การแต่งงาน…ครั้งสุดท้าย : โฆษณาที่เล่าสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่อยากได้จากเจ้านายยุคนี้มากที่สุด

การแต่งงาน…ครั้งสุดท้าย เป็นโฆษณาที่พูดถึงเด็ก Gen Y

อ่านแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเนื้อหาจะออกมาแนวก่นด่าเด็กจบใหม่อย่างที่เราคงเคยได้ยิน
กลับกันคืองานชิ้นนี้เล่าเรื่องเด็กรุ่นนี้ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ
วิพากษ์สังคมการทำงานที่มนุษย์เงินเดือนต้องเจอทุกวัน
และสอดแทรกคุณสมบัติของบริษัทที่เป็นลูกค้างานชิ้นนี้อย่าง เอสซีจี
ว่าเป็นบริษัทที่ปรับองค์กรให้เข้ากับนิสัยพนักงานรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว

งานชิ้นนี้เป็นฝีมือกำกับของ
ธยา สุนทรวิภาต จาก Film Factory โดยมีครีเอทีฟอย่าง
กิตติ ไชยพร และ ชลิต มนุญากร จาก Mana & Friends มาช่วยทำงานนี้ เนื้อหาโฆษณาจะเล่าเรื่องพิธีแต่งงานแบบศาสนาคริสต์
โดยเล่าจากมุมมองของฝั่งเจ้าสาวซึ่งแต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่ากับบริษัทที่เธออยากเข้าทำงานแต่ไม่เคยสมหวัง
จนกระทั่งมาพบกับเอสซีจีซึ่งมีนโยบายสอดคล้องกับพฤติกรรมของพนักงานรุ่นใหม่
จนคว้าใจของพนักงานสาวไปครอง

ดูงานครั้งแรกคนอาจคิดว่ามันเด่นที่วิธีเล่า แต่พอฟังทีมงานจริงๆ
จะรู้ว่าพวกเขาคิดเยอะมากกับเล่าเรื่องคนต่างวัยแบบไม่ต่อว่า แต่พยายามทำความเข้าใจจากมุมมองของผู้ใหญ่ที่ไม่นิยมการตัดสินคนเร็วเกินไป

เด็ก Gen Y ไม่ใช่คนเรื่องมาก แต่พวกเขาคิดเยอะ

ชลิตเล่าว่า
โจทย์จากเอสซีจีคืออยากบอกว่าที่นี่คือบริษัทในฝันสำหรับเด็กจบใหม่
(จากผลการสำรวจพบว่านักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเลือกเอสซีจีเป็นบริษัทที่อยากทำงานด้วยเป็นอันดับ
1 มานานหลายปี)
นอกจากนี้บริษัทยังอยากดึงดูดนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นซึ่งนิยมไปทำงานกับบริษัทต่างชาติให้มาทำงานที่นี่

“คนชอบคิดว่าเด็ก Gen Y เรื่องเยอะไม่อดทน ลาออกเป็นว่าเล่นเราไม่อยากทำงานชินนี้มาต่อว่าพวกเขา แต่อยากพูดในทำนองว่าเราเข้าใจคุณ เราวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่คนGen Y เรื่องเยอะก็เพราะเขาคิดเยอะ
แถมยังมีทางเลือก คนรุ่นพ่อรุ่นแม่แทบไม่มีทางเลือกในการทำงานมากนัก
ส่วนรุ่นเรามีทางเลือกมากขึ้นหน่อย เช่น ถ้าคุณตั้งใจทำงานคุณก็จะได้ดี แต่สมัยนี้การตั้งใจทำงานมันมีหลายแบบ ไม่มีเรื่องผิดถูกชัดเจน
เราจะไม่สรุปว่าเขาทำผิดหรือถูก แต่เขามีสิทธิเลือก เราเป็นแค่ another
choice ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกอะไร” ชลิตเล่าแนวคิดช่วงเริ่มทำงานชิ้นนี้

แนวคิดนี้ถ้าเล่าแบบไม่มีชิ้นเชิง
มีสิทธิ์จะเป็นโฆษณาแนวสั่งสอนที่น่าเบื่อไม่ยาก ชลิตยกความดีความชอบให้ผู้กำกับอย่างธยา ที่ตีโจทย์ว่าการสมัครงานก็ไม่ต่างจากการเลือกคู่
การแต่งงาน และ ‘แต่งกับงาน’ คล้ายกัน เพราะต้องตกปากรับคำแบบ
commitment
เหมือนกัน

“เราคิดแทนว่าการที่เขาเรื่องมากเพราะอยากทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ
เราก็พยายามแทนค่า หาวิธีการเล่าที่เหมาะสม
ซึ่งมันตรงกับความต้องการของเอสซีจีที่ไม่ได้อยากทำโฆษณารับสมัครงาน แต่พูดว่าเขามองหาคนร่วมงานแบบระยะยาว เหมือนก่อนแต่งงานเราก็ต้องคิดว่าจะอยู่กับคนคนนี้ในระยะยาวหรือเปล่าเหมือนกัน
เราเลยเล่าเรื่องเป็นพิธีงานแต่งแบบศาสนาคริสต์ เพราะมัน
ีuniversal
มีสถานการณ์ที่ฝ่ายชายและหญิงจะได้ถามตอบซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถแทนค่ากับการที่ฝ่ายสมัครงานจะเรียกร้องเงื่อนไขบางอย่างกับนายจ้าง
เราเอาตรงนี้มาเล่นได้ ถ้าเป็นพิธีแต่งงานแบบแห่ขันหมากคงจะทำไม่ได้และดูแปลกไปหน่อย”
ธยาพูดถึงวิธีคิดก่อนลงมือกำกับจริง

โฆษณาวิพากษ์สังคมที่เล่าอย่างน่ารัก

ในเนื้อหา
ระหว่างเจ้าสาวเดินก็เห็นสักขีพยานซึ่งเป็นเจ้านายและเพื่อนร่วมงานจากบริษัทเก่า
แต่ละคนก็จะสะท้อนพฤติกรรมของนายจ้างที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ เช่น
หัวหน้าที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม
เจ้าของกิจการที่ดูแลดีแต่ก็ไม่ปล่อยให้พนักงานเก่งๆ ได้เติบโตเหมือนต้นบอนไซ ฯลฯ จุดนี้ผู้กำกับค่อยๆ เล่าให้คนดูค่อยๆ
เก็ตว่านี่ไม่ใช่งานแต่งงานปกติ
แต่เป็นงานที่แสดงสัญญะเรื่องการเดินทางของพนักงานที่ต้องพบกับนายจ้างหลายแบบ ตัวละครเหล่านี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนปัญหานายจ้างที่ไม่ตรงใจคนรุ่นใหม่จนทำงานอย่างราบรื่น

ชลิตบอกว่าสิ่งที่ทีมงานคำนึงในงานนี้มีอยู่สองข้อ “หนึ่ง
งานชิ้นนี้แหวกขนบของแบรนด์เยอะ
เพราะมุมหนึ่งมันเป็นโฆษณาที่วิพากษ์แนวคิดการทำงานของบริษัทแบบต่างๆ พูดถึงเจ้านายที่อาจจะดูไม่ได้เรื่องในสายตาพนักงาน
แต่ดูแล้วมันมีความน่ารักบางอย่างที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ากำลังด่าใคร
ต้องยกความดีความชอบให้คุณธยาที่ทำให้งานมันเป็นการจิกกัดที่น่ารัก เหมือนเวลาคุณโน้ต อุดม แซวใครบนเวทีแล้วไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อยน่ะ เมสเสจของหนังจริงๆ แรงมาก แต่วิธีการนำเสนอมีความน่ารักทำให้คนรับได้

“ข้อสอง เราระวังเรื่องการพูดถึงข้อเสนอของเจ้าบ่าวฝั่งเอสซีจีที่ตอบความต้องการของเจ้าสาวในหนัง มันต้องไม่เกินจริง
สมเหตุสมผล คนที่ทำงานในเอสซีจีดูแล้วต้องไม่รู้สึกว่าไม่จริงหรือขี้โม้ เราตรวจข้อมูลกับฝ่ายบุคคลอย่างถี่ถ้วน
เพื่อไม่ให้คนว่าได้ จากนั้นก็ทำ Mood & Tone ให้ออกมาตรงตามที่คิดไว้” ครีเอทีฟจาก Mana & Friends อธิบาย

ตัวละครเป็นวัยรุ่นที่ไม่มั่นใจ แต่ชัดเจนว่าจะสื่อสารอะไรกับองค์กร

องค์ประกอบสุดท้ายที่สำคัญมากคือ
ตัวละครเจ้าสาวซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของเด็ก Gen Y ในโฆษณา
ผู้กำกับเผยว่าแนวคิดในการออกแบบคาแรกเตอร์เจ้าสาวมีหลายแบบ
ด้วยเนื้อเรื่องตัวละครต้องเป็นผู้หญิงเพราะต้องเป็นคนเอ่ยปากถามเงื่อนไขในการทำงานกับฝ่ายเจ้าบ่าว
สิ่งที่น่าสนใจคือทีมงานเลือกให้เจ้าสาวมีความไม่มั่นใจ เพื่อให้จับต้องได้และจับใจคนดูมากขึ้น

“ตามตรรกะแล้วคนที่เรียกร้องเยอะต้องเป็นคนที่เก่งและมั่นใจในตัวเอง
แต่เราทำให้น้องดูมีความไม่มั่นใจ
ไม่ดู professional
มาก
เพราะคนกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นที่อยู่ในภาวะว้าวุ่น เขาแค่ไม่เก่งในการดีลกับคน
แต่ในขณะเดียวกันก็มีพลังซึ่งแสดงออกผ่านการกล้าถาม
เขาให้ถามก็รีบถามเลย พยายามจะอธิบายว่าตัวเองต้องการอะไร ชัดเจนว่าจะสื่อสารอะไรกับองค์กร
การตั้งคาแรกเตอร์แบบนี้ทำให้คนดูรู้สึกเข้าถึงตัวแสดง ความจริงคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่ First jobber ซะทีเดียว เขาทำงานมาประมาณนึงและอยากจะหาที่ลงกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปนานๆ” ผู้กำกับเล่าเบื้องหลังการกำกับนักแสดงให้จับใจคนดู

การถามตอบระหว่างเจ้าสาวเจ้าบ่าวตบท้ายด้วยนโยบายประเด็นการรับพนักงานของเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่ท้าทายไม่จำเจ
สนับสนุนการเรียนต่อ และยืดหยุ่นระเบียบเพื่อให้พนักงานเติบโตพร้อมกับองค์กร
นอกจากนี้ยังมีกิมมิคสนุกๆ
ด้วยการให้เจ้านายหรือเจ้าบ่าวมอบกล่องที่เหมือนจะเป็นแหวน แต่เปิดออกมาแล้วเป็น Pocket
Wi-Fi เพื่อให้เจ้าสาวทำงานนอกสำนักงานได้ตามต้องการ

นอกจากโฆษณา
การแต่งงาน…ครั้งสุดท้าย
เอสซีจียังมีโฆษณาอีก 2 ตัวเล่าชีวิตของพนักงานเอสซีจีตัวจริงในแผนกต่างประเทศและวิศวกรรม
เพื่อตอกย้ำว่าเนื้อหาในโฆษณาชุดแรกเป็นเรื่องจริง ตัวพนักงานเองก็มีสิทธิ์เลือกงานที่ใช่กับบริษัททีใช่สำหรับชีวิตเขาด้วย

ความดีงามของ
การแต่งงาน…ครั้งสุดท้าย ไม่ได้เด่นแค่การนำพิธีแต่งงานมาเล่าเรื่องการสมัครงาน
แต่เป็นงานโฆษณาวิพากษ์สังคมที่น่ารัก เล่าเรื่องคนแบบไม่ตัดสิน
พยายามทำความเข้าใจพวกเขาอย่างถี่ถ้วน และเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงจิกกัดแต่ดูแล้วก็อมยิ้มในเวลาเดียวกัน

www.scg.co.th/career

Facebook | SCG Career

AUTHOR