“พริบตาเดียว ก็สิ้นปีซะแล้ว”
“โปรเจกต์ที่กำลังถืออยู่ตั้ง 79 ล้าน ยังไม่เคลียร์เลย ใกล้จะถึงวันหยุดยาวอีกแล้ว”
“ทำไมปีนี้มันเหนื่อยจังวะ”
“นั่นสิ ยังไม่อยากให้ถึงวันหยุดเลย”
จากสถานการณ์สมมติเมื่อ นายต้อม กับ พี่อ้อน พูดคุยกัน หลายคนอาจพยักหน้าเห็นด้วย เพราะแม้ว่าช่วงสิ้นปีจะเป็นเวลาสำหรับบางคนที่เตรียมดี๊ด๊าเพื่อรอวันหยุดยาว แต่สำหรับบางคน ช่วงสิ้นปีอาจเป็นช่วงเวลาที่ ‘หัวหมุน’ ที่สุดก็ว่าได้
นั่นเพราะความเครียดจากภาระงานที่สะสมตลอดทั้งปี ภาระความผูกพันทางสังคมและส่วนบุคคล ความเร่งรีบบางอย่างที่ต้องจัดการให้เสร็จตามกำหนดเวลา รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบในชีวิตและงาน จนทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างดีพอ สามารถนำพาเราไปสู่จุดแห่งความเหนื่อยล้า หรือภาวะ burnout ได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ภาวะเหนื่อยหน่ายเช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์จากการทำงาน อันเป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเรียบร้อย
ผมคิดว่า นอกจากความรู้สึกที่สะสมมาตลอดปีเช่นนี้ เมื่อรวมเข้ากับยุคสมัยของโซเชียลมีเดียที่ใครก็สามารถเปิดเผยมุมของความสุขและความสำเร็จอันฉาบฉวยได้ง่าย จึงทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบว่า ทำไมเราถึงยังต้องก้มหน้าก้มตาทำงาน ในขณะที่เพื่อนบางคนบินไปพักผ่อนต่างประเทศแล้ว นั่นยิ่งทำให้ภาวะ burnout ช่วงปลายปีจมดิ่งลงไปอีก
ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่เราที่อาจเกิดภาวะเช่นนี้ในช่วงปลายปี เพราะใครๆ ก็สามารถเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้ และข่าวดีก็คือ เมื่อมีความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้น มนุษย์จึงแสวงหาการทำความเข้าใจและวิธีฮีลใจ จัดการกับภาวะที่เกิดขึ้น และรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อชาร์จพลังให้กลับมาอีกครั้งก่อนที่ปีใหม่จะมาถึง
ว่าแต่เราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
คว้าช่วงเวลาอันมีค่าเพื่อพักผ่อนสักนิด
บางครั้งช่วงปลายปีมักเป็นช่วงเวลา ‘ไฟลน’ สำหรับบางคนในการทำงาน โปรเจกต์อันยุ่งเหยิงมากมายที่ยังไม่ถูกจัดการมากองรวมกันตรงหน้า ไหนจะปฏิทินวันหยุดที่รอท่าอยู่ไม่ไกล ในเวลาแบบนี้ เราอาจปิดกั้นตัวเองจากสิ่งอื่นเพื่อโฟกัสกับการจัดการเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหน การดูแลตัวเองยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการขาดการดูแลตัวเองนี่แหละ จะเป็นสาเหตุให้เกิดความเหนื่อยหน่ายได้ เชื่อว่าเมื่อลองวางแผนดีๆ เราจะพอมองเห็น ‘เวลา’ ที่หลงเหลืออยู่ พยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นเพื่อหยุดพักจากงาน แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ที่ได้อยู่บ้าน หรือได้ออกไปข้างนอกก็ตาม
จัดลำดับความสำคัญให้ดี
ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันภาวะ burnout มักเกิดจากการทำงานหนักเกินไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ถึงเวลาต้องจัดลำดับความสำคัญของงานที่อยู่ในมือให้ดี เพราะมันอาจเป็นสิ่งที่เราละเลยจนภาระงานต่างๆ มาสะสมปนเปจนหัวปั่นไปหมด พยายามตรวจสอบปริมาณงานที่มีอยู่ จัดเรียงให้ดีตามความเร่งด่วน หรือลองนัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาว่า งานไหนที่ต้องจัดการทันที หรืองานไหนที่สามารถจัดการในภายหลังได้ การลองแบ่งย่อยงานในภาพใหญ่ให้กระจายออกเป็นภาพย่อย จะทำให้เรามองเห็นได้ชัดขึ้นว่าสามารถมอบหมายกระจายงานใดให้ทีมงานหรือกระทั่ง ‘ซับนอก’ (บุคคลหรือบริษัทภายนอกองค์กรที่ถูกจ้างให้ทำงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ) ได้บ้าง นั่นจะทำให้เราไม่ต้องจมอยู่กับงานจนเกินไป และสามารถจัดการงานให้เสร็จตามเดดไลน์ได้
ลองตัดการเชื่อมต่อจากเทคโนโลยี
มีการวิจัยจากสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือ (Radiological Society of North America) ที่บอกว่า สมาร์ตโฟนของเราเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลและความเครียดที่เพิ่มขึ้น โดยนักวิจัยได้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างระดับกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยส่งข้อความสื่อสารระหว่างสมองและระบบประสาท กับการใช้สมาร์ตโฟนในระยะยาว โดยการเชื่อมโยงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงระดับของ GABA ที่เพิ่มขึ้นในผู้เข้าร่วมวิจัย (เยาวชนที่ติดสมาร์ตโฟน) ซึ่งสารสื่อประสาทนี้จะยับยั้งสัญญาณของสมอง ทำให้การทำงานและการควบคุมช้าลง
ดังนั้น ถ้าภาวะความเหนื่อยล้าปลายปีของเราไม่ได้มาจากการทำงานที่หนักเกินไป การลองตัดสินใจ ‘ถอดปลั๊ก’ การเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต โซเชียล อีเมล กลุ่มไลน์เพื่อนดูบ้าง ก็จะทำให้เรามีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แถมยังได้ใช้เวลาอยู่กับคนใกล้ตัวอย่างเต็มที่ด้วย
กำหนดขอบเขตที่สมควรในการทำงาน
อย่างที่กล่าวไปว่า ภาวะเหนื่อยล้าปลายปีมักมาจากการทำงานและที่ทำงาน ไม่ว่าจากการคุยงาน ประชุมงาน หรือตามงาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตให้ดีก็สามารถช่วยได้ เช่น ไม่เช็กอีเมลงานหลังเลิกงาน เพื่อให้เราสามารถหลีกออกจากงานและโฟกัสกับสิ่งรอบข้างได้มากขึ้น หรือสื่อสารกับกลุ่มไลน์ที่ทำงานให้ชัดเจนว่า เราจะไม่ตอบไลน์งานในช่วงเวลาหลังเลิกงาน เว้นแต่จะมีความเร่งด่วนบางอย่างเท่านั้น
แม้ปลายปีจะเป็นช่วงไฟลนก้น และแม้ว่าภาระงาน ภาระความผูกพันธ์ทางสังคมจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่การไม่ละเลยสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรานั้นสำคัญที่สุด
เพราะท้ายที่สุดแล้ว มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องทำตัวเองให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ด้วยพลังงานและแรงจูงใจใหม่ๆ ในปีถัดไปที่กำลังมาถึง
ชีวิตเราใช่ว่าจะจบแค่สิ้นปีใช่ไหม?