“ถ้าพูดถึงสมุดนักเรียนที่แตกต่างจากเดิม หลายคนคงนึกถึงสมุดของโกญจนาท เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงเหมือนเรา”
‘โกญจนาท’ โรงงานผลิตสมุดที่เริ่มต้นจากความรักระหว่างอากงกับ อาม่าออย – ชาติพร หวังไพสิฐ เมื่อ 42 ปีที่แล้ว ทั้งคู่เคยเป็นพนักงานทำสมุดในโรงงานอื่นมาก่อน หลังแต่งงานจึงช่วยกันก่อร่างสร้างตัว ขยับขยายโรงงานของตัวเองให้ใหญ่ขึ้น และส่งต่อแพสชันด้านนี้ให้แก่ลูกหลานรุ่นสู่รุ่น
มิน – ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หลานคนโตที่วิ่งเล่นในโรงงานมาตั้งแต่เด็กๆ เขาได้รับอิทธิพลความชอบด้านกระดาษมาจากอาม่าออย จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโรงงานโกญจนาทให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ แต่ยังคงความเป็นสมุดนักเรียนฉบับไทย นับเป็นครั้งแรกที่โรงงานโกญจนาทพลิกโฉมสินค้าใหม่ ท่ามกลางคู่แข่งทางการตลาดที่ยังคงผลิตสมุดรูปแบบเดิม ทำให้สินค้าของโรงงานโกญจนาทได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น หลังจากธุรกิจซบเซามาเป็นเวลานาน
แน่นอนว่า การพลิกโฉมสินค้าเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่แตกต่างจากในอดีต รวมถึงฉีกกฎแบบแผนดั้งเดิมของการทำสมุดนักเรียนไทย แต่การพูดคุยปรึกษาและทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 วัยกลับไม่ได้ยากอย่างที่ใครหลายคนคิด เพราะในความสัมพันธ์ของหลานม่าคู่นี้ไม่มีช่องว่างทางอายุตั้งแต่ต้น แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อใจที่มีให้ต่อกันนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และทำให้พวกเขามีแรงฮึดสู้ในวันที่หมดหวัง
แม้การพลิกโฉมสินค้าครั้งนี้จะมีราคาที่ต้องจ่าย ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการขาย จากค้าส่งมาเป็นค้าปลีก แต่การเปลี่ยนจุดขาย โดยเลือกใช้กลยุทธ์ ‘กล้าที่จะแตกต่าง’ ทำให้โกญจนาทกลายเป็นแบรนด์สมุดในใจคนรุ่นใหม่ และโดดเด่นจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดเดียวกัน
มาร่วมสำรวจการเดินทางของโรงงานสมุดโกญจนาท จากโรงงานเล็กๆ ที่เป็นธุรกิจภายในครอบครัว สู่การปรับตัวครั้งใหญ่ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ พร้อมเรียนรู้มุมมองการทำธุรกิจที่จริงใจต่อผู้บริโภค และแนวคิดการทำงานที่เล็งเห็นคุณค่าของทรัพยากรคน ซึ่งคือ Motto ที่โรงงานโกญจนาทยึดถือมาโดยตลอด
“อาม่ากับอากงบุกเบิกโรงงานนี้ด้วยกัน ถ้าไม่ได้ทำโรงงานนี้ต่อก็คงรู้สึกใจหาย หลานถามอาม่าว่า ทำไมไม่ทำต่อ ในเมื่อโรงงานเรามีพร้อมทุกอย่าง แค่ลองเปลี่ยนโฉมสมุดเท่านั้นเอง เราจึงตัดสินใจทำตามที่หลานแนะนำ”

เส้นทางการเติบโตของโรงงานโกญจนาทเป็นอย่างไร?
อาม่าออย: ย้อนไปเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว โรงงานผลิตสมุดมีจำนวนค่อนข้างน้อย ขณะที่คนไทยนิยมใช้สมุดจำนวนมาก รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ยังไม่มีสมุดเฉพาะของตัวเอง จึงเลือกซื้อสมุดจากท้องตลาด ซึ่งโรงงานโกญจนาทคือหนึ่งในตัวเลือก ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นโรงงานที่ใหญ่ขึ้น
แต่ช่วงหลังมานี้ หลายโรงเรียนเริ่มผลิตสมุดประจำโรงเรียนมากขึ้น ความต้องการซื้อสินค้าประเภท ‘สมุดนักเรียนสำเร็จรูปทั่วไป’ จึงน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่หันมาใช้ iPad และ Tablet กันมากขึ้น ทำให้ยอดขายสมุดลดต่ำลง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่โรงงานโกญจนาทแทบขายสมุดไม่ได้เลย
“เราคิดว่า โรงงานนี้คงไปไม่รอดแล้ว แต่หลานเสนอให้ลองขายทางออนไลน์ เพราะผู้ใช้สมุดสามารถเห็นสินค้าได้ในทันที ต่างจากการขายผ่าน ‘ยี่ปั๊ว’ หรือพ่อค้าคนกลาง เราก็เชื่อหลาน เพราะเขาใช้ชีวิตข้างนอก จึงมองเห็นตลาดมากกว่าเรา”
หลานมิน: ก่อนหน้านี้โรงงานโกญจนาทผลิตสินค้าเดิมตลอดระยะเวลา 42 ปี เนื่องจากพ่อค้าคนกลางไม่เคยแจ้งว่าต้องการสินค้ารูปแบบใหม่ ทำให้โรงงานไม่กล้าเปลี่ยนรูปแบบ ไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ หรือออกจากคอมฟอร์ตโซน เพราะกลัวพ่อค้าคนกลางจะไม่รับซื้อสินค้า
อีกทั้ง การขายส่งเพียงช่องทางเดียวยังทำให้ผู้ผลิตไม่ทราบถึงความต้องการของลูกค้าปลายทาง ดังนั้น การออกแบบสมุดใหม่จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการค้นหาลูกค้าผู้ใช้งานจริงเพื่อเก็บข้อมูลว่า พวกเขาต้องการใช้สมุดแบบไหน
“ถ้าไม่ลองเสี่ยง เราก็จะไม่มีวันรู้ว่าสมุดแบบใหม่ดีหรือไม่ดี”

ทำไมคุณมินจึงตัดสินใจเข้ามามีบทบาทในการทำงาน?
หลานมิน: อาม่าออยมีลูกหลานหลายคน ไม่ใช่ทุกคนจะอยากสานต่องานนี้ แต่เราอยากทำเพราะความชอบส่วนตัว เนื่องจากชอบพับกระดาษ เช่น งานโอริกามิ และเข้าร้านเครื่องเขียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะอาม่าเป็นคนเลี้ยงดูเรา ทำให้เราเติบโตมากับโรงงาน วิ่งเล่นและใช้ชีวิตในสถานที่นี้ตั้งแต่เด็กๆ เราได้คลุกคลีกับการทำงานด้านนี้จนซึมซับกลายเป็นความชอบ จึงตัดสินใจเข้ามามีบทบาทในการทำงาน
“ในเมื่อเราเป็นคนชอบซื้อกระดาษและสมุดอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ลองพัฒนาโรงงานไปให้ไกลกว่าเดิม สุดท้ายจึงตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบสมุดของที่บ้านให้กลายเป็นแบบที่ตัวเองอยากใช้”
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรูปแบบสมุดไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่ผ่านการพูดคุยกับอาม่าหลายครั้ง จนถึงจุดหนึ่งที่ทุกคนในโรงงานมองว่า ยอดขายสมุดเดิมต่ำลงทุกปี ไม่ว่าจะทำอย่างไร ธุรกิจก็ไม่ฟื้นตัว จึงเหลือแค่ 2 ทางเลือกคือไม่ไปต่อ หรือลองทำอะไรใหม่ๆ
“งั้นลองเปลี่ยนรูปแบบใหม่สักครั้ง เพราะเรามีทั้งกำลังคนและเครื่องจักร การเปลี่ยนรูปแบบปกใหม่ เราไม่ได้ลงทุนอะไรเพิ่มมากมาย อย่างน้อยเราลองทำดู ถ้าไม่สำเร็จ ก็แค่ไม่ไปต่อจริงๆ”
อาม่าออย: อาม่าเชื่อใจเขา เพราะเขามีความมุ่งมั่น มีความคิดที่ทันสมัยกว่า รวมถึงอยู่ในสังคมที่มองเห็นกลุ่มเป้าหมายและตลาดมากกว่าเราที่อยู่แต่ในบ้าน จึงปล่อยให้เขาตัดสินใจเองทุกอย่างเลย อาม่าก็สนับสนุนเต็มที่

เล่าถึงแนวคิดการออกแบบสมุดให้ฟังหน่อย
หลานมิน: เรารับผิดชอบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เป็นหลัก โดยออกแบบตามที่ตัวเองชอบ และอิงจากตำราสอนวาดลายไทยโบราณเล่มหนึ่งของ ‘พระเทวาภินิมมิต’ ซึ่งมีข้อมูลการเขียนลายไทยพื้นฐาน
โจทย์แรกเริ่มคือ สมุดนักเรียนลายไทยที่ดูทันสมัยขึ้น เราจึงตัดทอนความละเอียดบางส่วนให้เหลือแค่โครงเรขาคณิตของลายไทย ซึ่งเป็นศาสตร์เดียวกับความมินิมอล นั่นคือความเหลี่ยมหรือกลมที่สมมาตร จากนั้นเลือกใช้สีที่มีความตัดกัน จนกลายเป็นสมุดลายไทยวินเทจที่สีสันสดใสขึ้นอย่างที่ทุกคนเห็น ส่วนสมุดนักเรียนปกสีพื้น เราปรับความเข้มของสีให้อ่อนลง ซึ่งตอนนี้ถูกเรียกว่า ‘สมุดนักเรียนสีพาสเทล’
ทำไมจึงปรับเปลี่ยนเนื้อหาปกหลังตามวิชาเรียน?
หลานมิน: โดยปกติแล้ว ปกหลังของสมุดนักเรียนจะมีสูตรคูณ มาตราชั่งตวงวัด หรือตารางสอน ไม่เคยมีแบบอื่นมาก่อน เราถามทุกคนในโรงงาน แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า ทำไมปกหลังต้องเป็นแบบนี้ หรือใครเป็นคนกำหนด แค่ทำตามกันมา เพราะทุกเจ้าในตลาดก็ผลิตแบบนี้ มันไม่สมเหตุสมผลเลย ถ้าเด็กเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ทำไมปกหลังสมุดต้องเป็นสูตรคูณ
เนื่องจากกระบวนการพิมพ์สมุด 1 สายผลิตภัณฑ์ (Product Line) จะพิมพ์ครั้งละ 8 เล่ม ต่อกระดาษ 1 แผ่น ซึ่งตรงกับจำนวนสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรพอดี เราจึงเริ่มต้นไอเดียจากจุดนี้ โดยการออกแบบปกหลังใช้เวลานานกว่าลวดลายปกหน้า เพราะต้องตรวจสอบและแก้ไขหลายครั้ง เพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปนั้นถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์
“ที่ผ่านมา ปกหลังสมุดมีแค่สูตรคูณ มันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนเคยมองข้าม แต่สินค้าคอลเลกชันนี้ทำให้หลายคนรับรู้ว่า สมุดนักเรียนไทยสามารถดีขึ้นได้ และตอนนี้โรงงานโกญจนาทกำลังเปลี่ยนแปลงอะไรอยู่”

ทราบมาว่า แฟนคลับอินจุน วง NCT DREAM อุดหนุนสมุดสีพาสเทลของโรงงานจำนวนมาก จุดเริ่มต้นมาจากอะไร?
หลานมิน: จริงๆ อาม่าไม่รู้เรื่องนี้เลย เริ่มต้นจากงานหนังสือครั้งที่แล้ว ร้านเราไม่มีลูกค้าเดินเข้าร้านเลย สตาฟที่เป็นแฟนคลับตัวยงของอินจุน NCT DREAM จึงเอาการ์ดอินจุนมาวางไว้ที่กล่องใส่เงิน แล้วพูดว่า “อินจุนช่วยแม่ด้วย แม่ขายไม่ออก” ทำให้แฟนคลับที่เดินผ่านไปผ่านมาเข้ามาอุดหนุนสินค้า และบอกต่อไปเรื่อยๆ ในหมู่แฟนคลับ
อาม่าได้อ่านคอมเมนต์ในแพลตฟอร์ม X (Twitter) บ้างไหม?
อาม่าออย: ได้อ่านคอมเมนต์บ้าง เราก็ตกใจว่า “โห อาม่าดังขนาดนี้เลยเหรอ” (หัวเราะ)
หลานมิน: อาม่ามักจะถ่อมตัว ไม่เชื่อว่ามีคนรู้จักหรือสนใจโรงงานของเรา
หลังยอดขายค้าปลีกเพิ่มขึ้น พ่อค้าคนกลางสนใจสมุดแบบใหม่ไหม?
อาม่าออย: ทุกอย่างเป็นเหมือนที่พวกเราคิด พ่อค้าคนกลางไม่สนใจสมุดแบบใหม่ ทั้งที่เรานำสมุดเล่มตัวอย่างไปเสนอขาย เพื่อให้เขาได้ดูเล่มจริงว่าเป็นอย่างไร แต่พ่อค้าคนกลางยังต้องการอะไรแบบเดิมๆ
หลานมิน: เราไม่ได้ออกแบบลวดลายใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยกระดับและควบคุมคุณภาพทุกอย่างให้ดีขึ้น แก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยปล่อยผ่าน เพราะมองว่ามันยอมรับได้ในการขายส่ง แต่ลองมองกลับกัน ถ้าเราเป็นลูกค้าปลายทางที่เจอเล่มที่มีข้อผิดพลาดเป็นเล่มสุดท้าย เราจะทำอย่างไร สุดท้ายจึงปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้ แม้ต้นทุนจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

หลังจากเปลี่ยนรูปแบบการขายเป็นค้าปลีก มีข้อดีอย่างไรบ้าง?
“เราเริ่มขายปลีกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เริ่มจากขายสินค้าเก่า ซึ่งยังไม่ดังมาก แต่เมื่อผลิตสินค้าใหม่ออกมาก็ขายดีในทันที ทั้งที่ยังไม่ได้ทำการตลาด หรือสื่อสารผ่านช่องทางไหนเลย จึงคิดว่าเราน่าจะมาถูกทางแล้ว”
หลานมิน: เราได้รับ Feedback จากลูกค้าที่ใช้สินค้าจริง เช่น รีวิวต่างๆ ซึ่งมีค่าต่อการพัฒนาสินค้ามาก เพราะการขายส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งส่งต่อให้ร้านค้ารายเล็กอีกทอดหนึ่ง กว่าจะถึงมือผู้ใช้จริง ทำให้ 42 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยได้ยินเสียงเหล่านี้ของลูกค้าเลย
ส่วนหนึ่งคือเรามองเห็นปัญหาของสินค้าอยู่แล้ว จึงพัฒนาไปพร้อมกับคอมเมนต์ของลูกค้า ทุกวันนี้ก็ยังปรับกันไปเรื่อยๆ เช่น เปลี่ยนอุปกรณ์ในเครื่องจักรใหม่ หรือใส่กระดาษเข้าเครื่องจักรให้ช้าลง เพื่อให้ ‘เส้นบรรทัด’ ต่อเนื่องและตรงมากขึ้น ในมุมมองของผู้ผลิต คงไม่มีใครอยากทำแบบนี้ เพราะต้องใช้เวลาในการผลิตนานขึ้น ทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้น แต่โรงงานโกญจนาทยอมเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เพราะเราอยากให้สินค้าออกมามีคุณภาพจริงๆ
แม้แต่ ‘การตัดสมุด’ เมื่อก่อนจะตัด 2 เล่มพร้อมกันในครั้งเดียว ก็เปลี่ยนมาตัด 2 ครั้ง เพื่อเจียนสมุดให้เนียนขึ้น และ ‘การเย็บสมุด’ โดยปกติถ้าเย็บพลาด จะเลาะลวดออกแล้วเย็บใหม่ แต่ตอนนี้เปลี่ยนปกใหม่เลย เพราะไม่อยากให้เหลือร่องรอยการเจาะพลาดที่ปกสมุด “เรายอมไม่ได้ที่จะปล่อยสมุดที่ไม่มีคุณภาพออกไป”

ในขณะที่หลายโรงงานเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักร 100% หรือเปิดรับสมัครแค่คนอายุน้อย แต่ทำไมโรงงานโกญจนาทจึงยังให้พื้นที่กับพนักงานที่ทำงานนี้มานาน?
อาม่าออย: คนอายุเยอะไม่ได้แปลว่าไม่มีประโยชน์ งานผลิตสมุดอาศัยฝีมือของคนทำ พนักงานที่ทำงานมานานจึงมีความชำนาญมากกว่า เขาสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยที่เราไม่ต้องบอกทุกขั้นตอน
หลานมิน: พนักงานผลิตสมุดไม่ใช่แรงงานทั่วไป เนื่องจากการทำสมุดคืองานหัตถกรรม (Craft) ที่ต้องอาศัยความประณีตและพิถีพิถันในการผลิต เช่น ‘การพับกระดาษ’ ในครอบครัวเรามีแค่อาม่าที่พับได้ ตัวเราเองยังพับไม่ตรงเลย
“งานพวกนี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้ เราไปพับก็คงไม่ตรง ไปนับก็คงไม่ละเอียดเท่าพนักงานในโรงงาน แม้แต่การเข้าเล่ม เขารู้จังหวะการใช้เครื่องจักรทุกขั้นตอน งานทำสมุดต้องใช้ประสบการณ์สูง เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ”
การแข่งขันในตลาดผลิตสมุดเป็นอย่างไรบ้าง?
อาม่าออย: การแข่งขันสูงมาก โรงงานขนาดใหญ่ได้เปรียบกว่าโรงงานเล็กๆ แบบเราอยู่แล้ว เพราะเขาซื้อกระดาษในราคาที่ถูกกว่า ผลิตได้เร็วกว่า ใช้กำลังคนน้อยกว่า เพราะเครื่องจักรผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมาก เราจึงไม่แข่งกับเจ้าใหญ่ เพราะสู้ราคาเขาไม่ไหว
หลานมิน: ลูกค้าทั่วไปมักบอกว่า “ขายถูกจัง” แต่หากสำรวจตลาดนี้จริงๆ โรงงานโกญจนาทขายแพงกว่าหลายเจ้า เนื่องจากสมุดของเราเป็นสมุดทำมือ จึงมีต้นทุนสูงกว่า อีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพสินค้า ลูกค้าขายส่งจึงมองว่าแพง ในขณะที่ลูกค้าขายปลีกจะบอกว่าราคาถูก เพราะการขายปลีก ราคาต่อเล่มอยู่ที่ 3 – 24 บาท ซึ่งไม่แพงสำหรับคนที่ใช้สมุดโดยทั่วไป
“เราเคยลองใช้กลยุทธ์ลดราคาเพื่อแข่งกับเจ้าอื่น แต่เหมือนการฆ่าตัวตาย เพราะนอกจากจะขายไม่ได้กำไรแล้ว ยังมีเจ้าอื่นที่ขายถูกกว่า เราไม่ใช่เจ้าใหญ่จึงเสียเปรียบในหลายๆ ด้าน แต่เราเลือกที่จะเปลี่ยนจุดขาย ชูจุดเด่นด้านอื่นเข้าสู้ ว่าเราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร เพื่อให้โรงงานของเราดำเนินต่อไปได้”

ปัจจุบันมีการขาย ‘สมุดจีน’ เพิ่มมากขึ้น คิดว่าจุดที่สมุดของเราเหนือกว่าสมุดจีนคืออะไร?
หลานมิน: สมุดจีนไม่มีทางทับไลน์สมุดจากโรงงานโกญจนาท เพราะจีนจะผลิตสินค้าที่ขายได้ทั่วไป แต่สมุดนักเรียนไทยเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีรูปแบบบางอย่างต่างจากประเทศอื่น เช่น ต้องมีเส้นบรรทัด มีเส้นกั้นหน้าสีแดง มีจำนวนกี่แผ่น และขนาดเท่าไหร่
“สมุดนักเรียนไทย ถ้าไม่ใช่คนไทยทำ แล้วใครจะทำ”
ในอนาคตมีแผนจะผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ไหม?
หลานมิน: คอลเลกชันล่าสุดคือสมุดลายคราม เป็นสินค้าที่มีความพรีเมียมมากขึ้น เนื่องจากกระดาษหนาและเนื้อลื่นขึ้น ขนาดต่างจากสมุดนักเรียน ออกแบบปกใหม่เป็นลายครามสีน้ำเงินตัดสลับกับสีขาว ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก
ในอนาคตจะพยายามตีตลาดอื่นที่ไม่ใช่นักเรียนเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตสมุดที่มีกระดาษเนื้อหนาขึ้น มีเส้นจุด (Dot) เส้นกริด (Grid) หรือไม่มีเส้น ซึ่งโกญจนาทไม่เคยทำมาก่อน ทุกวันนี้พนักงานยังถามว่า ใครใช้สมุดแบบนี้ อาม่าก็ตอบไม่ได้ เพราะอาม่าไม่รู้ พนักงานส่วนใหญ่ทำงานมาพร้อมกับอาม่า จึงไม่ค่อยเข้าใจตลาดสมุดสมัยใหม่
การทำสินค้ารูปแบบใหม่มีข้อท้าทายค่อนข้างมาก ต้องลองผิดลองถูก มีสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วแต่ไม่ได้วางขาย แต่เรามองว่า มันคงเหมือนตอนที่อาม่าเปิดโรงงานครั้งแรกนั่นแหละ เราต้องลองทำครั้งแรกจึงจะทำเป็น อาจจะใช้ความพยายามมากขึ้น ความละเอียดมากขึ้น แต่เราก็ทำได้

โรงงานโกญจนาทให้ความสำคัญเรื่องอะไรในการทำธุรกิจ?
อาม่าออย: ให้ความสำคัญกับเรื่องความละเอียดในการพัฒนาคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ พนักงานก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน ถ้าขาดพนักงานไป โรงงานโกญจนาทก็อยู่ไม่ได้
หลานมิน: ‘คุณภาพสินค้า’ เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด ตอนนี้พยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติในการผลิตสมุดของพนักงานทุกคน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ความละเอียดในการทำงานกลายเป็นวาระสำคัญร่วมกันของคนทั้งโรงงาน นอกจากนี้ สมุดของโกญจนาทยังเป็นงานฝีมือที่ผลิตด้วยมือคน เพราะฉะนั้น ‘คนผลิตจึงคือส่วนสำคัญ’ ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
อีกหนึ่งสิ่งที่ให้ความสำคัญคือ ‘ราคา’ แม้การผลิตสมุดรูปแบบใหม่จะต้องใช้ต้นทุนมากขึ้น แต่เราไม่อยากขายในราคาที่แพงเกินควร (Overpriced) บางเจ้าขายสมุดพรีเมียมในราคาหลักร้อยหลักพัน ในทางกลับกัน เราอยากขายสมุดคุณภาพดีในราคาเป็นมิตรที่ทุกคนจับต้องได้
เรื่องนี้เปรียบเสมือนคติประจำใจ หรือ Motto ของอากงเลย อากงพยายามขายสมุดนักเรียนในราคาถูก ช่วงแรกที่เริ่มก่อตั้งโรงงาน เราผลิตสมุดเล่มบางและขนาดเล็กลง เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีแค่เหรียญก็สามารถซื้อสมุดได้ ระดับราคาจึงเป็นสิ่งที่เราอยากคงไว้ ต่อให้ผลิตสมุดรุ่นใหม่ออกมา ก็จะกำหนดราคาอย่างสมเหตุสมผล

จากอาม่าถึงอากง… “ถ้าอากงยังอยู่คงจะดีใจที่หลานเข้ามาช่วยพัฒนาโรงงานจนสำเร็จขนาดนี้”
หลังจากร่วมกันพัฒนาโรงงาน ความสัมพันธ์หลานม่าเป็นอย่างไรบ้าง?
อาม่าออย: ปกติเรา 2 คนสนิทกันอยู่แล้ว เพราะอาม่าดูแลเขามาตลอด แต่เมื่อเขามาทำงานนี้ก็ทำให้เราได้คุยกันมากขึ้น ผูกพันกันมากกว่าเดิม
หลานมิน: เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาม่ากับหลาน จะมีลำดับคั่นตรงกลางที่ทำให้หลายคนอาจมองว่า อาม่ากับหลานไม่น่าจะสนิทกัน แต่อาม่าเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก เรามีอาม่าเป็นผู้ปกครองมาโดยตลอด เรียกได้ว่า ‘สนิทกับอาม่ามากที่สุดในครอบครัว’ ปกติมีอะไรก็จะปรึกษากับอาม่า
ก่อนหน้านี้ อาม่าไม่ได้หยิบยกปัญหาเรื่องงานมาพูดคุยกับเรา การทำงานร่วมกันครั้งนี้ทำให้เราได้พูดคุยแบ่งปันเรื่องงานกันมากขึ้น มีหัวข้อใหม่ในการสนทนากัน ไม่ใช่แค่เรื่องทั่วไป

ความน่ารักของ ‘อาม่าออย’ ที่คุณมินอยากแบ่งปันคืออะไร?
หลานมิน: อาม่าเป็นคนขยันมาก ขยันกว่าเราอีก เขาอยู่เฉยไม่ได้ ถ้าว่างก็ต้องไปทำนู่นนี่ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานจนถึงวันนี้ ทำได้อย่างไรก็ไม่รู้ หลายคนอาจมองว่า อายุเยอะขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่ไปพักผ่อน แต่จริงๆ อาม่าเป็นคนอยากทำงานเอง
ในอีกแง่หนึ่ง ช่วงที่ยอดขายซบเซา อาม่าก็ไม่ได้เข้ามาช่วยงาน เพราะกำลังคนของเรามากกว่ายอดสินค้าที่ต้องผลิต อาม่าจึงดูยูทูบที่ห้องไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจจะโดนมิจฉาชีพหลอก (หัวเราะ) ดังนั้น เมื่ออาม่าได้มาช่วยงานตรงนี้ เขาก็ได้วางโทรศัพท์และห่างหน้าจอมากขึ้น
“อาม่าจะพยายามดูว่าแผนกไหนทำงานไม่ทัน เขามีความใส่ใจในการทำงานมาก แม้ตอนนี้ร่างกายจะไม่ได้พร้อมเท่าสมัยวัยรุ่น สายตาก็ไม่ค่อยดี แต่อาม่ายังกระตือรือร้นอยากช่วยทำงานให้เสร็จไวขึ้น”
ทำไมอาม่าออยจึงมี ‘แว่นขยาย’ เป็นอาวุธติดตัวตลอด?
หลานมิน: อาม่าชอบทำตำแหน่งห่อพัสดุมาก เพราะไม่ต้องเดินไปมา แต่ตัวอักษรที่ฉลากปะหน้าพัสดุมีขนาดเล็ก ทำให้อาม่าต้องใช้แว่นขยายช่วยส่อง เขาทำจนชำนาญแล้ว สามารถเลือกขนาดซองพลาสติกให้ตรงกับขนาดสมุดได้ในทันที

คุณมินถือเป็นแรงสำคัญของโรงงานโกญจนาท อาม่าออยอยากชื่นชมหลานคนนี้ว่าอย่างไร?
อาม่าออย: เขาเก่งนะ อาม่าเห็นแววมาตั้งแต่เด็กแล้ว เวลาที่เขาอยากทำอะไร เขาก็จะมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ
คิดว่าผู้คนจดจำชื่อ ‘โกญจนาท’ ได้ไหม?
หลานมิน: เราเคยคิดเรื่องนี้เหมือนกันว่า ชื่อโกญจนาทค่อนข้างเชยและแมสยาก เพราะทั้งสะกดและอ่านยาก แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจเปลี่ยน ลองทำการตลาดด้วยชื่อนี้ไปก่อน จนสมุดของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีลูกค้าบางคนแสดงความคิดเห็นในแพลตฟอร์ม X (Twitter) ว่า “เคยเห็นยี่ห้อนี้” “ตอนเด็กๆ เคยใช้สมุดยี่ห้อนี้” แสดงให้เห็นว่า ลูกค้าจดจำเราได้ แต่เราแค่ไม่เคยพบเจอเขามาก่อน ไม่เคยรู้ว่าลูกค้าที่ใช้สมุดโกญจนาทคือใคร หรืออยู่ที่ไหน แต่โซเชียลมีเดียทำให้เรากับลูกค้าเชื่อมโยงถึงกันง่ายขึ้น เราจึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้ต่อไป
“คงใช้ชื่อนี้ต่อไปแหละ เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนโตมากับสมุดยี่ห้อนี้”