จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าโถฉี่ที่ควรอยู่ในห้องน้ำ กลับไปโผล่กลางแกลเลอรีศิลปะ?
เรื่องตลกที่ไปพูดให้ใครฟังก็คงไม่มีคนเชื่อ แต่ใครจะไปคิดว่ามันเกิดขึ้นจริง แถมยังกลายเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะระดับโลกที่สั่นสะเทือนวงการมาจนถึงปัจจุบัน ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็นการเล่นมุกหลอกครั้งใหญ่ที่สุดในวงการศิลปะ
Fountain (1917) โถฉี่ธรรมดาแต้มนามปากกา R. Mutt คือการหลอกอันแสนแยบยลของ ‘มาร์แซล ดูว์ช็อง’ ศิลปินผู้บุกเบิกแนวคิด Ready-made หรือศิลปะสำเร็จรูป ที่ต้องการตั้งคำถามกับนิยามของศิลปะและอำนาจของสถาบันว่า ‘ใครเป็นคนตัดสินว่าอะไรคือศิลปะ?’

แม้โถฉี่ดังกล่าวจะถูกแกลเลอรีปัดตกไม่ให้แสดงผลงาน แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ นำมาสู่จุดเริ่มต้นของ ‘Conceptual Art’ หรือศิลปะแนวความคิดที่ทำลายขนบเดิมๆ ของงานศิลป์ และเขียนค่านิยมใหม่ให้เรารู้ว่า อะไรบนโลกก็เป็นศิลปะได้ทั้งนั้น
นี่ไม่ใช่การปาหี่เล่นตลกธรรมดา แต่เป็นการหลอกที่เต็มไปด้วยเล่ห์กล ชวนให้เราหัวเราะกับความขบขันในคราแรก ก่อนจะเริ่มตั้งคำถามในลำดับถัดมา เรียกว่าเป็นต้นแบบของการหลอกที่ควรได้รับการยกย่อง ยิ่งในวัน April Fools’ Day แบบนี้ ยิ่งต้องตามไปเรียนรู้ ถอดสูตรการหลอกแบบชั้นเซียนให้แนบเนียนแบบเรียนมากันเลย
“Fountain may be the most influential work of art
of the 20th century.” — The Guardian
โลกมันบ้าขนาดนี้ แล้วทำไมศิลปะต้องมีเหตุผล?
ถ้าจะมีใครสักคนที่สามารถคิดพิเรนทร์ เอาสุขภัณฑ์ในห้องน้ำชายมาตั้งโชว์หราในนิทรรศการได้ คนๆ นั้นคงจะหนีไม่พ้น ‘มาร์แซล ดูว์ช็อง’ ศิลปินชาวฝรั่งเศส แกนนำในขบวนการศิลปะ DADA ที่ต่อต้านกฎระเบียบทุกอย่างบนโลก
ดูว์ช็องเกลียดการเป็นศิลปินในระบบ แทนที่จะใช้ชื่อจริงในการสร้างสรรค์ผลงาน เขามักจะใช้ฉายาปลอมๆ อย่าง ‘R. Mutt’ หรือ ‘Rose Sélavy’ ผู้หญิงข้ามเพศที่เขาสร้างขึ้นมาแทน ผลงานชิ้นแรกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะ Ready-made ชิ้นแรกบนโลก ก็คือ ‘Bicycle Wheel’ (1913) หรือล้อจักรยานที่ถูกติดตั้งเข้ากับเก้าอี้ไม้ธรรมดา มองเผินๆ เหมือนศิลปินขี้เกียจที่วางของมั่วๆ ดูว์ช็องให้เหตุผลของการสร้างผลงานชิ้นนี้ว่า เขาชอบดูล้อจักรยานหมุน มันช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เหมือนนั่งจ้องกองไฟ

เมื่อใดๆ ในโลกล้วนเป็นศิลปะได้แบบนี้ ทำให้ Ready-made หรือศิลปะสำเร็จรูปเฟื่องฟูขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือแนวคิดของการสร้างชิ้นงานศิลปะที่ศิลปินไม่จำเป็นต้องวาด ปั้น หรือระบายมันขึ้นมา แต่เลือกวัตถุที่มีอยู่แล้วมาจัดแสดง เพิ่มคุณค่าด้วยแนวคิด เพื่อนำเสนอว่า นี่แหละ ศิลปะในแบบของฉัน
การออกมาตั้งคำถามถึงนิยามความงามในวงการศิลปะ เป็นผลมาจากขบวนการแนวคิด DADA ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายกับสงครามการเมืองที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไร้เหตุผลของมนุษย์ ในเมื่อโลกถูกขับเคลื่อนด้วยความบ้าและป่าเถื่อน ทำไมศิลปะถึงจะไร้เหตุผลบ้างไม่ได้?
โถฉี่เปลี่ยนโลก
โถฉี่อาจเป็นแค่ที่ระบายคลายทุกข์เวลาปวดเข้าห้องน้ำ แต่ไม่ใช่สำหรับดูว์ช็อง เพราะเขามองว่ามันสามารถเปลี่ยนโลกได้ โดยจุดเริ่มต้นของแผนหลอกนี้ เกิดจากการที่เขาเห็นช่องว่างของนิทรรศการศิลปะอย่าง ‘Society of Independent Artists’ ในนิวยอร์ก ซึ่งมีกฎว่าจะไม่ปฏิเสธผลงานใดๆ ตราบใดที่ศิลปินส่งจ่ายค่าสมัคร
ไม่มีเวทีไหนจะเหมาะสมกับการเล่นมุกตลกได้เท่านี้ ดูว์ช็องตัดสินใจส่ง Fountain เข้าร่วม ซึ่งผลงานนี้ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจจะไม่ถึงนาทีในการสร้างขึ้นมา เพราะมันเป็นเพียงแค่โถฉี่แบบติดผนังในห้องน้ำชายที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เขานำมาวางกลับหัว ทำให้คนงงอยู่พักใหญ่ว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะแทนที่จะใช้นามปากกาว่า ‘มาร์แซล ดูว์ช็อง’ เหมือนเช่นปกติ เขายังสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาในชื่อ R. Mutt โดยเล่นคำกับชื่อยี่ห้อของแบรนด์โถปัสสาวะอย่าง J.L. Mott Iron Works นอกจากนั้น Mutt ในภาษาอังกฤษยังหมายถึง ‘สุนัขพันธุ์ผสม’ หรือคำเรียกคนที่ธรรมดา เปิ่นๆ ไร้ค่าในสายตาทุกคน ถือเป็นการประชดประชันว่า ของต่ำค่าอย่างโถปัสสาวะยังเป็นศิลปะได้ ถ้าเราตั้งใจให้มันเป็น
แน่นอนว่าผลตอบรับก็เป็นอย่างที่หลายคนคิด นิทรรศการปฏิเสธการจัดแสดงเป็นครั้งแรก พร้อมให้เหตุผลว่า ‘โถฉี่ไม่ถือว่าเป็นศิลปะ’ ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นธรรมนี้ สร้างแรงกระเพื่อมในวงการศิลปะ ไม่ใช่แค่ดูว์ช็องที่ไม่พอใจ แต่ยังมีศิลปินอีกมากที่ออกมาตั้งคำถามว่า ‘แล้วศิลปะที่หมายถึงคืออะไร?’
การหลอกที่สะเทือนไปทั้งวงการ
ไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่า Fountain เป็นแค่การเล่นตลกของศิลปินนอกคอกที่อยากสร้างซีนให้ตัวเองในงานนิทรรศการ แต่แท้จริงแล้วโถฉี่ธรรมดาอันนี้กลับซ่อนนัยมากมาย กว่าเราจะรู้ตัว ก็ตกหลุมพลางของดูว์ช็องเข้าเสียแล้ว มันคือกลยุทธ์ที่ใช้ ‘ความไร้สาระ’ มาเป็นอาวุธในการตั้งคำถาม
ไม่ว่าจะตั้งคำถามกับอำนาจของสถาบันศิลปะที่มีบทบาทในการคัดสรรสิ่งที่คู่ควรกับคำว่า งานศิลปะ ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ที่เข้าตา ก็หนีไม่พ้นภาพวาดที่สวย คลาสสิก เต็มไปด้วยทักษะของจิตรกร ทำให้หลายต่อหลายครั้งที่ผลงานศิลปะเชิงความคิดถูกปัดตกไปก่อนที่จะได้ถ่ายทอดแนวคิดดีๆ ต่อประชาชน

คุณปฏิเสธโถฉี่ เพราะมันไม่ใช่ศิลปะ
หรือเพราะยังไม่เข้าใจมัน?
นอกจากนั้นอีกนัยหนึ่งที่ซ่อนอยู่ใต้โถฉี่ คือการล้อเลียนค่านิยมชายเป็นใหญ่ในวงการศิลปะ โดยถ้าสังเกตดูดีๆ ลักษณะของเจ้าโถฉี่ ก็คล้ายคลึงกับอวัยวะเพศชาย รวมไปถึงการใช้ชื่อปลอมว่า R. Mutt ศิลปินชายไร้นามที่ไม่มีใครรู้จัก แต่กลับได้รับความสนใจมากกว่าศิลปินหญิงฝีมือเยี่ยมในยุคนั้นเสียอีก
แรงกระเพื่อมของ Fountain นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกศิลปะในยุคหลัง โดยเฉพาะ Conceptual Art หรือศิลปะแนวความคิด ที่ให้แนวคิดหรือไอเดียของชิ้นงานเป็นหัวใจสำคัญมากกว่าความสวยงามทางเทคนิค ช่วยเปิดพื้นที่ให้ใครก็เป็นศิลปินได้ ถ้ามีสิ่งที่อยากพูด รวมถึงเป็นรากฐานของศิลปะร่วมสมัยหลายแขนง เช่น Performance Art, Installation Art, Activist Art เราอาจพูดได้ว่าการพาโถฉี่ขึ้นแสดงที่นิทรรศการของดูว์ช็องในครั้งนั้น ได้ทำลายกรอบของศิลปะ และสร้างศิลปะแนวใหม่ขึ้นมาในคราวเดียว