“ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง”
ข้อความฝากถึงผู้ที่กำลังย่างเข้าสู่วัยทำงาน พร้อมรอยยิ้มมุมปากผุดขึ้นจากหมออารมณ์ดีคนหนึ่ง เมื่อต้องนอนฝันว่าเจ้านายไลน์ตามงาน ลูกค้าเกรี้ยวกราด กลางวันตาลอย กลางคืนตาคล้ำ แต่ก็ทำได้แค่ก้มหน้ารับชะตา วัฏจักรชั่วร้ายจะหมดไปแน่ๆ ถ้ารู้วิธีบาลานซ์งานและชีวิต บทความนี้จะพาให้เดินหลุดพ้นออกมาได้ อย่างน้อยแค่สักครึ่งก้าวก็ยังดี
ชุดสูททับเสื้อคอปกผูกเน็กไท และแว่นสายตาคู่ใจ ทั้งหมดนี้คือบุคลิกสำเร็จรูปของ ‘Dr.Punch’ หรือ ‘พ.ต.ท.นพ.วรพล เจริญพร’ หมอพั้นช์เป็นที่รู้จักกันดีในแพลตฟอร์ม TikTok เขามียอดผู้ติดตามมากกว่า 3 แสนคน น่าชื่นใจที่คนไทยยังใส่ใจสุขภาพกันไม่น้อย เดิมทีเขาอาจจะไม่ใช่ TikToker อย่างทุกวันนี้ แต่จากการเห็นข้อมูลที่ผิดแผกบ่อยครั้ง ทำให้เลิกแอนตี้โซเชียลและกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้ความรู้กับประชาชนในฐานะแพทย์
หมอพั้นช์ยังคงเดินทางท่องไปบรรยายที่ต่างประเทศ ต่างจังหวัด แม้วิถีส่วนใหญ่ของเขาจะอยู่กับการเข้าเวร ราวนด์วอร์ด ประชุมจนลิ้นพัน แต่ก็ยังอยากหาเวลาตะโกนบอกคนที่รักงานรักเงินด้วยหัวอกเดียวกันว่าอย่าลืมรักชีวิต!

“ก่อนจะหยุดหมอสุดมาก่อน”
Work Life Balance ในความหมายทางการแพทย์คืออะไร
สิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของเราทุกคน ไม่ว่าเราจะทำงานหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องบาลานซ์ชีวิตให้เหมาะสม สมมติให้เราไม่ทำงานเลยก็ใช่ว่าชีวิตเราจะมีความสุข บางทีเราพักอย่างเดียวก็จะรู้สึกชีวิตไม่มีคุณค่า เราก็ต้องทำงานเพื่อสร้างคุณค่าให้ตัวเองและสังคมรอบๆ ตัวเรา รวมถึงการใช้ชีวิตของเราด้วย ต้องทำงานอย่างเหมาะสมและพักผ่อนเพียงพอ การกิน ออกกำลังกายก็ต้องทำเพื่อให้ชีวิตเราสมดุล
ถ้าอยากจัดสมดุลชีวิตกับการทำงาน เบื้องต้นต้องเริ่มจากอะไรก่อน
ตั้งเป้าชีวิตก่อนว่าเราต้องการอะไร อย่างถ้าเราอยากประสบความสำเร็จเต็มที่เลย เราก็ต้องทำงานมากกว่าใช้ชีวิต แต่ทุกอย่างมันก็ต้องอยู่ตรงกลาง ให้เรามีความสุขด้วยแล้วเราก็ได้ทำงานด้วย เราต้อง set goal ก่อนว่าเราต้องการอะไร เราจะได้วางแผนได้ ทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาเวลาไปทำอะไร จะได้ลงทุนให้ถูกที่
ปัญหาสุขภาพของคนวัยทำงานที่พบได้โดยส่วนใหญ่
ออฟฟิศซินโดรม! ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่คนที่ทำงานออฟฟิศ แต่รวมถึงคนที่ทำงานอะไรก็ตามซ้ำๆ ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย เช่น กวาดพื้น เย็บผ้า เขียนหนังสือ หรือแม้แต่นักกีฬาก็ยังเป็น เพราะต้องทำท่าซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวัน ร่างกายก็ทนไม่ไหว ร่างกายเราไม่มีปากที่จะพูดออกมา แขนเราไม่มีวิธีที่จะสื่อสาร เขาจะสื่อสารออกมาว่าเขาปวด เขาเจ็บ เขามีอาการชา ร้าว เขามีวิธีตะโกนออกมาว่าตอนนี้กิจกรรมที่เราทำมันไม่เหมาะสมแล้วนะ

แต่เราก็ต้องทำงานวนลูปอยู่ทุกวัน ควรจะป้องกันยังไง
เราต้องรู้ก่อนว่าลักษณะงานเราเป็นแบบไหน ยกตัวอย่างการทำงานออฟฟิศ สัดส่วน 20:20:20 ก็ช่วยได้ แต่ถ้าเรื่องของลำตัว ใน 1 ชั่วโมงก็ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ เดินไปขยับบิดตัว หรือการนั่งไขว่ห้าง ถามว่าแย่ไหม ก็ไม่แย่มาก แต่จะมีเรื่องของการกดทับเส้นเลือด บางครั้งร้าวขึ้นก้น เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์ยืน 2 ขา ร่างกายก็ต้องตั้งฉากกับพื้น รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมก็สำคัญ หน้าจอควรจะจัดให้สูงระดับสายตาให้มองเห็นชัดเจน ให้มันพอดี อย่ายื่นคอเอียงตัว กล้ามเนื้อเราถูกทำมาให้รองรับได้อย่างสมมาตรแล้ว ลองสังเกตว่าเราถนัดข้างไหนเป็นพิเศษ อีกข้างหนึ่งมันจะปวดมาก แล้วมันก็จะปวดตลอด นั่นคือร่างกายเราบอกแล้วว่าคุณหันขวาเยอะไปแล้วนะ เราต้องรู้ก่อนมันจะ Breakdown
“วิชาที่ควรรู้”
พูดถึงการแบ่งสัดส่วน 20:20:20 มันคืออะไร
ด้วยสังคมทุกวันนี้เราใช้งานคอมพิวเตอร์กับมือถือค่อนข้างเยอะ เราใช้สายตาเยอะมาก ทุกคนจะรู้อยู่แล้วมองนานๆ ไม่ดี สายตาจะปวดจะสั้น เราก็รู้ตัวว่าต้องพักนะ แต่บางทีเจ้านายเร่ง ลูกค้าตาม งานทับถมรีบเร่งจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เราเลยมีตัวเลขง่ายๆ ให้สัดส่วน 20:20:20 หมายความว่า
“ทุก 20 นาทีที่เราทำงานไม่ว่าจะมือถือ คอม เอกสาร ให้พัก 20 วินาที โดยการมองไปที่ 20 ฟุต ประมาณ 8 เมตร มองไปไกลๆ ให้สบายตาสัก 20 วินาทีจะเป็นการพักสายตา ชาร์จเอเนอร์จี”
บางคนรู้สึกนอนเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ยังรู้สึกล้าอยู่ เกิดจากอะไร
เป็นคำถามที่เด็กรุ่นใหม่จะเจอเยอะมาก ต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้ทำงานดุเดือด หนักหน่วงมาก บางคนทำงาน work from home หลายคนชอบเข้าใจว่าเราทำงานที่บ้านแล้วก็จบ แต่กลายเป็นเราทำมันทั้งวันทั้งคืน นึกได้ก็ทำ ทำเสร็จนั่งแป๊บหนึ่งกลับมาทำอีกแล้ว นั่งไปกินไปคุยมือถือกับเพื่อนไป ยังแบ่งบาลานซ์ไม่เหมาะสม
จริงๆ แล้วถ้าอยากให้ร่างกายได้ทำงานและพักผ่อนที่เพียงพอ ต้องทำ time blogging ให้เหมาะสม ถ้าอย่างอยู่ที่ทำงาน 9 โมงเช้า – 5 โมงเย็น ถ้าทำที่บ้านก็ควรเป็นช่วงเดียวกัน ต้องพักแล้วนะ ทำงานแล้วนะ เลิกงานแล้วนะ ไม่ใช่เช็กเมลต่อ ไม่อย่างนั้นสมองเราจะไม่ได้หยุดพักเลย มันจะเหนื่อยล้า สะสม ตื่นมาก็จะซึมๆ เหนื่อยๆ แล้วส่งผลต่อสภาวะหมดไฟในการทำงาน

สภาวะหมดไฟส่วนใหญ่มันเกิดจากอะไร
ส่วนใหญ่ที่เจอจะไม่ใช่คนที่ตื่นมาไม่เอาแล้ว หมดไฟ ไม่อยากทำแล้ว แต่จะเป็นคนที่ขยันมากๆ ทำงานเยอะๆ แต่รู้สึกว่าเราได้รับผลลัพธ์ที่ยังไม่เป็นที่พอใจ อาจจะเห็นว่าเงินเดือนเท่ากัน แต่ทำไมเราทำงานเยอะกว่า ทำไมทำงานเท่ากัน แต่คนนั้นได้รับคำชมเยอะกว่า เห็นอีกคนประสบความสำเร็จมากกว่า เราจะน้อยเนื้อต่ำใจ เหมือนค่อยๆ หมดแรงไปเรื่อยๆ
ขอวิธีเรียกไฟกลับมา
ต้องจัดการที่ mental health จัดการจิตใจของตัวเอง เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ เราทำเพื่ออะไร ทำสุดความสามารถหรือยัง ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการไหม ถ้าเราเต็มที่แล้ว ได้ผลที่ต้องการแล้ว ถึงแม้คนอื่นจะมองยังไง แต่เราต้องมั่นใจว่ามันดีแล้ว มันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในจุดนั้นแล้ว ความสำคัญอีกอย่างคือไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหน เราก็ยังต้องการความช่วยเหลือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน มีเพื่อนที่คอยซัปพอร์ต ช่วยเหลือเราได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ พอเรามีความสัมพันธ์ที่ดีก็จะทำให้สภาวะแวดล้อมการทำงานดี ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไร เราก็จะผ่านไปได้ ไฟมันก็จะไม่ถูกเอาน้ำมารดให้มอดลง มันจะกลายเป็นฉันทำได้ เดี๋ยวก็ผ่านไปได้
“หลักสูตรที่ต้องท่อง”
ย้อนกลับไปช่วงวัยรุ่นเคย Work ไร้ Balance มาก่อนไหม
เคยมาทุกอย่างแล้ว เคยเที่ยวหนักมากทั้งต่างประเทศ ต่างจังหวัด เคยเรียนหนักมากๆ อย่างตอนอยู่ศิริราชก็อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน บ้าออกกำลังกายอย่างเดียวไม่เรียนเลยก็มี เรามองย้อนกลับไปก็ถามกับตัวเองว่าช่วงเวลาเหล่านั้นเรามีความสุขจริงไหม สนุกไหมนะ คือมันสนุกแหละ แต่ก็เหนื่อยด้วย ทุกวันนี้เรากลับไปทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว สมมติเอาแต่อ่านหนังสือ พอต้องเดินขึ้นบันได 4 – 5 ชั้นก็หอบ อาจารย์ถามก็เบลอๆ ตอบอย่างไม่มั่นใจ ทำให้รู้เลยว่าต้องบาลานซ์ชีวิตแล้ว ถ้าเราไม่แข็งแรงจะไปดูแลคนอื่นก็ไม่ได้ หมอไอค่อกแค่ก เป็นเบาหวาน ก็คงเขินคนไข้แย่เลย
ถ้าถอดหมวกในฐานะหมอออก ปกติเป็นคน Work Life Balance ไหม
ต้องบอกว่าเป็นคนค่อนข้าง strict ชอบดูแลตัวเอง มีความสุขที่จะแบ่งเวลามากๆ อย่างชีวิตประจำวันก็จะตื่นเช้าไม่เกินตี 5 ครึ่ง ออกกำลังกาย cardio สักครึ่งชั่วโมง สอนนักศึกษา ไปทำงานกับโรงพยาบาลต่างๆ ตกเย็นกลับไปอยู่กับครอบครัว แล้วก็เล่นเวทอีกสักชั่วโมงถ้ามีเวลา กินข้าวก็ 3 มื้อปกติ (จำได้ว่าตอนฟังเราอ้าปากเหวอ หมอทำได้ยังไง)

จุดพลิกผันที่รู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ ต้อง Balance ชีวิตแล้ว คือช่วงไหน
ช่วง 25 ที่จบหมอมาแล้วต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเอง งาน คนรอบตัวด้วย เราต้องกลับมาดูตัวเองบริหารเงิน การใช้ชีวิต เมื่อก่อนเราไปเที่ยวกับเพื่อนอยู่ยาวยันตี 2 พอมาทำงานคุณภาพก็ต่ำลง นอนไม่พอก็ออกกำลังกายไม่ได้ เริ่มวนวัฏจักรแห่งความชั่วร้ายแล้ว พออายุมากขึ้น เราก็จะเริ่มตระหนักแล้วว่าตอนนี้ชีวิตเรามีคุณค่าในทุกชั่วโมงทุกนาที ถ้าเราไม่ได้ใช้เวลากับลูก ต่อไปเขาโตขึ้นเขาไม่ใช้กับเราแล้วนะ ชีวิตในนาทีนี้เราอยากดูแลสุขภาพ ถ้าเราไปใช้กับการทำงานอย่างเดียวมันกลับมาออกกำลังกายไม่ไหวแล้วนะ
ที่มาที่ไปของการเริ่มมาให้ความรู้ผ่านโซเชียลเกิดขึ้นได้ยังไง
จริงๆ เมื่อก่อนเราเป็นคนแอนตี้โซเชียลมาก แต่มีช่วงหนึ่งที่ต้องไปเรียนต่อแล้วว่างก็เลยมาศึกษาดูว่าทำไมคนเล่นเยอะจัง มันมีอะไร ซึ่งเราเห็นว่ามีข้อมูลข่าวสารที่ดีเหมือนกันนะ แต่บางครั้งมันก็มั่วแหละ เราเลยอยากทำขึ้นมาบ้างในฐานะแพทย์เพื่อให้ความรู้กับประชาชน แล้วจู่ๆ ผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การที่พูดครั้งหนึ่งแล้วมีคนฟังเป็นแสนเป็นล้าน ทำให้เราก็รู้สึกมีความสุขที่ได้สร้างประโยชน์ให้คนกลุ่มใหญ่มากขึ้น
“เตือนแล้วนะ”
มีสูตรสำเร็จของการดูแลตัวเองไหม
ต้องบอกว่าร่างกายของเราไม่มีใครช่วยได้เท่าตัวเราเอง นึกง่ายๆ ว่าถ้าเราออกกำลังกายทุกวัน พักผ่อนให้เพียงพอ คุณภาพจิตใจดี เราจะมีความสุขแล้วร่างกายเราจะรันด้วยตัวมันเอง ร่างกายเราฉลาดมากนะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่จะมีการซ่อมแซมปรับปรุงตลอดเวลา มีการสลายทุกวัน มีการสร้างทุกวัน เพื่อจะดูว่าร่างกายเราส่วนไหนใช้กระดูกเยอะ สมมติเราเป็นนักวิ่ง ขาก็จะใหญ่แขนจะเล็ก ทุกอย่างในร่างกายที่มันดูเหมือนกับนิ่งๆ แต่ที่จริงแล้วมันคือสงคราม มีการสร้างป้อมปราการขึ้นตลอด เชื้อโรคบุกเข้าทุกวัน แต่ร่างกายก็จะสร้างเขื่อนให้แข็งแรงขึ้น ถึงแม้เราจะไปฉีดยา ดริปวิตามินก็สู้ไม่ได้เท่ากับทำด้วยตัวเราเอง
มีอะไรอยากพูดกับคนที่ยังไม่รักสุขภาพตัวเองไหม
เราเชื่อว่าทุกคนรักสุขภาพ แต่เป็นเพราะเราอายุยังน้อยกันอยู่ ร่างกายเราไม่นอน 2 -3 วันทำงานต่อเนื่องได้ ไปเที่ยวได้ แต่มันเป็นการสะสม ร่างกายคนเราเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ลองนึกถึงรถ ซื้อป้ายแดงมาขึ้นเหนือลงใต้เหยียบ 300 สบาย แต่ถ้าใช้งานไป 5 ปีเวลาลงหลุมมันจะส่งเสียงอ๊อดๆ แอ๊ดๆ 10 ปีควันดำโขมงเหมือนรถเมล์ทุกวันนี้ 20 ปีดอกยางก็เริ่มหายแล้ว
จะบอกว่าเราใช้ชีวิตได้ มีความสุขกับมันได้ แต่เราต้องระลึกไว้นะว่าเราต้องขับรถคันนี้ไปตลอดชีวิต แล้วไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ไม่มีหัวใจดวงใหม่ ปอดใหม่ จนกว่าคนขับจะตายจากไป จะใช้ทุกอย่างให้มันพังตั้งแต่ 20 ปีแรกเลยไหม อยากให้อายุสัก 60 ยังขับรถช้าๆ ไปเที่ยวต่างจังหวัดได้หรือจะให้มันจอดสตาร์ตนิ่งๆ อย่างเดียวที่บ้าน

สำหรับคนก้าวเข้าสู่วัยทำงานควรเตรียมตัวยังไงบ้าง
ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกแห่งความจริงครับ ฮ่าๆ (หมอหัวเราะดังที่สุดตอนพูดประโยคนี้) จะบอกว่าตอนที่เราเรียนแล้วรู้สึกเหนื่อยหนัก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกอย่างมันส่งผลต่ออนาคตของเรา อย่าลืม Work Life Balance ต้องกลับมา เพราะไม่มีใครที่จะสามารถทำงานอย่างเดียวไปทั้งชีวิต Work life balance ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่ยังมีคนที่เรารัก คนรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จเท่าไหร่ รวยอันดับต้นๆ บางคนเป็นมะเร็งเสียชีวิตในอายุไม่ถึง 50 ปี ทุกอย่างที่ทำมามันก็สูญเปล่า Work life balance มันทำให้ชีวิตเรายั่งยืน
หมอพั้นช์อยู่ในอาชีพที่ดูจะยุ่งเหยิงตลอดเวลา เราคิดว่าเขาคงไม่ได้ออกกำลังกายหรือมีเวลาว่างเหลือสักเท่าไหร่ แต่กลายเป็นว่างานอดิเรกของหมอคือการนั่งตัดคลิปบอกต่อความรู้ใน TikTok ลำพังปกติเราถึงบ้านก็คงนอนน็อกไปแล้ว ตั้งตารางชีวิตมั่วซั่วไปเรื่อยเพราะคิดว่าตัวเองยังวัยรุ่นเครื่องแรงอยู่ แต่หลังจากได้คุยกับหมอพั้นช์แล้ว ก็ทำให้ได้ยินอีกเสียงหนึ่งดังขึ้นจากร่างกายตัวเองว่าเหนื่อยง่ายแล้วนะ นอนพักบ้าง อย่ากินแต่ขนม ดูท่าจะต้องท่องสูตร Work life balance ให้ขึ้นใจ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เผลอลืมจนร่างกายร้องปวด เสียงหมอพั้นช์ก็คงลอยหลอกตามติดในทันที “หมอเตือนแล้วนะว่าต้อง Work Life Balance”
แล้วคนอ่านล่ะ ตอนนี้ได้ยินเสียงร่างกายพูดอะไรด้วยหรือเปล่า