หลังสมาชิก 5 คนของ Clash วงร็อกที่โดดเด่นเมื่อหลายสิบปีก่อนแยกตัว พล-คชภัค ผลธนโชติ มือกีตาร์วงวัย 37 คือคนที่เราเห็นพัฒนาการต่อเนื่อง ในฐานะคนดนตรีเบื้องหลังศิลปินชั้นนำ
พลเคยเป็นมิวสิกโปรดิวเซอร์อยู่หลายปี จนปี 2558 เราเพิ่งรู้ว่าเขาโดดมาเป็น Director-Music Business ของค่ายเพลงใหม่ Boxx Music สังกัด Muzik Move ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากเครื่องดื่มเจ้าหนึ่ง
ค่ายแห่งนี้มีคนบริหารและทีมงานเล็กๆ ตั้งใจทำเพลงเป็นงานศิลปะที่ป๊อป ทลายพรมแดนเพลงเมนสตรีมและอินดี้เพื่อให้คนสองกลุ่มฟังได้ แถมยังมีวิธีดูแลศิลปินที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างเป็นตัวเอง
ในยุคที่ค่ายเพลงใหม่เกิดขึ้นมากมายและชื่อเสียงไม่ได้ได้มาง่ายๆ แถมศิลปินยังมีมากและจากไปเร็ว เพราะสื่อออนไลน์พร้อมให้ใครสักคนอัดวิดีโอลงจนดังได้ในชั่วคืน มิหนำซ้ำคนเสพยังนิยมฟังเพลงฟรี ดังนั้นการซื้อซิงเกิลหรืออัลบั้มหนึ่งจึงเป็นเรื่องยาก เป็นธรรมดาที่ค่ายเพลงถูกลดบทบาทลง
เหตุที่เราสนใจค่ายเพลงอารมณ์ดีขนาดเล็กอย่าง Boxx Music เพราะพวกเขาชัด ด้วยการสร้างแบรนด์ให้คนฟังจำได้ภายในเวลาอันสั้น ก่อกำเนิดจากจุดยืนที่ผลิตเพลง urban pop ให้วัยรุ่นในเมืองฟัง เปิดสนามเด็กเล่นให้ศิลปินเข้ามาโลดแล่น ปั้นไอดอลหน้าใหม่ ซึ่งเป็นคนไซส์เล็กอายุไม่เกิน 25 ปี โดยมีเกณฑ์ว่าพวกเขาต้องมีทักษะครบ ทำเพลงทุกขั้นตอนได้ ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีรสนิยมดี พร้อมเป็นไอดอลที่ยืนยาวในวงการ สิ่งที่ Boxx เน้นย้ำเสมอคือการทำดนตรีด้วยความคราฟต์มากกว่าจะทำเป็นอุตสาหกรรม
นอกจากพล ยังมีทีมงานสายแข็งประสบการณ์โชกโชนมาเสริมทัพ ผลงานที่ผ่านมาคือการปั้น อิ้งค์-วรันธร เปานิล ให้เป็นศิลปินหญิงที่มีดีทั้งฝีมือและเสน่ห์ คืนชีพ ปอย Portrait (ตะวัน ชวลิตธำรง) นักแต่งเพลงเศร้าขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์ ดึงนักแสดงวัยรุ่น กันต์ ชุณหวัตร และ เบสท์-ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ ให้ลองโชว์ทักษะด้านเพลงที่ซ่อนในตัว รวมถึงปั้นวงดนตรีคลื่นลูกใหม่ The Kastle ให้คนฟังรู้จักได้สำเร็จ บทเพลงทั้งหลายยึดชาร์ตและได้คำชมในระดับที่ไม่ธรรมดา
ผู้ก่อตั้งและจุดประกายอย่างพลจะเล่าให้เราฟังว่าค่ายกล่องดนตรีนี้กลายเป็นธุรกิจที่มีจุดยืนแข็งขึ้นทุกก้าวได้ยังไง ซึ่งไม่ง่าย เพราะถ้าทำกำไรไม่ได้นายทุนในโลกแห่งความเป็นจริงคงคิดว่าไม่คุ้มเสี่ยง แต่ตอนนี้นับเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่พิสูจน์ว่า Boxx Music กำลังเติบโตและมีทิศทางที่ชัดเจนด้วยน้ำมือของพล เด็กมัธยมฯ ที่เคยประกวดเวที Hot Wave จนเติบโตเป็นพี่ใหญ่ของน้องๆ ในค่าย
เปิดกล่องบรรจุสนามเด็กเล่น
“หลังจากเป็นศิลปิน เรามาเป็นมิวสิกโปรดิวเซอร์ วันนั้นบอกตัวเองเลยว่าเราไม่บริหารแน่ การทำโปรดักชั่นเพลงคือความสุข ได้คุยกับศิลปิน ทำเพลง อยู่ห้องอัดและเฮฮา จนวันหนึ่งที่ย้ายมาที่นี่สมัยยังเป็นค่ายสหภาพดนตรี ก่อนรีโนเวตเป็น Music Move พี่ๆ เขาก็ปรับทิศทางใหม่”
“ผมโยนไอเดียขึ้นมาว่าเราควรมีสนามเด็กเล่นทางดนตรี เพลงคือแฟชั่น เราคือวัยรุ่น พี่เขาบอกว่าพลทำเลยสิ เอ้า ผมแค่อยากมีแต่ไม่ได้คิดจะไปบริหาร ตอนนั้นก็ยังไม่มั่นใจ พอบริษัทก่อตั้ง เราไปคุยเรื่องแผนการ แล้วกลับไปคิดกับพี่ตัฐ (พงษ์ฉัตร มุสิเกตุ) โปรโมเตอร์ของ Boxx Music ในตอนนี้ เราเป็นบัดดี้กันตั้งแต่ผมเป็นโปรดิวเซอร์ เราต้องคุยเป็นภาพและเพลงคู่กัน เมื่อคิดว่าน่าจะมีพื้นที่ไว้ให้เด็กเล่นสนุก เริ่มคิดชื่อจากไอเดียว่าเป็นพื้นที่ที่มีสีสัน เป็นงานทำมือ ไม่ใช่อุตสาหกรรม”
“ผมทบทวนตัวเองจนเจอประโยคที่พี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) สอนพี่ๆ ในแกรมมี่เมื่อก่อน คำสอนถูกส่งมาถึงผม ว่าเวลาทำงานอย่าคิดถึงเงิน ให้คิดถึงกล่องสวยๆ ที่เราสร้างขึ้น มีหลายมุมมอง แล้วเดี๋ยวเงินมาลงกล่องเอง นี่คือจุดกำเนิดของ Boxx Music ที่มี x สองตัวเพราะเราพิเศษและแตกต่าง เมื่อทำงานจะคิดถึงกล่องดีๆ ที่ใครก็เข้ามาจับมัน ดูมันได้ มองแล้วถูกใจ อยากเอากลับไปวางไว้ที่บ้าน”
ตั้งต้นที่ตัวตนของศิลปินเพื่อผลงานคุณภาพ
“ต้นน้ำของ Boxx Music คือการหาตัวตนศิลปินให้เจอ เขามีข้อดีและข้อเสียอะไร จะแก้ไขยังไง ไปจนถึงเรื่องเพลง เราเลือกเพลงที่เหมาะสม ทำให้เกินทักษะศิลปินไป 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์เพื่อท้าทายตัวเขา เราทำเพลงและวิธีคิดให้ยากกว่าตัวเขานิดนึง เขาจะได้ฝึกคิด ส่วนเพลงจะโดนไหม ผมต้องดูว่าการเล่าเพลงแบบไหนที่เหมาะกับสามนาทีและเป็นตัวคุณมากที่สุด จะได้เงินไหมก็ดวงนิดหน่อย เก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีจังหวะ อย่างพี่ปอยกลับมาทำเพลง วันที่ปล่อยซิงเกิล เจ็บจนไม่เข้าใจ พี่ปอยไม่มั่นใจเพลงนี้เลย แต่ผมฟังปุ๊บผมว่าโดนเลย ดังแน่”
“เราต้องวางแผน จะไม่ทำเพลงไปวันๆ ยิ่งตอนนี้ยากนะ ปั้นศิลปินออกผลงานทีละเพลง เราจับต้องตัวตนเขาทั้งก้อนยาก อย่างเมื่อก่อนฟังเป็นอัลบั้ม เห็นสีสันทั้งอัลบั้ม รู้ทันทีเลยว่าสื่ออะไร ทุกวันนี้ออกมาเป็นซิงเกิลเรื่อยๆ เราใช้เวลานานมากกว่าที่จะรู้ว่าศิลปินคนนั้นเป็นยังไง ฉะนั้นต้องใช้เวลา การวางแผนรอบคอบเป็นเรื่องที่ต้องทำ”
“เราสนใจสถิติของช่องเพลงสตรีมมิ่งต่างๆ เพื่อดูว่าเพลงที่คนฟังจบกับฟังไม่จบเป็นแบบไหน ยิ่งทำให้เรารู้ว่าทำยังไงให้คนฟังเพลงจนจบ ฉะนั้นพอเราทำเสร็จ ศิลปินแฮปปี้ เราแฮปปี้ เราคิดว่าเราถือเพลงที่ดี พอปล่อยไปในตลาดปุ๊บจะมีผลตอบรับดี ถ้าไม่ดีอาจด้วยจังหวะเหตุการณ์บ้านเมืองหรืออะไรก็ตาม เราก็จะบอกกันว่า เราแฮปปี้นะ แล้วก็ปล่อยวาง”
ลงลึกอินไซต์ของคนฟัง
“ข้อมูลโซเชียลมีเดียที่ถูกส่งมาอย่างยอดวิว ยอดไลก์ ตัวเลขพวกนี้ยังแยกเรื่องวัยและอายุอีก ถ้าเราเอาข้อมูลนี้มาเป็นตัวอย่าง จะทำเพลงให้ไปแตะกลุ่มตัวเลขนี้ต้องทำยังไง วันนี้คนฟังเพลงผ่านยูทูบมียอดเท่าไหร่ เกิดรายได้เท่าไหร่ แล้วผมก็ดูเลยว่าเพลงที่มียอดวิวเยอะ วิวน้อย เกิดจากอะไร เราก็ไปฟัง อ้อ เพลงนี้พูดได้ขนาดนี้ คนชอบเยอะมากเลย เป็นร้อยล้านวิว ทีนี้ผมพยายามเลาะเลย แต่ละท่อนมีองค์ประกอบอะไร ผมเรียกว่า ‘ลูกชิ้น’ คือคำโดนๆ ที่เสียบอยู่แต่ละท่อน แต่ละท่อนมีลูกชิ้นตรงไหน ปล่อยเพลงช่วงไหน แล้วดูสิในไตรมาสนั้นมีศิลปินคนไหนลงบ้าง ดูแบบนี้หมดเลย หรือถ้าช่วงนั้นเขานิยมงานแบบเดียวกัน เราจะต้องแหวกตลาดไปอีกทาง”
ทีมงานและศิลปินต้องสนุกสนานและมีจินตนาการ
“ทีมงานต้องสนุก เป็นเด็กรุ่นใหม่ มีจินตนาการและทำงานหลายอย่างได้ น้องที่อยู่ใน Boxx Music ทุกวันนี้วิธีการที่เขาจะเข้ามาคุยเพลงกับผม เขามาพร้อมการอ้างอิง มาพร้อมภาพและไอเดียในการขายให้โปรดิวเซอร์หรือทีมครีเอทีฟ บางคนวาดรูปมาเล่า เพลงนี้ หนูรู้สึกแบบนี้ มันมีเมฆแต่อาจจะไม่ได้เต็มฟ้านะ มันจะนัวๆ แบบนี้ เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นนี้เก่งว่ะ พอเห็นภาพปุ๊บ เราเห็นเพลงเลย อย่างอิ้งค์เขาจะไม่อกหัก อิ้งค์จะเหงา เราอยู่แบบนี้ เราต้องคิดถึงเธอแบบไหน สถานะเป็นยังไง แต่ถ้าเจ็บปวดจะเป็นของพี่ปอย คนละโหมด เราต้องจัดการให้เหมาะสม”
สร้างศิลปินให้เป็นไอดอลที่ดี
“ผมจะสร้างศิลปินในค่ายให้เป็นไอดอล ให้เขาเติบโตมาเป็นแบบผม อย่างอิ้งค์ วันหนึ่งเขาอาจเป็นโปรดิวเซอร์ก็ได้ ผมบอกอิ้งค์ว่าลองไปทำโปรดักชั่นดูสิ เขาก็ทำ เริ่มเขียนเพลง ทำเมโลดี้เอง อย่างน้อยคุณต้องเล่าให้คนทำงานฟังได้ ต้องบอกเขาได้ว่าอยากได้อะไร ผมคิดว่าน้องๆ ทุกคนควรจะเติบโตในด้านดนตรีหรือศิลปิน แล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ อย่าคิดแค่ว่าเป็นศิลปิน สุดท้ายเมื่อไม่ดัง คุณจะกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศเหรอ คุณต้องคิดว่ามาเป็นศิลปินแล้วจะต่อยอดไปทางไหน ถ้าคิดว่าแค่อยากเป็นศิลปินดัง ดังแล้วไงล่ะ วันไม่ดังมีนะมึง”
โมเดลแบบค่ายเบเกอรี่มิวสิก
“Boxx Music เป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต มีทั้งงานศิลป์และงานขาย เป้าหมายของผมคืออยากเป็นแบบค่ายเบเกอรี่ในยุคเฟื่องฟู ศิลปินมีเอกลักษณ์ โคตรเท่ มี Moderndog, P.O.P. มีศิลปินแรปแบบ โจอี้ บอย และริค วชิรปิลันธิ์ ผมเห็นโมเดลแต่ผมไม่ได้จะไปเป็นพี่บอย โกสิยพงษ์นะ (หัวเราะ) ผมแค่อยากมีศิลปินที่ยูนีก รสนิยมดี ศิลปินเบเกอรี่ยุคนั้นวันนี้เขายังอยู่ได้ เขาคือไอดอล แล้วผมรู้สึกว่าแนวทางของค่ายเราอยู่ในทางนี้เลย มันคืออินดี้ป๊อป อินดี้คือวิถี ทำงานแบบทำมือ เรามีคนแค่นี้ เราทำแค่นี้ อาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่นี่คือเสน่ห์ ถึงเราจะมีงานที่ขายไม่ได้บ้าง แต่สุดท้ายก็ทำจากมือเราเอง”
สร้างสายเลือด Boxx Music เจาะกลุ่มเป้าหมายคนเมือง
“เราตั้งตัวเป็น urban pop สำหรับคนเมือง ปีที่ผ่านมาเรามี Boxx Party ในกรุงเทพฯ จัดงานเรื่อยๆ ซึ่งเราแฮปปี้ เป้าหมายถัดไปผมจะไปที่เชียงใหม่ด้วย คนเท่ๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เราสนใจคือคนเชียงใหม่ เป็นเมืองฮิป หรืออีสาน เรามองขอนแก่นซึ่งมีคนแนวป๊อปฟังเรา ถึงเป้าหมายเราจะเป็นคนเมือง แต่เพลงเราก็ออกไปเบ่งบานตามต่างจังหวัดเอง อย่าง เหงา เหงา ของอิ้งค์ เราไม่ได้ตั้งใจเพราะยังไม่ได้ตั้งเป้าไว้ เราปล่อยไหลไปเอง ถ้าเพลงจะดัง ผมว่ามันจะไหลไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามธรรมชาติได้เลย”
“เราสร้างคอมมูนิตี้ของ Boxx Music อยากมีกลุ่มคนที่เป็นแฟนเพลงเราจริง คือจัดงานแล้วมีคนมาดูแน่สัก 200 คน เรียกเขาว่าเผ่าพันธุ์ มีรสนิยมหรือวิถีชีวิตแบบเรา เขาชอบเพลงและอาร์ตไดเรกชั่นเรา เราถึงทำตรงนี้ต่อไป เราจะจัดกิจกรรมให้ได้เห็นเลยว่าคนข้างนอกมีกระแสตอบรับยังไง ได้สัมผัสแฟนเพลง รู้ความต้องการตลาด และให้เขาเป็นฐานข้อมูลคุณภาพของเรา”
มองค่ายเพลงเป็นโครงสร้างการเรียบเรียงดนตรี
“เมื่อก่อนผมดูแลแค่เพลงกับมิวสิกโปรดักชั่น ตอนนี้ดูแลทีมงานสิบคนและศิลปินอีกมากมาย ช่วงแรกเราเหนื่อยมากๆ ร้องไห้เลย เพราะยากที่สุดคือการบริหารคน เราคนเดียวทำให้ทุกคนพอใจไม่ได้ มีช่วงหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนมีความสุข เครียดสะสมจนเราบอกภรรยาว่าเหนื่อยมาก เราเก็บมาคิดว่าจะแก้ไขยังไงจนได้คุยกับพี่ฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม) เขาบอกว่าปัญหามีสองรูปแบบ ปัญหาที่แก้ไขได้กับแก้ไม่ได้ ปัญหาที่แก้ได้ เวลาจะช่วยแก้ กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็เดินข้ามดิ มึงจะรอด ไม่งั้นบ้าตาย บางทีบอกตัวเองว่าต้องปล่อยบ้าง ค่อยๆ บริหาร”
“สมัยเป็นโปรดิวเซอร์ ผมเคยทำงานกับพี่ตี่ (กริช ทอมมัส) เขาสอนผมเรื่องการทำเพลงหรือการบริหาร แกก็เป็นนักดนตรีมาก่อนจนสุดท้ายเข้ามาเป็นซีอีโอของแกรมมี่ เขาบอกให้ผมมองโครงสร้างการบริหารเป็นการเรียบเรียงดนตรี การทำงานมีจังหวะ พื้นฐานคืออะไร แล้ววางเป้าหมายไว้ การทำเพลงต้องมีคอร์ด มีเมโลดี้ มีนักร้อง พอเขาพูดแบบนี้ ผมรู้สึกว่าง่ายแล้ว ไม่ยากเลย”
ผู้บริหารคนธรรมดา
“การทำงานบริหาร ผมยังเป็นไอ้พลของทุกคน ไม่เคยคิดว่าคือพลผู้บริหาร กับน้องๆ ในค่าย เราบอกว่าพี่คือคนปกติ เดินไปกินข้าวกับเขาได้สบายๆ เพราะผู้บริหารเป็นแค่ตำแหน่ง สุดท้ายการอยู่ร่วมกันสำคัญกว่า ถ้าพี่ทำอะไรไม่ถูกบอกได้เลยครับ ทำให้เราอยู่กันได้ สิ่งสำคัญคือผมโฟกัสว่าอยากบริหารให้เกิดผลสำเร็จ คือศิลปินและทีมงานมีรายได้ อยู่ได้ มีข้าวกิน”
เก็บประสบการณ์รุ่นใหญ่มาใช้สอย
“ผมยังมีคลื่นความบ้าในความคิดและการทำงาน เราถูกฝึกมาให้อดทน ยอมรับความผิดหวัง อย่าลุ่มหลงกับความสำเร็จที่ฉาบฉวย เราอาจไม่ได้แรงและเร็วเหมือนเด็กรุ่นใหม่ แต่คลื่นของผมจะยังไปต่อเรื่อยๆ วัยรุ่นมีความทะเยอทะยาน ไฟแรง แต่บางทีเขายังขาดความรอบคอบ ผมพยายามให้สมดุลกันสองอย่าง”
“ผมทำตรงนี้ได้นานเพราะว่าผมรักเพลงและศิลปิน ไม่มีวันไหนที่เบื่อ แต่ละวันมาด้วยความคิดว่าต้องทำให้ดี เป็นความฝันของเราตั้งแต่ยังทำวง Clash เป็นโปรดิวเซอร์ จนเรามาบริหารค่ายเพลง เราอยากทำเพลงดีๆ อยากอยู่กับแพชชั่นโดยที่เราไม่ได้แก่ ผมจะเป็นวัยรุ่น อีกหน่อยผมแก่แต่กูก็จะเฟี้ยว เลยรู้สึกว่าแพชชั่นของเราคือการสร้างสรรค์ดนตรี สร้างความไพเราะไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่หยุด ตรงนี้สำคัญมาก”
ทำอย่างมีอุดมการณ์และเป้าหมาย
“ผมทำตรงนี้ก็มองว่าจะเป็นผู้เล่นศูนย์หน้า ต้องเป็นตัวยิง สำหรับผมในพื้นที่ของเพลง ทุกคนปล่อยอาวุธออกมาอย่างมั่นใจว่าเพลงเขาดี เราต้องยิงประตูให้ได้ ซึ่งเป้าก็คือผู้ฟัง คลื่นวิทยุ โซเชียลมีเดียที่ได้รับการยอมรับ ในสนามไม่มีใครยอมใคร นี่คือความโหดร้ายของวงการเพลงคือทุกคนไม่มีรุ่น ต่อยไปและพร้อมที่จะชกกับทุกคน แต่ทีนี้จังหวะไหน หมัดไหน ใครแม่งฝึกมาและเตรียมตัวมาดีกว่าก็เป็นตัวชี้วัดตรงนั้น”
“เราทำเพลง 14 เพลงต่อปี แน่นอนทุกเพลงคงไม่โดนทั้งหมด แต่อย่างน้อย ผมตีว่า 1 ใน 3 ต้องโดนมากๆ มาตรฐานของทั้งสามเพลงต้องสูง ถึงอย่างนั้นทุกเพลงทำแล้วเราต้องกลับมาทบทวนตัวเองเสมอ”
Boxx Music จะเดินทางอีกยาวไกล
“นอกจากมอบผลงานและศิลปินคุณภาพให้สังคม ถึงตอนนี้เราจะยังเป็นบริษัทน้องเล็ก แต่ฝันสูงสุดของผมคือต้องโตไปเป็นบริษัทจำกัดมหาชน เป็นฝันที่ไกลนะ เพราะทุนต้องมหาศาลและมีคนมหาศาล จริงๆ ผมอยากทำให้ได้แบบแกรมมี่นะ แกรมมี่เป็นโมเดลที่เราโตมา เห็นข้อดีและเห็นโครงสร้างที่แข็งแรง ประกอบกับพี่ๆ บุคลากรมีความรู้ เขามาถึงจุดนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ เราคิดว่าเป็นตัวอย่างเอามาใช้พัฒนาค่ายเราให้เติบโตขึ้นได้ วันหนี่งเราอาจเป็นยักษ์ใหญ่แห่งสามเสน เหมือนยักษ์ใหญ่แห่งอโศกบ้างก็ได้นะ (หัวเราะร่วน)”
website| boxxmusicrecords.com
facebook| boxxmusicteam
youtube| boxx music
instagram| boxxmusicteam
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์