ความเจิดจ้าของ ‘ดวงอาทิตย์’ เป็นสัญญาณบอกว่าเราได้เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว
นอกจากจะเป็นสัญญาณของการเริ่มฤดูกาลใหม่ ในแวดวงศิลปะราชันแห่งฟากฟ้า ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติความงามของศิลปะ จนนำมาสู่ขบวนการ Impressionism ที่โด่งดัง
ดวงอาทิตย์ที่ว่านั่นคือพระเอกจากรูป Impression, Sunrise (1872) หรือความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น ภาพสีน้ำมันของ ‘โคลด โมเนต์’ (Claude Monet) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ผู้ใช้ผืนผ้าใบบันทึก ‘ความรู้สึก’ ของห้วงเวลานั้นด้วยความประณีต
แสงสีส้มที่โอบล้อมท่าเรือยามเช้า ไม่เพียงแต่มอบความประทับใจให้กับผู้ชมงานศิลปะ แต่มันยังสร้างนิยามใหม่ให้ภาพวาดที่ไม่จำเป็นต้องสมจริงหรือเหมือนเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ก็สามารถเป็นผลงานที่มีคุณค่าได้ไม่ต่างกัน
แม้ทุกวันนี้ดวงอาทิตย์ของโมเนต์จะสว่างไสวค้างฟ้า เป็นต้นแบบให้ศิลปินยุคหลังอีกมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนแสงตะวันจะฉาย เขาต้องผ่านช่วงเวลาที่มืดหม่นไปด้วยคำดูถูกมากมายแค่ไหน? ตามไปสำรวจการเดินทางของแสงแรกนี้ไปด้วยกัน
“นี่ไม่ใช่แค่ภาพดวงอาทิตย์ที่ลอยอยู่กลางทะเลสาบ
แต่มันคือการปฏิวัติความงามของศิลปะที่ไม่มีวันตกดิน”
ความสมจริงถูกแทนที่ด้วยอารมณ์
ปัจจุบัน Impressionism คือชื่อของขบวนการศิลปะชื่อดังที่ใครพูดก็ดูเก๋ แต่ไม่ใช่ในยุคปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อวงการศิลปะบูชาความหรูหราฟู่ฟ่าของ Neoclassicism ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะกรีก-โรมันโบราณ เน้นภาพวาดองค์ประกอบสมดุล เหมือนจริงในทุกๆ สัดส่วน และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวาดภาพวีรบุรุษ เพื่อปลุกใจประชาชนในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส
ศูนย์กลางศิลปะในยุคนั้น หมุนรอบ Académie des beaux-arts (สถาบันศิลปะแห่งชาติ) และศิลปินส่วนใหญ่จะต้องแสดงผลงานผ่าน The Salon หรือนิทรรศการศิลปะประจำปีของรัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้น ถึงจะได้รับการยอมรับในแวดวง แน่นอนว่าศิลปินหัวก้าวหน้าที่สร้างผลงานไม่ตรงตามพิมพ์นิยม ก็จะถูกปัดตกในทันที และหนึ่งในนั้นคือ ‘โคลด โมเนต์’
เมื่อถูกปฏิเสธซ้ำๆ โมเนต์ และกลุ่มเพื่อนศิลปินได้ก่อตั้ง Salon des Refusés นิทรรศการสำหรับผู้ที่ถูกปฏิเสธงานจาก Salon เพื่อสร้างเวทีให้แก่ศิลปะแนวใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ ‘แสง’ และ ‘อารมณ์’ มากกว่ารายละเอียด เพราะพวกเขาเชื่อว่าในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาจนกล้องสามารถบันทึกความสมจริงตรงหน้าได้แล้ว เราจะวาดรูปให้เหมือนไปเพื่ออะไรอีก?

“ไม่ใช่วาดสิ่งที่เห็น…แต่คือวาด ความรู้สึกแรก ที่เรามีตอนเห็นมัน”
โดยต่อมาเวทีของ Underdog อย่าง Salon des Refusés ได้กลายเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานชื่อก้องโลกอย่าง Impression, Sunrise (1872) หรือ ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น และสร้างลัทธิใหม่ให้กับโลกศิลปะในชื่อ Impressionism
ดวงอาทิตย์ยามเช้าที่ไม่เคยตก

เช้าตรู่ที่ท่าเรือเมือง Le Havre ท่ามกลางความมืดสลัวของบรรยากาศยามเช้า แสงจากดวงอาทิตย์เป็นเพียงสิ่งเดียวที่โมเนต์เห็น ขณะกำลังมองออกนอกหน้าต่างโรงแรม ความรู้สึกอันท่วมท้นนั้น ทำให้เขาตัดสินใจหยิบพู่กัน จุ่มสีน้ำมัน และวาดความประทับใจลงบนผืนผ้าใบ ใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็เกิดเป็นภาพ Impression, Sunrise ขึ้นมาในปี 1872
“ฉันอยากวาดอากาศที่ห่อหุ้มสะพาน บ้าน เรือ
ความงามของสิ่งที่มองไม่เห็น
และนั่นไม่ต่างจากการพยายามวาดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
เพราะต้องวาดภาพให้เสร็จ ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นเต็มขอบฟ้า ทำให้จังหวะแปรงพู่กันของรูปภาพนี้รวดเร็วจนอาจดู ‘ชุ่ย’ ในสายตาใครหลายคน ยังไม่รวมถึงเรือและโครงสร้างอุตสาหกรรมจางหายไปในหมอกบาง และทะเลสะท้อนแสงส้มอมเทาอย่างคลุมเครือ
นี่คือภาพที่ไม่มีเส้นขอบ ไม่มีรายละเอียด สิ่งเดียวที่ชัดเจนในภาพคือ ‘ดวงอาทิตย์’ สีส้มสดที่ลอยเด่นอยู่เหนือน้ำ ซึ่งนี่คือความตั้งใจของโมเนต์ เขาไม่ต้องการภาพที่เหมือนจริง แต่ต้องการแสดง ‘ความประทับใจแรก’ ที่เขารู้สึก ณ ขณะนั้นมากกว่า
คำดูถูกที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์
ผลงานใดก็ตามที่เราทุ่มเททำสุดฝีมือ ย่อมต้องคาดหวังคำชมเป็นรางวัลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่โมเนต์ได้กลับมาจากรูป Impression, Sunrise กลับเป็นคำดูถูกเหยียดหยามของ ‘หลุยส์ เลอรอย’ นักวิจารณ์ศิลปะที่เขียนลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ Le Charivari ในปี 1874
“ประทับใจงั้นเหรอ? ในเมื่อฉัน ‘รู้สึกประทับใจ’
มันก็คงจะมีความ ‘ประทับใจ’ อยู่ในนั้นแน่ๆ…
แต่ดูความไร้ระเบียบเหล่านั้นสิ แบบร่างของลายวอลเปเปอร์
ยังดูดีกว่าวิวทะเลนี่อีก!”
คำว่า ‘ความประทับใจ’ ถูกใช้เป็นคำประชดประชัน ผ่านการเขียนย้ำๆ ซ้ำๆ เหมือนต้องการให้ผู้อ่านรู้ว่าเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นตามชื่อของผลงาน แต่แทนที่โมเนต์จะนำคำวิจารณ์มาลดทอนคุณค่าตัวเอง เขากลับเห็นวิกฤตจากโอกาส หยิบเอาคำว่า Impression อันแสนติดหู มาสร้างเป็นชื่อกลุ่ม Impressionism อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่นั้นมา คำเสียดสีในวันนั้น จึงได้กลายเป็นชื่อของหนึ่งในขบวนการศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

ตลอดช่วงชีวิตของโมเนต์ ‘แสง’ คือผลผลิตจากธรรมชาติที่เขาหลงใหล และกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของภาพวาดแนว Impressionism เขามักจะใช้เวลาเกือบทั้งวันนั่งสังเกตแสงแดดที่กระทบวัตถุในชั่วเวลาที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของภาพนั้นๆ แต่โชคร้ายที่แสงจากดวงอาทิตย์ไม่ได้มีแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มันกลับทำร้ายดวงตาเขาจนเริ่มพร่ามัวเป็นต้อกระจก

อาการเหล่านั้นสะท้อนออกมาผ่านภาพวาดเซต Water Lilies ในยุคหลังที่มีโทนสีแดงอมม่วงไม่สดใสเหมือนแต่ก่อน ในบั้นปลายชีวิตภาพวาดของโมเนต์เริ่มพร่ามัว จับรูปทรงไม่ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าภาพเซตหลัง อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กับศิลปะนามธรรม (Abstract) ก็เป็นได้
ดวงอาทิตย์สำหรับใครหลายคน อาจเป็นศัตรูตัวร้ายที่คอยแต่จะเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับโลก แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ถ้าปราศจากแสงของดวงอาทิตย์ เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นความสวยงามของสรรพสิ่งบนโลก ภาพผืนน้ำระยิบระยับที่สะท้อนออกมาผ่าน Impression, Sunrise คือสิ่งเตือนใจที่ Monet ฝากให้แก่คนรุ่นหลัง และหวังว่ามันยังคงส่องสว่าง ตราบมาจนถึงปัจจุบัน