‘Journal’ น้ำหอมที่พาคุณเดินทางสำรวจกลิ่นอายความหอมแบบไทย

Highlights

  • 'Journal' แบรนด์น้ำหอมที่เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ เพราะบันทึกเรื่องราวความเชื่อและวัฒนธรรมที่อบอวลไปด้วยแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่น ความพิถีพิถัน และความคิดสร้างสรรค์
  • การทำน้ำหอมของแบรนด์เน้นหยิบเอากรรมวิธีที่พิถีพิถันและภูมิปัญญาไทยอย่าง 'การทำน้ำอบน้ำปรุง' มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีการผลิตน้ำหอมสมัยใหม่ตามมาตรฐานระดับโลก เพื่อสร้างน้ำหอมไทยๆ ที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ไม่แพ้แบรนด์น้ำหอมต่างประเทศ

นักจิตวิทยาเคยบอกไว้ว่ากลิ่นส่งผลต่อความทรงจำของมนุษย์มากที่สุด เพราะเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำระยะยาวที่ทำให้เรานึกถึงภาพ เสียง เรื่องราว และความรู้สึก ที่เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อได้สัมผัสกับกลิ่นเดิม แต่สำหรับ ฟ้า–ธนัญญา สุธีรชัย Managing Director ของแบรนด์น้ำหอม Journal นั้น ‘กลิ่น’ ถือเป็นเครื่องมือที่สื่อสารได้มากกว่าเรื่องความทรงจำ เธอและสามีที่ก่อตั้งแบรนด์ร่วมกันเชื่อว่า ความหอมสามารถถ่ายทอดเรื่องราว ความเชื่อ และวัฒนธรรมให้ทั่วโลกได้สัมผัส โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์

 

ปัญหาที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ความหอม

ถ้าถามถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Journal ย่อมอดไม่ได้ที่จะต้องโยงไปถึงความฝันของสามีซึ่งเป็นบ่อเกิดของไอเดียทุกอย่าง “เมื่อ 6 ปีที่แล้วเขายังเรียนอยู่ต่างประเทศและมีโอกาสได้เดินทางค่อนข้างบ่อย สิ่งที่เกิดขึ้นเวลามีเพื่อนต่างชาติคือเมื่อถึงช่วงซัมเมอร์ เพื่อนๆ ก็จะมีของฝากประจำชาติมาให้ ของฝากที่ไม่ใช่แบรนด์เนมอะไร แต่เป็นของจากท้องถิ่นที่มีเรื่องราวและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อยู่ แต่พอเขาจะหาของฝากแบบนั้นที่ไทยกลับหาไม่ได้เลย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากสร้างแบรนด์ของฝากที่เป็นตัวแทนประเทศไทย”

การเฟ้นหาสินค้าที่จะมาเป็นของฝากเพื่อแสดงความเป็นไทย ทั้งด้านความรู้สึก วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งความเชื่อนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่น้ำหอมเป็นสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด จึงนำมาสู่การตัดสินใจตั้งแบรนด์น้ำหอมแบบไทยๆ อย่าง Journal ด้วยความมุ่งหวังที่อยากสร้างสินค้าแบบไทยๆ ที่โดดเด่นเรื่องคุณภาพ ภาพลักษณ์ และแพ็กเกจ เพื่อเปลี่ยนมุมมองและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า สินค้าไทยที่ผลิตจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับความรู้และความทันสมัยตามเทรนด์นิยม ก็ดีได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก

“จนเรามีโอกาสได้เจอกับหุ้นส่วนที่เป็น perfumer เขาชื่นชอบการทำน้ำหอมมาก เราชวนเขามาทำแบรนด์ด้วยกันเพราะสิ่งที่ชอบตรงกัน คือเสน่ห์แบบไทย อยากให้ต่างชาติรู้ว่าของไทยไม่กระจอก เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่รู้สึกว่าต้องสร้างสินค้าพรีเมียมที่ชูความเป็นไทยและผลักดันให้ติดตลาดต่างประเทศให้ได้ แบรนด์ Journal จึงเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเปิดสาขาแรกที่ย่านนิมมานฯ จังหวัดเชียงใหม่”

 

หอมธรรมชาติ ความหอมที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน

น้ำหอมเป็นเครื่องประดับสำคัญที่จะอยู่ติดกายคนใช้เป็นระยะเวลานาน จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถสร้างน้ำหอมที่อ่อนโยนและปลอดภัยกับผู้ใช้ที่สุด ด้วยการใส่ใจคัดเลือกวัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างความหอม นี่เป็นหลักความพิถีพิถันในการสร้างน้ำหอมที่ Journal เชื่อมั่น น้ำหอมควรเป็นสิ่งที่คนผิวแพ้ง่ายหรือทุกคนสามารถมีความสุขในการใช้ร่วมกันได้ อย่างแนวคิดการใช้น้ำมันมะพร้าวมาเป็นเบสของน้ำหอมจะช่วยลดการใช้สารเคมี แอลกอฮอล์ และสารสังเคราะห์ลงได้ ทำให้ผู้ใช้ไม่เกิดอาการเวียนหัวและไม่แสบจมูก นอกจากนี้น้ำมันจากธรรมชาติยังช่วยให้กลิ่นหอมติดทนนานอีกด้วย

แม้ว่าการสร้างสรรค์น้ำหอมด้วยส่วนผสมของวัตถุดิบธรรมชาติจะมีขั้นตอนและเทคนิคที่ซับซ้อน รวมถึงต้นทุนที่สูงกว่าการทำน้ำหอมแบบอื่น ค่าซื้อความหอมแบบไทยๆ ของลูกค้ากลับไม่พุ่งสูงตามต้นทุน “ปกติแล้วน้ำหอมที่ทำจากน้ำมันธรรมชาติ เช่น สกัดกลิ่นหอมจากไม้กฤษณาหรือผลไม้จริงๆ ต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้น้ำหอมพวกนี้มีราคาสูงมาก บางแบรนด์ราคาสูงถึงหลักหมื่น แต่แบรนด์เราเลือกตั้งราคาที่ต่ำกว่าเพราะอยากให้ทุกคนเข้าถึงความหอมจากธรรมชาติได้ง่ายขึ้น”

 

เชื่อมั่นในภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณ

หากพูดถึงรากเหง้าของน้ำหอมแล้ว คนเรามักคิดว่าน้ำหอมเป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมหรืออิทธิพลตะวันตกเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วน้ำหอมของไทยถูกคิดค้นและเริ่มมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่อยู่ในชื่อ ‘น้ำปรุง’

ต้องบอกว่าน้ำปรุงเป็นองค์ความรู้ของชาววังไทยในอดีตที่ประยุกต์ขั้นตอนการทำน้ำหอมจากชาวฝรั่งเศสในสมัยนั้น เกิดเป็นภูมิปัญญาในการเอาพืชพรรณที่มีกลิ่นหอม อย่างกุหลาบ มะลิ ใบเตยหอม ดอกจำปี เครื่องเทศ และใบไม้หอมอื่นๆ มาสกัดกลิ่นและสี จากนั้นหมักทิ้งไว้นานกว่า 1 ปี  น้ำปรุงที่ได้จะส่งกลิ่นหอมติดทนนานไม่แพ้น้ำหอมต้นตำรับของตะวันตก

แต่เนื่องจากในอดีตตำรับการทำน้ำปรุงนั้นจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง ทำให้คนรุ่นหลังไม่ค่อยได้เห็นการสกัดกลิ่นด้วยวิธีแบบไทยๆ สักเท่าไหร่ เพื่อเอกลักษณ์ของความหอมและอนุรักษ์กรรมวิธีแบบไทย แบรนด์ Journal จึงตัดสินใจหยิบภูมิปัญญาอย่างการทำน้ำอบน้ำปรุงมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีผลิตน้ำหอมสมัยใหม่ตามมาตรฐานระดับโลก

ภาพ : Journal Boutique

 

สกัดความหอมอันเป็นเอกลักษณ์จากวัตถุดิบพื้นบ้านแบบ Thailand only

การจะเป็นของฝากไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่ใช้วัตถุดิบแบบ Thailand only ที่แสดงเอกลักษณ์และกลิ่นอายความเป็นไทยได้คงไม่มีประโยชน์ แบรนด์ Journal จึงให้ความสำคัญกับการสร้างกลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก สร้างกลิ่นหอมชนิดที่ไม่สามารถสังเคราะห์เลียนแบบได้ ด้วยการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านของไทยเป็นหลักในการปรุง วัตถุดิบหอมๆ ที่เรารู้จักกันดี อย่างข่า กระวาน หรือดอกกาสะลอง ล้วนถูกนำมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ เพื่อสกัดเอาความหอมจากธรรมชาติ ก่อนจะนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่นเพื่อให้เกิดเป็นน้ำหอมที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย อัดแน่นด้วยความรู้สึกและความทรงจำอย่างเข้มข้นอยู่ในนั้น

“เราผลิตด้วยเทคนิคพิเศษ คือการเอาวัตถุดิบของไทยมาตำ บด ผสม เพื่อให้ได้ปลายน้ำหอมที่เพิ่มมิติและสร้างกลิ่นที่ต่างจากน้ำมันสกัดตามปกติ มีกลิ่นพิเศษที่เกิดจากวัตถุดิบเหล่านั้นแทรกอยู่ ยิ่งทำให้กลิ่นหอมที่ได้ติดอยู่นานกว่าน้ำหอมทั่วไป”

กลิ่นที่บอกเล่าแนวคิดนี้ของ Journal ได้อย่างดีคือกลิ่น Galanga ที่หยิบเอาสมุนไพรไทยอย่าง ‘ข่า’ มาสกัดเป็นน้ำหอม กลิ่นของข่าช่วยให้ผู้ที่ได้สัมผัสรู้สึกสงบและรู้สึกดีราวกับได้ดูแลตัวเองด้วยสรรพคุณของสมุนไพร หรืออีกกลิ่นยอดนิยมอย่าง Charm ก็หยิบเอาวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารไทยอย่าง ‘กระวาน’ มาสกัดเอาความหอมและกลิ่นของความเผ็ดร้อนที่ทำให้สดชื่นผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้ดม

แม้แต่กลิ่นหอมยอดนิยมที่สุดของแบรนด์อย่าง The Legacy ก็มาจากไม้กฤษณา ประเภทไม้ที่ครองตำแหน่ง ‘ไม้หอมหายาก’ ที่มีราคาสูงที่สุดชนิดหนึ่งในปัจจุบันของไทย แล้วนำสารสกัดที่ได้มาสร้างสรรค์รวมกับความหอมของกำยานชนิดต่างๆ จนเกิดเป็นความหอมล้ำลึกในท้ายที่สุด

 

ออกแบบกลิ่นด้วยเรื่องราว

แม้จะใช้กรรมวิธีแบบไทยเดิมและวัตถุดิบดั้งเดิม แต่หากขาดองค์ประกอบสุดท้ายไปน้ำหอมที่แสดงความเป็นไทยนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย สิ่งนั้นคือวิถีชีวิตและเรื่องราวความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งความเชื่อ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม

“วิธีการออกแบบกลิ่นของ Journal ต่างจากน้ำหอมทั่วไป เพราะออกแบบจากเรื่องเล่า เราเริ่มจากการมองหาไอเดียจากสิ่งรอบตัวก่อน อย่างกลิ่นพิเศษรุ่น limited edition ที่ทำออกมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘แม่นาก’ เชื่อว่าใครได้ยินชื่อนี้ก็ต้องนึกถึงความน่ากลัวเป็นอันดับแรก แต่เราเลือกมองความน่ากลัวในมุมที่ต่างออกไป นำไปตีความใหม่และดึงด้านดีออกมา ด้วยการมองแม่นาคเป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดร์ เล่าเรื่องราวความรักผ่านกลิ่นกุหลาบและผสมผสานกลิ่นอายตัวตนของแม่นาคลงไปด้วยกลิ่นมะนาว อีกกลิ่นพิเศษที่ทำออกมาคือ ‘กุมาร’ โดยเราตีความเรื่องกุมารเป็นความสนุกสนานของวัยเด็ก กลิ่นจึงผสมกันระหว่างความสดใสที่มาจากสละน้ำแดงและกลิ่นแห่งความเชื่อจากธูปหอม”

นอกจากกลิ่นพิเศษที่ไม่เหมือนใครแล้ว Journal ยังมีซีรีส์กลิ่น Classic ที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย ขอยกตัวอย่างกลิ่นที่หอมจนน่าประทับใจบางส่วนมาเล่าดังนี้ กลิ่น Mango Sticky Rice ที่เน้นกลิ่นหวานละมุน ทำให้คิดถึงชีวิตวัยเด็กในช่วงหน้าร้อน, กลิ่น Muddy Buffalo ที่มาพร้อมกลิ่นเข้มข้นของใบไม้และผืนดินชุ่มฉ่ำ ชวนให้นึกถึงวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติที่ใครหลายคนคิดถึง, กลิ่น Garland ที่หยิบความหอมของพวงมาลัยมาสร้างสรรค์ สร้างความรู้สึกคิดถึงครอบครัว ความรู้สึกห่วงใยต่อญาติผู้ใหญ่ที่น่าเคารพอยู่ไม่น้อย, กลิ่น Promise ที่เล่าความทรงจำปลายร้อนต้นฝนผ่านกลิ่นสดชื่นจากส้มโอ ใครที่ชื่นชอบความหอมของการเปลี่ยนฤดูกาลไม่ควรพลาด และกลิ่น First Love เรื่องราวของรักแรกที่ถ่ายทอดผ่านความหอมของพลับพลึงและแพร

ภาพ : Journal Boutique

 

สร้างประสบการณ์ความหอมครบวงจรผ่านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

ในการทำธุรกิจ กลยุทธ์หนึ่งที่หลากหลายแบรนด์ใช้คือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ถี่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายและความสนใจของลูกค้า แบรนด์ Journal เองก็มีกลยุทธ์เช่นเดียวกัน แต่หลักการที่ธนัญญาเลือกใช้นั้นต่างจากแบรนด์ทั่วไป การกระตุ้นลูกค้าให้รู้จักกลิ่นใหม่ๆ ไม่ใช่สิ่งที่เธอโฟกัสเป็นอันดับแรก แต่เธอต้องการขยายประสบการณ์ระหว่างลูกค้าและกลิ่นหอมที่พวกเขาชื่นชอบ เกิดเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ครบวงจร สามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้สูงสุด

วิธีการพัฒนาสินค้าของแบรนด์จึงไม่ใช่การเน้นออกแบบกลิ่นหอมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่เป็นการแตกไลน์กลิ่นน้ำหอมยอดนิยมเป็นผลิตภัณฑ์สร้างกลิ่นรูปแบบต่างๆ อย่าง body oil, hand cream, fabric spray, room spray และแผนการผลิตเทียนหอมในอนาคต

 

ไอเดียดีแล้ว มาตรฐานต้องดียิ่งกว่า

แน่นอนว่าไอเดียดีอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์และสร้างความประทับใจให้ลูกค้าระยะยาวได้เท่ากับคุณภาพ น้ำหอมที่ดีไม่ใช่แค่มีกลิ่นหอม แต่ต้องใช้งานได้ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน มาตรฐานและฟังก์ชั่นการใช้งานของสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์ Journal ไม่ปล่อยผ่านอย่างง่ายดาย เรียกว่าทุกอย่างต้องอยู่ในมาตรฐานที่ไม่น้อยหน้าแบรนด์ระดับโลก ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดไปจนถึงขั้นตอนการผลิต

“แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของ Journal จะให้ความสำคัญกับกลิ่นเป็นอันดับแรกและให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นรองลงมา แต่ก็เป็นปัจจัยรองที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานสูง เช่น การคิด body oil นอกจากต้องสร้างกลิ่นหอมที่เราพอใจแล้ว ต้องซึมง่าย ไม่เหนอะ มีกลิ่นหอมติดทนนาน ที่สำคัญคือราคาคุ้มค่า

“ส่วนประกอบหลักของน้ำหอมแบรนด์เราคือ essential oil ซึ่งปัจจุบันเราใช้ซัพพลายเออร์เดียวกับน้ำหอมแบรนด์ดังระดับโลก ขวดแก้วที่ใช้บรรจุน้ำหอมก็ไปเลือกถึงฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งเป็นโรงงานเดียวกับที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้น้ำหอมแบรนด์ดังระดับโลกเช่นเดียวกัน แม้แต่หัวปั๊มน้ำหอมก็เลือกโรงงานที่ผลิตอันดับท็อป 3 ของโลก มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจหรือตัวน้ำหอม”

 

คุณภาพความหอมคือจุดขายที่แข็งแกร่งที่สุด

ความทรงจำหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานและการสร้างแบรนด์เป็นอย่างมากคือเรื่องราวของเมื่อ 2 ปีก่อน แบรนด์ Journal ได้ร่วมออกบูทในงานใหญ่ระดับโลกอย่าง Cosmoprof ที่ฮ่องกง ซึ่ง ณ เวลานั้นบูท Journal ตั้งอยู่ติดกับบูทน้ำหอมจากฝรั่งเศส จากการสังเกตผู้คนที่มาร่วมงานวันนั้น ธนัญญาได้เห็นมุมมองและความเข้าใจของคนต่างชาติส่วนใหญ่ที่มีต่อภาพลักษณ์น้ำหอมไทยว่า แบรนด์น้ำหอมของประเทศไทยมักเป็นของปลอมหรือไร้คุณภาพ

“สิ่งที่เจอในการไปร่วมงานปีแรกคือ ทุกคนมองแบรนด์เราด้วยสายตาแบบ ‘น้ำหอมปลอมไปอยู่ข้างน้ำหอมฝรั่งเศส’ คนในบูทฝรั่งเศสก็มองเราด้วยสายตาเหยียดหยามว่าประเทศไทยกับน้ำหอมเหรอ ตอนนั้นเราเลือกใช้สินค้าเป็นตัวอธิบาย แจกเทสเตอร์ให้ทุกคนในงานได้ลองสัมผัสกลิ่น ผ่านไปครึ่งวันกลายเป็นว่าบูทแน่น คนพากันมามุง แล้วคนที่มาก็บอกว่า ‘รู้ไหมกลิ่นน้ำหอมของคุณทะลักไปถึงหน้าฮอลล์แล้ว’ ทั้งที่บูทเราอยู่ท้ายฮอลล์ ทุกอย่างเริ่มจากตัวสินค้า สินค้าไปได้ด้วยตัวของมันเอง”

หนึ่งในความภาคภูมิใจของเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่น้ำหอมไทยไม่อายใคร แต่เป็นเรื่องความหอมและความเป็นเอกลักษณ์ของกลิ่นที่สร้างจุดยืนอันแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ ทั้งๆ ที่ตอนแรกในใจผู้ก่อตั้งธุรกิจไม่เคยคิดว่ากลิ่นหอมจะพาแบรนด์มาไกลได้ขนาดนี้ “หุ้นส่วนยังถามเลยว่าน้ำหอมแบบนี้จะไปขายระดับต่างชาติได้เหรอ ไปตั้งราคาขายเทียบเคียงกับแบรนด์ระดับโลกจะรอดเหรอ แต่สุดท้ายความหอมและคุณภาพก็ทำให้ต่างชาติยอมรับจริงๆ”

 

จากแรงบันดาลใจสู่ความภูมิใจที่อยากส่งต่อ

เรียกว่าในระยะเวลาเพียง 3 ปี แบรนด์ Journal สามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ได้ไปร่วมงานน้ำหอมระดับโลกและออกงานขายในหลากหลายประเทศ มีกระแสชื่นชมทั้งเรื่องความแปลก ความหอม รวมถึงคุณภาพของสินค้าที่ไม่แพ้แบรนด์ระดับโลก

แต่เชื่อได้ว่า…คนไทยหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ไม่รู้จักแบรนด์ Journal ถึงขั้นไม่เคยได้ยินมาก่อน

ฉะนั้นก้าวต่อไปที่ธนัญญาตั้งเป้าไว้จึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนมุมมองและยกระดับแบรนด์น้ำหอมไทยๆ ในสายตาต่างชาติอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมองคนไทยให้รู้จักและเปิดใจให้แบรนด์น้ำหอมสัญชาติไทยมากขึ้น หวังที่จะให้ทุกคนรู้ว่าวิถีชีวิต ภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม และวัตถุดิบพื้นบ้าน สามารถผลิตเป็นน้ำหอมระดับโลกที่มีเอกลักษณ์ไม่แพ้ใคร และแน่นอนว่าเธอกับทีมงานจะไม่ทำให้เหล่าแฟนคลับน้ำหอมในประเทศไทยต้องผิดหวังกับคุณภาพ

“อยากให้คนไทยเปิดใจลอง ติดต่อเข้ามาเพื่อรับแคตตาล็อกไปสัมผัสกลิ่นหอมก่อนได้เลย ทักมาส่งตัวอย่างถึงบ้านให้ฟรีๆ ขอแค่ลองแล้วจะตอบได้เองว่าดีหรือไม่ดี เป็นน้ำหอมที่คุ้มค่ามากพอหรือยัง และที่สำคัญเป็นความภูมิใจที่จะได้บอกใครว่าประเทศไทยก็ทำน้ำหอมได้เหมือนกัน”

ทั้งหมดเป็น 9 แนวคิดที่ช่วยให้แบรนด์ Journal พาไอเดียสนุกๆ และกลิ่นอายความเป็นไทยเดินทางบนเส้นทางธุรกิจน้ำหอมได้อย่างมั่นคงตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในกระบวนการคิด การลงมือทำ และการขายสินค้า ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ต่อเป้าหมายและความแน่วแน่ในการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า และนี่อาจเป็นกุญแจสำคัญที่เราจะได้เห็นแบรนด์ Journal กลายเป็นน้ำหอมแบรนด์ใหม่ในใจของคนไทยหลายคนเร็วๆ นี้ บอกได้แค่ว่าต้องคอยเกาะจอรอดูกันต่อไป!

ภาพ : Journal Boutique


อ่านอย่างเดียวไม่ได้กลิ่น ถ้าใครอยากรู้ว่าหอมแบบไทยจะถูกจริตตัวเองไหม จะสร้างสัมผัสถึงความทรงจำและถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตแบบไทยที่ชื่นชอบบ้างหรือเปล่า ลองเข้าไปแวะเวียนและขอเทสเตอร์กันได้ที่ Journal Boutique TH หรือถ้าใครสะดวกก็เข้าไปสอบถามรายละเอียดได้ที่ช็อป Journal ที่ Siam Square One ได้เช่นกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน