โรเจอร์ ดีกินส์ ชัยชนะของคนทำงานที่ไม่มีวัยเกษียณในวงการฮอลลีวูด

ทุกๆ ปี ออสการ์จะมีรางวัลที่รู้กันว่ามอบให้กับผู้มีความเพียรในการทำงาน เช่น ปี 2016 Leonardo DiCaprio ได้รับรางวัลนำชายจากเรื่อง The Revenant หลังจากที่มีชื่อเข้าชิงแต่ก็ไม่ได้มาหลายปีจนโดนล้อและถูกทำเป็นมีมมากมาย กลายเป็นว่าปีนั้นไม่ว่าจะยังไงเขาก็ต้องได้รางวัลเพราะอดทนมานานหลายปี ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการได้รับรางวัลจากหนังเรื่อง The Revenant ก็ไม่ได้แย่นักหรอกครับ แต่มันอาจจะไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุดของเขา (ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องอดทนเล่นที่สุดนั้นอาจจะใช่) แต่มันถึงเวลาต้องให้ก็ต้องให้แล้วล่ะ

ปี 2018 เรามีช่างภาพชื่อ Roger Deakins ที่ทำงานมานานหลายสิบปีและยังไม่เคยได้รางวัลออสการ์ โรเจอร์เป็นคนที่ถูกกล่าวถึงสม่ำเสมอในหมู่ช่างภาพ เป็นเหมือนปรมาจารย์ของการถ่ายหนังสายธรรมชาติและมีลีลาที่ไม่หวือหวาแต่ว่าเฉพาะตัว

โรเจอร์เข้าชิงออสการ์มาตั้งแต่ช่วงปี 1990s เริ่มตั้งแต่หนังอย่าง The Shawshank Redemption, Fargo ไล่มาจนยุค Skyfall, Prisoners, Sicario จนเพิ่งมาได้จาก Blade Runner 2049 ในปีนี้ก็ถือเป็นการรอคอยยาวนานถึง 30 ปี ต้องมาร่วมงานออสการ์ 13 ครั้ง อดขึ้นเวที 13 รอบ ถึงจะได้รางวัลนี้ไปในวันที่ตัวเขาอายุ 69 ปี ก็เป็นได้ว่าการได้รับรางวัลอาจเป็นเพราะหนังเรื่อง Blade Runner 2049 เป็นงานที่เปิดโอกาสให้เขาได้โชว์ของมากที่สุด หรือก็อาจเป็นไปได้ว่า นี่มันถึงเวลาที่ต้องให้เขาแล้วล่ะ เพราะเขาก็รอมา 30 ปีแล้วนะ แถมแก่แล้วด้วย

แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ประเด็น โรเจอร์อาจจะบอกว่ากูไม่ได้รอ กูก็ไปร่วมงาน ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ เพราะสุดท้ายได้หรือไม่ได้นั้น ทุกวันนี้ผมก็มีงานทำมาตลอด 30 ปีในฐานะช่างภาพที่ดีที่สุดคนหนึ่งวงการ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด ในขณะที่วงการภาพยนตร์บางแห่ง คนแก่มักจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ไม่อัพเดตและมีวัยเกษียณ แต่ที่ฮอลลีวูดนั้นคนยิ่งแก่แปลว่าคนยิ่งเก๋า งานของโรเจอร์นั้นได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุงานและโปรเจกต์ที่อนุญาตให้เขาได้เล่นท่าใหม่ๆ อยู่สม่ำเสมอ ราวกับว่าวงการมีน้ำเลี้ยงที่คอยช่วยให้ต้นไม้ใหญ่โตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ หรือถ้าไม่โตแล้ว อย่างน้อยก็ไม่ตาย

หรือคนอย่าง James Ivory คนเขียนบท Call Me by Your Name ที่ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมในปีนี้นั้นอายุ 90 ปีแล้ว ได้รับการบันทึกไว้ทันทีว่าเป็นคนที่อายุมากที่สุดที่ได้รับรางวัลออสการ์ จะเห็นได้ว่าคนอายุ 90 ก็ยังโลดแล่นอยู่ในวงการหนังได้ แถมยังเขียนบทหนังสำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้ดูกันได้ด้วย (ไม่ใช่ว่าคนแก่ก็จะทำหนังที่เหมือนมาจาก 30 ปีที่แล้ว)

ไม่ว่าออสการ์จะให้รางวัลกับคนเก่าคนแก่ด้วยเหตุผลของความเพียรหรือตัวงานจริงๆ แต่อย่างน้อยมันสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่คนทำงานคนหนึ่งไม่ได้หมดอายุขัยเพียงเพราะวัยและความแก่ชรา (หรือไม่ได้ออสการ์) เพราะถ้าหากคุณอัพเดตตัวเองสม่ำเสมอ คุณก็จะยังเป็นหนุ่มสาวไปตลอดแม้ว่าจะอายุเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม

นอกจากนี้อาจเป็นเพราะระบบการจ้างงานที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ในขณะที่วงการบางแห่งพยายามจะลดค่าใช้จ่ายด้วยการหันไปจ้างเด็กใหม่ๆ กดราคาค่าจ้างแล้วเอาเงินไปทุ่มให้กับค่าตัวนักแสดง แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างฮอลลีวูดกลับคิดว่า ถ้าจะเอาของดี เราต้องลงทุนจ้างผู้มีประสบการณ์จริงๆ แม้ว่าแพงก็ต้องลงเงินไป นอกจากจะได้งานคุณภาพแล้วยังเป็นการรักษาคุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานของผู้มีประสบการณ์ให้ยังทำงานในวงการนี้ได้เป็นอาชีพจริงๆ

ถ้าไม่อย่างนั้นทุกวันนี้เราก็คงไม่เห็นคนทำหนังอย่าง Martin Scorsese ที่อายุ 75 ปีแล้วแต่ยังได้งบ 100 ล้านดอลลาร์ฯ จาก Netflix ไปทำหนังเรื่องใหม่ (ซึ่งจริงๆ Netflix อาจคิดว่าเอาเงินร้อยล้านนี้ไปกระจายให้ผู้กำกับใหม่ๆ คนละ 2 ล้าน จำนวน 50 คน ออกมาเป็นหนัง 50 เรื่องก็ได้ แต่กลับเลือกที่จะให้ทั้งหมดแก่ผู้กำกับรุ่นปู่คนนึงไปทำหนังออกมาเพียงเรื่องเดียว) ถือว่าบารมีของปู่ (และผลงานของปู่) นั้นทำให้ได้รับการเคารพบูชาและการสนับสนุน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่างานของสกอร์เซซี่นั้นมีความสดหรือรุนแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะออกมาเปรี้ยงหรือเงียบ อย่างน้อยงานของเขาไม่เคยตกมาตรฐาน ความรักในงานและอาชีพเท่านั้นที่จะทำให้คนทำงานรุ่นใหญ่ไม่หายและสลายไปกับสายลม ว่าง่ายๆ คือคนลงทุนก็เชื่อ คนทำงานเองก็ไม่เสียมาตรฐาน

อีกเรื่องที่ช่วยให้คนทำหนังรุ่นใหญ่ทำงานได้ต่อไปเรื่อยๆ คือวงการฮอลลีวูดอนุญาตให้มีหนังหลากหลาย เพราะมาร์ติน สกอร์เซซี่ หรือโรเจอร์ ดีกินส์ นั้นก็อาจจะไม่สามารถถ่ายหนังวัยรุ่นไปได้ตลอดชีวิต แน่นอนว่าฮอลลีวูดมีหนังบันเทิงเป็นหลัก แต่ก็ยังมีหนังที่เนื้อหาหลากหลายและทำเงินได้สมน้ำสมเนื้อ นั่นทำให้ผู้กำกับและคนทำงานฝ่ายอื่นสามารถทำงานเนื้อหาอื่นๆ เปลี่ยนไปตามวัยได้เรื่อยๆ (หรือสามารถทำหนังแนวที่ตัวเองถนัดไปได้เรื่อยๆ) โดยที่ไม่ต้องพยายามให้ตัวเองทำงานออกมาพิชิตวัยรุ่น ไม่ว่าจะแก่หงั่กขนาดไหนหรือความคิดก้าวไกลไปแล้วเพียงใดก็ยังต้องวนมาทำหนังคอนเทนท์เดิมเพราะไม่อย่างนั้นจะถูกดีดออกจากระบบทันที ทุกคนทุกวัยสามารถพัฒนาเนื้อในแบบของตัวเองขึ้นมาได้เพราะมีคนดูหลายแบบรองรับ หรือเคลื่อนย้ายตัวเองไปทำเนื้อหาอื่นๆ ที่สนใจได้ด้วยเช่นกัน

ความยืดหยุ่นและซัพพอร์ตสอดรับแบบนี้ เลยทำให้เราได้เห็นคนอายุเยอะมากมายยังได้เข้าชิงและได้รับรางวัลออสการ์ แถมแต่ละปีเราจะยังได้เห็นคนเก๋าๆ มารวมตัวกัน ลุ้นผลกันสนุกมาก และถึงพวกเขาจะไม่ได้รางวัลอะไรกลับบ้านไปในคืนนั้น พวกเขาก็จะยังรู้สึกได้ว่าในเช้าวันถัดมา พวกเขาจะยังคงได้รับโทรศัพท์เพื่อตามไปทำงานที่รักต่อไปเรื่อยๆ อีกนาน

และนั่นอาจจะเป็นรางวัลที่แท้จริงในชีวิตการทำงานของพวกเขา

ภาพ Vulture.com, Veriety.com, Etonline.com

AUTHOR