กินดี อยู่ดี แคมเปญดีๆ ของดอยคำที่เต็มเปี่ยมด้วยความจริงใจ

ในแง่การทำธุรกิจที่ผลกำไรคล้ายจะเป็นตัวชี้วัดทุกอย่าง คงไม่มีบริษัทไหนจะอยากยอมรับกับผู้บริโภคอย่างเปิดเผย ถ้าหากวันหนึ่งยอดผลประกอบการลดลงอย่างน่าตกใจ

ทว่าดอยคำกลับไม่คิดเช่นนั้น

ปลายปี ๒๕๖๑ ดอยคำออกมายืดอกยอมรับตรงๆ ว่า ไม่เพียงแต่ยอดรวมตลาดน้ำผลไม้ภายในประเทศจะตกเท่านั้น ยอดขายของดอยคำยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากเหตุการณ์นี้ คำถามคือ ทำไมดอยคำถึงกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยไม่คิดจะปิดบัง?

คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ให้เกียรติมาเล่าปรัชญาและความเชื่อในการทำธุรกิจแบบดอยคำให้เราฟัง

สิ่งที่คุณพิพัฒพงศ์เล่าให้เราฟังไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงินทอง แต่เป็นความจริงใจ ที่เป็นหัวใจของคนทำแบรนด์นี้ใส่ลงไปในทุกสื่อของดอยคำ

“ปรัชญาของดอยคำคือ ความจริงใจต่อผู้บริโภค” คุณพิพัฒพงศ์ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

“เมื่อผลประกอบการเราลดลง เราก็ไม่ได้อายที่จะบอกให้ใครรู้ เพราะดอยคำอยากพูดความจริงกับผู้บริโภค เหมือนเมื่อครั้งที่ว่าน้ำมะเขือเทศของดอยคำรสชาติไม่อร่อย เราก็ออกมาขอโทษ” คุณพิพัฒพงศ์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความจริงใจ “คำขอโทษน่ะออกจากปากคนยาก แต่เมื่อมีคนคิดว่าบางอย่างผิด เราจึงขอโอกาสชี้แจง”

ในสายตาของคุณพิพัฒพงศ์ สิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคยุคนี้รักแบรนด์มากที่สุดคือความจริงใจ ไม่เสแสร้ง เขาเองก็พยายามถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมาผ่านการทำงาน ให้คนได้รับรู้ผ่านผลงานจริงๆ

“ถ้าให้เราใส่น้ำตาลเพื่อให้น้ำมะเขือเทศอร่อยขึ้น เราทำได้ไหม ได้สิ แต่ทำออกมาแล้วดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคไหม? ไม่ใช่ว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับรสชาตินะ แต่เพราะน้ำมะเขือเทศดอยคำเป็นน้ำมะเขือเทศแท้ ๑๐๐% ถ้าสิ่งที่คุณอยากได้คือความเป็นธรรมชาติ คุณก็ต้องยอมรับว่านี่แหละคือรสชาติจากธรรมชาติจริงๆ”

เมื่อดอยคำทำทุกอย่างบนฐานของความจริงใจ สิ่งที่ได้กลับมาจึงเป็นทั้งมูลค่าและคุณค่า พวกเขาไม่หยุดความมุ่งมั่นที่จะมอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค เพราะหนึ่งในผลกำไรของดอยคำคือ

การได้เห็นคนไทยได้ “กินดี อยู่ดี”

“กินดี อยู่ดี” แคมเปญเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

ดอยคำทำกิจกรรมมากมายภายใต้หลักปรัชญาของความจริงใจ หนึ่งในนั้นคือแคมเปญ กินดี อยู่ดี ที่ไม่เพียงจะมุ่งแสดงความจริงใจต่อผู้บริโภคฝ่ายเดียว แต่ยังรวมถึงเกษตรกรไทยเองด้วย

“เมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ผลกระทบจริงๆ จะไปกระทบกับเกษตรกร เพราะถ้าเราขายน้ำผลไม้ไม่ได้ เราก็รับซื้อวัตถุดิบได้น้อยลง สมมติว่าปกติซื้อลิ้นจี่อยู่ที่ ๑๐๐ ตัน แต่ปีนี้เรากลับขายน้ำลิ้นจี่ได้แค่ ๕๐% เพราะฉะนั้นต่อไปเราจะซื้อลิ้นจี่ได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น คำถามคืออีก ๕๐ ตันที่เหลือที่เราไม่ได้รับซื้อล่ะ เกษตรกรจะทำอย่างไร ดอยคำจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อเกษตรกรอย่างไรบ้าง”

แคมเปญ กินดี อยู่ดี จึงเกิดจากคำถามของคุณพิพัฒพงศ์ว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยได้กินดี อยู่ดี ทั้งลูกค้ากินดี และเกษตรกรได้อยู่ดี ทำอย่างไรให้เกษตรกรยังขายผลผลิตให้เราได้ เพราะเมื่อขายได้ เขาก็จะมีเงินเพียงพอให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วสิ่งดีๆ ก็จะหมุนเวียนกลับมาหาทุกคนอย่างยั่งยืน

เหนือสิ่งอื่นใด คุณพิพัฒพงศ์เน้นว่า คำว่า กินดี อยู่ดี คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ดำรัสไว้ว่า อยากจะเห็นพสกนิกรไทยได้กินดี อยู่ดี

“สิ่งที่พระองค์ท่านอยากให้เป็นคือ คนไทยกินดี อยู่ดี ไม่ใช่พอมี พอกิน เพราะการพอมี พอกิน หมายถึง มื้อนี้มีกิน แต่มื้อหน้าอาจไม่มี เมื่อใดที่ใครสักคนกินดี อยู่ดี วิถีชีวิตของเขาจะเปลี่ยนไป เกษตรกรจะเกิดความคิดอยากส่งลูกไปเรียนหนังสือ ด้วยเหตุนี้การศึกษาในอดีตที่เคยด้อยก็ดีขึ้น เมื่อการศึกษาดี นั่นย่อมหมายถึงการพัฒนาของประเทศ”

ความกินดี อยู่ดี จะนำมาซึ่งคุณค่าที่แม้แต่เงินก็ซื้อไม่ได้ เช่น การที่เกษตรกรไม่ต้องทิ้งครอบครัวไปทำงานในเมืองใหญ่ รับรู้ได้ถึงศักดิ์ศรีในอาชีพที่เขายึดถือ ภายใต้การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม การได้เห็นเกษตรกรสามารถกินดี อยู่ดีได้จึงคือความอิ่มใจอย่างที่สุดของดอยคำ

ดอยคำในฐานะธุรกิจเพื่อสังคม

แม้ว่าเป้าหมายของดอยคำคือการสนับสนุนเกษตรกร และมุ่งสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าดอยคำจะไม่คำนึงถึงผลกำไรในทางธุรกิจแต่อย่างใด

“สิ่งที่ดอยคำเป็นคือ ธุรกิจเพื่อสังคม เราต้องยึดก่อนว่ากำลังทำธุรกิจ ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะตัดสินใจอะไรเราต้องมีกำไรในบรรทัดสุดท้าย เพราะถ้าไม่มีกำไร เราก็ไม่มีปัญญาจ้างพนักงานที่มีความรู้และคุณภาพมาทำงานให้กับดอยคำ โลกก็คือโลก เมื่อเราอยู่บนโลก เราก็ต้องเผชิญความจริงบนโลกให้ได้ การจะให้คนของเรากินดี อยู่ดีได้ เราต้องหากำไรเข้ามาด้วย เพื่อให้เขาทำงานแล้วมีโบนัส มีแรง มีกำลังใจในการทำงาน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเรากินดี อยู่ดี แล้วคือเราต้องรู้จักคำว่าพอ เพราะถ้าเราหวังเพื่อทำกำไรมากเกินไป คนทำงานก็อาจจะเหนื่อยเกินไป การผลิตที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้คุณภาพการผลิตลดลงหรือกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นผลเสีย ดอยคำไม่อายที่จะรู้จักพอเพราะเราเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้มันใหญ่ ทุกคนก็ต้องแบ่งๆ กันไป เพราะสุดท้ายคนที่กินดี อยู่ดีที่สุดก็คือผู้บริโภค”

คุณพิพัฒพงศ์เล่าขยายความเพิ่ม “ในการซื้อผลไม้ เมื่อไรก็ตามที่ตลาดซื้อในราคา x บาท เราจะรับซื้อในราคา x + ๑๐% ซึ่งเราถือว่าเป็นโบนัสที่ให้กับเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต้องการให้ดอยคำช่วยเกษตรกรให้สามารถตัดสินใจขายผลผลิตได้ เพื่อไม่ให้เขาถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านราคา ดอยคำทำงาน CSR In Process คือการทำเพื่อสังคมในทุกกระบวนการทำงาน เราไม่คิดจะสร้างภาพ คุณเห็นดอยคำเป็นยังไง เราก็เป็นอย่างนั้น เพราะดอยคำทำทุกอย่างบนความจริง การให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเราก็ให้แต่ความจริง”

ภายใต้ร่มของธุรกิจ ดอยคำตระหนักอยู่เสมอว่าผลกำไรที่แท้จริงคือ การได้เห็นคนไทยทุกๆ ระดับได้กินดี อยู่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเมื่อไรที่เรากินดี อยู่ดี เมื่อนั้นเราจะคิดถึงการแบ่งปัน และเมื่อไรที่สังคมเรียนรู้การแบ่งปัน เมื่อนั้นย่อมจะหมายถึงความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน 

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com