‘เมื่อไหร่จะหมดวัน หมดอาทิตย์ หมดเดือน’ โกงนาฬิกาภายในอย่างไรดี หากรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน

พริบตาเดียวเดือนกุมภาพันธ์ก็ผ่านพ้น หลายคนยังงงๆ อยู่เลยว่า อ้าว นี่มันเดือนมีนาคมแล้วนี่หว่า ก็ผ่านมาจะ 1 ใน 4 ของปีแล้วสิเนี่ย บางคนอาจรู้สึกว่า เฮ้ย มันเร็วไป ยังทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันก็มีนาคมแล้วเหรอ แต่ในขณะที่หลายคนก็รู้สึกว่า เออ ดีแล้ว จะได้รีบผ่านไปถึงสิ้นปีไวๆ ขึ้นอยู่กับว่าคนมองมีทัศนคติแบบไหน

เคยไหม ที่มีความรู้สึกอย่างหลังเกิดขึ้นบ่อยๆ คืออยากให้เวลาผ่านไปไวๆ ไม่ว่าจะเป็น อยากให้หมดวันเร็วๆ จะได้เลิกเรียน เลิกงาน อยากให้หมดสัปดาห์เร็วๆ จะได้ถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ อยากให้หมดเดือนเร็วๆ จะได้รอรับเงินเดือน อยากให้หมดปีเร็วๆ จะได้โบนัส หรือจะได้หยุดยาวปีใหม่

เราจึงพบว่า คนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตราวกับว่า ‘ถูกบังคับให้รอ’ เป็นการรอเพื่อ ‘สิ้นสุด’ อะไรบางอย่าง แต่การต้องคอยนั่งนับเวลา นับวัน นับเดือน ที่ผ่านไป มันไม่ได้ทำให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น ซ้ำร้ายกลับทำให้รู้สึกว่า ‘เหมือนเวลามันยืดยาวขึ้นเลย’ เสียอีก

เหตุใดเวลาจึงเดินช้าลงหรือเร็วขึ้น?

จินตนาการเวลาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบกล่อง หลายคนชอบยืนเฝ้ามองและคิดว่าเมื่อไหร่มันจะสุก ทั้งที่เวลายังผ่านไปไม่ครบตามที่ข้างกล่องกำหนดไว้เลย แต่หากเราต้องการให้เวลาผ่านไปไวขึ้น เราต้องเลิกสนใจและหยุดนับเวลาซะ สิ่งนี้มีวิทยาศาสตร์รองรับอยู่ เพราะเมื่อเรามองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตใจของเราจะคาดเดาสิ่งที่เรากำลังจะได้เห็นโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นหนทางให้เราไม่รู้สึกสับสน อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้หมายความว่า เรากำลังดูนาฬิกาโดยคาดหวังว่ามันจะเดินเร็วขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไวขึ้น ทั้งที่มันก็เดินตามจังหวะปกติ จึงทำให้จิตใจของเรารู้สึก ‘ประหลาดใจ’ และรับรู้ว่าเวลาเดินช้าลง

ในทางกลับกัน บางครั้งการที่เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปไว ก็เพราะ ‘เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อเราเพลิดเพลินสนุกสนาน’ เพราะในความเป็นจริงเราสามารถ ‘ให้ความสนใจ’ ต่อสิ่งจำนวนจำกัด หากความสนใจของเราไปอยู่ที่ใดก็ได้ยกเว้นนาฬิกา เราจะไม่สามารถรับรู้เวลาได้อย่างแม่นยำ เมื่อจิตใจของเรากำลังยุ่งอยู่กับสิ่งอื่น เวลาจึงดูเหมือนเดินเร็วขึ้นนั่นเอง

เอาล่ะ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถปรับเร่งเวลาได้ มันยังคงเดินหน้าในจังหวะสม่ำเสมอเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เราสามารถปรับได้คือการปรับเร่งนาฬิกาภายในของเราเอง ผ่านความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ไปจดจ่อเรื่องของเวลามากเกินไป

แล้วเราจะมีวิธี ‘แฮ็ก’ นาฬิกาภายในยังไงดี?

เลิกดูนาฬิกา

ชัดเจน ตรงตัว เวลามันไม่ได้เคลื่อนที่ไวขึ้นเมื่อเราจ้องมองมัน เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า ยิ่งมุ่งความสนใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งตระหนักถึงสิ่งนั้นมากขึ้น เหมือนตอนรอซีรีส์เรื่องโปรดออนแอร์ตอน 4 ทุ่ม แต่นี่มันเพิ่งจะทุ่มหนึ่งเอง เราจะรู้สึกว่าอีก 3 ชั่วโมงทำไมมันนานจัง เช่นกัน ยิ่งดูนาฬิกาน้อยเท่าไหร่ เวลาก็ดูเหมือนจะเร็วขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้านาฬิการอบตัวมันดึงดูดสายตามากเกินไป ลองหาวิธี ‘ปิดกั้น’ มันดูก็ได้ เช่น พลิกอีกด้าน หรือถอดแบต ถอดถ่านออกไปเลย (แต่อย่าลืมใส่กลับคืนล่ะ)

เข้าสู่สภาวะไหล

หลายคนชื่นชอบการเข้าสู่ ‘สภาวะโฟลว์’ หรือ ‘สภาวะไหล’ หรือสภาวะจิตใจที่เราหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ท้าทายแต่ก็สนุกสนาน เราจะหยุดสังเกตเห็นสิ่งรบกวนสมาธิ ไม่รับรู้เวลาที่เคลื่อนไหล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อเราทำอะไรบางอย่างที่ท้าทายพอจะทำให้เราสนุก แต่ไม่ยากเกินจนทำให้เราหงุดหงิดหรือเบื่อหน่าย แต่สภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุอย่างชัดเจนในใจ และได้กำจัดสิ่งรบกวนสมาธิออกไป เช่น ปิดโทรศัพท์

ลองทำ To-Do List

การมีความคาดหวังที่ชัดเจนสำหรับสิ่งที่ต้องการบรรลุในแต่ละวัน จะทำให้การเริ่มต้นวันที่ต้องสู้กับเวลาง่ายขึ้น และทำให้เรา ‘ลืม’ ไปว่า กำลังรอให้เวลาผ่านไป ลองรวม To-Do List เข้ากับการจัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำดู แรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากสิ่งจำเป็นจะช่วยให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้เรา ‘อิกนอร์’ เวลาไปได้

ลองหั่นแบ่งเวลาเป็นช่วง

แทนที่จะต้องมานั่งคิดถึงวันทั้งวันล่วงหน้า ตอนนี้ 9 โมงเช้า แต่ใจคิดไปถึง 6 โมงเย็น และคิดว่าทั้งวันต้องทำอะไรเต็มไปหมด ลองหั่นแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ ที่สามารถทำให้งานแต่ละอย่างบรรลุได้ เช่น แบ่งเวลา 30 นาทีสำหรับงานนี้ หรือ 1 ชั่วโมงสำหรับงานอีกชิ้น ค่อยๆ จัดการไป ท้ายที่สุด เราอาจพบว่า เฮ้ย แปปเดียว 6 โมงเย็นแล้วนี่หว่า

ทำตัวให้ยุ่ง สำรวจสิ่งใหม่ๆ

หากวันอาทิตย์ที่คิดถึงกำลังสิ้นสุด สัปดาห์ใหม่กำลังมาถึง การต้องนั่งคิดว่าอีกตั้ง 5 วัน กว่าจะถึงวันหยุดอีกรอบก็อาจพาลให้เซ็งได้ การลอง ‘ทำตัวให้ยุ่ง’ ด้วยการใส่ตารางกิจวัตรเพิ่มขึ้น เช่น งานอดิเรก กิจกรรมทางสังคม หรือเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเล็กๆ น้อยๆ สามารถสร้างความรู้สึกแตกต่างในแต่ละวันได้ เช่น ก่อนกลับบ้านลองแวะร้านอาหารใหม่ๆ หรือหากเป็นคนออกกำลังกาย เล่นฟิตเนส ลองหาคลาสใหม่ๆ ดู สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความท้าทายให้รู้สึกตื่นเต้น ที่จะทำให้เราเพลิดเพลินจน ‘ลืมนึกถึงเวลา’ ไปได้

อย่าลืมว่าเวลามันก็เดินของมันตามปกติ ยิ่งให้ความสนใจนับถอยหลังหรืออยากเร่งมากเท่าไหร่ เวลาในความรู้สึกของเราก็จะยิ่งยืดยาวมากขึ้นเท่านั้น 

เข้าใจได้ว่าหลายคนเฝ้ารอการสิ้นสุดวัน สัปดาห์ เดือน หรือปี เพราะมีเป้าหมาย หรือความต้องการบางอย่าง แต่มันจะดีกว่าไหม ที่เราจะเติมเต็มช่องว่างของความรู้สึกก่อนไปถึงช่วงเวลาเหล่านั้นด้วยสิ่งใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ มากกว่านั่งแกร่วหน้าเป็นตูดเพื่อรอเวลาอย่างซังกะตาย

AUTHOR