคำถามกับคำขวัญจังหวัดราชบุรี ‘คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนินฯ เพลินค้างคาวร้อยล้าน’ เพราะพี่ติ้วเชื่อว่าคำขวัญเป็นสิ่งสมมติที่สามารถเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงไปได้ ภาพที่แสดงจึงมีทั้งภาพปลายี่สกที่เหลืออยู่แค่บนป้ายชื่อถนน ภาพคนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง ที่เป็นภาพนางงามรุ่นดึกวัย 80 เป็นต้น

ห้องสุดท้ายเป็นห้องโทนสีแดงแบบดินราชบุรีที่พี่ติ้วเรียกว่าห้องราดดิน เป็นภาพขณะสาดน้ำดิน ที่อาศัยความสามารถในการถ่ายภาพได้ 60 ภาพต่อวินาทีของกล้อง Panasonic Lumix G9 เพื่อให้ได้จังหวะสาดน้ำพอดิบพอดี ซึ่งเขาไม่ได้ตีความว่าการสาดดิน สาดโคลนเป็นสิ่งเลวร้าย แต่เป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆ ที่พร้อมเข้ามากระทบ เพื่อให้คนรู้ตัวถึงความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นกับจังหวัดราชบุรีได้ตลอดเวลา หากทุกคนไม่ดูแลรักษาไว้ให้ดีก็อาจต้องสูญเสียบางอย่างตลอดไป

“แต่ละห้องมีความเชื่อมโยงกัน หลายพื้นที่ที่ถ่ายมาแสดงในห้องแรกเรามองว่าสวย แต่วันหนึ่งก็อาจจะไม่สวยอีกต่อไปถ้าไม่มีการเฝ้าระวัง เลยเชื่อมโยงกับห้องที่สองและสาม ซึ่งเป็นการตั้งคำถามและสะกิดให้มีสติ รู้ตัว นี่คือวิธีการดูแลราชบุรีในแบบของเรา”

แนวคิดเบื้องหลังภาพถ่ายทั้งหมดจะออกมาเป็นชิ้นงานเบื้องหน้าไม่ได้เลยถ้าขาดกล้องถ่ายภาพคู่ใจของพี่ติ้ว

“ช่างภาพแต่ละคนมีความต้องการและรูปแบบการใช้งานที่ต่างไป ซึ่ง Panasonic Lumix G9 ตอบโจทย์การใช้งานของเราได้ สามารถบันทึกเรื่องราวให้ตรงกับสิ่งที่เราคิด อยากเห็น อยากจดจำได้”

นิทรรศการ Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด มีพิธีเปิดในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 และเปิดให้เข้าชมในวันที่ 16 ธันวาคม 2561 – 17 มีนาคม 2562 ณ พื้นที่แสดงงาน โรงงานเถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!