แม้อากาศจะร้อนดังไฟเผา แต่นักรบปืนฉีดน้ำก็ไม่มีท่าทีถอยทัพ พร้อมเติมกระสุนน้ำเย็น แล้วสาดใส่ศัตรูเสื้อลายดอกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม สมรภูมิรบที่อบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะนี้ พบได้ที่ ‘งานสงกรานต์’ เมืองไทยที่เดียวในโลกเท่านั้น!
แม้สงกรานต์ของใครหลายคนอาจเป็นการนอนตีพุงดูซีรีส์อยู่บ้าน แต่ไม่ใช่สำหรับวัยรุ่นรถแห่ ที่เตรียมฟิตร่างกาย วอร์มคอ วอร์มเอวกันตั้งแต่ต้นเดือน เพื่อมาพร้อมระเบิดพลังความม่วนจอยหน้าขบวน ‘รถแห่’ พาหนะสุดไอคอนิกที่เข้าถึงวันสงกรานต์ได้แบบซิกเนเจอร์เลเยอร์คัสตอม

นี่ไม่ใช่แค่รถขนความมันส์เคลื่อนที่ธรรมดา แต่มันบรรทุกจิตวิญญาณของชาวรถแห่ รวมเสียงเพลง ความสนุก ความกล้า และตัวตนของวัยรุ่นเข้าไว้ด้วยกันในแบบที่ EDM stage ยังเลียนแบบไม่ได้ แต่รู้หรือไม่ว่าสีสันจัดจ้านและไม่เหมือนใครเหล่านี้ เริ่มต้นจากรถแห่บุญ? ตามไปสัมผัสความโจ๊ะของวัยรุ่นรถแห่ พร้อมกันได้เลย~
จากขบวนบุญสู่ความมันส์เคลื่อนที่
ศาสนากับชุมชน ถือเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด นอกจากเสียงสวดมนต์ที่ดังก้องไปทั่ววัดแล้ว เสียงเพลงหมอลำและลูกทุ่งก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านภาคอีสานแถวนั้นได้ยินทุกคืน ตามความเชื่อที่ว่า การทำบุญคือการแบ่งปันความสุข และเสียงเพลงก็ช่วยปลุกชีวิตชีวาให้กับงานบุญเป็นอย่างดี

มีงานบุญที่ใด ย่อมมีหมอลำที่นั่น แต่เพราะธรรมเนียมที่ต้องเล่นในช่วงค่ำเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านเริ่มหาอาชีพเสริม โดยการทำวงดนตรีเล่นแห่ในช่วงกลางวัน พร้อมติดตั้งเครื่องเสียงไว้บนรถบรรทุก จนกลายเป็นรถหมอลำเคลื่อนที่ พร้อมส่งมอบความสุขให้กับคนในหมู่บ้านโดยไม่ต้องพึ่งเวที
ซุปตาร์รถแห่ในสมัยแรก คงไม่มีใครกล้าเทียบ ‘รถแห่ดาราทอง มิวสิค’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นรถแห่ดนตรีสดวงแรกของภาคอีสาน และเป็นวงแรกๆ ที่นำรถบรรทุก 6 ล้อมาดัดแปลง ใส่เครื่องเสียงจนกลายเป็นรถซิ่งที่เหล่าเอฟซีรอติดตามในทุกปี

รถแห่แต่ละสังกัด ย่อมมีเอกลักษณ์ และท่าไม้ตายที่ต่างกันไม่ต่างจากค่ายเพลง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือโครงสร้างรถแห่ที่มักจะแบ่ง 2 ชั้น ชั้นล่างคือห้องคนขับ ส่วนชั้นบน มี 2 ส่วน ประกอบด้วยห้องควบคุมซาวนด์ และห้องที่จำลองเวที ซึ่งห้องนี้จะเปิดให้ผู้ชมได้มองเห็นเหล่านักร้อง และร่วมร้องเพลงไปด้วยกัน ส่วนเครื่องดนตรีก็มีแบบครบวง ทั้งกีตาร์, เบส, กลอง, คีย์บอร์ด, รวมถึงนักร้อง และที่ขาดไม่ได้คือแดนเซอร์ ที่ต้องคอยเอนเตอร์เทนผู้ชมให้ครึกครื้นตลอดเวลา
จากหมอลำที่ร้องกันในงานบุญ จึงกลายเป็นขบวนรถแห่ที่พร้อมเสิร์ฟความสนุกถึงหน้าบ้านในโอกาสพิเศษของชาวไทย ทั้งงานบวช งานแต่ง งานบุญ และแน่นอนงานสงกรานต์ก็ขาดไม่ได้
บุกตลาดวัยรุ่น เวทีแจ้งเกิด ‘ดาวรถแห่’
แม้จะเริ่มต้นที่ภาคอีสาน แต่เทคโนโลยีได้พาความมันส์ของรถแห่ ข้ามข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ และกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์
โดยรถแห่แต่ละสังกัดจะมีการแชร์การแสดงสดของวงตัวเองลงบนโซเชียลมีเดีย จนทำให้มีเหล่าเอฟซีรถแห่คอยติดตามผลงาน ถึงขนาดเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อชมการแสดงวงที่ชอบ รวมถึงเหล่าศิลปินรถแห่เอง ก็มีการออกซิงเกิลเพลงของตัวเอง เช่น ‘โชค ไทรถแห่’ ที่ออกเพลง ต.ล.ก.ร่วมกับ ‘บอล เชิญยิ้ม’ จนได้ยอดวิวบนยูทูบไปกว่า 54 ล้านวิว

ความนิยมของรถแห่ ยังคงฮอตติดลมบนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการกระโดดมาเข้าร่วมของศิลปินลูกทุ่งชื่อดังอย่าง ไผ่ พงศธร รวมถึงตัวแม่หมอลำ ศิริพร อำไพพงษ์ ในฝั่งของ T-POP ก็ไม่น้อยหน้า หยิบรถแห่มาเป็นกิมมิก Soft Power นำเสนอความเป็นไทยผสานป็อปคัลเจอร์ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเพลงโดดดิด่ง ของ BNK48 ที่มีรถแห่เป็นพระเอกหลักของ MV และล่าสุดกับเพลงสงกรานต์ Gen Z อย่าง Bad Shawty ของ PROXIE ที่ใช้รถแห่เป็นเนื้อเพลงปลุกความมันส์ในท่อนฮุก

‘Bad Shawty ดูเธอเต้นหน้ารถแห่
เธอเต้นโชว์คนแก่ เธอเต้นโชว์เพื่อนหน้าเวที ’
เมื่อความมันส์ไม่มีข้อจำกัดอะไรขวางกั้น รถแห่จึงไม่ใช่ความบันเทิงที่จำกัดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งต่อ Soft Power ของดีเมืองไทยไปสู่วัยรุ่นในยุคหลัง
ฮ่วมม่วน ฮ่วมซื่น DNA ความสนุกที่อยู่ในชาวอีสาน
เรื่องความม่วนจอย คงไม่มีภาคไหนกล้าแย่งตำแหน่งกับชาวอีสาน ผู้เกิดมาพร้อมกับ DNA ความสนุกสนาน ไม่ว่าจะงานใหญ่ หรืองานเล็ก พวกเขาก็พร้อมร่วมใจกันใส่สุดแบบไม่มีคำว่าหยุดในพจนานุกรม และรถแห่ก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของลูกหลานชาวอีสานที่สะท้อนวิถีชีวิตสุดม่วนได้เป็นอย่างดี
ชาวอีสานเติบโตมากับวัฒนธรรม ‘ฮ่วมม่วน ฮ่วมซื่น’ ที่แปลว่า ร่วมสนุก ร่วมสุข เนื่องจากภูมิประเทศที่ค่อนข้างแห้งแล้งกว่าภาคอื่นๆ ทำให้ชาวอีสานต้องพึ่งพากันและกันในการทำการเกษตร เกิดเป็นสังคมพึ่งพาอาศัย ไม่ว่าจะงานบุญ งานบ้าน ล้วนร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ

โดยเฉพาะงานบันเทิงอย่าง รถแห่ ก็ต้องพึ่งพาการร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเจ้าภาพร่วมกันลงขัน บ้านใครมีเครื่องเสียงก็เอามาช่วย หรือเหล่าญาติๆ ทำอาหารเลี้ยง คณะรถแห่จึงเปรียบเหมือนตัวกลางที่ดึงคนทั้งหมู่บ้านให้มา ‘ม่วนซื่น’ ด้วยกันแบบไม่มีลำดับชนชั้น
นอกจากนั้นเพลงในรถแห่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพลงลูกทุ่งและหมอลำ ที่เล่าถึงวิถีชีวิตชาวชนบท รวมถึงความรักแบบจริงใจที่ลูกอีสานเท่านั้นถึงจะเข้าใจ ทำให้รถแห่กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อัดแน่นไปด้วยจิตวิญญาณของชาวอีสานอย่างเต็มเปี่ยม
ถ้าเราลองเปิดใจทำความรู้จัก ‘ความโจ๊ะ’ ฉบับรถแห่ให้มากขึ้น ไม่แน่ในอนาคตเราอาจเห็นรถแห่สงกรานต์ในเมืองกรุง ที่ม่วนซื่นไม่แพ้ชาวอีสานก็เป็นได้