Flow แอนิเมชันไร้บทพูดที่ทำให้รู้ว่า ‘ถึงน้ำจะท่วมโลกและเรือจะลำเล็ก แต่ถ้าเรายังมีกันแค่นั้นก็พอ’

‘นี่คือหนังแอ็กชันที่น่ารักที่สุดแห่งปี’ เป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาระหว่างดูแอนิเมชันเรื่องนี้

Flow (2024) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่เล่าเรื่องผ่านน้องแมวดำอินโทรเวิร์ตที่ไม่เชื่อใจใคร วันหนึ่งป่าที่เจ้าแมวอยู่ก็ประสบกับมหันตภัย ซึ่งจะมีมหันตภัยใดเลวร้ายไปกว่ามหันตภัยน้ำท่วมโลกสำหรับแมวกลัวน้ำ เหตุการณ์นี้ทำให้น้องแมวและสัตว์อื่นที่ลงเรือลำเดียวกัน (ลงเรือลำเดียวกันจริงๆ) ต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดไปด้วยกัน 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของผู้กำกับชาวลัตเวีย กินต์ส ซิลบาโลดิส (Gints Zilbalodis) การันตีความดีงามด้วยรางวัลชนะเลิศจากรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมปี 2024 นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปี 2025 ในสาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมและสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม

ความใจฟูบนเรือลำเล็ก

คิดว่าน่าจะเอะใจอยู่บ้างตอนที่บอกว่านี่คือภาพยนตร์แอ็กชัน แอนิเมชันเรื่องนี้ไม่ได้มีฉากระเบิดตูมตามหรือการสาดกระสุนกันไปมาอะไรแบบนั้น กลับกันเสน่ห์ของ Flow คือเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์ที่ไม่มีบทพูดเลยแม้แต่คำเดียว การดำเนินเรื่องไปจนถึงนิสัยและแรงจูงใจของสัตว์แต่ละตัวจะถูกเล่าผ่าน ‘การกระทำ’ (Action) ของตัวละครเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง หรือเสียงร้อง นี่จึงเป็นภาพยนตร์ที่เน้นแอ็กชันของตัวละครมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ซึ่ง Flow ก็เปลี่ยนสิ่งที่ดูเหมือนข้อจำกัดให้กลายมาเป็นจุดแข็งของตัวเอง ในยุคที่การมีบทพูดในภาพยนตร์เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถดึงดูดคนดูได้อยู่หมัดโดยไม่ต้องมีคำพูดแม้แต่คำเดียว

การกระทำต่างๆ ของเหล่าสัตว์ตัวหลักตอกย้ำลักษณะนิสัยตัวละครได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น เจ้าแมวที่เวลาเจอใครก็จะตั้งท่าขู่ไว้ก่อน ชี้ถึงความไม่เข้าสังคม เจ้าลีเมอร์อยู่ไม่สุขที่คอยสะสมของตลอดเวลา เจ้าคาปิบาราที่เอาแต่จะนอนแต่พอเวลาเกิดเรื่องขึ้นก็ช่วยพวกพ้องเต็มที่ หรือเจ้าหมาร่าเริงขี้เล่นตามสไตล์ลาบราดอร์

สีสันหนึ่งของแอนิเมชันเรื่องนี้อยู่ระหว่างปฏิสัมพันธ์ชวนอมยิ้มระหว่างตัวละครสัตว์ต่างๆ เช่น หมาลาบราดอร์ที่พยายามจะตีซี้กับแมว ในขณะที่เจ้าแมวพยายามจะไปอยู่เงียบๆ หรือตอนที่นกยืนคุมหางเรือแล้วเจ้าแมวพยายามจะยืน 2 ขาตาม เป็นต้น พฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์ในเรื่องนั้นได้รับการใส่ใจ เรียกได้ว่าถ้าใครเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวจะคุ้นเคยกับพฤติกรรมและรายละเอียดต่างๆ ที่ทีมงานใส่มาเป็นอย่างดี (หรือใครเลี้ยงตัวลีเมอร์ หรือคาปิบาราก็แชร์กันได้ว่าสมจริงไหม)

กฎข้อเดียวคือเอาชีวิตให้รอด

ช่างเป็นความบังเอิญที่ปีนี้มีแอนิเมชัน 2 เรื่องทั้ง Flow และ The Wild Robot (2024) ที่เข้าชิงออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม ทั้งสองเรื่องมีคณะสรรพสัตว์เป็นตัวละครหลักและพูดถึงประเด็นของการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมอันไร้กฎเกณฑ์อย่างผืนป่าทั้งคู่ 

ฉากเปิดของเรื่องได้แสดงถึงประเด็นนี้ไว้เป็นอย่างดี หมาฝูงหนึ่งจับปลามาจากแม่น้ำ ปลาพยายามดิ้นหนีแต่ไปเจอแมว เจ้าแมวจึงคาบปลามา หมาจึงไล่แมวอีกทีเพื่อเอาปลาคืน เป็นภาพของวัฏจักรการพยายามเอาชีวิตรอดวนเวียนไป ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอดให้กลุ่มหมาหรือสัตว์นักล่าทั้งหลายเป็นตัวร้าย กลับกัน ทุกชีวิตต่างดิ้นรนให้ตัวเองอยู่รอดโดยไม่มีผู้ใดผิดผู้ใดถูก จะมีก็แค่ใครจะได้อาหารไปต่อชีวิตตัวเองก็เท่านั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เจ้าแมวของเราจะคอยระแวงสัตว์ทุกตัวที่พบเจอ เพราะมันไม่เคยมีเพื่อนที่คอยให้ความช่วยเหลือ 

แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น เจ้าแมวก็ต้องร่วมเดินทางไปพร้อมสัตว์อื่นๆ และได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะจากปลาวาฬที่มาช่วยตอนจะจมน้ำหรือนกที่มาช่วยไม่ให้นกตัวอื่นมาทำร้าย จากแมวขี้ระแวงที่ได้รับการช่วยเหลือกลายมาเป็นแมวที่ยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่น อย่างการหัดว่ายน้ำทั้งที่กลัวเพื่อไปจับปลาให้เพื่อน หรือการเสี่ยงชีวิตช่วยเพื่อนที่อยู่ในสถานการณ์คับขันแม้ตัวเจ้าแมวเองจะรอดแล้ว พัฒนาการของเจ้าแมวทำให้เห็นว่าการยอมรับและส่งมอบความช่วยเหลือคือสิ่งสำคัญในการก้าวผ่านอุปสรรคขนาดใหญ่ไปได้

บทลงโทษจากผู้เป็นเจ้า

แฝงไว้ภายใต้สีสันและความขบขันคือสัญญะทางศาสนาที่ชวนตีความไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือการที่เหล่าสัตว์เอาชีวิตรอดจากน้ำท่วมโลกบนเรือก็เหมือนกับเรื่องของเรือโนอาห์จากพระคัมภีร์ไบเบิล หนังสือปฐมกาล

ตามตำนาน พระเจ้าต้องการชำระล้างโลกจากความชั่วร้ายที่มนุษย์ก่อขึ้น จึงบันดาลให้เกิดฝนตกหนักส่งผลให้น้ำท่วมโลกจนสิ่งมีชีวิตทั่วโลกสูญพันธุ์ อย่างไรก็ดี โนอาห์ ครอบครัวของเขา และสัตว์พันธุ์ละคู่ได้รับการยกเว้นจากพระเจ้าและรอดชีวิตมาได้ด้วยการขึ้นไปอยู่บนเรือโนอาห์ระหว่างที่น้ำท่วมโลก

ปัจจุบันนี้ สิ่งใกล้เคียงที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมโลกได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะโลกร้อน ในโลกของ Flow นั้นไม่มีมนุษย์อยู่ แต่เราสามารถเดาถึงการมีอยู่ของมนุษย์ในอดีตได้จากร่องรอยของอารยธรรมต่างๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าความเป็นมาอย่างชัดเจนว่ามนุษย์หายไปไหน แต่หากตีความตามตำนานของโนอาห์ ก็อาจมองได้ว่านี่คือโลกของเราในอนาคตที่ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเลวร้ายจนเกินแก้แล้ว

ตัวภาพยนตร์ไม่ได้สื่อไปทางเชิญชวนให้ร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด เน้นไปทางร่วมมือเอาชีวิตรอดมากกว่า อย่างไรก็ดี Flow ก็แสดงถึงผลที่ตามมาได้อย่างชัดเจน เฉกเช่นในตอนจบที่ถึงแม้เหล่าก๊วนสัตว์บนเรือจะรอดมาได้เมื่อน้ำที่เคยท่วมโลกลดลง แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่รุนแรงก็ยังมีสัตว์ที่ได้รับผลกระทบอยู่ดี เหมือนเจ้าวาฬที่คอยช่วยเจ้าแมวเวลาจมน้ำ แต่เมื่อน้ำที่เคยท่วมเหือดหายไป เจ้าแมวน้อยก็ไม่สามารถช่วยวาฬตัวใหญ่จากการเกยตื้นได้ 

หากมองในมุมที่กว้างกว่าบริบทของภาพยนตร์ ใจความของเรื่องว่าด้วยการร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดก็อาจปรับใช้ได้กับสถานการณ์โลกร้อนของเรา ทำให้เห็นว่าหากเราร่วมมือกันก็อาจช่วยกันแก้ปัญหาและฝ่าวิกฤตนี้ไปได้เช่นกัน

ไม่ว่าจะจากการผจญภัยของเจ้าแมวเองที่ได้รับและมอบความช่วยเหลือต่อสัตว์อื่น หรือจากสัญญะที่แฝงมาถึงการล่มสลายของมนุษยชาติเพราะภัยสิ่งแวดล้อม Flow ได้แสดงให้เห็นว่าในโลกที่ทุกชีวิตล้วนดิ้นรนเอาตัวรอด การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กันก็เป็นหนทางในการเอาชีวิตรอดเมื่อเผชิญกับอุปสรรคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อทางรอดมีเพียงน้อยนิดเหมือนเรือเล็กท่ามกลางโลกที่มีแต่ทะเล

ท้ายที่สุดแล้ว แอนิเมชันเรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำพูดที่แม้จะจำเจแต่ก็ยังควรค่าที่จะจดจำว่า ‘เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้’

อ้างอิง:

https://scienceandfilm.org/articles/3662/director-interview-gints-zilbalodis-on-flow

AUTHOR